หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

สาระน่ารู้ ตอน ระบบการทำงานของไฮดรอลิก

โพสท์โดย I AM THOR

ไฮดรอลิก (Hydraulic) คืออะไร
      ไฮดรอลิก เป็นเรื่องที่ว่าด้วยคุณสมบัติทางกลของของไหล ในทางวิศวกรรมนั้นจะเกี่ยวข้องกับกำลังของของไหล(Fluid power) แต่ไฮดรอลิกที่เราจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือเรื่องที่ว่าด้วย “การส่งถ่ายกำลังในเชิงกลด้วยของไหลที่เป็นของเหลวหรือน้ำมันไฮดรอลิก” การส่งกำลังในระบบไฮดรอลิกส่วนใหญ่นั้นอุปกรณ์ทำงาน (Actuator) จะมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
- กระบอกไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder) เป็นอุปกรณ์ทำงานที่เคลื่อนที่ในแนวเส้นตรง (Linear)
- มอเตอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Motor) เป็นอุปกรณ์ทำงานที่เคลื่อนที่ในแนวรัศมี (Radius)

        ในระบบไฮดรอลิกที่เราเห็นกันส่วนมากนั้นสิ่งที่เราจะนำไปใช้คืองาน (Work, W) หรือแรง (Force, F) ที่เกิดจากระบบไฮดรอลิก เช่น การเอาแรงจากกระบอกไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder) ไปกด อัด หรือตัดชิ้นงาน และการขับ เช่นการหมุนจากมอเตอร์ไฮดรอลิกไปหมุนขับให้เกิดการหมุนของอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเครื่องจักร

 

รูปที่ 1 มอเตอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Motor)

รูปที่ 2 กระบอกไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder)

ข้อดีของระบบไฮดรอลิก
      เครื่องจักรที่ใช้อุปกรณ์ไฮดรอลิกเป็นส่วนประกอบนั้นมีมากมายหลากหลายชนิด ทั้งนี้เป็นเพราะข้อดีของอุปกรณ์ไฮดรอลิกบางตัวที่มีดังต่อไปนี้คือ

1. อุปกรณ์ทำงาน (Actuator) 
     มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่าอุปกรณ์ทางไฟฟ้าและกลไก อีกทั้งไม่มีความสลับซับซ้อนดังรูปที่ 3 และสามารถออกแบบให้ตัวเครื่องมีแรงมากได้เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของเครื่องจักร โดยออกแบบให้แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกสูง ในกรณีที่ต้องการแรงมาก ดังรูปที่ 4 เป็นตัวอย่างความคิดในการออกแบบระบบของแขนยกของเครนไฮดรอลิกที่ต้องการยกน้ำหนักด้วยลูกสูบไฮดรอลิก

รูปที่ 3 เปรียบเทียบระหว่างอุปกรณ์ไฮดรอลิกและอุปกรณ์ทางกล

รูปที่ 4 การใช้งานระบบไฮดรอลิก

2. มีความง่ายต่อการควบคุม (Easy to Control)
      เพราะว่าระบบการควบคุมในทางกลไกนั้นจะต้องมีจุดหมุน จุดต่อต่าง ๆ มาก อาจต้องใช้ข้อต่อและโซ่มากมาย ทำให้ยากต่อการสร้างแก้ไขและดัดแปลง แต่สำหรับระบบไฮดรอลิกแล้วต้องการแค่แหล่งกำเนิดแรงดัน (Pump Unit), วาล์วเปลี่ยนทิศทาง (Directional Control Valve), อุปกรณ์ทำงาน (Actuator), และท่อทาง (Hose and Piping) ซึ่งทำให้การควบคุมระยะไกลทำได้ง่ายมาก รูปที่ 5 แสดงอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบไฮดรอลิก

รูปที่ 5 อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบไฮดรอลิก

รูปที่ 6 เปรียบเทียบการควบคุมทางกลไกและไฮดรอลิก

3. ง่ายต่อการควบคุมโหลด (Easy to Load Control)
      ถ้าหากเราติดตั้งวาล์วปลดแรงดัน (Relief Valve) ลงไปในวงจรก็จะสามารถช่วยป้องกันแรงดันที่สูงผิดปกติในวงจรได้และยังทำให้การควบคุมแรงดันเป็นไปได้อย่างดี ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับอุปกรณ์ไฮดรอลิกที่เกิดจากแรงดันสูงและควบคุมแรงดันให้คงที่อันจะเป็นผลให้แรงที่ได้จากอุปกรณ์ทำงาน (Actuator) มีความคงที่

