อยากให้สวยทั้งท้องฟ้าและพื้นดินต้องทำอย่างไร
เคยมั้ยครับเวลาถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกแล้วภาพออกมาเป็น 2 กรณีดังต่อไปนี้
1. ท้องฟ้าสวยมั่กๆ แต่ไม่เห็นรายละเอียดอะไรบนพื้นดินเลย มีแต่เงาดำๆ
2. เห็นรายละเอียดบนพื้นดินทุกเม็ด แต่สีของท้องฟ้าที่อยากได้กลับไม่ปรากฏในภาพเลย
ถ้าภาพของคุณเคยเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ มือใหม่เป็นกันทุกคน บางที มือกลางหรือมือเก่าบางคนยังเป็นอยู่เลยครับ ฮ่าๆ
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าความเปรียบต่างหรือคอนทราสต์ของท้องฟ้ากับพื้นดินในเวลานั้นมันต่างกันมาก มากจนกล้องคู่ใจของเราๆท่านๆทำงานกันไม่ถูก ว่าจะเลือกเอารายละเอียดส่วนไหนดี อยากได้ท้องฟ้าตระการตา ก็ต้องเสียรายละเอียดส่วนพื้นดิน อยากได้ความสวยงามของพื้นดิน มันก็มาพร้อมกับความสว่างขาวโพลนของท้องฟ้า...
วิธีแก้นั้นมีอยู่หลายวิธีครับ
1. ไม่ต้องพึ่งโปรแกรม ใช้ ND ฟิลเตอร์ครึ่งซีก : วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่อยากถ่ายมันด้วยฝีมือตัวเอง อยากพึ่งพาโปรแกรมแต่งรูปให้น้อยที่สุด
2. ถ่ายโดนเน้นรายละเอียดที่พื้นดินเป็นหลัก : แล้วมาแต่งในโปรแกรมโดยดึงท้องฟ้าให้มืดลง วิธีนี้สำหรับคนที่ไม่อยากเสียเวลามานั่งเปลี่ยนฟิลเตอร์ให้ยุ่งยาก
3. ถ่ายมาอย่างน้อยสุด 2 รูป : รูปหนึ่งเพื่อท้องฟ้า รูปสองเพื่อพื้นดินแล้วเอามารวมกันในโปรแกรมโฟโต้ช็อบ วิธีนี้ผลลัพธ์ที่ได้จะคล้ายกับวิธีที่ 2 แต่รายละเอียดภาพจะดีกว่า
4. ทำเป็นภาพแนว HDR ซะเลย : HDR นั้นย่อมาจากคำเต็มๆว่า High Dynamic Range แปลตามที่ผมเข้าใจก็คือ ภาพที่มีช่วงแสงที่กว้างมากเป็นพิเศษ กว้างมากเป็นพิเศษในที่นี้หมายถึง กว้างมากพอที่จะ
แสดงรายละเอียดทั้งภาพ ผมว่าภาพแนว HDR เป็นภาพที่มีพลังครับ ผมเคยตกหลุมรักภาพแนวนี้อยู่ช่วงยาวๆช่วงหนึ่งเลยทีเดียว ไว้ในบทความหน้าๆจะมาแบ่งปันวิธีถ่ายภาพ และแต่งภาพแนวนี้กันเด้อ
วิธีที่จะแนะนำสำหรับช่างภาพมือใหม่คือวิธีที่ 2 กับ 3 โดย 2 วิธีนี้จะคล้ายกันถ้าทำวิธีนึงเป็น อีกวิธีก็ไม่อยากครับ ทีนี้เรามาพูดถึงการตั้งค่ากล้องกันซักหน่อยดีกว่า
สำหรับมือใหม่ ผมแนะนำให้ตั้งค่าตามนี้นะจ๊ะ
0. ใช้ขาตั้งกล้อง
0.5 เปลี่ยนรูปแบบไฟล์ภาพ เป็นโหมด Raw
1. WB : Daylight ถ้าใครยังใช้ Auto อยู่เปลี่ยนเถอะครับ เกียร์กระปุกมันกว่าเยอะ คริคริ ; ))
2. เปลี่ยนโหมดเป็นแมนวล...โฟกัสตามบทความตอนที่ 2
3. รูรับแสง : f/11
3.5 ความเร็วชัตเตอร์ : ใช้ 2 ค่า ถ่าย 2 รูป สำหรับท้องฟ้าและพื้นดิน อันนี้ลองปรับดูครับ แล้วแต่สภาพแสงตอนนั้น
4. ISO : 100
5. ตั้งเวลาถ่ายภาพ
6. รออะไรหละครับ ถ่ายเลย
7. ถ้ายังไม่พอใจถ่ายใหม่ครับ ^^
พอถ่ายจนได้ 1 รูปที่พอใจว่าจะกู้ท้องฟ้ากลับมาได้ไม่ยาก หรือ 2 รูปที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายแล้ว ก็ไปถ่ายอย่างอื่น เสร็จแล้วกลับบ้าน แล้วค่อยมาจัดการทวงคืนท้องฟ้าหรือรวมภาพสองภาพเข้าด้วยกัน ซึ่งวิธีการกู้คืนท้องฟ้าและฟิวชั่นภาพแบบง่ายๆ ผมจะอธิบายในบทความต่อไปครับ ^^ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อ่านบทความทุกคนนะคร้าบ