ช้างแคระ เรื่องน่าเศร้าของอดีตที่จางหาย
สวัสดีครับเพื่อนๆ ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่อยู่คู่กับโลกของเรามานาน เมื่อกล่าวถึงช้างหลายคนก็จะนึกภาพถึงช้างแอฟริกาตัวโต และช้างเอเซียที่ฉลาดและน่ารักอย่างบ้านเรา ช้างทั้งสองชนิดมีขนาดใหญ่โดยตัวเต็มวัยโดยช้างเอเซียก็จะมีความสูง 2.50 - 3.00 เมตร แต่ในโลกของช้าง ยังมีช้างอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีตัวเล็กกว่าเพื่อนทั้งสองสายพันธุ์มาก ซึ่งมีขนาดโตเท่ากับควายถึก นั่นคือช้างแคระครับ ซึ่งเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงอาจผ่านสายตากันมาบ้าง เพียงแต่ไม่รู้ว่านั่นคือพันธุ์ช้างแคระ แต่น่าเสียดายที่ช้างแคระบ้านเราสูญพันธุ์ไปจนหมดแล้ว แต่ที่แปลกสำหรับผมก็คือ มีช้างบอร์เนียวที่เป็นช้างแคระ และมีลักษณะทุกอย่างเหมือนช้างแคระบ้านเรา ทำให้ผมสงสัยว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือเปล่า ลองมาติดตามเรื่องราวน่าสงสารของช้างแคระบ้านเรากันดีกว่าครับ
ช้างแคระ ทางจังหวัดสงขลา
พื้นที่ในภาคใต้แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา คือในท้องที่ อ.ระโนด ของ จ.สงขลา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อ.หัวไทร อ.ชะอวด และ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นป่าพรุ ได้มีช้างชนิดหนึ่งอาศัยอยู่มากมาย ในอดีตเรียกกันหลายชื่อว่า ช้างแกลบบ้าง ช้างแคระบ้าง ช้างพรุบ้าง ช้างทุ่งบ้าง ช้างค่อมบ้าง ช้างหระบ้าง ช้างนกยางขี่บ้าง ช้างแดงบ้าง และช้างหัวแดงบ้าง เป็นช้างที่อาศัยอยู่ในพรุอันกว้างใหญ่มานานปี เพิ่งจะสูญพันธ์ไปเมื่อ ๖๐-๗๐ ปี มาแล้วนี่เอง ช้างพวกนี้มีจำนวนโขลงหนึ่ง ประมาณ ๒๐-๓๐ ตัว มีอยู่หลายโขลง อาศัยอยู่ตามควน และพังการในเม (พังการ หมายถึง ที่ดอน เนิน หรือโคก ที่อยู่กลางเม เช่น ในเขต อ.หัวไทร ต.แหลม ต.ควนชะลิก มีพังการอยู่ ๒-๓ แห่ง คือพังการทราย พังการยาร่วง พังการท่อม ส่วน เม คือ พื้นที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมตลอดปี มีสภาพเป็นดินโคลนตม และเป็นที่ที่ประกอบด้วยพืชสัตว์มากมายหลายชนิด เป็นต้นว่า ไม้เสม็ด ไม้เตียว สัตว์ ได้แก่ นก งู ปลา และมียุงชุกชุมมาก ในพรุดังกล่าว มีหลายเม แต่ละเมก็มีหลายพังการ) ช้างพรุพวกนี้เป็นช้างที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ช้างพลายก็ไม่ค่อยจะมีงาถึงจะมีบ้างก็เป็นงาที่มีขนาดเล็กกว่าช้างภูเขา ทั้งนี้เพราะอาหารในป่าพรุไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนในป่าทั่วๆ ไป จะมีก็เพียงจำพวกหญ้าน้ำ เช่น กก ปรือ หญ้า ครุน หรือพืชน้ำชนิดอื่นๆ จึงทำให้ช้างพวกนี้มีร่างกายแคระแกร็น
ภาพนี้อยากแสดงขนาดเปรียบเทียบกับภาพด้านบน ระหว่างช้างกับคน
ช้างแคระ เป็นช้างที่ร่างกายมีขนาดเล็กกว่าช้างภูเขา ทั้งยังมีความเคยชินอยู่ตามทุ่งมาตั้งแต่กำเนิด อีกทั้งน้ำที่กินก็มักเป็นน้ำกร่อย เมื่อถูกจับมาฝึกหัดเหมือนช้างภูเขาก็อยู่ได้ไม่นานเพราะผิดหญ้าผิดน้ำ จึงล้มตายเสียก่อน เช่นเมื่อครั้งหลวงปรามประทุษฐราษฎร์ (น้อย ณ นคร) ได้สร้างคอกจับช้างที่บ้านสามแก้ว ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จับได้ ๔ เชือก แต่เลี้ยงได้ไม่นานก็ล้มเสียชีวิตไปหมด
