พ่อหลวงปิยมหาราช พระราชกรณียกิจด้านประเพณีและวัฒนธรรม
พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในการทำนุบำรุงปรับปรุงบ้านเมืองมาโดยตลอด
อีกทั้งทรงให้ความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์พระมหากษัตริย์กับประชาชน ในสมัยรัชกาลที่ ๔
ทรงพิจารณาเห็นว่าประเพณีบางอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม เช่นห้ามราษฎรเข้าใกล้ชิดเวลาเสด็จพระราชดำเนิน
และบังคับให้ราษฎรปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือนเป็นประเพณีที่ล้าสมัย
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกและอนุญาตให้ราษฎรเข้าเฝ้าโดยสะดวก และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนถวายฎีการ้องทุกข์ได้
ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินด้วย
ในส่วนราชสำนักทรงมีประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้าตามธรรมเนียมนิยมในอารยะประเทศ
ทรงให้ชาวต่างประเทศเข้าร่วมในงานพระราชพิธี และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลียนแบบประเทศทางตะวันตก
ซึ่งนับว่ามีในเมืองไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงให้ "ยกเลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้า"
โดยในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อเสด็จออกมหาสมาคม
เพื่อให้เจ้านาย ข้าราชการ และทูตานุทูตเข้าเฝ้า ได้โปรดเกล้าฯให้ประกาศเลิกประเพณีหมอบคลานและให้ยืนเฝ้าฯ ตามประเพณีตะวันตก
นอกจากนี้ยังทรงให้ "ยกเลิกจารีตนครบาล" ด้วยทรงพิจารณาเห็นว่าวิธีการไต่สวนของตุลาการตามระเบียบที่ใช้
อำนาจขู่เข็ญถามจำเลยอย่างทารุณ เช่น การบีบขมับ ตอกเล็บ ซึ่งเรียกว่าจารีตนครบาลนั้นเป็นวิธีการลงโทษที่เกินควร
ไม่เป็นการยุติธรรม ช าวยุโรปต่างตั้งข้อรังเกียจด้วยเป็นการทารุณไร้อารยธรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิก
และวางระเบียบวิธีซักฟอกพยานสืบหลักฐานใหม่ทรงแก้ไขดัดแปลงพระราชกำหนดกฎหมายให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน
การแก้ไขประเพณีสืบราชสันตติวงศ์ ทรงแต่งตั้งตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร"
ตามแบบอารยประเทศที่เรียกองค์รัชทายาทว่า "Crown Prince" และประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
หรือตำแหน่งวังหน้า เพื่อให้ประเพณีการสืบราชบัลลังก์เป็นไปตามควรแก่กาลสมัย โดยได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ" เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ต่อมาเพื่อพระองค์เสด็จสวรรคตลงใน พ.ศ. ๒๔๓๗
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนา "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ"
ดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารสืบต่อไป (นับเป็นองค์ที่ ๒ สยามมกุฎราชกุมารองค์ที่ ๓ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน)
ทรงเลิกระบบการมีทาสและระบบไพร่หรือการเกณฑ์แรงงานประชาชนมารับราชการโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนด้วยการออกฏหมายลักษณะเกณฑ์ทหารแทน ดังกล่าวรายละเอียดไว้แล้วข้างต้น
ในด้านวัฒนธรรมการแต่งกาย เมื่อกลับจากการเสด็จประพาสสิงคโปร์ในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ พระองค์โปรดเกล้าฯ
ให้ปรับปรุงประเพณีการไว้ผมและการแต่งกายของคนไทยให้เป็นไปตามสากลนิยม
คือให้ผู้ชายไทยในราชสำนักเลิกไว้ผมทรงมหาดไทย เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทั้งศีรษะอย่างฝรั่ง
ส่วนผู้หญิงให้เลิกไว้ผมปีก ไว้ผมตัดยาวทรงดอกกระทุ่ม
ต่อมากเมื่อเสด็จประพาสอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๑๔ โปรดเกล้าฯ ให้ช่างออกแบบเสื้อชายดัดแปลงจากเสื้อนอกของฝรั่ง
เป็นเสื้อคอปิด กระดุมห้าเม็ด เรียกว่า "เสื้อราชปะแตน" (Raj Pattern ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้คิดชื่อเรียกถวาย มาจากคำว่า "ราช" รวมกับคำว่า "Pattern" ในภาษาอังกฤษ)
ผู้ชายยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสีต่าง ๆ แต่ให้สวมหมวกอย่างยุโรป ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ ให้ข้าราชการฝ่ายทหารทุกกรมกอง
แต่งเครื่องนุ่งกางเกงอย่างทหารญี่ปุ่นแทนการนุ่งโจงกระเบนแบบเก่า นับเป็นครั้งแรกที่ให้ผู้ชายนุ่งกางเกงเป็นเครื่องแบบทหาร
การแต่งกายสตรีเริ่มเปลี่ยนแปลงในระยะหลังจากที่รัชการที่ ๕ เสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐
สตรีไทยเริ่มหันมานิยมแบบเสื้อของอังกฤษ คือ เสื้อคอตั้งแขนยาว ต้นแขนพองคล้ายขาหมูแฮม
แต่ยังคงมีผ้าห่มเป็นแพรคล้ายสไบเฉียง ส่วนการนุ่งผ้ายกห่มตาดซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายตามเกียรติยศของฝ่ายไทย
ที่มีมาแต่โบราณ ยังคงใช้สำหรับเวลาแต่งกายเต็มยศใหญ่
การแต่งกายได้เปลี่ยนแปลงไปอีกในสมัยรัชกาลที่ ๖ และมีประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล,
การกำหนดคำนำหน้านามสตรีและเด็ก , การใช้ธงประจำชาติ , การเปลี่ยนแปลงการนับเวลา จาก "ทุ่ม" "โมง"
โดยเปลี่ยนให้เรียกว่า "นาฬิกา" ฯลฯ
ที่มา http://www.chaiwbi.com/0drem/web_children/2546/cpu02/001/07.html