สื่อลามก-อนาจาร ในทางกฎหมายคืออะไร
ศัพท์คำว่า"ลามก-อนาจาร"(obscenity) โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงการล่วงละเมิดหรือกระทำผิดต่อความรู้สึกของสาธารณชน ในเรื่องของความบังควรกับธรรมเนียมปฏิบัติ. ความสำคัญทางสังคมของมันวางอยู่ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการตรวจสอบ(censorship)และข้อบัญญัติทางกฎหมาย. ผลงานใดก็ตาม ที่ได้รับการระบุว่าลามก-อนาจาร โดยทั่วไปแล้วจะถูกกำจัดหรือปราบปรามเพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ส่อไปในทางนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งพิมพ์หรือโฆษณาที่มีการเปิดเผยทางเพศที่กระทำออกมาอย่างโจ่งแจ้ง หรือมีเนื้อหาสาระหยาบคาย
"ความลามก-อนาจาร"นั้น ก็เหมือนกับ"ความงาม" กล่าวคือมันอยู่ในสายตาของผู้ดู ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ โดยไม่อาจหลบเลี่ยงได้ และ"ความลามก-อนาจาร"นี้ยังเป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกพึงพอใจด้วย แต่ไม่นับเป็นความพอใจอย่างเดียวกับ"ความงาม".
ในช่วงแรกของการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ประเทศในยุโรปส่วนมากถือว่า สื่อลามก-อนาจารเป็นอาชญากรรม และอาชญากรรมเกี่ยวกับการผลิตหรือการเผยแพร่วัสดุที่เป็นสื่อลามก-อนาจารที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติทางเพศ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างพบเห็นได้ทั่วไปอันหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ สื่อลามก-อนาจารจะถูกปราบปรามโดยพวก Puritan (นิกายศาสนาที่เคร่งครัดเน้นความบริสุทธิ์) การแสดงลามกหรืออนาจาร ตามโรงละครต่างๆในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ 17 จะถูกห้ามและกำจัด เพราะเหตุว่า การกระทำใดๆก็ตามที่ประพฤติออกมาหรือส่อไปในทางนั้น จะถือเป็นการกระทำที่เป็นการต่อต้านศาสนา หรือการกระทำที่เป็นภัยต่อความสงบเลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1727 ได้มีการฟ้องร้องอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องลามก-อนาจารขึ้นมาในศาลเรื่องหนึ่ง และมีการระบุว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางโลก(ฆราวาส) เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อสิ่งพิมพ์และการพิมพ์เผยแพร่ในเรื่องลามก-อนาจาร. หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรื่องลามก-อนาจารจึงกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นการกระทำผิดที่ฟ้องร้องกันโดยกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ
ข้อห้ามเกี่ยวกับเนื้อหาทางเพศ กลายมาเป็นบทบัญญัติในสหราชอาณาจักรขึ้นมาเป็นครั้งแรก ด้วยพระราชบัญญัติที่เรียกว่า Obscene Publications Act (พระราชบัญญัติการพิมพ์และการโฆษณาเกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจาร)ในช่วงปี ค.ศ.1857. อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้มีการบรรจุนิยามความหมายเกี่ยวกับความลามก-อนาจารเอาไว้อย่างชัดเจน
สำหรับนิยามของความลามก-อนาจาร จริงๆแล้ว เกิดขึ้นตามมาราวปี ค.ศ.1868 ใน Regina v. Hickin, ซึ่งเป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจารต่างๆ โดยได้ระบุลงไปว่า "เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามและความชั่วร้ายต่อจิตใจของผู้คน ซึ่งเปิดรับต่ออิทธิพลต่างๆอันไม่ถูกต้องทางศีลธรรม"(deprave and corrupt those whose minds are open to such immoral influences).
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อพิจารณาข้างต้นนี้จะทำหน้าที่เป็นหลักการหรือเครื่องมือในการตรวจสอบสื่อต่างๆ โดยแยกเอาส่วนที่มีพฤติการอันส่อเจตนาไปในทางนั้น ออกมาจากบริบทของเรื่องราวทั้งหมด เช่น นำเอาข้อพิจารณาข้างต้นมาใช้ตัดสินตอนๆหนึ่งของผลงานที่ดึงออกมาจากเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด
ทัศนะอันนี้มีมาก่อนการออกกฎหมายต่อต้านสื่อลามก-อนาจารในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นด้วย the Comstock Law (กฎหมายเกี่ยวกับระเบียบอันเคร่งครัด)ในปี ค.ศ.1873, ซึ่งได้มีการขยายความเพิ่มเติมในปี ค.ศ.1895 ในพระราชบัญญัติ Mail Act ที่สาระสำคัญก็คือ รูปแบบการฟ้องร้องของมันนั้น หากกระทำผิดจริงจะต้องมีการเสียค่าปรับและการจำคุกบุคคลคนนั้น ที่มีการส่งหรือรับ"สิ่งลามก-อนาจาร" อันกระตุ้นกำหนัด หรือ"สิ่งพิมพ์โฆษณาที่เป็นเรื่องลามก-อนาจาร"
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนเกี่ยวกับนิยามความหมายต่างๆได้เกิดขึ้นตามมาอีก ซึ่งได้แสดงออกมาให้เห็นในกรณีต่างๆที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา. จวบจนกระทั่งช่วงมาถึงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 นิยามเกี่ยวกับความลามก-อนาจารของสหราชอาณาจักร ใน Regina v. Hickin จึงค่อยได้รับการนำมาประยุกต์ใช้.