จากรูปที่ 7 คือวาล์วปลดแรงดันจะเป็นตัวที่ทำให้สามารถควบคุมแรงดันภายในระบบไม่ให้เกินไปจากที่ต้องการได้ ซึ่งจากโครงสร้างของอุปกรณ์แล้วสามารถที่จะสร้างและติดตั้ง ซ่อมและแก้ไขได้ง่ายกว่าอุปกรณ์ทางกล

 

รูปที่ 7 วาล์วปลดแรงดัน (Relief Valve)

4. ง่ายต่อการเพิ่มอุปกรณ์ทำงาน
       สามารถที่จะเพิ่มอุปกรณ์ทำงานได้ง่ายเพียงแค่เพิ่มจุดต่อพ่วงแล้วก็ใส่อุปกรณ์ (Actuator) ทำงานพ่วงไปก็สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้ไขทั้งหมดของวงจรให้ยุ่งยากดังรูปที่ 8 

รูปที่ 8 จุดต่อพ่วงสำหรับใส่อุปกรณ์เพิ่ม

หลักการทำงานของระบบไฮดรอลิก (Hydraulic Principle of Operation)
1. แรงดันในระบบปิดจะมีค่าเท่ากันทุกทิศทาง 
     แรงดันที่เกิดขึ้นกับของไหลที่ส่งผ่านไปกระทำยังผนังของภาชนะปิดจะมีค่าเท่ากันทุกทิศทุกทางไม่ว่ารูปทรงของภาชนะนั้นจะมีรูปง่าย ๆ หรือสลับซับซ้อนแค่ไหนดังรูปที่ 9 ถ้าเราใช้เข็มฉีดยาที่มีพื้นที่ 1 ตร.ซม. กดที่ลูกสูบของเข็มฉีดยาด้วยแรง 2 กก.แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกที่ได้จากการกระทำนี้คือ 2 กก./ตร.ซม. และถ้าแรงดันนี้ส่งผ่านท่อไปยังกระบอกไฮดรอลิกที่มีพื้นที่ลูกสูบของกระบอกไฮดรอลิก 30 ตร.ซม.จากการที่แรงดันในกระบอกสูบเท่ากันทุกทิศทางจะทำให้ลูกสูบมีแรงถึง 60 กก.

รูปที่ 9 แรงดันในระบบกระทำเท่ากันทุกทิศทาง

 

รูปที่ 10 แรงที่เกิดขึ้นในระบบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่กระบอกสูบ

     ดังรูปที่ 10 ดังนั้นในระบบไฮดรอลิกการที่เราต้องการแรงจากกระบอกไฮดรอลิกมากน้อยแค่ไหนก็สามารถทำได้โดยการออกแบบกระบอกสูบให้มีพื้นที่หน้าตัดมากน้อยตามต้องการหรือใช้ปั้มที่มีแรงดันสูง จากรูปความสัมพันธ์ระหว่างแรงของกระบอกสูบและเข็มฉีดยาจะอยู่ในรูป  
     P = F1A1 = F2A2 = ค่าคงที่  ……… (1)

     เมื่อ F1, A1 และ F2, A2 คือแรงที่กระทำกับก้านสูบ (F) และพื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบ (A) ในกระบอกเข็มฉีดยาตามตัวอย่าง และกระบอกสูบตามลำดับถ้าเราต้องการให้แรงที่เกิดขึ้นในกระบอกสูบมากกว่าเดิมก็ทำได้โดยการเพิ่มพื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบให้มากกว่าเดิมหรือเพิ่มแรงกดตรงกระบอกฉีดยาตามตัวอย่าง

2. อัตราการไหลของน้ำมันไฮดรอลิก (Flow Rate of Hydraulic System)
       อัตราการไหล (Flow Rate, Q) คือ อัตราการเคลื่อนที่ของน้ำมันไฮดรอลิกในอัตราส่วนปริมาตรหรือน้ำหนักต่อหน่วยเวลา ดังแสดงในรูปที่ 11 โดยทั่วไปจะวัดเป็นปริมาตรของการไหลต่อหน่วยเวลาเป็นนาทีหรือวินาที แต่ที่นิยมใช้คือ ลิตร/นาที ถ้ากระบอกสูบมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน กระบอกสูบที่มีอัตราการไหลมากกว่าจะเคลื่อนที่เร็วกว่า เราสามารถเปรียบเทียบความเร็วของที่มีอัตราการไหลแตกต่างกัน

