ภัยคุกคามทางเพศ...ประเด็นที่ต้องทบทวน
เมื่อแต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นหญิง-ชายในแต่ละครอบครัว จำต้องออกจากบ้านมาหาเลี้ยงชีพไม่ต่างกัน ทัศนคติที่ว่า เกิดเป็น 'หญิง' ต้องคอยอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน โดยให้ผู้ชายเป็นคนหาเลี้ยงนั้น จึงทยอยลดน้อยลงทุกวัน สวนทางกับ 'ภัยคุกคามทางเพศ' ที่เกิดขึ้นทั่วทุกหนทุกแห่ง...
นานกว่า ทศวรรษที่ผ่านมา 'ปัญหาการคุกคามทางเพศ' จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมโลก เพราะไม่เพียงแต่เป็นปัญหาภายใต้ 'สิทธิความเป็นธรรมทางเพศ' เท่านั้น หากแต่ยังเป็นหนึ่งในปัญหาทางด้าน 'สิทธิมนุษยชน' ที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ ไม่เว้นแม้แต่ 'ที่ทำงาน'
ทั้งนี้ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ International Labour Organization (ILO) เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากการสำรวจกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 14-59 ปี พบว่า ร้อยละ 55.4 เคยตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ ลูกจ้างหญิง 1 ใน 3 ต้องยอมถูกคุกคามทางเพศเพื่อแลกกับความก้าวหน้าทางอาชีพ โดยร้อยละ 65 ถูกผู้คุกคามคนเดิม ซึ่งมักเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านายข่มขู่ให้ทำตามที่ต้องการทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ ร้อยละ 55.6 ต้องลาออกจากงาน!
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการสำรวจยอดสถิติที่ชัดเจนเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ทว่าก็ยังพบ 'ข่าว' ภัยคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหาให้สัมฤทธิ์ผล หากแต่กระบวนการที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้เห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม วันนี้จึงน่าจะต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า กระบวนการต่างๆ ที่มีนั้น ดำเนินมาถูกทางแล้วหรือยัง?
คุณนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนาอักษร องค์กรที่ดำเนินงานส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านความเป็นธรรมทางเพศ เล่าถึงภัยการคุกคามทางเพศในการทำงานที่ได้ทำวิจัยร่วมกับ คณะกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงาน ขสมก. และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรขนส่งมวลชน กรุงเทพฯ (สร.ขสมก.) ภายใต้การสนับสนุนของ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า หลายครั้งที่ภัยคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ เช่น ผู้คุกคาม – ไม่รู้ว่าการกระทำแบบใดคือการคุกคามทางเพศ หากแต่คิดว่าเป็นการเหย้าแหย่เพื่อนร่วมงานตามปกติ
“โดย มากแล้ว คนที่ถูกคุกคามทางเพศ มักเกิดจากเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น ผู้บังคับบัญชากระทำกับลูกน้อง ผู้โดยสารกระทำกับพนักงานบนรถประจำทาง รวมถึงเพื่อนร่วมงานชายกระทำต่อเพื่อนร่วมงานหญิงด้วยกัน เหตุคุกคามทางเพศจึงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ และคุณภาพในการทำงานเป็นอย่างมาก
ซึ่งบางแง่มุมของงานวิจัยชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า ทั้งคนที่ไปกระทำเขา และคนที่ถูกคุกคาม ต่างไม่รู้ว่า เขากำลังถูกคุกคามอยู่ หรือกำลังไปคุกคามคนอื่นอยู่ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่ถูกคุกคามไม่อยากทำงานร่วมกับคนที่มา 'กระทำ' การคุกคามกับเขา เช่น ถ้าเป็นกระเป๋ารถเมล์ ก็จะไม่ขึ้นรถไปกับพนักงานขับรถที่คุกคามทางเพศกับเขา เมื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ทำให้ต้องแก้ไขตารางการทำงาน ท้ายที่สุดก็ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร”
ปัญหาการคุกคามทางเพศ จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก เข้าใจ และให้ความสำคัญอย่างจริงจัง หากรู้ว่าพฤติกรรมของตน เป็นการคุกคามผู้อื่นให้ต้องรู้สึกอึดอัด ก็ควรจะหยุดเสีย ไม่ควรเหย้าแหย่เล่นๆ ให้เป็นเรื่อง...
