วันที่ผึ้งนางพญาต้องแยกรัง
สวัสดีครับเพื่อนๆ เราทุกคนได้ประโยชน์จากธรรมชาติมากมายเพื่อการดำรงค์อยู่ ส่วนหนึ่งก็คืออาหาร และอาหารที่มีประโยชน์ สำหรับคนไทยไม่เฉพาะเพื่อรับประทานเพื่อความอร่อยเท่านั้น ยังสามารถมาเป็นส่วนผสมของยาได้อีก นั่นคือน้ำผึ้ง เกือบทุกคนคงเคยลิ้มลองน้ำผึ้งแสนหวานกันมา แต่ชีวิตของผึ้งเองเรากลับรู้จักได้ไม่ดีเท่าไหร่ วันนี้เลยอยากพาเพื่อนๆ มารู้จักบางส่วนของชีวิตผึ้งกันครับ
เคยสังเกตกันรึเปล่าครับว่า ห้องในรังผึ้งที่เรียกว่า “รวงผึ้ง” หรือ เซลล์ มีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม ซึ่งการสร้างรังให้แต่ละห้องเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านเท่าของผึ้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มากนะครับ เนื่องจากพบว่า รวงรังแบบนี้ทำให้ได้ไขผึ้งมากกว่าเมื่อเทียบกับรูปทรงอื่นๆ อย่างสามเหลี่ยมด้านเท่าและสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่สำคัญ รูปหกเหลี่ยมนี้เมื่อนำมาเรียงต่อ ๆ กันแล้วจะทำให้ไม่เกิดช่องว่างด้วย จึงทำให้รังมั่นคงแข็งแรงที่สุด แถมในพื้นที่เท่ากัน รูปหกเหลี่ยมด้านเท่าก็จะมีความยาวรอบรูปน้อยที่สุดอีกด้วย สี่เหลี่ยมจัตุรัสเข้าโค้งมนไม่ได้ แต่หกเหลี่ยมเข้ารูปโค้งได้ จึงประหยัดวัสดุในการสร้างรัง
เซลล์แต่ละเซลล์จะมีขนาดต่างกัน ผึ้งงานจะมีเซลล์ขนาดกว้าง 0.20 นิ้ว ผึ้งตัวผู้ จะมีขนาดเซลล์ 0.25 นิ้ว ส่วนเซลล์ของผึ้งนางพญานั้น มีลักษณะพิเศษคือ เป็นเซลล์ที่ใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวงรังในลักษณะที่ห้อยหัวลง คือมีลักษณะตั้งฉากกับพื้น ส่วนผึ้งงานหรือผึ้งตัวผู้ รวงรัง หรือ เซลล์ จะขนานกับพื้น
จากซ้าย ผึ้งนางพญา ผึังงาน (ตัวเมีย) ผึ้งตัวผู้ (ดวงตากลมโต)
ผึ้ง (ยกเว้นนางพญา) เมื่อโตเต็มที่และจะไม่เข้าไปอยู่ในเซลล์อีก แต่จะอาศัยโดยเกาะห้อมล้อมอยู่รอบ ๆ รวงรัง ในฤดูดอกไม้บาน เซลล์สำหรับวางไข่อาจเป็นที่เก็บน้ำผึ้งและเกสรได้อีกด้วย โดยปกติผึ้งจะเก็บน้ำผึ้งไว้ส่วนบนสุดของรวงรัง (ที่เราเรียกว่า หัวรวง) เซลล์ที่อยู่ต่ำลงมา จะเป็นที่เก็บเกสรและตัวผึ้งอ่อนเมื่อรวงรังชำรุดหรือเสียหาย ก็เป็นหน้าที่ของผึ้งงานที่จะต้องเป็นผู้ซ่อมแซม โดยใช่ไขผึ้งซึ่งได้จากต่อมไขผึ้ง 4 คู่ ทางด้านล่างส่วนท้องของผึ้งงาน (อายุ 12-18 วัน) ไขผึ้งที่ได้จะเป็นแผ่นๆ ผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วจึงนำไปเชื่อมต่อ ๆ กัน เป็นเซลล์จนกลายเป็นรวงรัง
การแยกรังของผึ้ง
