โรนัลด์ รอส ผู้ค้นพบพาหะโรคมาลาเรีย
โรคมาลาเรีย หรือโรคไข้จับสั่น หนึ่งในโรคติดต่อสำคัญที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในอดีตเรายังไม่ทราบว่าโรคมาลาเรียนี้ มีสาเหตุการเกิดมาจากอะไร ทำให้โรคนี้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง “โรนัลด์ รอส” (Ronald Ross) แพทย์ชาวอังกฤษ – อินเดีย ได้ค้นพบพาหะของเชื้อมาลาเรียได้เป็นผลสำเร็จ
โรนัลด์ รอส (Ronald Ross) เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1875 ณ เมืองอัลมอรา ประเทศอินเดีย เขาสำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลเซนต์บาร์โธโลมิวในกรุงลอนดอน และได้กลับไปเป็นแพทย์ประจำที่ประเทศอินเดีย ถิ่นบ้านเกิดของเขาเอง
ณ ประเทศอินเดียในขณะนั้น โรคมาลาเรียกำลังเป็นที่ระบาดอย่างรุนแรง มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียนี้เป็นจำนวนมาก และยังไม่มีวิธีการใดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำให้รอสเกิดความสนใจที่จะศึกษาโรคมาลาเรียนี้ขึ้นมาทันที
รอสได้ทำการศึกษาโรคมาลาเรียนี้อย่างจริงจัง ซึ่งก่อนหน้านั้น นายแพทย์ชารลส์ เลฟวแรน (Charles Leveran) ได้ค้นพบว่าเชื้อพลาสโมเดียม (plasmodium) คือเชื้อโปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเชื้อชนิดนี้แพร่เข้ามาสู่คนได้อย่างไร ต่อมารอสได้รับคำแนะนำจากแพทริค แมนสัน (Patrick Manson) นักพยาธิวิทยาผู้ได้รับการขนานนามว่า บิดาแห่งยารักษาโรค และยังเป็นผู้ค้นพบพาหะของโรคเท้าช้าง (Elephantiasis) ซึ่งแมนสันได้ให้ข้อสงสัยว่า “ยุง” อาจเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย
รอสได้ทำการทดลองเพื่อไขข้อสงสัยว่า “ยุง” เป็นพาหะของโรคมาลาเรียหรือไม่? โดยทดลองนำยุงที่กัดคนเป็นโรคมาลาเรีย และนำยุงตัวนั้นไปกัดเพื่อนร่วมงาน แต่ผลปรากฏกลับออกมาว่า เพื่อนร่วมงานของเขาไม่ได้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียแต่อย่างใด ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ยุงที่รอสนำมาทำการทดลองนั้น ไม่ใช่ “ยุงก้นปล่อง” นั่นเอง
ต่อมารอสได้เปลี่ยนแผนการทดลอง โดยศึกษายุงแต่ละชนิด และพบว่าเชื้อมาลาเรียมีในยุงก้นปล่องเท่านั้น โดยอยู่ในต่อมน้ำลายของยุง ซึ่งเมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียมากัดคน เชื้อก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เป็นโรคมาลาเรียได้ทันที
แต่ไม่ใช่ว่ายุงก้นปล่องทุกชนิดที่จะเป็นพาหะของโรคมาลาเรีย เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อมาลาเรียนั้นเกิดจาก “ยุงก้นปล่องตัวเมีย” เท่านั้น เนื่องจากยุงก้นปล่องตัวเมียต้องการเลือดจากคนหรือสัตว์อื่นเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งภายในเลือดจะมีโปรตีนที่มันต้องการใช้ในการวางไข่ ส่วนยุงตัวผู้นั้นต้องการน้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้เพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น
สำหรับวงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรียนั้น มีอยู่ 2 วงจร คือในยุงก้นปล่องและในคน โดยเริ่มจากยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรีย จะปล่อยเชื้อตัวอ่อนซึ่งเป็นระยะติดต่อเข้าสู่เลือดคน เรียกว่า สปอโรซอยต์ (sporozoite) ซึ่งมีลักษณะยาวเรียวคล้ายกระสวย ต่อมาเชื้อนี้จะเดินทางเข้าสู่เซลล์ตับและมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เรียกว่า เมอโรซอยต์ (merozoite) จนกระทั่งมีเมอโรซอยด์เป็นจำนวนมาก ก็บุกเข้ากระแสเลือดเพื่อทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง
เมื่อเข้าสู่เม็ดเลือดแดง เชื้อก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเซลล์เม็ดเลือดแดงแตกออก ซึ่งตอนนี้เองจะทำให้เกิดอาการไข้จับสั่น และเชื้อที่แตกออกมานี้ก็จะหาเซลล์เม็ดเลือดเลือดแดงใหม่เพื่ออยู่อาศัยและแบ่งตัวต่อไปจนเม็ดเลือดแดงแตกอีกครั้ง ทำให้เกิดอาการไข้จับสั่นเป็นระยะ ๆ เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
เชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium vivax ในเซลล์เม็ดเลือดแดง
นอกจากนี้ช่วงระยะที่เชื้ออยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดง เชื้อบางตัวอาจเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเป็น เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้หรือเพศเมีย (gametocyte) และสามารถติดต่อกลับไปสู่ยุงได้ เมื่อยุงมาดูดเชื้อระยะนี้เข้าไป เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียจะเข้าไปผสมพันธุ์กันในกระเพาะอาหารของยุง และให้กำเนิดเป็นตัวอ่อน อาศัยอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุง และสามารถแพร่ติดต่อสู่เข้าสู่คนได้อีก
การค้นพบวงจรชีวิตเชื้อมาลาเรียของรอสในครั้งนี้ สร้างความสำคัญให้กับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะทำให้เรารู้ถึงกลไกการเกิดโรคมาลาเรียในมนุษย์ และสามารถป้องกันโรคมาลาเรียให้มีความระบาดน้อยลงได้
โรนัลด์ รอส ได้อุทิศตนทำงานเพื่อป้องกันโรคมาลาเรียในหลายประเทศ ทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็น “เซอร์ โรนัลด์ รอส” (Sir Ronald Ross) ที่สำคัญการค้นพบครั้งนี้ยังทำให้รอสได้รับ รางวัลโนเบล สาขาการแพทย์และสรีรวิทยาในปี ค.ศ. 1902 อีกด้วย
และเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของเขาในวันนี้ (13 พฤษภาคม) จึงยกย่องเกียรติประวัติของเขา " เซอร์ โรนัลด์ รอส" ผู้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการแพทย์ค่ะ
อ้างอิง
- http://th.wikipedia.org/wiki/โรนัลด์_รอสส์
- http://th.wikipedia.org/wiki/มาลาเรีย
- คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาปรสิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะเวชศาสตร์เขคตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน