Share Facebook LINE Twitter
หน้าแรก เว็บบอร์ด Chat ตรวจหวย ควิซ คำนวณ Pageแชร์ลิ้ง
หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน กินอะไรดี
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ลองของ – ถอดจิต

โพสท์โดย moses
วิทย์ (ทด) ลองของ
ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์*
เปิดประตูสู่เรื่องลี้ลับ เหนือธรรมชาติ หรือไสยศาสตร์
ที่ท้าทาย และยากพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

เคยมีประสบการณ์เหมือนกับตัวลอยขึ้นไปแล้วมองลงมาเห็นร่างกายตัวเองกันบ้างไหมครับ ?

เรื่อง “การถอดจิต” แบบนี้พบในบันทึกโบราณของชนชาติต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับลัทธิ พิธีกรรม และศาสนา ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Out-of-Body Experience (OBE) ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ประสบการณ์ออกนอกร่างกาย” โดยมีลักษณะสำคัญคือต้อง (๑) ตระหนักรู้การเคลื่อน (จิต) ออกนอกกาย ตามมาด้วย (๒) ผู้มอง (หรือจิต) ลอยห่างออกไปจากร่าง โดยมักลอยสูงขึ้น และจบลงที่ (๓) มองเห็นร่างกายตัวเองนอนอยู่

ลองมาดูกันว่าวิทยาศาสตร์รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ชวนพิศวงนี้

ยา–บ้า–ฝัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าในบรรดาคนทั่วไปนั้น มีคนที่เคยถอดจิตมากถึง ๑๐ % (บ้างก็รายงานสูงกว่านี้) แต่ต่างสรุปตรงกันว่า ไม่ใช่ทุกคนจะถอดจิตได้

ข้อมูลการแพทย์สมัยใหม่ทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยอาจรู้สึกคล้ายถอดจิตได้ในบางสภาวะ เช่น ป่วยจากโรคปวดหัวข้างเดียว (ไมเกรน) โรคลมชัก (ลมบ้าหมู) หรือป่วยหนักเจียนตาย เป็นต้น  แม้แต่การขาดน้ำ การปีนภูเขาสูง การวิ่งมาราธอน และการจมน้ำ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดการถอดจิตได้  ยาบางอย่าง เช่นยาบ้า ก็มีรายงานว่าเป็นสาเหตุได้เช่นกัน แต่กรณีนี้แยกจากอาการประสาทหลอน (hallucination) ยากมาก

ตัวเลข ๑๐ % ข้างต้นได้รวมคนปรกติไว้ด้วย แถมบางคนก็มีประสบการณ์แบบนี้มากกว่า ๑ ครั้ง ซึ่งเหมาะกับการทดสอบซ้ำทางวิทยาศาสตร์  นอกจากนี้มีหลายเทคนิคที่อ้างกันว่าช่วยให้ถอดจิตได้ด้วย เช่น การฝันรู้ตัว (lucid dreaming) หรือการนั่งสมาธิ เป็นต้น

แบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงตำแหน่งของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถอดจิต (TPJ, แถบสีชมพู) 
ที่มา : Blank, O., 2005, The Neuroscientist, 11(1)ม 16-24

จับจริต ถอดจิต

คำว่า “การถอดจิต” ในภาษาไทยนั้นมีมาแต่เมื่อใดไม่ทราบแน่ แต่ฝรั่งช่างค้นคว้าระบุว่ามีคนสนใจเรื่อง OBE มากว่าครึ่งศตวรรษแล้วเป็นอย่างน้อย  จอร์จ ไทรเรลล์ (George Tyrrell) ใช้คำว่า Out-of-Body Experience เป็นคนแรกในหนังสือชื่อ Apparition ของเขาที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๔๓