การ แยกรังเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่ผึ้งต้องการจะสร้างรังใหม่ ผึ้งนางพญาที่แก่แล้วมีโอกาสในการที่จะแยกรังมากกว่าผึ้งนางพญาที่มีอายุน้อย ก่อนการแยกรัง 7-10 วัน ผึ้งงานจะสร้างหลอดนางพญาขึ้นตรงบริเวณด้านล่างของรวงรัง ขณะเดียวกันผึ้งนางพญาก็จะเพิ่มอัตราการวางไข่ เพื่อเพิ่มประชากรผึ้งให้มากขึ้นในเวลาสั้นๆ มีการหาอาหารมากขึ้น เกือบทุกเซลล์ในรวงผึ้งจะเต็มไปด้วยน้ำผึ้ง เกสร นมผึ้ง หรือตัวอ่อน เมื่อประชากรผึ้งหนาแน่นขึ้น จนถึงจุดที่ไม่มีเซลล์ว่างให้ผึ้งนางพญาวางไข่ ผึ้งงานก็จะลดการให้อาหารกับนางพญา ทำให้ผึ้งนางพญาน้ำหนักลดลง
เมื่อนางพญาตัวใหม่ฟักตัวออกจากไข่ ช่วงนี้เองตัวอ่อนที่อยู่ในหลอดรวงปิดทั้งหมดจะไม่ต้องการอาหารเพิ่มอีก ดังนั้นจะมีผึ้งงานอายุน้อยจำนวนมากมายที่เกิดขึ้นและไม่มีงานทำ สภาพเหล่านี้จะเป็นสัญญาณให้มันเตรียมตัวก่อนแยกรังในขณะที่ผึ้งนางพญาตัวใหม่กำลังจะเกิดขึ้น ในวันที่อบอุ่นมีแสงแดดตามปกติระหว่าง 10 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง ผึ้งจำนวนมากจะรีบออกจากรังพร้อมกับผึ้งนางพญาตัวเก่าที่มีน้ำหนักลดลงประมาณร้อยละ 30 มันจะบินตามผึ้งงานไป โดยถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน ผึ้งงานที่แยกไปส่วนใหญ่อายุมากกว่า 20 วัน ผึ้งงานบางตัวจะหยุดใกล้รังและปล่อยกลิ่นนำทาง ทำให้ผึ้งตัวอื่นๆ ที่บินไม่ทัน สามารถบินตามกันไปในทิศทางเดียวกันรวมเป็นฝูงเพื่อไปที่ตั้ง สร้างรังใหม่ต่อไป ในรังเดิมจะมีผึ้งนางพญาตัวใหม่เกิดขึ้นปกครองผึ้งงานที่เหลืออยู่ต่อไป
ผึ้งนางพญาจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 1-3 ปี นั่นเป็นเวลามากพอที่จะสร้างอณาจักรใหม่ๆ แต่ทุกวันนี้ ป่าไม้ถูกบุกรุก ทำให้ผึ้งป่าที่อยู่ตามธรรมชาติกำลังลดจำนวนลง ปัจจุบันน้ำผึ้งที่เพื่อนๆ ซื้อมารับประทานจากห้างสรรพสินค้า เป็นน้ำผึ้งที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงผึ้งแทบทั้งสิ้น คุณภาพน้ำผึ้งก็จะขาดซึ่งความหลากหลายของแหล่งที่มา ซึ่งต่างจากผึ้งป่าที่มีความหลากหลายของเกสรดอกไม้จากพันธุ์พืชนานาทั่วผืนป่า
ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของธรรมชาติที่บรรจงสร้างสรรค์ให้กับผึ้งตัวน้อยๆ ที่มีนางพญาเป็นตัวกำหนดทิศทางให้กับฝูงผึ้งทั้งรัง และผลิตน้ำหวานให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์กันมาแสนนาน ยังมีเรื่องราวที่ซ่อนเร้นของชีวิตผึ้งให้เราได้เรียนรู้กันอีก สำหรับวันนี้คงต้องลากันไปก่อน แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
http://www.ascensionearth2012.org/2013/05/insanity-us-approves-bee-death.html
http://www.fwdder.com/topic/253584
http://www.flowerpicturegallery.com/v/daisy-flower-pictures/daisy+field+with+a+bee+flying.jpg.html
http://www.gotoknow.org/posts/203288
http://studentwork.srp.ac.th/Website/Science/The%20Biology%20Of%20The%20Bees/part2/p7.html