รูปที่ 11 แสดงการไหลของของไหล

รูปที่ 12 เปรียบเทียบการเคลื่อนที่ของกระบอกสูบต่างขนาด

       จากรูปที่ 12 เป็นการเปรียบเทียบความเร็วในการเคลื่อนที่ของลูกสูบของสองกระบอกสูบที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดเท่ากัน  แต่อัตราการไหลของน้ำมันไฮดรอลิกไม่เท่ากันจากสมการ 
      

       โดยที่  V คือความเร็วของกระบอกสูบ Q คืออัตราการไหลของน้ำมันไฮดรอลิกและ A คือพื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบ

       ดังนั้นความเร็วของลูกสูบของกระบอกสูบเมื่ออัตราการไหลของกระบอกเท่ากับ10 ลิตร/นาที พื้นที่หน้าตัดของ   กระบอกสูบ 50 ตารางเซนติเมตร จะเท่ากับ 
                                  

     แต่ถ้าเราเพิ่มอัตราการการไหลเป็น 30 ลิตร/นาที เราจะได้ความเร็วของลูกสูบเป็น 
                                  

     ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเมื่อเราเพิ่มอัตราการไหลให้กับระบบจะทำให้ความเร็วของลูกสูบเพิ่มขึ้น

เปรียบเทียบระบบไฮดรอลิกกับร่างกายของคน
       ในร่างกายมนุษย์เรามีหัวใจเปรียบเสมือนปั้มตัวใหญ่ เรามีปอดที่เปรียบเป็นตัวฟอกเลือดเสมือนตัวกรองเลือดจากเลือดดำเป็นเลือดแดงที่สะอาด เรามีแขนมีขาที่สามารถหยิบจับสิ่งต่าง ๆ และทำงานต่าง ๆ เรามีสมองที่คอยคิดและสั่งการว่าจะให้แขนขาเคลื่อนที่ไปทางไหนอย่างไรเสมือนกับระบบของไฮดรอลิกดังรูปที่ 13

รูปที่ 13 เปรียบเทียบระบบไฮดรอลิกกับร่างกายของคนเรา

อุปกรณ์และส่วนประกอบของระบบไฮดรอลิก
      อุปกรณ์ไฮดรอลิกหรือส่วนประกอบของระบบไฮดรอลิก คือส่วนที่นำมาประกอบกันเป็นระบบไฮดรอลิกซึ่งที่สำคัญ ๆ ก็มีดังต่อไปนี้

1. ปั้มไฮดรอลิก (Hydraulic Pump)
     ปั้มไฮดรอลิกคือ อุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานจากการหมุนซึ่งขับโดยเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นแรงดันน้ำมันไฮดรอลิกเข้าสู่วงจรไฮดรอลิก ปั้มที่ใช้เครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าขับโดยตรง เมื่อใดก็ตามที่เครื่องยนต์หรือมอเตอร์หมุนปั้มก็จะทำงานไปด้วยดังรูปที่ 14
 

รูปที่ 14 ปั้มไฮดรอลิก

ชนิดของปั้มไฮดรอลิก
* เกียร์ปั้ม (Gear Pump) เป็นปั้มที่นิยมใช้งานมากในปัจจุบัน จุดเด่นของปั้มชนิดนี้คือ
   -  มีโครงสร้างง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน
   -  มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา
   -  ไม่ค่อยเสีย และง่ายต่อการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง มีหลายรุ่นให้เลือกตั้งแต่แรงดันน้อย ๆ จนไปถึงแรง ดันมาก ๆ และราคาไม่แพง
เกียร์ปั้มยังแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีกดังต่อไปนี้
   - External Gear Pump คือ ปั้มที่มีเกียรสองตัวโดยที่ฟันของเกียร์ทั้ง สองตัวนั้นขบกัน
   - Internal Gear Pump คือปั้มที่เกียร์จะขบอยู่กับตัวเรือนปั้มดังรูปที่ 15

 รูปที่ 15 เกียร์ปั้ม (Gear Pump) แบบต่าง ๆ

* ปั้มแบบลูกสูบ (Displacement Volume Pump) คุณลักษณะที่สำคัญของปั้มลักษณะนี้มีดังนี้
- มีประสิทธิภาพสูงเพราะว่าปั้มแบบนี้มีการรั่วที่เกิดขึ้นภายในน้อย
- ปั้มบางแบบสามารถที่จะปรับปริมาณการไหลได้โดยที่ใช้ความเร็วรอบเท่าเดิมเหมาะกับงานที่ต้องการแรงดันสูงและน้ำมันที่รั่วต่อรอบน้อยกว่า

