หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในสตรี

โพสท์โดย PoGuS BigBooM
ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในสตรี

 



ผศ.นพ. ชัยเลิศ  พงษ์นริศร  

1. ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร
2. กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร
3. สาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร
4. แพทย์วินิจฉัยภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้อย่างไร
5. การส่งตรวจเพื่อสืบค้นภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้แก่อะไรบ้าง
6. การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีทางเลือกอะไรบ้าง
7. การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีวิธีใดบ้าง

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?
ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (Stress Urinary Incontinence) หมายถึง
     การที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ตั้งใจขณะทำกิจกรรมที่ออกแรง เช่น ไอ จาม ยกสิ่งของ หัวเราะ หรือออกกำลังกาย อาจเรียกภาวะนี้อีกชื่อว่า ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม สตรีอย่างน้อยร้อยละ 10-20 มีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง และส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิผล
     ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงนี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสตรีในหลายๆด้าน อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าสังคมและการสร้างความสัมพันธ์ภาพกับผู้อื่น ตลอดจนจำกัดการทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ

กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร?
     เมื่อร่างกายสร้างน้ำปัสสาวะเกิดขึ้นและไหลเข้าไปเก็บกักไว้ในกระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะจะคลายและยืดออกเพื่อรองรับน้ำปัสสาวะ จนเมื่อมีปริมาณน้ำปัสสาวะที่เก็บกักไว้มากระดับหนึ่ง จึงเริ่มรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะขึ้น และเมื่อความรู้สึกนี้เพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เหมาะสม สมองจะส่งสัญญาณมาสั่งกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้หดตัว พร้อมๆกับสั่งหูรูดท่อปัสสาวะให้คลายตัว เพื่อให้น้ำปัสสาวะไหลออกมา โดยปกติร่างกายต้องมีการขับถ่ายปัสสาวะประมาณ  4-7 ครั้งตอนกลางวัน และ 1-2 ครั้งตอนกลางคืน
     ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะได้รับการพยุงโดยกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะหดตัวขณะไอ จาม และออกกำลังกาย เพื่อป้องกันปัสสาวะไหลออกมา
สาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคือ อะไร?
- การตั้งครรภ์และการคลอดทางช่องคลอด
- โรคอ้วน ภาวะไอเรื้อรัง ยกของหนักเป็นประจำ และท้องผูก เหล่านี้อาจเพิ่มแรงดันในช่องท้องและทำให้ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงรุนแรงขึ้นได้
- ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม

แพทย์วินิจฉัยภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้อย่างไร?
     แพทย์จะสอบถามถึงกิจกรรมที่ทำอยู่ขณะมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมา และทำการตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน สตรีที่มีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงอาจมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือภาวะกลั้นอุจจาระ/ผายลมไม่อยู่ร่วมด้วยได้ คุณไม่ควรรู้สึกอายที่จะเล่าปัญหาต่างๆเหล่านี้ให้แพทย์ทราบ

การตรวจเพื่อค้นหาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้แก่อะไรบ้าง?
- แพทย์อาจขอให้คุณไอขณะที่มีน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะพอควร (ระดับที่คุณยังรู้สึกว่าทนปวดได้) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะนี้
- คุณอาจต้องจดบันทึกความถี่และปริมาณของการปัสสาวะ (ไดอารี่กระเพาะปัสสาวะ) โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ คุณดื่ม (น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ) ในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมาด้วย
- แพทย์อาจแนะนำให้คุณตรวจยูโรพลศาสตร์ เพื่อศึกษาความสามารถของกระเพาะปัสสาวะในการเก็บกักและขับถ่ายปัสสาวะ ตลอดจนกลไกและสาเหตุของการเกิดปัสสาวะเล็ด
- แพทย์อาจตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อหาว่ามีปริมาณน้ำปัสสาวะเหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเท่าไรภายหลังการขับถ่ายปัสสาวะ และยังช่วยค้นหาว่ามีสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดอีกด้วย
- อาจมีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะหรือไม่
การตรวจสืบค้นเหล่านี้ถูกใช้เพื่อการวินิจฉัยและช่วยวางแผนการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายให้ดีที่สุด

มีวิธีรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงอย่างไรบ้าง?
     แพทย์จะแนะนำคุณถึงทางเลือกต่างๆของการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ในเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้รักษาแบบอนุรักษ์ก่อน ดังนี้
- การปรับเปลี่ยนลีลาชีวิต
     ได้แก่ การดื่มน้ำให้เพียงพอที่ทำให้ร่างกายขับถ่ายปัสสาวะ 4-6 ครั้งต่อวัน (มักจะต้องดื่มน้ำวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร) การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในช่วงที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงลง การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ท้องผูกและการงดสูบบุหรี่ให้ผลดีต่อภาวะนี้เช่นกัน
-    การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscle Exercises)
     การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง เป็นวิธีที่มีประสิทธิผลต่อการบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง พบว่าร้อยละ 75 ของสตรีมีอาการปัสสาวะเล็ดลดลงหลังได้รับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน อย่างไรก็ตาม ประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกับการทำกายบริหารอื่นๆ โดยทั่วไปการฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานนั้น จะเห็นผลดีที่สุดเมื่อมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอนาน 3-6 เดือน (กรุณาอ่านบทความเรื่อง "การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง ใครว่ายาก? " แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยบางรายไปรับการฝึกสอนการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานโดยตรงจากนักกายภาพบำบัดเป็นการเฉพาะ หากผู้ป่วยรายใดมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ (bladder training exercise) ไปพร้อมกันด้วย กรุณาอ่านบทความเรื่อง "การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ ใครว่าไม่จำเป็น? "
-    อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะ
     อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดและช่วยบรรเทาปัสสาวะเล็ด ผู้ป่วยสามารถใส่อุปกรณ์เหล่านี้เฉพาะก่อนออกกำลังกายหรือใส่ไว้ตลอดเวลา เช่น ในกรณีของอุปกรณ์พยุงในช่องคลอด (vaginal pessary) สตรีบางคนที่ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดขนาดใหญ่ก่อนออกกำลังกาย อาจช่วยป้องกันหรือลดอาการปัสสาวะเล็ดได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะเหล่านี้ส่วนใหญ่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเล็ดเพียงเล็กน้อย หรือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอผ่าตัด

หากฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแล้วยังมีอาการอยู่ การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีวิธีใดบ้าง?
     เป้าหมายของการผ่าตัดคือ การแก้ไขความอ่อนแอของเนื้อเยื่อที่พยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จำนวนมากจะชะลอการผ่าตัดออกไปจนกว่าจะมีบุตรเพียงพอแล้วหรือไม่ต้องการตั้งครรภ์อีกในอนาคต เพราะการตั้งครรภ์อาจมีผลเสียต่อผลการผ่าตัด

การผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลาง (Midurethral sling procedures)
     ก่อนหน้า พ.ศ. 2536 ส่วนใหญ่ของการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง มักเป็นการผ่าตัดใหญ่ผ่านแผลเปิดหน้าท้อง แต่ปัจจุบันรักษาด้วยการผ่าตัดใส่สายเทปคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางอย่างถาวร โดยสายเทปนี้จะทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะไว้ขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม หรือออกกำลังกาย เป็นการผ่าตัดทางช่องคลอดโดยการกรีดแผลเล็กๆที่ผิวช่องคลอดแล้วสอดสายเทปเข้าไปคล้องใต้ท่อปัสสาวะในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้

1. สายคล้องสอดหลังกระดูกหัวหน่าว (Retropubic Slings) วิธีนี้สายเทปวิ่งอยู่ด้านหลังของกระดูกหัวหน่าวและทะลุผิวหนัง 2 ตำแหน่งเหนือกระดูกหัวหน่าว






















2. สายคล้องสอดผ่านขาหนีบ (Transobturator slings) วิธีนี้สายเทปจะผ่านออกทางผิวหนัง 2 ตำแหน่งบริเวณขาหนีบ






















3. สายคล้องสอดแผลเดียว (Single incision sling) วิธีนี้สายเทปฝังอยู่ภายในเนื้อเยื่อ โดยไม่ผ่านออกมาที่ผิวหนัง

     ในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางแบบสอดอยู่หลังกระดูกหัวหน่าว หรือแบบสอดผ่านขาหนีบ พบว่าร้อยละ 80-90 จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงหายขาดหรือดีขึ้นหลังผ่าตัด ส่วนแบบสายคล้องสอดแผลเดียวนั้นยังเป็นวิธีค่อนข้างใหม่ การศึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดวิธีนี้ยังมีน้อยกว่าสองวิธีแรก ยังคงต้องติดตามอัตราสำเร็จหลังผ่าตัดอยู่
     แม้ว่าการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางนี้ไม่ได้มุ่งรักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรืออาการของภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน แต่พบว่าประมาณร้อยละ 50 ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดมีอาการของกระเพาะปัสสาวะไวเกินน้อยลง อย่างไรก็ดี สตรีส่วนหนึ่งแม้เป็นจำนวนน้อยอาจมีอาการมากขึ้นได้
    ส่วนใหญ่ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลาง จะฟื้นตัวกลับเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด บางรายอาจมีอาการเจ็บหรือเคืองๆที่บริเวณขาหนีบในระยะ 2 สัปดาห์แรก มีน้อยรายที่อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ในระยะ 7-10 วันหลังผ่าตัดได้