ในปี ค.ศ.1934 ใน U.S.v. One Book Entitled "Ulysses", ศาลอุทธรณ์ซึ่งเปิดการพิจารณาในตำบลหนึ่ง ๆ เฉพาะเวลาที่มีผู้พิพากษาเดินทางไปฟัง(a New York circuit court of appeals) ถือว่าบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องลามก-อนาจาร มิใช่เนื้อหาที่แยกออกมาโดดๆ อย่างเช่น พิจารณาเพียงแค่ตอนใดตอนหนึ่งในหนังสือ แต่ควรจะเป็น"การพิมพ์โฆษณาอันหนึ่งที่ถูกหยิบมาพิจารณาพร้อมกันทั้งหมด ที่มีผลกระทบหรือส่อไปในทางกระตุ้นตัณหา"(libidinous effect – มีผลกระทบในเชิงก่อให้เกิดราคจริต)
ในปี ค.ศ.1957, ใน Roth v. U.S., ศาลสูงของสหรัฐได้มีการลดหย่อนพื้นฐานการนิยามความหมายอันนี้ลงเกี่ยวกับสิ่งลามก-อนาจาร. แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1966 ศาลสูงสหรัฐฯ ได้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง Fanny Hill (ของ John Cleland – (1749))โดยประกาศออกมาว่า ผลงานชิ้นใดก็ตาม ที่จะถูกถือว่าเป็นงานลามก-อนาจารก็ต่อเมื่อ ผลงานชิ้นนั้น "โดยที่สุดแล้ว มันปราศจากคุณค่าทางสังคมใดๆที่มาชดเชยกันได้อย่างคุ้มค่า"(utterly without redeeming social value) จะถือว่าผลงานนั้น เป็นสื่อลามก-อนาจาร
ใน Miller v. California(1973) ศาลได้ละทิ้งข้อวินิจฉัยชี้ขาดในปี 1966 และได้ประกาศว่า มันจะไม่มีการต่อสู้เพื่อปกป้องผลงานชิ้นหนึ่งชิ้นใดที่มี"คุณค่าทางสังคมที่มาชดเชยได้บางอย่าง" และเพราะฉะนั้น รัฐอาจห้ามการตีพิมพ์หรือขายเกี่ยวกับผลงานต่างๆ "ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมทางเพศในหนทางที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจหรือมีการล่วงละเมิดอย่างชัดแจ้ง และการตีพิมพ์ผลงานนั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว มันไม่ได้มีความจริงจังทางวรรณกรรม, ทางศิลปะ, คุณค่าทางการเมือง หรือทางด้านวิทยาศาสตร์ใดๆ". จะเห็นว่า แนวโน้มนี้ได้มาเน้นที่คุณค่าทางศิลปะ การเมือง และวิทยาศาสตร์ โดยตัดเรื่องการชดเชยลงไป
ปัจจุบัน ยังมีประเทศต่างๆอีกมากมายที่ได้มีการรับเอาการออกกฏหมายการสั่งห้ามวัสดุลามก-อนาจารมาใช้ ดังเช่น พื้นฐานกฎหมายควบคุมซึ่งผ่านมาทางกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรม. แต่ในหลายๆประเทศกลับมีวิธีปฏิบัติที่ต่างออกไป กล่าวคือมีการตระเตรียมกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการโดยขนบธรรมเนียมต่างๆ การบริการทางไปรษณีย์ กรรมการท้องถิ่นหรือกรรมการแห่งชาติ สำหรับการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือการแสดงบนเวทีต่างๆ
เท่าที่สำรวจ ในทศวรรษที่ 1990s มากกว่า 50 ประเทศได้มีการรวมตัวกันเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาติสำหรับการควบคุมเกี่ยวกับการพิมพ์และการโฆษณาเผยแพร่สื่อลามก-อนาจาร. ที่น่าสนใจ การประชุมอันนี้กระทำขึ้นโดยปราศจากการให้นิยามใดๆเกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจารออกมาอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะมันเป็นที่ตกลงกันว่า การตีความเกี่ยวกับสื่อลามกนั้น มันเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขนบประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งมีความลักลั่นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้ การให้นิยามจึงความผิดแผกกันไปในแต่ละประเทศ เช่นที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในโลกอาหรับ กับโลกตะวันตก.