รูปที่ 16 ปั้มแบบลูกสูบ (Displacement Volume Pump) แบบต่าง ๆ

* Cam Plate Pump 
      จะมีใช้กับเครนไฮดรอลิกมาก หลักการทำงานของปั้มแบบนี้ก็เหมือนกับปั้มแบบลูกสูบธรรมดา ชิ้นส่วนที่บังคับให้ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นลงก็คือ แผ่นเอียงหรือ (Cam Plate) ซึ่งจะหมุนไปรอบ ๆ เมื่อส่วนที่สูงของแผ่นเอียงไปสัมผัสกับด้านล่างของลูกสูบมันก็จะดันลูกสูบขึ้น กลายเป็นจังหวะอัดของลูกสูบ เมื่อแผ่นเอียงหมุนต่อไปจนถึงส่วนที่ต่ำของแผ่นเอียงสัมผัสกับด้านล่างของลูกสูบ ก็จะทำให้ลูกสูบเริ่มเคลื่อนที่ลงกลายเป็นจังหวะดูดของลูกสูบ การทำงานก็จะสลับอย่างนี้เรื่อยไป

รูปที่ 17 Cam Plate Pump

* ปั้มแบบใบเวน (Vane Pump) 
      คุณลักษณะที่สำคัญของปั้มลักษณะนี้มีดังนี้
      1. สามารถทำงานได้ที่ความเร็วรอบสูง
      2. เหมาะสำหรับงานที่ใช้แรงดันต่ำจนถึงแรงดันขนาดปานกลาง
      3. ราคาถูก

      หลักการทำงานของเวนปั้มก็คือเมื่อปั้มหมุนก็จะสลัดใบเวนให้ออกมาสัมผัสกับตัวเรือนปั้ม โดยที่แกนของใบพัดจะติดเยื้องศูนย์อยู่ภายในตัวเรือนปั้ม จากการที่แกนของใบพัดที่ติดตั้งอยู่อย่างเยื้องศูนย์จึงทำให้เวลาที่ใบพัดของปั้มหมุนไปรอบ ๆ เรือนปั้ม ปริมาตรช่องว่างระหว่างใบพัดของแต่ละช่วงไม่เท่ากัน โดยที่ในช่วงจังหวะดูดช่องว่างของใบพัดจะถูกขยายออกจนกระทั่งช่องว่างมากที่สุด หลังจากนั้นช่องว่างจะเริ่มลดลงก็เป็นจังหวะอัด การทำงานของปั้มชนิดนี้จะเงียบ ไม่มีเสียงดัง

รูปที่ 18 ปั้มแบบใบเวน (Vane Pump) แบบต่าง ๆ

อุปกรณ์ทำงาน (Actuator)  
     คืออุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานจากแรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกไปเป็นเคลื่อนที่ในเชิงเส้นดังรูปที่ 17 หรือการหมุนดังรูปที่ 18 อุปกรณ์ทำงานเป็นเสมือนกับกล้ามเนื้อแขนขาในร่างกายของคนเรา อุปกรณ์ทำงานในระบบไฮดรอลิกก็คือ กระบอกสูบ (Hydraulic Cylinder) และมอเตอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Motor)

 

รูปที่ 19 อุปกรณ์ทำงานที่มีการเคลื่อนที่เชิงเส้น (Hydraulic Cylinder)

รูปที่ 20 อุปกรณ์ทำงานที่มีการเคลื่อนที่เชิงมุมหรือหมุน (Hydraulic Motor)

2. กระบอกสูบไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder) 
      กระบอกไฮดรอลิกนั้นเราสามารถที่จะแบ่งได้เป็นสองประเภทตามทิศทางของแรงที่กระทำบนลูกสูบคือ Single Acting Cylinder และ Double Acting Cylinder

* Single Acting Cylinder  
      กระบอกสูบไฮดรอลิกชนิดนี้มีรูทางเข้าและทางออกของน้ำมันไฮดรอลิกนั้นมีเพียงรูเดียวหรือมีรูที่ด้านเดียวของกระบอกสูบ แรงที่เกิดจากการกระทำของแรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกนั้นเกิดในทิศทางเดียวดังรูป การกลับสู่ตำแหน่งเดิมของลูกสูบจะใช้แรงดันของสปริงหรือน้ำหนักของโหลดที่ดันกลับดังรูปที่ 21

