สวนโมกข์วันนี้ ร้อนเป็นไฟ หลานพุทธทาส" เสนอปิดสวนโมกข์ 10 ปี แก้ปมปัญหาขัดแย้งภายใน
"เมตตา พานิช" หลานพระธรรมโกศาจารย์ ในฐานะประธานกรรมการธรรมทานมูลนิธิ คณะธรรมทาน ไชย สวนโมกข์ ร่ายปมปัญหาความขัดแย้งในสวนโมกข์ งานปรับปรุงยอดเขาพุทธทอง - เงินบริจาค จึงเสนอปิดตัวเอง 10 ปี แก้ปมขัดแย้งภายใน จะทำให้ทุกคนได้หันมาปรึกษาหารือและทบทวนถึงโลกุตรธรรม และเป็นบทเรียนพาสวนโมกข์ไปสู่ความเจริญสูงสุดได้อีกครั้ง
1. งานปรับปรุงยอดเขาพุทธทอง
“ปัจจุบันนี้ไม่ว่าธรรมชาติหรือ คนที่รู้ว่าปัญหาคืออะไรก็จะรู้ดีว่าไม่ทำก็ได้ ไม่เป็นไรเลย โบสถ์เดิม ท่านพุทธทาสไม่ใช้เงินเลย ท่านเพียงขอแรงพระสงฆ์ในสวนโมกข์ ช่วยกันเรียงหินบนลานดินเท่านั้น นี่แค่ทำบันไดทางขึ้น มันก็ไม่ใช่หลักแล้ว เมื่อพระสงฆ์ลงปาติโมกข์จึงไม่มีสิ่งปรุงแต่งใด แม้แต่การฉันอาหารที่สวนโมกข์ก็ไม่มีการตั้งสำหรับ พระจะฉันในบาตรของตน เพื่อความเรียบง่ายและไม่สร้างความรบกวนให้แก่ใคร เมื่อฉันเสร็จก็ล้างบาตรของตน
มีเด็กวัดและคนข้างนอกเขามองอย่างคนทั่วไปว่าต้องมีความเจริญ แต่เป็นความเจริญทางวัตถุ ถ้าวัตถุเจริญ จิตใจก็เสื่อม วัตถุนิยมมันมีรสอร่อย มันเพลิดเพลิน มันทำให้เห็นแก่ตัว แล้วที่บอกว่าจะปรับปรุงเพื่อให้มีความเป็นธรรมชาตินั้น ก็ต้องถามกลับนะว่า ของเดิมนั้น ไม่ธรรมชาติหรือ ของเดิมก็อยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แล้วจะปรับปรุงเพื่อให้เป็นธรรมชาติอีกทำไม
นายเมตตา ระบุว่า ตนเองในวันนี้ ไม่มีตำแหน่งใดๆ จึงไม่ต้องการเข้าไปก้าวก่าย เพราะเดิมที ตั้งใจไว้ว่า เมื่อทำงานมา 10 ปีจะเกษียณ ซึ่งตนก็เคยปรารภไว้กับท่านโพธิ์ ท่านจ้อย ท่านสิงห์ทอง โดยท่านโพธิ์เองก็ตั้งใจจะละวางตำแหน่งเจ้าอาวาส ในวัย 80 ปี เช่นเดียวกับท่านพุทธทาส
แต่เมื่อเกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้น พระและฆราวาสที่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เหมาะสมจึงมาปรึกษาหารือ และขอให้ช่วยหน่อย ตนก็ไม่อาจวางเฉยได้อีกต่อไป ซึ่งก็ทำให้มีการปล่อยข่าวว่าตนหวงอำนาจ เป็นการออกมาเรียกร้อง แสดงบทบาท ทั้งที่ไม่มีบทบาทใดๆ แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงตนปรารถนาอยู่อย่างสงบ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายทางวัตถุ แต่ที่จำเป็นต้องออกมาพูดในช่วงหลังนี้ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ความจริงอีกด้าน
มีคนอยู่ 3 กลุ่มคือ ทั้งชาวบ้านที่เขารู้ปัญหาที่แท้จริง มองแล้วเข้าใจ กับชาวบ้านที่เขาไม่เข้าใจและอาจคิดว่าเมื่อมีความเจริญแล้วอาจจะดี ทำให้มีคนมาวัดเยอะขึ้น กลุ่มที่ 3 ก็คือ กลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์ จะรักษางานของท่านพุทธทาสเอาไว้ ตั้งใจจะคงสิ่งต่างๆ ไว้ตามเดิม เพื่อให้เห็นว่าท่านพุทธทาสท่านมีปณิธานอย่างไร ท่านตั้งใจอย่างไร และตอนท่านมีชีวิตอยู่นั้น สวนโมกข์เป็นอย่างไร
“ถ้ามีการพัฒนา ปรับปรุงให้มีความเจริญทางวัตถุ สิ่งดั้งเดิมเหล่านี้จะกลายเป็นเพียงตำนานทันที เป็นตำนานที่จะไม่มีใครได้เห็นอีก เป็นตำนานที่ไม่มีชีวิต ผู้ที่คิดจะทำ คิดจะเปลี่ยนแปลง เขาก็มองว่าสวนโมกข์ได้เวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ส่วนตัวผมแล้ว คิดว่าของเก่ามีคุณค่ากว่า”
2. เรื่องเงิน 50 กว่าล้าน
เป็นเงินที่ได้รับบริจาคมานับแต่ครั้งที่ท่านพุทธทาสเริ่มสร้างสวนโมกข์ มีทั้งเงินที่มอบโดยคุณย่าของผม โดยคณะธรรมทาน ซึ่งเป็นตระกูลพานิช และเงินบริจาคด้วยจิตศรัทธาของญาติโยมที่ศรัทธาในงานของท่านพุทธทาส เงินเหล่านี้ คิดดูนะครับ ว่าฝากอยู่ในธนาคารตั้งแต่ยุคที่ธนาคารให้ดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อถึงวันนี้ เงินของสวนโมกขพลาราม จึงมีถึง 50 กว่าล้าน”
