นกหัวขวาน สุดยอดของการเจาะต้นไม้ เอ๊ะ! แล้วมันไม่ปวดหัวหรือ?
สวัสดีครับเพื่อนๆ กลิ่้นอายจากผืนป่าและทุ่งหญ้ายามเช้า มันเป็นอะไรที่หลายคนถวิลหา ยิ่งได้พบกับสัตว์ป่าจากธรรมชาติออกมาเดินให้เราเห็น ก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ชวนให้หลงไหล ด้วยเหตุนี้เองครับจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมรักกีฬากลางแจ้ง ได้เดินเล่นไปกับพื้นหญ้านุ่มๆ กับเสียงร้องของนกบ้างประปราย ส่วนใหญ่ก็เป็นนกป่าหลายสายพันธุ์ ที่พบเห็นก็เป็นนกแก้ว นกกรงหัวจุก นกกระยาง แต่ที่สะดุดตามผมมากที่สุดก็คือ นกหัวขวานครับ หน้าตามันเป็นอย่างรูปข้างล่างนี้ครับ ผมถามพนักงานสนามเขาก็ยืนยันว่าชาวบ้านเรียกนกหัวขวานจริงๆ ผมก็นึกภาพตอนมันเอาปากเจาะไม้ดังป๊อก ๆ ๆ ๆ แหมมันทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนตอนเด็กที่ชื่อเจ้าวูดดี้ จอมซน ครับ แต่พอผมได้กลับมาหาข้อมูลกลับทำให้ผมผิดหวังเล็กน้อยครับ เพราะมันมีชื่อเป็นทางการว่า นกกระรางหัวขวาน คนละพันธุ์กับนกหัวขวาน หนำซ้ำมันยังไม่ชอบเจาะต้นไม้ด้วย และที่น่าเสียดายสุดๆ ก็คือ ตัวมันเหม็นมาก อันนี้จากข้อมูล และจากพนักงานสนามเล่าให้ฟังตอนไปจับมันครับ บอกเหม็นสุดๆ ฮ่าๆๆ อันนี้เป็นเสียงหัวเราะของหนักงานนะครับ แต่ก็พลอยให้เราได้หัวเราะกันทุกคน แต่ก็เพราะความเหม็นของมัน จึงไม่เป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงนก เลยรอดไปครับ
นกกระรางหัวขวาน (Hoopoe)
นกหัวขวาน (Woodpecker) เจ้าตัวนี้ต่างหากครับที่มันชอบเจาะต้นไม้ โดยมันจะเอาจะงอยปากที่แข็งแรงเจาะต้นไม้เป็นโพรง โดยหัวของมันก็จะโขกให้ปากจิกที่ลำต้นของไม้ ดังป๊อก ๆ ๆ ๆ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยครับ ซึ่งหน้าตาของเจ้านกหัวขวานจอมเจาะหน้าตาเป็นอย่างภาพข้างล่างครับ
นกหัวขวาน (Woodpecker)
เห็นภาพเปรียบเทียบไหมครับ นี่แหละครับที่ผมบอกว่าผิดหวังเล็กน้อย เพราะเจ้านกกระรางหัวขวานมันมีหงอนที่หัวสวยกว่าเจ้านกหัวขวานมากเลยนะครับ และเพราะเจ้าการ์ตูน วู้ดดี้ จอมซน นี่แหละครับที่ทำให้ผมเข้าใจผิด เพราะการ์ตูนวาดออกมาหัวมันดูเป็นพู่สวยงามมาก แต่ถ้าพูดถึงสีก็ตามการ์ตูนครับ ลองดูภาพการ์ตูนเจ้าวู้ดดี้จอมซนนะครับว่าเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ คนไหนทันได้ดูบ้างนะครับ
การ์ตูน วู้ดดี้ จอมซน
นกหัวขวาน (Woodpecker) เป็นนกที่มีความสามารถไต่ขึ้นลงตามต้นไม้ได้ดีเป็นแนวตั้ง ด้วยขาที่สั้น และเล็บที่แหลมคม ส่วนใหญ่มีนิ้วหน้า 2 นิ้ว นิ้วหลัง 2 นิ้ว (ขณะที่บางชนิดจะมีเพียง 3 นิ้ว หรือบางชนิดก็มีนิ้วยื่นไปข้างหน้า) เล็บมีความคมและแข็งแรง หางมักจะแข็งมากและเป็นรูปลิ่ม ใช้ช่วยยันต้นไม้ขณะไต่ขึ้นลงตามลำต้น นกหัวขวานเป็นนกประเภทอยู่รู หรืออยู่อาศัยตามโพรงไม้ ตามปกติแล้วมักจะเลือกสถานที่ทำรังโดยใช้จะงอยปากที่แข็งแรงเจาะต้นไม้จนเป็นโพรงใหญ่ ขนาดที่ตัวของนกเองจะเข้าออกได้อย่างสะดวก นกหัวขวานเป็นนกที่ปกติจะอาศัยอยู่เพียงลำพัง ไม่มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงเหมือนนกอื่นๆ ถ้าหากมีนกอื่นรุกล้ำเข้ามา จะส่งเสียงร้่อง "แก๊ก ๆ ๆ" ดังกังวาลเพื่อเตือน อย่างไรก็ตาม ตัวเมียก็มีส่วนช่วยเลือกสถานที่ทำรังเหล่านี้ด้วย ส่วนมากมักชอบไม้เนื้ออ่อน ซึ่งในฤดูแล้ง ต้นไม้เหล่านี้จะทิ้งใบ แต่บางครั้งจะทำรังตามต้นไม้แห้งๆ หรือต้นมะพร้าวหรือต้นปาล์ม
hammering Woodpecker