* Double Acting Cylinder 
      ลูกสูบชนิดนี้จะมีรูเข้าออกของน้ำมันไฮดรอลิกสองทางหรือทั้งสองด้านของลูกสูบ ทิศทางการเคลื่อนที่ไปมาของลูกสูบไฮดรอลิกในกระบอกสูบนั้นเป็นผลมาจากแรงดันของน้ำมันทั้งสองทางดังรูปที่ 22  ส่วนประกอบหลัก ๆ ของกระบอกสูบไฮดรอลิกนั้นจะประกอบด้วย ลูกสูบ, กระบอกสูบ, ก้านสูบ, Oil Seal, Packing, และตัวกันฝุ่น (Dust Seal) ดังรูปที่ 23


รูปที่ 21 กระบอกสูบแบบ Single Acting 

รูปที่ 22 กระบอกสูบแบบ Double Acting

* แรงที่เกิดจากลูกสูบไฮดรอลิก
       แรงที่ได้จากกระบอกสูบไฮดรอลิกนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการออกแบบของกระบอกสูบนั้น ๆ ในระบบที่มีแรงดันน้ำมันไฮดรอลิกเท่า ๆ กัน ถ้ากระบอกสูบลูกไหนมีพื้นที่หน้าตัดมากกว่าก็จะมีแรงมากกว่า จากสมการที่ 1 
        

     โดยที่  F  คือ แรงที่ได้จากกระบอกสูบ  
                  P คือ แรงดันในกระบอกสูบที่มาจากระบบหรือปั้ม 
                  A คือ พื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบ
      ดังนั้นในระบบที่มีแรงดันเท่า ๆ กันกระบอกสูบที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดมากกว่าจะมีแรงมากกว่า

ตัวอย่าง 
       กระบอกไฮดรอลิกที่มีพื้นที่หน้าตัด 1 ตารางเซนติเมตร (A = 1 cm2) ทำงานอยู่กับระบบที่มีแรงดัน 100 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (P = 100 kg/cm2) แรงที่เกิดขึ้นกับลูกสูบก็จะเท่ากับ F =1 cm2 x 100 kg/cm2, = 100 kg

       เช่นเดียวกัน ถ้าหากเราใช้กระบอกสูบที่มีพื้นที่หน้าตัด 10 ตารางเซนติเมตร (A = 10 cm2) ทำงานในระบบเดียวกัน แรงที่ได้จากลูกสูบคือ F =10 cm2 x 100 kg/cm2 = 1,000 kg

* ความเร็วของลูกสูบ
       ความเร็วที่ได้จากการเคลื่อนที่ของลูกสูบนั้น จะขึ้นอยู่กับอัตราการไหล (Flow Rate: Q) ของน้ำมันในระบบ จากสมการที่ 2 คือ Q = AV โดยที่ Q คืออัตราการไหลของน้ำมัน (Liters/Min), A คือ พื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบ (cm2) และ V คือความเร็วของการเคลื่อนที่ของลูกสูบ (cm/Sec) จากสมการจะเห็นว่ายิ่งพื้นที่หน้าตัดของลูกสูบยิ่งมาก หรือลูกสูบยิ่งมีขนาดใหญ่จะทำให้การเคลื่อนที่ของลูกสูบนั้นช้าลง     

ตัวอย่าง 
      กระบอกไฮดรอลิกที่มีพื้นที่หน้าตัด 1 ตารางเซนติเมตร (A = 1 cm2) มีอัตราการไหลที่ 100 ลิตร/นาที ความเร็วของลูกสูบก็จะเป็น 
    

     แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นกระบอกสูบที่มีพื้นที่หน้าตัดเป็น 10 ตารางเซนติเมตร (A = 10 cm2) ความเร็วที่ได้ก็จะเป็น 
     

     จะเห็นว่ายิ่งกระบอกสูบมีพื้นที่หน้าตัดยิ่งมากความเร็วของลูกสูบจะลดลงตามสัดส่วนในกรณีที่ระบบมีอัตราการไหลที่เท่า ๆ กัน

 

รูปที่ 23 ส่วนประกอบหลักของกระบอกสูบไฮดรอลิก

3. มอเตอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Motor)
     มอเตอร์ไฮดรอลิกคือ อุปกรณ์ทำงานที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกไปเป็นการหมุน ส่วนโครงสร้างภายในจะเหมือนกันกับปั้มไฮดรอลิก แต่การทำงานจะกลับด้านหรือตรงกันข้ามมอเตอร์ไฮดรอลิกคือจะเปลี่ยนแรงดันเป็นพลังงานกล แต่ปั้มไฮดรอลิกเปลี่ยนพลังงานกลเป็นแรงดัน
  