ว่ากันว่ามีผู้พบช้างแคระครั้งสุดท้ายก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ท้องทุ่งที่ติดต่อกับทางเหนือของทะเลสาบสงขลาผ่านคลองนางเรียมไปถึงทะเลน้อย สาเหตุที่สูญพันธุ์ เมื่อราว พ.ศ. 2486-2490 นั้นก็เพราะพื้นที่แถบนี้เหมาะแก่การทำนา เมื่อช้างแกลบเข้ามากินผลผลิตของชาวบ้านชาวบ้านจึงหาทางขับไล่ด้วยวิธีต่างๆ นานา มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาว่า ช้างแคระตัวสูงขนาดควายถึก วิธีการขับไล่วิธีการหนึ่งก็คือการขุดหลุมลึก 2-3 เมตร แล้วใช้โคมไฟไล่ให้ช้างตกไปในหลุม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช้างแคระหมดไปจากบ้านเรา ผมพิมพ์มาถึงตรงนี้แล้วนึกภาพตามไปด้วย ทำให้อดสงสารพวกมันไม่ได้จริงๆ ครับ เสียดายที่ผมไม่มีภาพประกอบให้ดูกัน
ภาพช้างที่มีรูปร่างคล้ายกันยังปรากฏอยู่ในขบวนเสด็จของรานีรัฐปัตตานี
ภาพโดย Theodore de Bry ค.ศ. 1588 สมัยพระมหาธรรมราชา ( อยุธยา )
จะเห็นว่าช้างมีลักษณะตัวเล็กมาก
แต่อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ยังมีช้างแคระบอร์เนียวที่มีลักษณะและนิสัยเหมือนกับช้างแคระบ้านเราอย่างมาก โดยสุลต่านแห่งซูลูได้นำเอาช้างเข้ามาบนเกาะบอร์เนียวในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้ทำการปล่อยเข้าป่าไป
ช้างแคระบอร์เนียวอาศัยหากินตามป่าในที่ราบลุ่มและบริเวณลุ่มแม่น้ำ ซึ่งใกล้กับพื้นที่ทำกินของผู้คนบนเกาะด้วย และพบว่ามีจำนวนประชากรประมาณ 1,500 ตัว โดยจะอาศัยอยู่ในป่าแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียวเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย
พื้นที่สีเขียวคือเกาะบอร์เนียวสถานที่ช้างแคระบอร์เนียวอาศัยอยู่ครับ
มาถึงตรงนี้ ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วช้างที่ถูกจับมาปล่อยที่บอร์เนียวนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอดีตมีการติดต่อค้าขายระหว่างไทยและมาเลเซีย และมีการมอบช้างแคระให้เพื่อเป็นการเชื่อมไมตรีระหว่างกัน แต่ช้างแคระที่บอร์เนียวไม่ถูกคนรบกวนมาก อีกทั้งยังเป็นเขตน้ำกร่อยที่เหมาะแก่การอาศัย หากใครมีข้อมูลในส่วนนี้กรุณาเพิ่มเติมให้ด้วยนะครับ
ช้างแคระบอร์เนียว
ในบอร์เนียว ช้างแคระเป็นช้างที่เพิ่งได้รับการแบ่งแยกเป็นชนิดย่อยเมื่อไม่นานมานี้ และอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์แล้ว
ก็เป็นเรื่องราวของช้างที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเรามาแต่บรรพกาล อีกทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่ตัวเล็กน่ารัก แถมมีนิสัยไม่ดุร้าย เสียดายที่บ้านเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าและศึกษาเรื่องของช้างไทยอย่างจริงจัง จึงทำให้ช้างแคระที่มีมากทางสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย แต่ก็ยังโชคดีที่ยังมีสายพันธุ์ที่คล้ายกันหลงเหลืออยู่แห่งสุดท้ายที่เกาะบอร์เนียว
หากเพื่อนมีข้อมูลเรื่องช้างแคระบ้านเรา ก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเพิ่มเติมข้อมูลได้นะครับ สำหรับวันนี้คงต้องลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
http://siamensis.org/webboard/topic/5917
http://www.epofclinic.com/showdetail.asp?boardid=74
ขอบคุณแหล่งข้อมูล