จุดเด่นของนกหัวขวานก็คือ สามารถใช้จะงอยปากที่แหลมยาวและแข็งแรงเหมือนลิ่ม เจาะลำต้นของต้นไม้ใหญ่ประเภทไม้ยืนต้นจนเป็นรูหรือเป็นโพรงได้เป็นอย่างดี ขณะที่เจาะต้นไม้อยู่นั้นจะได้ยินเสียงกังวาลไปไกลเป็นเสียง "ป๊อก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ" เพื่อที่จะหาหนอนและแมลงที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกไม้และเนื้อไม้กินเป็นอาหาร ด้วยการใช้ลิ้นและน้ำลายที่เหนียวดึงออกมา ลิ้นของนกหัวขวานเมื่อยืดออกจะยาวมาก โดยลิ้นนี้จะถูกเก็บไว้โดยการพันอ้อมกะโหลก แล้วเก็บปลายลิ้นไว้ที่โพรงจมูกด้านใน ซึ่งการกระทำเช่นนี้นับว่าเป็นผลดีต่อต้นไม้ที่ช่วยกำจัดหนอนแมลงที่รบกวนได้ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนได้รับฉายาว่า "หมอรักษาต้นไม้"
แต่ในทางตรงกันข้าม การเจาะต้นไม้เช่นนี้ก็ทำการทำลายความแข็งแรงของเนื้อไม้ได้ด้วย เนื่องจากนกหัวขวานไม่ได้เจาะต้นไม้ที่มีชีวิตอย่างเดียว แต่กับไม้แปรรูป เช่น เสาไฟฟ้าที่ทำจากต้นไม้ก็ถูกเจาะได้เช่นกัน และถูกเมื่อเจาะหลาย ๆ ที่ก็เป็นโพรงที่ทำให้แมลงหรือสัตว์อื่นเข้าไปอยู่อาศัยและทำลายเนื้อไม้ได้
Common Flameback Woodpecker
แรงกระแทกที่นกหัวขวานใช้เจาะต้นไม้นั้นแรงมาก โดยเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 6 เมตรต่อวินาที และแรงที่เข้ากระทำนั้นเป็น 1,000 เท่าของแรงโน้มถ่วงโลก แต่เหตุที่นกหัวขวานสามารถที่จะกระทำเช่นนี้ได้ โดยที่สมองหรือส่วนหัวไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ก็เนื่องด้วยรอบๆ สมองนั้นห่อหุ้มไปด้วยกะโหลกรูปจานที่อ่อนนุ่มแต่หนาแน่นและยืดหยุ่นเหมือนฟองน้ำที่ภายในเต็มไปด้วยอากาศ อีกทั้งยังมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงล้อมรอบกะโหลกภายนอกที่โค้งเป็นรูปเลข 8 อีกต่างหาก และอีกยังมีจะงอยปากบนและล่างที่ยาวไม่เท่ากัน เหล่านี้เป็นสิ่งช่วยในการลดแรงกระแทกที่ส่งผลกระทบถึงสมอง โดยวันหนึ่งๆ นกหัวขวานสามารถเจาะต้นไม้ได้ถึง 500-600 ครั้ง หรือถึง 12,000 ครั้ง
Pileated Woodpecker
นกหัวขวานมีพฤติกรรมการวางไข่ที่แปลก กล่าวคือ หลังจากออกไข่แล้ว ตัวผู้จะเป็นฝ่ายเข้ากกไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนเป็นหลัก โดยมีตัวเมียมาช่วยบ้างเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม นกหัวขวานมักจะมีโพรงอยู่เป็นประจำ คือ โพรงใดของตัวใดตัวหนึ่ง เมื่อเวลาพลบค่ำ ก็บินกลับมานอนในโพรงต่างๆ เหล่านี้ ตามปกติ นกหัวขวานตัวหนึ่งๆ มักจะมีโพรงที่อาศัยนอนเช่นนี้ 2-3 แห่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งอื่นที่มารบกวน
นกหัวขวานอาศัยอยู่ในป่าทั่วโลก ยกเว้นออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และมาดากัสการ์ พบประมาณ 200 ชนิด ในประเทศไทยพบได้ราว 36 ชนิด และมี 2 ชนิดที่หายสาบสูญไปนานกว่า 50 ปีแล้ว จากการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย คือ นกหัวขวานอิมพีเรียล (Campephilus imperialis) กับนกหัวขวานปากงาช้าง (C. principalis) ซึ่งเป็นนกหัวขวานขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 2 ชนิด ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายมากนะครับ
ในโลกใบนี้ ยังมีเรื่องราวของสัตว์ป่าและธรรมชาติให้เราได้เรียนรู้อีกไม่รู้จบ นี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่นำมาฝากกัน ช่วยดูแลสัตว์ป่าและรักษาธรรมชาติที่มีเหลืออยู่ไม่มากนัก ให้อยู่คู่กับเราไปอีกนานแสนนาน ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อพวกเราและลูกหลานของเราในอนาคตเอง แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
ถ้าเพื่อนๆ ไม่อยากดูตั้งแต่แรกก็ดูนาทีที่ 7 ได้เลยนะครับ
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
http://thebirdpoint.wordpress.com/2010/07/13/pileated-woodpecker-152020/
http://guru.truelife.com/content/382748
http://animals.nationalgeographic.com/animals/birds/pileated-woodpecker/
http://www.nashvillezoo.org/piciformes/picidae.htm
ขอบคุณคลิปจาก
http://www.youtube.com/watch?v=ajVQ0orAGyY
ขอบคุณแหล่งข้อมูล