แต่กว่าจะมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ต้อง ค.ศ. ๑๙๖๘ นู่น โดย ซีเลีย กรีน (Celia Green) สรุปข้อมูลแบบสอบถามจากตัวอย่างราว ๔๐๐ คน นำมาใช้จัดจำแนกประเภท OBE ได้ละเอียดมากขึ้น  ข้อมูลบางอย่างที่กรีนได้มาก็ขัดแย้งกับงานของคนอื่น เช่น เพียง ๔ % จากกลุ่มตัวอย่างของกรีนที่ระบุว่ามีเส้นหรือสายใยอะไรบางอย่างเชื่อม “จิต” กับร่างกายไว้ แต่ในงานของหลายกลุ่มนั้นตัวอย่างส่วนใหญ่กลับระบุว่ามีเส้นสายดังกล่าวปรากฏอยู่ ซึ่งก็แปลกดีเพราะในหมู่นักถอดจิตชาวไทยนั้นแทบไม่มีการพูดถึงสายเชื่อมอะไรแบบนี้เลย

ข้อสรุปบางเรื่องก็ตลกดี เช่น การสำรวจคราวหนึ่งพบว่า ๘๕ % ของผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งเคยมี OBE ระบุว่าได้ยินเสียงดังมากควบคู่ไปด้วย ทำให้เกิดศัพท์การแพทย์จำเพาะว่าเป็น กลุ่มอาการศีรษะระเบิด (Exploding Head Syndrome, EHS) …ฟังชื่ออาการแล้วอดหวาดเสียวแทนไม่ได้จริงๆ

หลังเกิด OBE ผู้ที่ประสบเหตุอาจจะหลับไปเลยหรือไม่ก็สะดุ้งตื่น บางคนรู้สึกราวกับถูกกระตุกเบาๆ แล้วตื่น แต่บางคนก็คล้ายกับถูกดึงหรือแม้แต่ถูก “ดูด” กลับเข้าร่างอย่างแรง

ขณะที่บางคนถอดจิตแล้วยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเดิมๆ แต่บางคนกลับไปโผล่ในโลกที่ไม่คุ้นเคย

ค.ศ. ๑๙๙๙  แวกเนอร์ อะลิเกรตติ (Wagner Alegretti) และ แนนซี ทริเวลลาโต (Nanci Trivellato) สำรวจทางออนไลน์พบว่า จากผู้ตอบแบบสอบถาม ๑,๑๘๕ คน มีราว ๘๕ % ที่เคยเจอ OBE โดย ๓๗ % บอกว่าเคยแล้ว ๒-๑๐ ครั้ง แต่เกือบ ๖ % บอกว่าเจอเป็นว่าเล่น คือมากกว่า ๑๐๐ ครั้ง !!!

แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ๔๐ % บอกว่ารู้สึกราวกับมีตัวตนสองร่างอยู่ต่างสถานที่พร้อมๆ กัน และราว ๓๘ % บอกว่าขณะเกิด OBE ได้ลอยทะลุผ่านของแข็ง เช่นกำแพงหรือผนังด้วย

เฉียดดับจิต ถอดจิต

ค.ศ. ๒๐๐๑ ทีมวิจัยของ พิม ฟาน ลอมเมล (Pim van Lommel) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตีพิมพ์การค้นพบที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับ OBE ในวารสารการแพทย์อังกฤษที่เก่าแก่และโด่งดังคือ The Lancet โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นจำนวน ๓๔๔ คน แต่กู้ชีพคืนกลับมาได้

ทีมวิจัยพบว่า ๑๘ % ของผู้ป่วยกลุ่มนี้มี OBE ร่วมด้วย ผู้ป่วยหลายคนจำรายละเอียดสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัดได้ แม้ว่าจะถูกประกาศว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะสัญญาณประสาทจากสมองราบเรียบไปแล้ว

ลอมเมลสรุปว่าผู้ป่วยยังมีการรับรู้ (consciousness) แม้ว่าระบบประสาทจะหยุดทำงานไปแล้วก็ตาม และเสนอ “สมมติฐาน” ว่าสมองในตอนนั้นทำหน้าที่คล้ายจานรับสัญญาณ ส่วนข้อมูลที่เข้าสู่สมองก็มาจากความจำเดิมและการรับรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ คล้ายกับคลื่นวิทยุหรือคลื่นโทรทัศน์ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศนั่นเอง

วิทยาศาสตร์ทางจิตก็ฟังดูแปลกๆ ชวนงุนงงแบบนี้แหละครับ :-)

ไม่ต้องแปลกใจนะครับ ถ้าผมจะบอกว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คงต้องอุทานว่า “อะไรของมันกันนี่ !” …เพราะคำอธิบายแบบนี้ไปไม่ได้กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์แบบมาตรฐาน

