ฮัมมิ่งเบิร์ดผึ้ง (Bee Hummingbirds) อัจฉริยะตัวจิ๋ว
สวัสดีครับเพื่อนๆ หลายคนคงมีสัตว์ที่ตัวเองรู้สึกรัก หลายคนก็คงได้เลี้ยงจนเป็นสัตว์ตัวโปรด สำหรับผม ฮัมมิ่งเบิร์ด เป็นนกที่ผมอยากใกล้ชิดมากที่สุด มันช่างน่ารักชวนให้หลงไหลยามเห็นมันกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ แต่น่าเสียดายที่บ้านเราไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ของฮัมมิ่งเบิร์ด มันไม่ได้เป็นแค่นกตัวเล็กที่กินน้ำหวานเป็นอาหารเท่านั้น แต่มันยังมีความฉลาดมากอีกด้วย เรามาทำความรู้จักฮัมมิ่งเบิร์ดกันอีกหน่อยดีกว่าครับ
ฮัมมิ่งเบิร์ด มีทั้งหมด 320 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่ก็ลักษณะคล้ายๆ กัน แต่พันธุ์ที่โดดเด่นกว่าเพื่อนๆ สักหน่อย ชื่อ ฮัมมิ่งเบิร์ดผึ้ง (Bee Hummingbird) ที่มีชื่อเช่นนี้ก็เพราะตัวมันเล็กนิดเดียวครับ จริงๆ มันก็ไม่ได้ตัวเท่าผึ้งหรอกครับ เพียงแต่ตัวมันเล็กมาก และอีกอย่างคือมันกินน้ำหวานแเหมือนผึ้ง ฝรั่งเขาก็เลยเรียก Bee Hummingbird ซะเลย เรามาดูครับว่าฮัมมิ่งเบิร์ดตัวจิ๋วนี้มีลักษณะอย่างไรกัน
ฮัมมิ่งเบิร์ดผึ้ง เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้เพียงที่ประเทศคิวบา บนเกาะ Isla de la Juventud เท่านั้น มีน้ำหนักตัวเพียง 1.8 กรัม มีความยาวเพียง 5 เซ็นติเมตร ซึ่งถือว่าเป็นนกที่ตัวเล็กที่สุดในโลก ฮัมมิ่งเบิร์ดเป็นนกที่มีความสามารถในการบินขึ้นลงในแนวดิ่ง เดินหน้าถอยหลัง และบินนิ่งในอากาศได้ นึกถึงเฮลิคอปเตอร์อาปาร์เช่เลยนะครับ หรือว่าเครื่องบินรบอย่างอาปาร์เช่เรียนแบบเจ้านกตัวน้อย มันสามารถกระพรือปีกได้เร็วกว่า 80 ครั้ง/วินาที ซึ่งต้องใช้พลังงานมากมาย ลักษณะเด่นของฮัมมิ่งเบิร์ดผึ้ง ตัวผู้คือ ขนสีเขียว ส่วนบริเวณหัวและคอเป็นสีแดงสด พวกมันกิน น้ำหวาน จากดอกไม้เป็นอาหารหลัก ฮัมมิ่งเบิร์ดผึ้ง ตัวเมียจะสร้างรังขนาดเล็กด้วยเส้นใยจากพืช ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1 นิ้วสำหรับวางไข่ดูที่รูปครับ เล็กนิดเดียวน่ารักมากครับ
ขนาดของรังเมื่อเทียบกับนิ้วมือครับ
ขนาดตัวเมื่อเทียบกับนิ้วมือที่จับมันไว้ครับ
ส่วนหนึ่งของอวัยวะสำคัญที่ฮัมมิ่งเบิร์ดต้องแบกไว้ก็คือสมอง เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตัวแล้ว สมองของมันมีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์เราถึง 2 เท่า และอวัยวะนี้เองที่ช่วยให้มันทำหลายสิ่งหลายอย่างที่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าทำไม่ได้
ฮัมมิ่งเบิร์ด มีสัมผัสเรื่องเวลาที่แม่นยำเหนือมนุษย์เรา ฮัมมิ่งเบิร์ดรูฟัส (Rufous hummingbird) ไม่เพียงแต่จดจำได้ว่าอาหารอยู่ที่ไหน แต่มันยังจำได้ว่า มันไปกินอาหารที่นั่นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มันจะให้เวลาดอกไม้ต่างๆ มากพอที่จะผลิตเกสรขึ้นมาทดแทนก่อนที่จะบินกลับไปเยี่ยมเยือนดอกไม้เหล่านั้นอีกครั้ง ฮัมมิ่งเบิร์ดยังเป็นหนึ่งในสัตว์เพียงหกกลุ่มที่เรียนรู้วิธีการติดต่อสื่อสารด้วยการใช้เสียง นอกเหนือไปจากการพึ่งพาสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว ซึ่ง มนุษย์ วาฬ และค้างคาวใช้วิธีนี้เช่นกัน รวมไปถึงนกบางชนิด อย่างนกแก้ว นกขุนทอง ซึ่งเรียนรู้ด้วยการลอกเลียนแบบ โครงสร้างพิเศษที่อยู่ภายในกลีบสมองส่วนหน้าจะทำหน้าที่ควบคุมการเรียนรู้ที่จะส่งเสียงร้อง และทักษะนี้ดูเหมือนจะมีวิวัฒนาการอย่างเป็นอิสระต่อกันในนกทั้งสามกลุ่ม สำหรับฮัมมิ่งเบิร์ด การสื่อสารด้วยการส่งเสียงร้องเกิดจากความต้องการที่จะรักษาอาณาเขตของมันเอง รูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ ความต้องการพลังงานอย่างมาก ดังนั้น การขับไล่เพื่อนบ้านทั้งหลายให้อยู่ห่างจากแหล่งอาหารจึงสำคัญต่อความอยู่รอด และการส่งเสียงร้องก็เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลเป็นอย่างดี
