เกี๊ยวมาแล้วจ้า
เนื่องจากเพื่อนในบอร์ดที่ใช้ชื่อ น้องมู่มี่ได้เข้าไปอ่านเรื่อง คนจีนไม่ได้กินแค่ข้าวสวย อยากรู้ประวัติของเกี๊ยว เพราะน้องชอบกินเกี๊ยว ผมเลยอาสาไปข้อมูลมาให้อ่านกันครับ
ก่อนอื่นเพื่อป้องกันความสับสน ผมต้องอธิบายความแตกต่างระหว่างคำว่า เจี่ยวจึ 饺子กับคำว่า หุนถุน(馄饨)เสียก่อน เพราะสองคำนี้ภาษาไทยเรียกเหมารวมกันเป็นคำว่า เกี๊ยว
จากรูป เจี่ยวจึ คือ เกี๊ยวสีขาว หุนถุน คือ เกี๊ยวสีเหลือง
เจี่ยวจึ 饺子 คือ เกี๊ยวจีนแบบดั้งเดิม ซึ่งมีเปลือกนอกเป็นสีขาว ลูกใหญ่ และหากเป็นเกี๊ยวต้ม เวลาเสิร์ฟมักไม่ได้ปรุงด้วยน้ำซุป มีแค่น้ำร้อนๆช่วยรักษาอุณหภูมิของตัวเกี๊ยวเท่านั้น และวิธีอื่นที่นิยมไม่แพ้กันคือ เกี๊ยวนึ่ง และเกี๊ยวทอด (เกี๊ยวซ่าแบบญี่ปุ่นก็คือหุนถุนแบบทอดนี่เอง)
หุนถุน 馄饨 คือเกี๊ยวจีนที่ถูกพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง หากจะอธิบายให้เห็นภาพก็ลองนึกถึง เกี๊ยวลูกสีเหลืองๆ ลูกเล็กพอดีคำ ทานพร้อมน้ำซุปร้อนๆ สไตล์กวางตุ้งนั่นเอง อย่างบะหมี่เกี๊ยวเป็ดที่กลายมาเป็นอาหารยอดฮิตในเมืองไทยความจริงแล้วก็คือ หุนถุน 馄饨 นี่เอง ภาษาอังกฤษเรียกทับศัพท์จากภาษากวางตุ้งว่า หวั่นทัน (wanton)
อาหารที่เรียกว่า เจี่ยวจึ 饺子(เกี๊ยวจีนแบบดั้งเดิม) มีมาแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นแล้ว และในบันทึกสมัยฮั่นนั้นคำว่า หุนถุน 馄饨 นั้น ถูกระบุว่าเป็นคำแสลง และถือว่าความจริงก็คือ เจี่ยวจึชนิดหนึ่ง จนมาในราชวงค์ถังนี่เอง ที่อาหารประเภท หุนถุน ได้รับความนิยมอย่างมากในทางใต้ของจีนและมีการสร้างตัวอักษรคำว่า หุนถุน 馄饨 ขึ้นใหม่โดยบัญญัติเป็นคำที่ถูกต้องตามศัพทานุกรมสมัยถัง นับแต่นั้นมา หุนถุน กับ เจี่ยวจึ ก็ถูกจำแนกเป็นอาหารคนละชนิดโดยสมบูรณ์
ช่วงเทศกาลตรุษจีน ในประเทศจีนผู้คนนิยมรับประทานเกี๊ยวกัน เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต เกี๊ยวเป้นอาหารที่ใช้อวยพรให้มีอายุที่ยืนนาน จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วไป และได้ตกทอดมาถึงผู้คนในยุคปัจจุบัน
ประวัติของเกี๊ยว 饺子(เจี่ยวจึ)
饺子(เจี่ยวจึ) ในปัจจุบัน เดิมเรียกว่า 娇耳 (เจียวเอ่อ)แปลเป็นไทยว่า "หูอ่อน" โดยแพทย์ที่มีชื่อเสียงในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น(ก่อนยุคสามก๊กเล็กน้อย)ผู้หนึ่ง นามว่า "จางจ้งจิ่ง" 张仲景 เป็นผู้คิดค้นขึ้น
