หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

สายสัมพันธ์สยาม-ล้านนา: "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี"

โพสท์โดย คุณชายชุนชู

 

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

 
 
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า "เจ้าดารารัศมี" พระนามลำลองเรียกกันในหมู่พระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง" ประสูติเมื่อวันอังวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับแม่เจ้าเทพไกรสรพระมหาเทวี ซึ่งแม่เจ้าเทพไกรสรนั้นเป็นพระราชธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ และแม่เจ้าอุสาห์ พระมหาเทวี เจ้าดารารัศมีมีพระเชษฐภคินีร่วมพระโสทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าจันทรโสภา
 
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้น ดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว ในด้านการกีฬานั้นเล่า ก็โปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง
 
 
 
 
 
เหตุแห่งการเสด็จเข้าวังหลวง
หลังจากอังกฤษได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองพม่าแล้ว อังกฤษได้พยายามขยายอิทธิพลเข้ามายังนครเชียงใหม่และหัวเมืองเหนือ โดยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรได้ส่งราชทูตมาทูลขอเจ้าดารารัศมี พระราชธิดาพระองค์เล็กอันประสูติแต่แม่เจ้าเทพไกรสรมหาเทวีในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม ในเวลานั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงมีรับสั่งกราบทูลตอบกลับไปว่าอย่างไร โดยสมเด็จพระราชินีนาถได้พระราชทานเงื่อนไขว่า หากยกเจ้าหญิงดารารัศมีให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระราชินีนาถแล้วไซร้ เจ้าหญิงดารารัศมีจะได้ทรงครองพระอิสริยยศในทางราชการเป็นภาษาอังกฤษว่า "Princess of Siam" เทียบเท่ากับพระราชโอรส-พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามทุกประการและเวียงพิงค์เชียงใหม่จะได้มีอำนาจมากกว่าเดิมอีกด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลว่า หากเจ้าหญิงดารารัศมีได้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษแล้ว นครเชียงใหม่อาจจะต้องกลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไป เนื่องจากในสมัยนั้นมีการล่าอาณานิคมเป็นเมืองขึ้นตามประเทศต่างๆ แม้ว่าจะเป็นข้อเสนอที่ดูผิวเผินเพียงแค่เจรจาไมตรี หากมองดูลงไปให้ลึกซึ้งอังกฤษต้องการนครเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง (พม่า แล รัฐฉานหรือ ...ไต นั่นเอง)
 
อย่างไรก็ตาม ความดังกล่าวได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าหญิงดารารัศมี นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าหญิงดารารัศมีตามแบบอย่างเจ้านายใน "ราชวงศ์จักรี" เป็นกรณีพิเศษ  คล้อยหลัง ๓ ปี ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙  ในปี ๒๔๒๙ นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าหญิงดารารัศมีได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา
 
 
 
เหตุแห่งการเมืองไปสู่ความรักระหว่างสองพระองค์
เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง พระราชบิดาได้พระราชทานเงินค่าตอไม้ (ค่าสัมปทานไม้สักในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งตอนนั้นถือกันว่าป่าไม้สักทั้งหมดในดินแดนล้านนาเป็นของพระเจ้านครเชียงใหม่ทั้งสิ้น จะยกประทานแก่ผู้ใดก็ได้ ในกรณีนี้ทรงยกผลประโยชน์เป็นค่าสัมปทานประทานพระราชธิดา) เพื่อสร้างพระตำหนักขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่ประทับของ เจ้าจอมเจ้าดารารัศมี และข้าราชบริพารในพระองค์ ในระหว่างที่ประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น "เจ้าหญิงเมืองลาว" แต่ประการใด ทรงให้ข้าราชบริพารในพระตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ ทั้งนี้ เจ้าจอมเจ้าดารารัศมีสามารถทรงเครื่องดนตรีได้หลากหลายชนิด แต่ที่โปรดและทรงได้ถนัดที่สุดคือ จะเข้ เจ้าจอมเจ้าดารารัศมี ยังทรงสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น นอกเหนือไปจากพระปรีชาสามารถด้านการทรงม้า
 
ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ภายในพระบรมมหาราชวัง
 
 
 
 
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และเหล่าบรรดานางกำนัลซึ่งเป็นพระญาติทางเชียงใหม่ จะฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นทางเหนือซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตำหนักเจ้าดารา
 
 
 