การผ่าตัดแขวนช่องคลอดเพื่อพยุงท่อปัสสาวะ (Burch colposuspension)
     การผ่าตัดวิธีนี้เคยถือเป็นวิธีหลักในการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมานาน หลายปีในอดีต อาจทำการผ่าตัดผ่านแผลเปิดหน้าท้องยาว 10-12 ซม. หรือผ่านกล้องก็ได้ เป็นการเย็บเนื้อเยื่อของช่องคลอดที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะไปแขวนยึดกับด้านหลังของกระดูกหัวหน่าวด้วยวัสดุเย็บที่ไม่ละลาย เพื่อพยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่เล็ดขณะออกแรง การผ่าตัดผ่านแผลเปิดหน้าท้องมีอัตราสำเร็จในระยะยาวเท่ากับการผ่าตัดใส่สายคล้องแบบสอดหลังกระดูกหัวหน่าว ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้องมีอัตราสำเร็จใกล้เคียงเช่นกัน ถ้าได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ผ่าตัดที่มีทักษะและประสบการณ์สูง

การฉีดสารเพิ่มขนาด (Bulking agents)
     เป็นการฉีดสารเข้าไปที่บริเวณรอบๆคอกระเพาะปัสสาวะและหูรูดท่อปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ เพื่อให้นูนหนาขึ้นจนท่อปัสสาวะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลดลง สารที่ใช้ฉีดมีหลายชนิดรวมทั้งไขมันและคอลลาเจน สามารถทำการฉีดสารเหล่านี้ได้ที่คลินิกผู้ป่วยนอกได้โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล อาจทำภายใต้การให้ยาสลบหรือให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ บางครั้งอาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำอีก ภาวะแทรกซ้อนที่พบขึ้นกับประเภทของสารที่ฉีด ฉะนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเกี่ยวกับการใช้สารต่างๆเหล่านี้


เรียบเรียงโดย
ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

10 สิงหาคม 2555

 

http://www.cmed.cmu.ac.th

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
PoGuS BigBooM's profile


โพสท์โดย: PoGuS BigBooM
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
รู้ตัวคนปล่อยคลิปลับ "พิมพ์ กรกนก" แล้ว!..ที่แท้เป็นฝีมือแฟนใหม่ "ยิ้ว วาริ"ถูกรุ่นพี่ในโรงเรียนฟันแขน..แต่กลับหาว่าเด็กทำร้ายตัวเอง!?"อนุทิน" ลั่น ไม่ยอม นำกัญชากลับมาเป็นยาเสwติด ยัน ทำสำเร็จแล้วปี 2562ม.จาวัด ซารีฟ อดีต รมต.ต่างประเทศ อิหร่าน โทษสหรัฐฯ คว่ำบาตร เป็นเหตุ เฮลิคอปเตอร์ ประธานาธิบดี ไรซี ตกชายจีนเสียชีวิตจากการออกกำลังกายแบบ "ห้อยคอ" หวังรักษาอาการปวดคอและไหล่ แพทย์เตือนอย่าทำอันตรายมากอิตาลีพบรูปหล่อบรอนซ์โบราณอายุประมาณกว่า 2300 ปีเลยทีเดียว เก่ามากๆเลยเน่อเปิดตัวขบวน Bangkok Pride 2024 ภายใต้แนวคิด "Celebration of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม"สวยสะท้านกรุงโรม เมื่อเหล่าตัวแม่มารวมกันที่งาน Bvlgari Aeterna
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ม.จาวัด ซารีฟ อดีต รมต.ต่างประเทศ อิหร่าน โทษสหรัฐฯ คว่ำบาตร เป็นเหตุ เฮลิคอปเตอร์ ประธานาธิบดี ไรซี ตกภาพยนตร์เรื่องแรก ที่ทำเงินจากการฉายในไทยได้มากถึง 100 ล้านบาท
ตั้งกระทู้ใหม่