ถามต่อไปอีกว่าถ้าอยากถอดจิต โดยไม่ต้องอาศัยยาหรือเจ็บป่วย จะเป็นไปได้หรือไม่ และมีบางแห่งในสมองที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมเกี่ยวกับการรับรู้ตัวตนและตำแหน่งหรือไม่

ค.ศ. ๒๐๐๕ มีงานวิจัยที่แสดงว่าส่วน เทมพอรัล–พาไรทัล จังก์ชัน (temporal–parietal junction, TPJ) ของสมองซีกขวาน่าจะเป็นตำแหน่งดังกล่าว เพราะในผู้ป่วยที่ส่วนนี้ผิดปรกติไปมักปรากฏว่าเกิด OBE ขึ้นได้ เมื่อลองกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอ่อนๆ ใกล้กับตำแหน่งดังกล่าวก็ทำให้เกิด OBE ได้เช่นกัน

แถมการเปลี่ยนแปลงกระแสไฟฟ้าไปเล็กน้อย ขณะที่บอกให้ผู้ป่วยสังเกตไปยังจุดจำเพาะของร่างกาย ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนของร่างกายที่มองเห็นได้ เช่น แขนขาขยับเปลี่ยนตำแหน่ง หรือแม้แต่หดสั้นลง เป็นต้น

ภาพแสดงการทดลองเรื่องถอดจิตในคนปรกติของเออร์สัน
ที่มา : Ehrsson, H., 2007, Science, 317, 1048

ถอดจิตง่ายๆ…ทำได้เอง

ค.ศ. ๒๐๐๗ ทีมวิจัยนำโดย โอลาฟ แบล็งก์ (Olaf Blanke) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกอย่าง Science ว่าสามารถทำให้คนปรกติธรรมดารู้สึกราวกับถอดจิตได้ โดยอาศัยอุปกรณ์สร้างภาพเสมือน (virtual reality)

เมื่อสวมอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว ผู้ร่วมทดลองจะเห็นภาพด้านหลังของตัวเขาเอง ซึ่งก็จะทำให้เกิดอาการสับสนเหมือนกับ “ถอดจิต” ไปยืนอยู่ทางด้านหลังของตัวเอง  ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทดลองใช้ไม้แตะไปที่หลังของ “ร่างจำลอง” ที่มองดูอยู่ อย่างเป็นจังหวะสอดคล้องกับที่เอาไม้แตะไปที่หลังของผู้ร่วมทดลองจริงๆ ก็ทำให้ผู้ร่วมทดลองรู้สึกราวกับ “ร่างจำลอง” ที่เห็นเป็น “ร่างจริง” ของตนที่ถอดจิตออกไปมองดูอยู่แม้ทดลองแตะไม้ที่ร่างจำลองเท่านั้น ผู้เข้าร่วมทดลองก็ยังรู้สึกราวกับโดนไม้แตะที่ร่างกายจริงๆ !

ในวารสาร Science ฉบับเดียวกันนั้นเอง เฮนริก เออร์สัน (Henrik Ehrsson) จากสหราชอาณาจักร ก็แสดงให้เห็นเรื่องการถอดจิตในคนปรกติเช่นกัน โดยอาศัยการทดลองคล้ายคลึงกันกับของทีมแบล็งก์ แต่เขาใช้กล้องวิดีโอถ่ายภาพแทน  เออร์สันให้ผู้เข้าทดลองนั่งบนเก้าอี้ สวมแว่นครอบตาที่แสดงภาพจากกล้องวิดีโอ ๒ ตัว ด้านซ้ายแสดงภาพจากกล้องตัวซ้าย และด้านขวาแสดงภาพจากกล้องตัวขวา ทำให้เห็นเป็นภาพเป็น ๓  มิติ โดยกล้องตั้งอยู่ทางด้านหลังห่างจากผู้ร่วมทดลองราว ๒ เมตร

เมื่อเออร์สันยืนอยู่ข้างผู้ร่วมทดลอง แล้วใช้แท่งพลาสติก ๒ แท่งสัมผัสพร้อมๆ กันที่อกของผู้ร่วมทดลอง (ซึ่งผู้ร่วมทดลองมองไม่เห็น) กับอกของ “ร่างจำลอง” ที่เป็นภาพลวงตาที่สร้างขึ้น (ตรงตำแหน่งด้านหน้ากล้องที่ผู้ร่วมทดลองมองเห็น)