“โจทย์ แรกของการแก้ปัญหา ก็คือว่า หากคนในองค์กรยังไม่รู้เลยว่า อะไรคือการคุกคามทางเพศ แล้วคนที่ถูกคุกคามทางเพศจำนวนมากก็ไม่รู้ว่า ตนเองกำลังถูกคุกคามอยู่ เพียงแต่รู้สึกว่า ตนเองเป็นทุกข์ และรู้สึกอึดอัดมาก ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากเจอหน้าเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานที่มาคุกคามทางเพศกับตนเอง สิ่งที่ทุกคนในองค์กรต้องทำร่วมกันก็คือว่า ทำให้คนในองค์กรมองว่า อะไรคือการคุกคามทางเพศ รวมถึงตระหนักว่า สิ่งที่ตนกระทำต่อเพื่อนร่วมงาน จัดว่าเป็นการคุกคามทางเพศของเพื่อนหรือเปล่า
บางคนรู้สึกว่ามันไม่ง่าย เพราะคนเป็นเพื่อนเป็นฝูงกัน ก็กระเซ้าเย้าแหย่ ไม่เห็นเดือดร้อน แต่กลับกัน พฤติกรรมเดียวกัน ไปทำกับเพื่อนอีกคน เพื่อนกลับไม่พอใจ ฉะนั้น การ วัดว่าอะไรเป็นการคุกคาม จึงจำเป็นที่จะต้องวัดจากความรู้สึก หรือความไม่พอใจของคนถูกกระทำ ว่าเขาไม่พอใจ อึดอัด และไม่ชอบการกระทำแบบนี้ (Unwanted – Unwelcome) หรือไม่ จุดนี้คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจกับปัญหา เพื่อแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมของตนเอง” คุณนัยนา กล่าว
เพศวิถีศึกษา การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนาอักษร กล่าวต่อว่า การจะแก้ไขปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องย้อนกลับไปสู่การศึกษาเรื่องเพศในสังคมไทยกันใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง 'เพศ' ให้อยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน เมื่อมีความเคารพ โดยที่ไม่รู้สึกว่าใครมีอำนาจมากกว่าใคร จะทำให้ต่างก็รู้สึกเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกัน ทำให้การล่วงละเมิด คุกคาม หรือทำร้ายกันทางเพศลดน้อยลง และไม่เกิดขึ้นอีก
“จริงๆ แล้วการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องเพศเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยเราแต่เดิมไม่สอน กันมา ฉะนั้นเวลาที่เราเจอปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ เราก็จะรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึง ทีนี้พอปัญหามันมาอยู่ตรงหน้าแล้ว ความไม่รู้ของเราจึงเป็น 'กรงขัง' ให้อยู่ในวังวนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ดูจากข่าวสิ เด็ก 10 ขวบท้อง... แทนที่จะคิดว่า เราจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่คนทั่วไปกลับตั้งคำถามว่า ไปท้องได้อย่างไรบ้าง รวมทั้ง เด็กมีประจำเดือนแล้วหรือ? ซึ่งนานาความคิดเห็นเหล่านั้น ไม่ได้นำพาไปสู่การหาทางออก หากแต่สะท้อนให้เห็นว่า เราสอนเรื่องเพศกันมาผิดๆ คนจำนวนมากจึงไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่า ศักดิ์ศรี และเคารพซึ่งกันและกันมากเพียงพอ แต่ถ้าเราหยิบเรื่องเพศมาพูดกันบนโต๊ะ แล้วเรียนรู้ทำความเข้าใจอย่างที่ควรจะเป็น เราก็จะเห็นทางออกของทุกเรื่อง และมีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน” คุณนัยนา กล่าว
เมื่อถูกคุกคามทางเพศ อย่าอาย... ที่จะขอความช่วยเหลือ
ทางด้าน คุณยงค์ ฉิมพลี ตัวแทนจากคณะกรรมการป้องปราม และแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงาน ขสมก. กล่าวถึงการคุกคามทางเพศในที่ทำงานว่า มีหลายรูปแบบ ทั้งที่เจตนา และไม่รู้ว่า การกระทำของตนนั้น จัดเป็นการคุกคามทางเพศ สำหรับการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารนั้น เธอเผยว่า ผู้หญิงทุกวัยมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อเหมือนๆ กัน ไม่เฉพาะคนที่แต่งตัวเก่งเท่านั้น เพราะผู้หญิงที่ตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามทางเพศ โดยมากแล้ว จะแต่งตัวเรียบร้อย!
“ผู้หญิงที่ถูกกระทำ ส่วนใหญ่ไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือ น้อยรายจริงๆ ที่จะลุกขึ้นมาเอะอะโวยวาย" คุณยงค์เล่า
ตลอดระยะการทำงานกว่า 30 ปีของคุณยงค์ เธอเล่าถึงประสบการณ์ในการพบเห็นเหตุการณ์การถูกคุกคามทางเพศว่า มีหลายรูปแบบ ทั้งการเบียด การใช้สายตา การแกล้งเซไปโดนเนื้อตัวอีกฝ่าย รวมถึงแสดงบทบาทสุภาพบุรุษช่วยถือของ แต่จริงๆ ตั้งใจจะลวนลาม
"การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นบนรถเมล์มีทุก วัน แต่ผู้โดยสารไม่ค่อยสนใจที่จะไปร้องเรียนหรือแจ้งความกันเพราะเสียเวลา คนทำผิด เมื่อไม่มีบทลงโทษกับตัว ก็ยิ่งได้ใจ"
นอกจากนี้ คุณยงค์แนะนำสาวๆ ที่ต้องขึ้นรถโดยสารว่า ต้องรู้จักระวังตนเองก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ควรไปยืนรอรถในสถานที่เปลี่ยวคนเดียว รวมถึงไม่ควรเล่นโทรศัพท์ขณะโดยสารรถเมล์ตลอดเวลา เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะเดินทางได้ง่ายแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องว่างให้ตัวเองตกอยู่ในอันตรายอีกด้วย
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อถูกลวนลาม ต้อง 'กล้า' ที่จะช่วยเหลือตนเองให้รอดพ้นจากสถานการณ์นั้นๆ เพราะการลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง ไม่ใช่เรื่อง 'น่าอาย' คนทำผิดต่างหากที่ต้องรู้สึก ...
เรื่องโดย ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th