ปตท. ชี้แจงข้อเท็จจริงความมั่นคงด้านพลังงาน(น้ำมัน, NGV, LPG)
1. ประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันเกินความต้องการจริงและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปส่วนเกินเพื่อ
สร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางวันละ 800,000 บาร์เรล มาเป็นวัตถุดิบในการกลั่น และส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพียงประมาณวันละ 200,000 บาร์เรล ดังนั้นเรานำเข้าสุทธิประมาณวันละ 600,000 บาร์เรลเพื่อใช้ในประเทศ ผลที่ตามมาคือ
- ราคาน้ำมันในประเทศจำเป็นต้องอิงราคาตลาดโลก เพราะต้นทุนเราซื้อน้ำมันดิบในราคาตลาดโลก
- เราควรต้องประหยัดการใช้น้ำมันเพื่อลดภาระการนำเข้าและสูญเสียเงินออกนอกประเทศ ขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราใช้พลังงานต่อประชากรในเกณฑ์สูง
- มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซฯ สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล จึงสามารถขายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศได้ถูกกว่าไทย
- สิงคโปร์นำเข้าน้ำมันดิบเช่นกัน และนำมากลั่นเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายในประเทศจะมีราคาแพงกว่าไทยเพราะเก็บภาษีสูง เพื่อให้เกิดการประหยัด
2. ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยจะถูกปรับเพื่อให้สะท้อนราคาต้นทุนน้ำมันดิบ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน โดยผู้ขายน้ำมันรับซื้อจากโรงกลั่นและปรับราคาเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ถูกกระทบจากราคาที่ผันผวนจนเกินไป
- ธุรกิจการกลั่นและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันมีการแข่งขันเสรี มีผู้ประกอบการนอกเหนือจาก ปตท. คือ บริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ที่ใหญ่กว่า ปตท. หลายสิบเท่า
- ทั้งสองธุรกิจมีวัฏจักรขึ้นลงตามสภาพตลาด และจะมีผลตอบแทนการลงทุนโดยเฉลี่ยไม่สูง ทำให้บริษัทข้ามชาติขาดความสนใจที่จะลงทุน และเริ่มทยอยขายกิจการในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่น Shell ขายโรงกลั่นระยอง บริษัท BP, Q8 และ ConocoPhillips ขายกิจการปั๊มน้ำมัน
ดังนั้น ปตท. จึงไม่ได้กำไรมากมายจากการกลั่นและขายน้ำมันตามที่มีการกล่าวหา ในทางตรงกันข้าม ปตท. ได้มีบทบาทสำคัญในการชะลอการขึ้นราคาขายปลีก เพื่อบรรเทาภาระผู้ใช้น้ำมันในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2550-1
3. ปตท. ไม่เคยทำกำไรสูงถึงระดับ 195,000 ล้านบาทตามที่ถูกกล่าวหา ข้อเท็จจริงคือปี 2550 ปตท. มีกำไรสูงสุดคือประมาณ 97,000 ล้านบาท ปี 2551 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและพลังงานทำให้กำไรลดลงเหลือประมาณ 51,700 ล้านบาท
- กำไรของ ปตท. มาจากทั้งธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเองและส่วนแบ่งกำไรของบริษัทที่ ปตท. ลงทุน โดยการถือหุ้นในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจโรงกลั่น และธุรกิจปิโตรเคมี
- หากมองเฉพาะตัวเลขกำไรจะดูเหมือนว่า ปตท. มีกำไรสูง แต่เมื่อพิจารณาขนาดธุรกิจและภาระการลงทุนทั้งหมด จะเห็นว่า ปตท. ได้รับผลตอบแทนการลงทุนในสัดส่วนเพียง 5-10%
- ปี 2551 ปตท. มีรายได้ 2 ล้านล้านบาท มีสินทรัพย์รวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท และได้กำไร 51,700 ล้านบาท ทำให้มีสัดส่วนกำไรต่อรายได้ (profit margin) เพียง 2.6% และสัดส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ (ROA) เพียง 5.2%
4. โดยข้อเท็จจริง ปตท. มีศักยภาพที่จะทำกำไรได้สูงกว่าผลประกอบการ แต่เนื่องจากเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่บรรเทาภาระด้านราคาพลังงานให้แก่คนไทย ปตท. จึงรับภาระต่างๆ คือ
- ชะลอการขึ้นราคาขายปลีกน้ำมัน ทำให้ค่าการตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
- ขายก๊าซหุงต้ม (LPG) ในประเทศราคาคงที่ตามที่รัฐควบคุม ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาดโลก ทั้งที่ต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาผลิตคือก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบมีราคาสูงขึ้น
- ลงทุนขยายกิจการ NGV ตามนโยบายรัฐเพื่อเป็นทางเลือกให้กับภาคขนส่งในภาวะน้ำมันแพงปัจจุบันมีสถานีเกือบ 400 สถานีทั่วประเทศ
- ขาย NGV ในประเทศราคาคงที่ตามที่รัฐควบคุม 8.50บาท/กก ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนค่าเนื้อก๊าซฯ ค่าขนส่งและค่าลงทุนสถานีอุปกรณ์ต่างๆรวมประมาณ 14.50บาท/กก
- ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับทิศทางในอนาคตที่จะสามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ
5. เนื่องจากประเทศไทยจะต้องนำเข้าพลังงานในอนาคตเป็นปริมาณสูง ปตท. มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดหาพลังงานมาตอบสนองความต้องการใช้ให้เพียงพอ และในราคาที่เป็นธรรม จึงต้องจัดสรรรายได้เพื่อนำมาลงทุนต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบท่อก๊าซ คลังน้ำมันและก๊าซ โรงแยกก๊าซ รวมทั้งการเสาะแสวงเป็นเจ้าของปริมาณสำรองและแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซทั้งใน และนอกประเทศ โดยในปี 2552 ปตท. ใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 70,000 ล้านบาท
- หาก ปตท. นำกำไรมาลดราคาขายปลีกน้ำมันก็จะช่วยประชาชนได้ในระยะสั้น แต่จะมีผลเสียระยะยาวคือ จะไม่เกิดสำนึกของการประหยัดและ ปตท. จะขาดความเข้มแข็งทางการเงินที่จะไปลงทุนเพื่อเสถียรภาพในอนาคต
- ประเทศอื่นๆ ที่ต้องนำเข้าพลังงานจะมีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเขามีความเข้มแข็งและไปลงทุนต่างประเทศเพื่อจะสามารถรักษาประโยชน์ของประเทศได้ในระยะยาว
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติหลายแห่งได้แปรรูปและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความคล่องตัวในการระดมทุนสำหรับการขยายธุรกิจ เช่น CNPC CNOOC และ Sinopec ของจีน Gazprom ของรัสเซีย Petrobras ของบราซิล การแปรรูป ปตท. จึงสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลและน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่จะสร้าง บริษัทน้ำมันแห่งชาติของไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น
หวังว่าหากท่านผู้อ่านได้รับข้อมูลครบถ้วนทุกด้านก็จะสามารถแยกแยะประเด็นและพิจารณาได้ว่าประเทศไทยและประชาชนไทยควรเตรียมการด้านพลังงานอย่างไร ปตท เลวเป็นผู้ร้ายจริงหรือไม่??? เนื่องจาก ปตท. ถูกโจมตีในเรื่องต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีบทชี้แจ้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานของไทยและบทบาทของ ปตท. ซึ่งมีความสำคัญต่อเสถียรภาพด้านพลังงานของชาติในอนาคต
ที่มา: http://www.gasthai.com/ngv/ngvclub/question.asp?id=966