 
ด้วยการดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย หากแต่แฝงไว้ด้วยพระปรีชาญาณ ความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นในพระองค์ กอปรกับความจงรักภักดีที่ทรงมีต่อพระราชสวามี จึงเป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุดเจ้าารารัศมี ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ขึ้นที่ "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี"
 
 
 
 
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าราชบริพารว่า "เสด็จเจ้าน้อย" เป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระราชบิดา ยิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง ๓ ปี ๔ เดือน ๑๘ วัน ก็ได้ประชวรและสิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕ (ต่อมาทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามพระอัฐิขึ้นเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" "พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" และ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" ตามลำดับ)
 
 
การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เอง ว่า "ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า" ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์" แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่ "พระราชสวามี" ประทับร่วมอยู่กับ "พระองค์" และ "พระราชธิดา" เสียจนหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถเลขา จากพระราชบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ ต่อมาภายหลัง เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมิได้มีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยเอาไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไร เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี ก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาท และถวายความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้
 
 
โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา"
 
 
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ "เจ้าจอมมารดา เจ้าดารารัศมี" ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีพระอิสริยยศเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ออกพระนามว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับได้ว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" เป็นพระมเหสีลำดับที่ ๕ ในเวลานั้น
 
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี(ประทับยืน)
 
 
 
การเสด็จประพาสนครเชียงใหม่
นับแต่พระราชชายาเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง ก็มิได้เสด็จกลับเชียงใหม่อีกเลย แม้คราวที่ พระราชบิดาถึงพิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ก็ตาม ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา (ก็คือเจ้าอินทวโรรสนั้นมิได้ประสูติแต่แม่เจ้าพระมหาเทวีดังเช่นพระราชชายาฯ) ได้ลงมาเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาจึงกราบถวายบังคมขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมพระประยูรญาติพร้อมกับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ พระเชษฐา ในครานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยไม่ทรงต้องการขัดพระทัยพระราชชายา
 
อย่างไรก็ตาม การเสด็จพระราชดำเนินของพระราชชายา ในคราวนี้นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นห่วงและเอาพระทัยใส่ยิ่งนัก ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชสวามี เสด็จพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาส่งเสด็จ พระราชชายาฯเพื่อทรงประทับในขบวนรถไฟพระที่นั่ง ณ สถานีรถไฟสามเสน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระราชโอรสในเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกษร ณ เชียงใหม่ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปส่งพระราชชายาฯ ถึงตำบลปากน้ำโพ นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของทางรถไฟสายเหนือ ตลอดการเสด็จพระราชดำเนิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดข้าราชการเป็นหมวดหมู่ กรม กองโดยเสด็จพระราชชายาฯ มีธงดารารัศมี ประจำพระองค์พระราชชายาฯประดับ เพื่อแสดงถึงฐานะของพระมเหสีอันสูงศักดิ์ และให้ข้าราชการ กรมการเมืองทั้งหลายตลอดเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินกลับคืนนครเชียงใหม่นั้นจัดเตรียมการรับเสด็จเสมือนหนึ่งว่าทรงดำรงตำแหน่ง พระอัครชายาเธอ ทีเดียว เมื่อ พระราชชายาฯ เสด็จถึงปากน้ำโพ ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อโดยทางชลมารค ทรงประทับในเรือเก๋งประพาส มีเรือในขบวนเสด็จกว่า ๕๐ ลำ มีการปักธงทิวเป็นขบวนไปตามลำน้ำปิง เมื่อผ่านเขตอำเภอ จังหวัด มณฑลใด มีเจ้าหน้าที่ปลูกพลับพลาประทับร้อน ประทับแรม และคอยรับเสด็จตลอดเขตของตนทุกแห่งทั่วไป
 
การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า ใช้เวลานานถึง ๒ เดือน ๙ วัน จึงเสด็จพระราชดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ณ ที่นั้น เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ พร้อมด้วย พระประยูรญาติ เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการทหาร พลเรือน ประชาชนแต่ละอำเภอ คหบดีทั่วทั้งดินแดนล้านนา ต่างจัดขบวนแห่ของตน มีขบวนทหาร ตำรวจ ข้าราชการขี่ม้าเข้าแถวนำ แต่งขบวนเป็นภาพคนสมัยโบราณ คนป่า เรื่องชาดกรามเกียรติ์ และนิทานพื้นบ้าน มีขบวนกลองชนะ กลองสะบัดไชย กลองเมือง แตรวง กลองพม่า ต่อกันเป็นระยะๆ ตามหน้าบ้านมีการตั้งเครื่องบูชารายทางมิได้ขาด จนกระทั่งถึงที่ประทับที่คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ ซึ่งจัดเป็นข้างหน้าข้างใน มี สนม กรมวังกำกับอย่างใน พระบรมมหาราชวังทุกประการ และมีทหารกองเกียรติยศตั้งคอยรับเสด็จพระราชชายาฯอย่างสง่างาม
 
ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดชาวเขา ข่วงที่เสด็จกลับเชียงใหม่
 
 
ระหว่างประทับที่เชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพระประยูรญาติยังนครลำพูน และ นครลำปาง และได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในที่ต่างๆ รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระธาตุ พระพุทธบาท และปูชนียสถานสำคัญต่างๆอย่างทรงสำราญพระราชหฤทัย ตลอดเวลาในการเสด็จประพาสนครเชียงใหม่ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโทรเลข และพระราชหัตถเลขา แสดงความรักอาทรห่วงใย มาพระราชทานพระราชชายาฯไม่ขาด และ พระราชชายาฯ ก็ทรงพระโทรเลข หรือ ลายพระหัตถ์ตรัสเล่าเรื่องราวต่างๆถวายกลับไปโดยตลอด
 
 
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
การเสด็จนิวัติพระนคร
พระราชชายาฯ ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่ได้หกเดือนเศษ ก็ถึงคราวเสด็จนิวัติ พระนคร ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเตรียมการรับเสด็จพระราชชายาฯอย่างยิ่งใหญ่ มีขบวนรับเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน ขบวนเรือเสด็จประกอบด้วยเรือถึง ๑๐๐ ลำเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประทับเรือยนต์หลวงมารอรับเสด็จพระราชชายาฯที่อ่างทอง แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกัน ๒ พระองค์ไปประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสร้อยพระกรเพชรล้ำค่าเป็นของพระขวัญ ทรงประทับแรมอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน เป็นเวลา ๒ ราตรี จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระนคร ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒
 
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชทานเลี้ยงฉลองขึ้นตำหนัก ตำหนักสวนฝรั่งกังไส (พระราชวังดุสิต) ซึ่งเป็นตำหนักใหม่ที่โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานพระราชชายาฯเป็นพิเศษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่โดยเสด็จพระราชชายาฯลงมากรุงเทพฯครั้งนี้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยทุกองค์
 
"วันวิปโยค" พระสวามีเสด็จสวรรคต
หลังจากเสด็จนิวัติ กรุงเทพมหานคร|พระนคร พระราชชายาฯ ได้ทรงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิต อย่างสำราญพระราชหฤทัยที่ได้ทรงกลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระราชสวามีได้เพียง ๑๐ เดือน ก็ต้องทรงประสพกับเหตุวิปโยคคราใหญ่ในพระชนม์ชีพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสวามี ได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับรวมเวลาที่ พระราชชายาฯ ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา ๒๓ ปีเศษ
 
นับแต่สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯ ยังทรงประทับใน พระราชวังดุสิต มาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2457 จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่นครเชียงใหม่ โดยเสด็จออกเดินทางเมื่อ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2457 และเสด็จพระราชดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ในวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกัน ได้เข้าประทับยัง คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ตั้งแต่นั้น
 
 
 
ทรงใช้บั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพอยู่กับบรรดาเจ้าหลานที่นครพิงค์เชียงใหม่
 
 
ที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณเอนกอนันต์และดำรงพระองค์เป็นที่สักการะเทิดทูนในหมู่พสกนิกรชาวล้านนา ในบั้นปลายพระชนม์ชีพได้ทรงประทับอยู่ใน พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม พระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างถวายแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าราชบริพารในพระองค์อย่างมีความสุขเป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี
 
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ช่วงปัจฉิมแห่งพระชนม์ชีพ
 
 
 
ตกกระทั่งวันที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ) นายแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการก็ยังคงมีแต่ทรงกับทรุด พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา  จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สะดวกในการที่พระประยูรญาติจะได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการ และเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา
 
ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังกรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อัญเชิญด้ายสายสิญจน์มาผูกพระกรพระราชชายาฯ กับได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยในการรักษาพระอาการ และโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ถวายรายงานพระอาการให้ทรงทราบเป็นประจำวัน ขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นายแพทย์กรมรถไฟขึ้นมาประจำกับแพทย์ทางเชียงใหม่ถวายการดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากอินโดนีเซียส่งมาทางเครื่องบิน เพื่อฉายดูพระปัปผาสะ เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชนมายุ ๖๐ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน
 
 
คุ้มรินแก้ว สถานที่สิ้นพระชนม์
 
 
 
กู่เจ้าดาราวัดสวนดอก เชียงใหม่ สถานที่บรรจุพระอัฐิของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี
 
 
 
พระราชกรณียกิจสำคัญ
 
ทรงดำรงพระองค์เป็นศูนย์รวมดวงใจของข้าราชบริพารฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้
 
ทรงฟื้นฟูศิลปะด้านการแสดงล้านนา
 
ทรงฟื้นฟูศิลปะการทอผ้า
 
ทรงสนับสนุนกิจการด้านการศึกษา
 
ทรงสนับสนุนกิจการด้านพระศาสนา
 
ทรงส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ 
 
พระราชทานนามกุหลาบสีชมพูกลิ่นหอมพันธุ์หนึ่ง ถวายแด่พระราชสวามี ว่า "จุฬาลงกรณ์"
 
 
 
แม้พระราชชายา เจ้าดารารัศมีจะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่แสงดาราแห่งความดีงามยังโชติช่วงมาจนถึงปัจจุบัน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ซ้ำขออภัยครับ
 
ที่มา:wikipedia,pantip,google,webbord lanna , http://m.youtube.com/watch?v=uXPGYU6yxXw&desktop_uri=/watch?v=uXPGYU6yxXw, คุณชายชุนชู เรียบเรียง
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
คุณชายชุนชู's profile


โพสท์โดย: คุณชายชุนชู
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
104 VOTES (4/5 จาก 26 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เงินดิจิทัล 10000 บาท สรุปเงื่อนไขล่าสุด ใครมีสิทธิได้รับเงินบ้าง?แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก้อนแรกเดือน ก.ย. นี้ไวรัล! หนุ่มจีนตามหาปูเลี้ยง 3 ปีหายไป สุดท้ายพบ "น้องสู่ขิต" ในที่ใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึงห่อหมกของไทย เขมรลั่น มันคืออามกเมื่อดรัมเมเยอร์เก่าต้องมาจับงู เดินควงไม้ไปจับแบบชิว ๆ บ้าบอ!! 🤣จะเป็นพี่น้องกับไทย เกาหลีใต้จับมืออุทยานแห่งชาติ แต่ชาวเน็ตถาม ทำไมถึงตอนนี้ภาพคนงานช่างตีเหล็ก ที่ยืนโพสท่าอยู่ข้างสมอเรือของไททานิคอันโด่งดัง ในระหว่างการก่อสร้าง เมื่อปี ค.ศ. 1909-1911 หรือ พ.ศ. 2452-2454พบเครื่องบินรูปร่างประหลาดคล้ายปลาโลมา ลงจอดที่สนามบิน Heathrow ในลอนดอนโอ้ละพ่อ! 3 หนูน้อยอ้างเดินเท้า อ.หาดใหญ่ หาแม่ที่หัวหิน พบหนีออกบ้านพักศรีธรรมราช 7 ครั้งรอบ 2 เดือนโครงกระดูกนกเพนกวิน ฝีมือเด็กนักเรียนชั้นป.2ย้อนชมผลงานเดินพรมแดง ชมพู่ อารยา - มิน พีชญา Venice Film Festivalเจอแล้ว! ฝรั่งตามหาตัวลุงชาวไทยที่พลัดพราก ขอบคุณทุกความช่วยเหลือ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ดราม่าขนส่งสีเหลือง “ทำลาบูบู้หัวหลุด” การ์ดหาย กล่องถูกแกะ เห็นภาพแล้วปวดใจห่อหมกของไทย เขมรลั่น มันคืออามกโอ้ละพ่อ! 3 หนูน้อยอ้างเดินเท้า อ.หาดใหญ่ หาแม่ที่หัวหิน พบหนีออกบ้านพักศรีธรรมราช 7 ครั้งรอบ 2 เดือนพบเครื่องบินรูปร่างประหลาดคล้ายปลาโลมา ลงจอดที่สนามบิน Heathrow ในลอนดอนโครงกระดูกนกเพนกวิน ฝีมือเด็กนักเรียนชั้นป.2
ตั้งกระทู้ใหม่