ผลที่ได้คือผู้ร่วมทดลองยืนยันว่า พวกเขาต่างรู้สึกราวกับว่าตัวเองย้ายไปนั่งอยู่ทางด้านหลังของตำแหน่งที่นั่งอยู่จริงๆ และ “รู้สึก” ว่าร่างกายตรงตำแหน่งนั้นสัมผัสกับแท่งพลาสติกจริงๆ

จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า OBE หรือ “การถอดจิต” นั้น อย่างน้อยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความสับสนในกลไกการประสานข้อมูลระหว่างภาพที่เห็นกับประสาทสัมผัสอื่นๆ ของร่างกายและการตีความโดยสมอง

เรื่องการถอดจิตจึงสามารถพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยประการฉะนี้

เชิงอรรถ

*สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
namchai4sci@gmail.com  Facebook: Namchai Chewawiwat

- See more at: http://www.sarakadee.com/2012/05/10/out-of-body/#sthash.3qqwF6RD.dpuf

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 


โพสท์โดย: moses
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
36 VOTES (4/5 จาก 9 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
“สถานที่อันตราย” ในประเทศจีนที่ควรระมัดระวังสำหรับนักเดินทางเลขเด็ด "เสือตกถังพลังเงินดี" งวดวันที่ 2 พฤษภาคม 68 มาแล้ว!..รีบเลยก่อนหวยหมด!!เปิดประวัติ พีช สมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ ทายาทบ้านใหญ่ธัญบุรีมาแล้ว! 10 เลขเด็ดเลขดัง "แม่ทำเนียนลอตเตอรี่" งวดวันที่ 2 พฤษภาคม 68..ดูกันเลย เลขไหนมาแรง!!เมนูอาหารเส้นของไทย ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในระดับสากลย้อนดูโตโน่ ทุ่มสุดตัว แช่ว่านเขาอ้อท่ามกลางข้อห้าม ศักดิ์สิทธิ์ ร่วมเพศผิดธรรมชาติอาจทำลายชีวิตทำไมเยอรมนีจึงเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมเคมี ?เรื่องอันตรายที่ต้องระมัดระวัง หากคุณกำลังจะเดินทางไปกัมพูชามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยืนหยัดปกป้องหลักการ แม้ต้องเผชิญกับการระงับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯเห็ดพิษ"น่ากินแต่กินไม่ได้"ขำๆ ตลกๆ ฮาก๊ากๆ รายวันV.1😂😂🤣18 เรื่องน่ารู้ก่อนเดินทางไป “ประเทศจีน” เตรียมพร้อมให้มั่นใจก่อนออกเดินทาง
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เปิดประวัติ พีช สมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ ทายาทบ้านใหญ่ธัญบุรีรวมภาพเรียกรอยยิ้มประจำวันนี้ วันที่เป็นวันทำงานวันแรกหลังวันสงกรานต์ไทย สู้ๆอีกไม่กี่เดือนก็ปีใหม่สากลแล้วเด้อมายด์ เผยจุดเริ่มต้นความรู้สึก “พี่โน่บอกชอบหนู” ครั้งแรกในรถ ‎ยิ่งฟังยิ่งช็อก! “มายด์” เปิดปากครั้งแรก ปมรักสามเส้าเรื่องอันตรายที่ต้องระมัดระวัง หากคุณกำลังจะเดินทางไปกัมพูชา
ตั้งกระทู้ใหม่
หน้าแรกเว็บบอร์ดหาเพื่อนChatหาเพื่อน Lineหาเพื่อน SkypePic PostตรวจหวยควิซคำนวณPageแชร์ลิ้ง
Postjung
เงื่อนไขการให้บริการ ติดต่อเว็บไซต์ แจ้งปัญหาการใช้งาน แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม ข่าวประชาสัมพันธ์ ลงโฆษณา
เว็บไซต์นี้ใช้ Cookie
เพื่อประสบการณ์ที่ดีและการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดูข้อมูลเพิ่มเติม อ่านนโยบายการใช้งาน
ตกลง