ที่มาของเงิน 50 กว่าล้าน
- แบ่งเป็นของธรรมทานมูลนิธิ 27 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดพิมพ์เผยแพร่งานชุดธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาสภิกขุ
- อีก 23 ล้านบาท แบ่งเป็นของธรรมาศรมนานาชาติ เพื่อให้ไว้สำหรับการสืบต่อวิถีภาวนาและไว้ดูแลผู้มาปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์นานาชาติที่ธรรมะมาตา เพราะผู้มาอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ด้วยเงินบริจาคเหล่านี้เอง ท่านพุทธทาสผู้มองการณ์ไกลและมีความกล้าหาญ มีความขบถและมีบารมีมากพอ จึงตัดสินใจทำในสิ่งที่ย้อนแย้งกัน นั่นคือ ความกล้าที่จะตั้งสวนโมกขพลารามเป็นวัดธารน้ำไหล หากขณะเดียวกันก็กล้าหาญที่จะฉีกตัวเองออกมา จะไม่อยู่ใต้อำนาจของเถรสมาคม
ความกล้าหาญและบารมีของท่านนั้น ท่านก็ได้ลั่นวาจาไว้เลยว่า “เงินนี่ไม่ใช่เงินฉัน ไม่ใช่เงินวัด เป็นเงินของสวนโมกข์” ด้วยบารมีของท่าน ก็ไม่มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหาร ส่วนการบริหารดูแลเงินบริจาคเหล่านี้ ท่านมอบให้เป็นหน้าที่ของธรรมทานมูลนิธิ ซึ่งก็คือคุณพ่อของผม ส่วนธรรมทานมูลนิธินั้น เดิมทีเป็นเพียงคณะธรรมทาน ดูแลโดยตระกูลพานิช และตั้งเป็นนิติบุคคล เมื่อท่านพุทธทาสมีดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนพุทธนิคม โรงเรียนวิถีพุทธแห่งแรกของไทย คณะธรรมทานจึงใช้ชื่อธรรมทานมูลนิธิมานับแต่นั้น”
ในเงิน 50 กว่าล้านนี้ ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมนั้น 27 ล้านคือเงินทีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมา เพื่อจัดพิมพ์งานชุดธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาส สวนอีก 23 ล้าน เป็นส่วนที่ไว้ใช้ดูแลสวนโมกข์นานาชาติและธรรมะมาตา ดังนั้น เงินบริจาคที่เป็นของวัดธารน้ำไหลจริงๆ มีเพียง 2-3 ล้านเท่านั้น แต่เมื่อเกิดความเข้าใจผิดกันเช่นนี้ และตัวผมเองผมก็ออกจากการเป็นไวยาวัจกรของวัดธารน้ำไหลแล้ว ผมก็ได้มอบบัญชีทุกอย่างให้ท่านเจ้าอาวาสสุชาติไปหมดแล้ว ผมก็สบายใจแล้ว ไม่มีอะไรติดค้าง ไม่ได้มีของร้อนเก็บไว้ใกล้ตัว"
แนวทางแก้ไขเบื้องต้น
"ปัญหาในสวนโมกข์วันนี้ ไม่มีใครผิดนะครับ เพียงแต่เต็มไปด้วยทิฐิ และอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งเหมือนก่อน ยอมแพ้ต่ออำนาจวัตถุนิยม ผมก็ทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ และก็ตั้งใจจะทำหน้าที่ของตนให้ดีทั้งการดูแลสวนโมกข์นานาชาติ และการจัดพิมพ์งานชุดธรรมโฆษณ์"
"แต่ในมุมมองส่วนตัว ผมว่าถ้าสวนโมกข์จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ สวนโมกข์ควรจะต้องปิดตัวเอง สัก 10 ปี เพื่อเรียนรู้ ปฏิบัติ และสอนตนเองได้ เข้าใจในโลกุตรธรรมให้ได้อย่างแท้จริง ก่อนที่จะไปสอนคนอื่น ท่านพุทธทาสท่านตั้งใจสร้างสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรม เพราะท่านเชื่อว่า โลกจะมีสันติภาพได้ต่อเมื่อคนมีศีลธรรม แต่มีไม่กี่คนที่จะเข้าใจเรื่องนิพพาน เมื่อเข้าใจแล้ว สิ่งนี้จะแก้ปัญหาจิตใจ เมื่อจิตใจสงบเขาจะไม่ทำอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น"
อ่านบทความเต็มที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=305957889543815&set=a.205384536267818.50850.100003888188683&type=1