ในสมัยนั้นภัยพิบัติเกิดขึ้น ราษฎรเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า คนจำนวนมากป่วยเป็นโรค และที่เมืองหนานหยาง ได้มีแพทย์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งนามว่า "จางจ้งจิ่ง" เป็นหมอที่มีความสามารถสูง ไม่ว่าโรคอะไรที่รักษายากๆสมัยนั้น หมอผู้นี้รักษาได้หมด และยังเป็นหมอที่มีคุณธรรมสูงส่งอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย เขาก็ทำการรักษาอย่างจริงใจ ไม่มีการแบ่งแยก คนไข้ที่เขาช่วยชีวิตไว้มีจำนวนนับไม่ถ้วน
ตอนที่เขารับราชการอยู่ที่เมืองฉางซา ก็มักจะรักษาโรคให้กับประชาชนอยู่เสมอ มีอยู่วันหนึ่งเกิดโรคห่าระบาด เขาได้ตั้งหม้อปรุงยาขนาดใหญ่ไว้หน้าที่ว่าการ เพื่อคอยช่วยเหลือชาวบ้าน เขาจึงเป็นที่เคารพรักของประชาชนเป็นอย่างมาก
ต่อมา จาจ้งจิ่งขอเกษียณตัวเองเพื่อกลับไปบ้านเกิด ระหว่างที่เดินทางไปที่บ้านบริเวณริมฝั่งแม่น้ำไป๋เหอ ได้เห็นคนยากจนจำนวนมากทนหนาวและทนหิวอยู่ ใบหูของพวกเขาเปื่อยเนื่องจากอากาศหนาวมาก จางจ้งจิ่งรู้สึกเป็นทุกข์อย่างมาก จึงตัดสินใจที่จะรักษาคนเหล่านั้น พอเขาถึงบ้านเขาก็เตรียมสิ่งของที่จะทำการรักษาโดยไม่ได้หยุดพัก ภายในใจคิดถึงผู้คนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา เขาได้ใช้วิธีเหมือนอย่างที่อยู่ในฉางซา สั่งให้ลูกศิษย์สร้างโรงหมอขึ้นในพื้นที่นั้นทันที และตั้งหม้อยารักษาที่นั่น
ชื่อยาของจางจ้งจิ่งมีชื่อเรียกว่า "น้ำแกงหูอ่อนขับหนาว" วิธีทำก็คือใช้เนื้อแกะ พริก และยาขับหนาวที่เขาคิดขึ้นเองนำไปต้มในหม้อ หลังจากต้มเสร็จ ก็นำของเหล่านั้นมาหั่นจนละเอียด ใช้แป้งห่อให้มีลักษณะเหมือนใบหู(คงจะเป็นการแก้เคล็ด)แล้วนำไปต้มจนสุก แบ่งให้กับผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยได้หูอ่อน 2อันอ่อนและน้ำแกง 1 ชาม กินเข้าไปจะรู้สึกร้อนไปทั้งตัว เลือดหมุนเวียนไม่ติดขัด หูสองข้างก็เริ่มอุ่น กินอย่างนี้ไปซักระยะหนึ่ง ใบหูที่เปื่อยเริ่มดีขึ้น
จางจ่งจิ้งให้ทานยาติดต่อกันไปจนถึงวันตรุษจีน ผู้คนฉลองวันตรุษจีนและฉลองที่หูหายเป็นปกติ ด้วยการทำอาหารให้มีลักษณะคล้ายกับใบหูอ่อนของจางจ้งจิ่ง แล้วเรียกอาหารชนิดนี้ว่า 饺耳 หรือ 饺子 พอถึงวันที่ 21 22 หรือ 23 ธันวาคม และวันตรุษจีนของทุกปีผู้คนก็จะทานเกี๊ยวกัน เพื่อระลึกบุญคุณของจางจ้งจิ่ง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ได้ใช้เกี๊ยวรักษาใบหูที่เปื่อยแล้ว แต่เกี๊ยวก็เป็นอาหารที่ผู้คนเห็นบ่อยที่สุด และชอบทานมากที่สุดอีกด้วย
ก็หวังว่าน้องมู่มี่คงได้คำตอบแล้วนะครับ และอาจชอบเกี๊ยวมากขึ้นไปอีกก็ได้ สงสัยผมเองมื้อเย็นนี้คงไม่พ้นเกี๊ยวเหมือนกัน