ความเชื่อที่ผิดของคนต่างชาติที่มีต่ออาหารไทย
อาหารไทยเป็นที่ติดอันดับต้นๆ ในเวทีครัวโลกก็จริงแต่ก็ยังคนเป็นจำนวนมากที่ยังเข้าใจผิดในเรื่องบางอย่างเกี่ยวกับอาหารไทย เช่น ร้านอาหารบางร้านในต่างประเทศถึงกับใช้ Lemon (มะนาวฝรั่งผิวสีเหลือง) แทน Lemongrass (ตะไคร้) เพราะคิดว่าเหมือนกันก็มี ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าครับว่า เรื่องเข้าใจผิดที่ว่านี้ มีเรื่องอะไรอีกบ้าง
1. แค่โรยถั่วลิสงก็ได้สไตล์แบบไทยๆ แล้ว
ถ้าอยากจะหัวเราะก็เชิญเลยครับ แต่ทราบหรือไม่ว่า มีตำราอาหารจำนวนมากที่นับความเป็นอาหารไทย ด้วยการดูว่ามีถั่วลิสงเป็นส่วนผสมหรือเปล่า ลามไปจนถึงเมนูฟิวชั่นบางอย่าง เช่น “พิซซ่าไทยสไตล์” ที่มีท็อปปิ้งเป็นถั่วลิสงโรยหน้า หรือ “สลัดแบบไทยๆ” ที่โรยถั่วงอกและถั่วลิสงลงไปด้วย และยังมีอีกมากที่เราไม่ได้สาธยายมาด้วย
ใช่ครับ ตำรับอาหารไทยมีถั่วลิสงเป็นส่วนประกอบ แต่ ถั่วลิสงไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเป็นอาหารไทยซะหน่อยนี่!
2. วัตถุดิบบางอย่างใช้แทนกันได้
มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า แกงชนิดต่างๆของไทยนั้น มาจากการใช้เครื่องเทศผสมกับน้ำกะทิ บ้างก็ว่าส่วนผสมบางอย่างสามารถใช้แทนกันได้เพราะมันเป็นพืชตระกูลเดียวกันนั่นแหละ เช่น ใช้พริกเขียวมาทำเครื่องแกงแดง (ซึ่งนั่นทำให้เครื่องแกงคุณออกมาเป็นสีเขียวแทน), ใช้เลมอนแทนตะไคร้, ใช้ขิงแทนข่าหรือกระชาย เป็นต้น ซึ่งการแทนส่วนผสมกันแบบนี้ทำให้เสียรสชาติแท้ๆไปโดยสิ้นเชิง อาหารไทยนั้นมีการเลือกใช้พืชและสมุนไพรที่มีบทบาทต่างกันมาผสมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลและส่งเสริมสรรพคุณซึ่งกันและกันต่างหาก
3. ถ้าไม่”โคตรเผ็ด”ก็ไม่ใช่อาหารไทย
อาหารไทยไม่จำเป็นต้องเผ็ดทุกเมนู ความเป็นจริงแล้วความเผ็ดของพริกในอาหารไทยนั้นมีไว้เพื่อตัดรสชาติอื่นๆ เช่น เปรี้ยวและเค็ม การใช้รสเผ็ดจนมากเกินไปกลับจะเป็นการทำลายรสชาติของอาหารจานนั้นด้วยซ้ำ
4. อาหารจานเด่นประจำชาติไทย คือ “ผัดไท”
นั่นก็จริง ผัดไทเป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยมในร้านอาหารไทยในต่างแดน อันที่จริงบางคนก็ยังสงสัยว่า อาหารจานนี้เป็นของประเทศจีนมากกว่า (ความจริงก็คือ ต้นตำรับมาจากจีน แต่ว่าประเทศไทยนำมาปรับสูตรและใช้วัตถุดิบในไทย) แต่ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ นักชิมหลายรายในต่างประเทศต่างพากันให้คะแนนร้านอาหารไทยโดยตัดสินจากรสชาติของผัดไทเป็นหลักไปซะแล้ว
5. อาหารไทยต้องทานด้วยตะเกียบ
อาหารจานเส้นของไทยมากมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนล้วนใช้ตะเกียบเป็นหลัก แต่ว่าอาหารไทยแท้ๆ นั้นต้องใช้ช้อนและส้อม เพราะในเมื่อเราต้องทานข้าวเป็นหลักแล้ว การใช้ช้อนตักและใช้ส้อมในการกวาดอาหารเข้าช้อน นับว่าใกล้เคียงกับวิถีของคนไทยสมัยก่อน ที่ใช้มือในการรับประทานอาหารที่สุดแล้ว โดยเฉพาะข้าวเหนียวก็นิยมใช้มือจกมากกว่า
6. อาหารไทยเหมาะกับผู้ทานมังสวิรัติ
ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า เมืองไทยนั้นเป็นเมืองพุทธและยังเป็นประเทศที่มีการทานเจกันอย่างครึกครื้นอีกต่างหาก แต่ความจริงแล้ว คนไทยทานเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด ถ้าไปเดินเลือกทานอาหารตามข้างทานแล้ว ร้อยทั้งร้อยคุณก็ต้องเจออาหารจากเนื้อสัตว์เป็นหลักนั่นแหละ ทั้งหมูปิ้ง ไก่ย่าง แถมอาหารประเภทผัดผักยังมีการใช้น้ำปลาอีกตะหาก ดังนั้น คนทานมังสวิรัติลำบากแน่ๆ
7. อาหารไทยต้องราคาถูก
เนื่องจากอาหารไทยส่วนมากสามารถหาได้ง่ายตามท้องถนน แถมยังราคาถูกเสียด้วย เช่น ข้าวแกงข้างถนน รถเข็นส้มตำไก่ย่าง แผงลอยต่างๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีอาหารไทยตำรับชาววัง หรืออาหารไทยตามร้านดีๆ ที่มีความตั้งใจ กว่าจะทำได้แต่ละจานนั้นต้องใช้คนจำนวนไม่น้อย ดังนั้นต้นทุนของมันไม่สามารถราคาถูกได้แน่ๆ
น่าเสียดายที่ในสายตาคนส่วนใหญ่มักจะเอาไปเปรียบเทียบราคากับอาหารข้างถนนแล้วตัดสินว่า”แพงไป” แนวคิดเช่นนี้ทำให้ร้านอาหารไทยยังไม่สามารถผลักดันให้ก้าวสู่ความเป็นร้านอาหารระดับพรีเมี่ยมได้ อย่างเช่นที่ร้านอาหารญี่ปุ่นได้ทำไปแล้ว
ขอทิ้งท้ายด้วยภาพอาหารไทยสไตล์ฟิวชั่นฟู๊ด ที่คนต่างชาตินิยมทำและทานมากที่สุด และอาหารไทยในต่างประเทศก็มักจะเป็นแนวนี้ คือดัดแปลงหน้าตาแบบเดิมให้ดูทันสมัยเข้าไปวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศนั้นๆ ว่าชอบทานอะไร แบบไหน , อีกทั้งวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของอาหารมีมาก ไม่สามารถหาได้ครบถ้วน จึงต้องหาทดแทน เช่น น้ำมะนาวขวดแทนมะขามเปียก รวมถึงค่าครองชีพที่สูงกว่าเมืองไทยด้วย มะนาวลูกละ 5 บาทอาจจะกลายเป็น 25 บาทในต่างแดน ส้มตำหนึ่งจานก็จะเป็นราคา 250 บาทขึ้นไป เป็นต้น
แปลและเรียบเรียงจาก cnngo ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
http://guru.truelife.com/issue/content/view/104715