รูปที่ 24 มอเตอร์ไฮดรอลิกแบบต่าง ๆ

4. ถังน้ำมันไฮดรอลิก
      คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำมันไฮดรอลิกเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบ
หน้าที่ของถังน้ำมันไฮดรอลิก
      1. กักเก็บน้ำมันไฮดรอลิกไว้เพื่อจ่ายให้แก่ระบบอย่างเพียงพอกับความต้องการ
      2. กำจัดสิ่งสกปรกและสิ่งปนเปื้อนที่มีอยู่ในน้ำมันไฮดรอลิก
      3. กำจัดน้ำออกจากระบบไฮดรอลิก ระบายความร้อนให้กับน้ำมันไฮดรอลิก
ในระบบขนาดเล็กปริมาณของน้ำมันจะมากขึ้นเมื่อก้านสูบหดตัว  และจะลดลงเมื่อก้านสูบหดตัว

รูปที่ 25 ถังน้ำมันไฮดรอลิก

       อุปกรณ์ตัวหนึ่งที่จะต้องมีควบคู่กับถังน้ำมันไฮดรอลิกคือตัวระบายอากาศ (Air Breathe) มีไว้เพื่อให้อากาศเข้าและออกเพื่อทดแทนกับปริมาณน้ำมันที่ลดลงและเพิ่มขึ้นตามจังหวะการทำงานของลูกสูบและลดแรงต้านทานการเคลื่อนที่ของลูกสูบ

สรุป
       จากบทความที่กล่าวมาในรายละเอียดของระบบไฮดรอลิกเบื้องต้น หลักการทำงานของระบบ อุปกรณ์ที่สำคัญ ๆ ในบางส่วนในฉบับหน้าจะกล่าวถึงเรื่องอุปกรณ์ที่สำคัญของระบบไฮดรอลิกที่เหลือ เช่น กรอง วาล์วชนิดต่าง ๆ ตลอดจนน้ำมันไฮดรอลิก

 

     

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 


โพสท์โดย: I AM THOR
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
12 VOTES (4/5 จาก 3 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
กระบี่:ส่งเสด็จกลับสู่กรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ขณะผู้เข้ากราบสักการะรวม 4 วัน 720,667 คนพบฝักไข่ลักษณะคล้ายกับสมองขนาดใหญ่ ของสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดมันคืออะไร??เกาหลีใต้ชี้ "ลูกสาวคิมจองอึน อาจสืบอำนาจต่อ อย่างชัดเจน!!"เตือนภัย! บิลค่าไฟปลอมระบาด มิจฉาชีพเอามาเสียบหน้าบ้าน หวั่นสแกนจ่ายอาจสูญเงินหมดบช.หนุ่มนักกล้ามชาวอเมริกัน จวกสาวเข้ายิมเล่นท่ายาก หวั่นเรื่องความปลอดภัย ขณะที่สาวเจ้าตัวโต้กลับ นี่มันท่าโยคะขั้นสูงย่ะ!5 เคล็ดลับพิชิตหน้าใส ไร้ริ้วรอย แม้จะนอนน้อย"ตึกช้าง" ตึกที่เคยถูกจัดอยู่ใน 24 ตึกที่มีรูปทรงแปลกประหลาดและน่าเกลียดที่สุดในโลก!?"ชุดเปรตเดือนสิบ" จากมิสแกรนด์ตาก ทำเอาขนลุกเลย..ทำถึงจริงๆสาวลาวปากแจ๋วด่าคนไทยขี้เกียจ! ล่าสุดออกมาไหว้ขอโทษคนไทยทั้งประเทศแล้ว!!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
กระบี่:ส่งเสด็จกลับสู่กรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ขณะผู้เข้ากราบสักการะรวม 4 วัน 720,667 คนหนุ่มนักกล้ามชาวอเมริกัน จวกสาวเข้ายิมเล่นท่ายาก หวั่นเรื่องความปลอดภัย ขณะที่สาวเจ้าตัวโต้กลับ นี่มันท่าโยคะขั้นสูงย่ะ!พบฝักไข่ลักษณะคล้ายกับสมองขนาดใหญ่ ของสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดมันคืออะไร??"ชุดเปรตเดือนสิบ" จากมิสแกรนด์ตาก ทำเอาขนลุกเลย..ทำถึงจริงๆ
ตั้งกระทู้ใหม่