“ขยะแยกได้” คิดสักนิดก่อนทิ้ง เพื่อเรา เพื่อโลก
ปัจจุบันปริมาณขยะจำนวนมหาศาล เป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีขยะจำนวนไม่น้อยที่ทิ้งไปแล้ว สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ดังนั้นการคัดแยกขยะจึงเป็นหนึ่งวิธีการสำคัญ ที่ช่วยลดปัญหามลพิษ และลดภาวะโลกร้อนได้
“ขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ที่ทำงาน เศษถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก กล่องนม และเศษสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ จะถูกทิ้งเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ถ้าเริ่มแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน ก็สามารถนำสิ่งของเหลือใช้เหล่านี้ กลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยลดภาระให้โลกได้ด้วย” รุรา รุจิรา เจริญยิ่ง ผู้บริหารโครงการนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้สุขภาวะ สสส. พูดถึงความสำคัญของการแยกขยะ
พี่รุรา บอกอีกว่า จากข้อมูลเชิงสถิติ กรุงเทพฯ ต้องเสียงบประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท ในการจัดการขยะ ซึ่งถือว่าสูงมาก ตามความเป็นจริงแล้ว ขยะสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% แต่ปัจจุบันกลับพบว่าใช้ได้จริงเพียง 10% เท่านั้น หากประชาชนมีความเข้าใจในการคัดแยกขยะที่ถูกต้องตั้งแต่ในครัวเรือนจะสามารถนำขยะกลับมาใช้ได้ใหม่ถึง 90%
ขยะมี 4 ประเภท คือ
1. ขยะทั่วไป อย่างพวก เศษกระดาษห่อลูกอม เศษพลาสติก กล่องโฟมเปื้อนอาหาร ถังขยะประเภทนี้จะเป็นสีน้ำเงินหรือฟ้า
2. ขยะรีไซเคิล จำพวกกระดาษ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ถ้าหากทิ้งปนกับขยะเปียก หรือขยะพิษ ก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ถังขยะประเภทนี้จะเป็นสีเหลือง
3. ขยะย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหารต่างๆ เศษพืชผัก ใบไม้ อย่างเศษอาหาร เราสามารถทิ้งรวมกันในภาชนะและสามารถทำเป็นปุ๋ยหมัก สำหรับบำรุงต้นไม้ได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดค่าใช้ด้วย สัญลักษณ์ถังขยะจะเป็นสีเขียว
และประเภทสุดท้ายคือ 4. ขยะพิษ เป็นพวกแบตเตอรี่ แบตมือถือ ขยะเหล่านี้จะโตตามเทคโนโลยี ถ้าทิ้งโดยไม่แยกกับขยะประเภทอื่นๆ ก็จะทำให้เกิดสารพิษปนเปื้อน และตกค้างกับขยะประเภทอื่น รวมถึงเจือปนในดิน เกิดการแพร่เชื้อโรคไหลลงสู่แหล่งน้ำได้ ถังขยะประเภทนี้จะเป็นสีเทา ส้ม และแดง
“ทำไมถึงสนับสนุนให้มีการรีไซเคิลขยะ”
พี่รุรา บอกเหตุผลว่า เพราะปัจจุบันไม่ใช่แค่เมืองไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกเผชิญปัญหาขยะล้นเมือง ใน 1 วัน มนุษย์ผลิตขยะโดยเฉลี่ยแล้วคนละ 1 กิโลกรัม แต่มีประชากรโลก 7 พันล้าน จึงมีขยะ 7 พันล้านกิโลกรัมเกิดขึ้นทุกวัน เมื่อมีขยะเพิ่มมากขึ้นจึงมีวิธีการกำจัดขยะ ไม่ว่าจะเป็นการเผา ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่พบเห็นบ่อยที่สุด แต่วิธีการนี้ทำให้เกิดสารไดออกซิน สารพิษก่อมะเร็ง ทำร้ายหัวใจ สมอง และปอด อีกหนึ่งคือการฝังกลบ ซึ่งใช้เนื้อที่จำนวนมาก และต้องทำให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างตามมา
แต่อีกหนึ่งวิธีที่ไม่ยุ่งยากและไม่ทำให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมก็คือ “รีไซเคิลขยะ” การนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างขยะย่อยสลายได้ สามารถนำมาทำปุ๋ยหมัก ก๊าซชีวภาพ ขยะรีไซเคิล พวกขวดน้ำ เศษกระดาษ ควรแยกทิ้งให้ถูกที่ เพราะสามารถนำมาประดิษฐ์ และสร้างสรรค์ให้เป็นของใช้ต่างๆ ที่มีประโยชน์และมีคุณค่าได้ไม่น้อย
“ควรปลูกฝังแนวคิดและจิตสำนึกให้เยาวชนลดการใช้ขยะ แยกขยะก่อนทิ้ง และการกำจัดอย่างถูกวิธี เพราะขยะเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ทุกคนจึงต้องร่วมกันรับผิดชอบ ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง โดยเริ่มที่ตัวเราเองก่อน” พี่รุรา ฝากทิ้งท้าย
หยุดคิดสักนิดหนึ่ง ก่อนทิ้ง เริ่มแยกขยะกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้บ้านหลังใหญ่ที่เรียกว่า “โลก” ของเราน่าอยู่ไปนานๆ.....มาแยกขยะกันเถอะค่ะ
เรื่องโดย : พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th