ความสามารถเฉพาะตัวของมันในการดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ในขณะที่ลอยตัวอยู่ในอากาศยังต้องอาศัยการปรับตัวของสมองเป็นพิเศษด้วย มันสามารถมองเห็นช่วงแสงของรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดียิ่งกว่านกชนิดอื่นๆ (บางทีอาจช่วยในเรื่องการจดจำดอกไม้) และสมองที่รับผิดชอบในเรื่องการปรับภาพให้คมชัดของมันยังมีขนาดใหญ่ด้วย แม้จะมีกระแสลมที่เกิดจากการกระพือปีกถึง 200 ครั้ง ต่อวินาทีก็ตาม
นอกจากจะเฉลียวฉลาดแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตัว ฮัมมิ่งเบิร์ดนับว่าเป็นสัตว์ที่มีหัวใจขนาดใหญ่ที่สุดและมีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ดีที่สุด หัวใจเต้นถึง 1,200 ครั้งต่อนาที และมันอาจหายใจเข้าได้ถึง 500 ครั้งใน 1 นาที เทคนิคในการบินของมันใกล้เคียงกับผื้งมากกว่านกชนิดอื่นๆ หัวไหล่ที่มีลักษณะเป็นข้อต่อทรงกลมทำให้มันสามารถหมุนปีกได้ 180 องศาในทุกทิศทาง ในขณะที่มันลอยอยู่กลางอากาศ ส่วนปลายของปีกจะเคลื่อนที่ในแนวระนาบ ทำให้เกิดการกระพือปีกขึ้นๆ ลงๆ เหมือนนกเกือบทุกชนิด นั่นหมายความว่า มันลอยตัวขึ้นได้ในทั้งสองจังหวะ ซึ่งทำให้สามารถบินไปข้างหน้า บินถอยหลัง หรือบินกลับหัวก็ยังได้ ในแต่ละวันเพื่อให้สามารถบินได้อย่างนั้น อย่างน้อยมันต้องกินน้ำหวาน (เพื่อให้ได้พลังงาน) และแมลง(เพื่อให้ได้โปรตีน) ในปริมาณที่เท่ากับน้ำหนักตัว นั่นหมายถึงการไปเยี่ยมเยือนดอกไม้ถึง 1,500 ดอกโดยเฉลี่ย เนื่องจากการบินเช่นนี้ทำให้ร่างกายต้องขับน้ำออกมาในปริมาณมาก นกฮัมมิ่งเบิร์ด จึงปัสสาวะออกมาอย่างต่อเนื่อง มันใช้เวลาร้อยละ 75 ของวันไปกับการเกาะอยู่บนกิ่งไม้เพื่อประหยัดพลังงาน ในตอนกลางคืน นกฮัมมิ่งเบิร์ดบางชนิดจะเข้าสู่ภาวะประหยัดพลังงาน ซึ่งอาจนับว่าเป็นการจำศีลชั่วคราว ในภาวะดังกล่าว การเผาผลาญพลังงานในร่างกายจะลดลงอย่างฮวบฮาบและอุณหภูมิของร่างกายจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่งด้วย ก็ไม่ทราบว่าร่างกายปรับตัวได้อย่างไร ธรรมชาติช่างออกแบบมาให้มันมีชีวิตที่สุดทึ่งจริงๆ ครับ
ขนของนกฮัมมิ่งเบิร์ดจะมีสองสีพื้นฐานคือ สีน้ำตาลแดงกับสีดำ แถบสีอันน่าอัศจรรย์ใจของมันที่เราเห็นเกิดจากเม็ดสีเมลานินและฟองอากาศเล็กๆ ภายในขนที่สะท้อนแสง ซึ่งทำให้เกิดเป็นสีแวววาวเหมือนโลหะ แสงจะต้องส่องลงมาบนขนที่มีสีเหมือนรุ้งในมุมที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะเห็นแค่สีตุ่นๆ เท่านั้น
ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่องนกตัวเล็กที่สุดในโลกที่มีความฉลาดสมกับสมองที่ใหญ่ของมัน เพื่อนๆ ที่หลงรักเจานกตัวน้อยนี้อยู่ก็คงจะชอบนะครับ ส่วนทำไมฮัมมิ่งเบิร์ดถึงชอบดอกไม้ที่คว่ำหน้ามากกว่าลองอ่านเรื่อง "รู้แล้ว ทำไมนกฮัมมิ่งเบิร์ดชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่คว่ำหน้าลง https://board.postjung.com/644747.html แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
http://gledwood2.blogspot.com/2009/09/hummingbirds.html
http://waji203.wordpress.com/tag/bee-hummingbird/
ขอบคุณแหล่งข้อมุล
http://waji203.wordpress.com/tag/bee-hummingbird/
http://lansingwbu.blogspot.com/2008/10/bird-of-week-bee-hummingbird.html