มารู้จักศูนย์ “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์” กันดีกว่า
ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ราว 500,000 ราย แต่มีเพียง 2 แสนรายเท่านั้นที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ในขณะที่อีก 3 แสนรายที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษามีทั้งกลุ่มคนที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
กลุ่มคนที่อาจจะประเมินได้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงแต่ไม่กล้าไปรับบริการปรึกษาและตรวจเลือดที่หน่วยบริการ
และกลุ่มคนที่อาจจะทราบผลเลือดของตัวเองแล้วแต่ไม่มีข้อมูลเรื่องการดูแลรักษา
ดังนั้น ทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคนทำงานด้านเอดส์ ที่ต้องการให้ประชาชน เข้าถึงบริการปรึกษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ จึงร่วมกันพัฒนาระบบการให้คำปรึกษา ผ่านศูนย์ “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์”ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการตรวจรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ได้เร็วขึ้น
1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยจะให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ทุกวันตั้งแต่ 10.00 -20.00 น. เป็นบริการไม่ถามชื่อ และเมื่อผู้รับบริการได้รับการปรึกษาและมีความประสงค์จะตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีก็สามารถนำรหัสที่ได้จากศูนย์1663 ไปขอรับบริการยังหน่วยบริการได้ โดยที่หน่วยบริการจะประเมินความพร้อมเบื้องต้นต่อจากที่ศูนย์ 1663 อีกครั้ง
ในปัจจุบันนี้ หน่วยบริการของรัฐทั่วประเทศได้ให้สิทธิประชาชนทุกระบบการรักษาทั้งบัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม หรือข้าราชการ สามารถเข้ารับบริการตรวจเลือดเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง (แต่ละครั้งควรห่างกันประมาณ 6 เดือน เพื่อความชัวร์) แต่ทั้งนี้ทางหน่วยให้บริการจะมีการให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้รับบริการได้ประเมินความเสี่ยงก่อนรับการตรวจเลือดทุกครั้ง
ถ้าเราประเมินตัวเองแล้วว่ายังไม่พร้อมหรือรู้สึกว่าไม่ได้เสี่ยงต่อการรับเชื้อ จะไม่เข้ารับการตรวจเลือดภายหลังการให้ปรึกษาก็ได้ เป็นสิทธิส่วนบุคคล
การรู้ผลเลือด จะช่วยให้เรามีทางออกในการจัดการปัญหาและวางแผนดูแลสุขภาพของตัวเองได้ไม่ว่าจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ก็ตาม
ถ้าเราพบว่าผลเลือดเป็นลบ เราก็จะได้รู้จักการป้องกันตัวเองผลเลือดให้เป็นลบตลอดไป แต่ถ้าผลเลือดเป็นบวกก็จะเข้าถึงบริการรักษาได้อย่างทันท่วงที ไม่เจ็บป่วย ไม่เสียชีวิต และตอนนี้สิทธิประโยชน์ในการรักษาด้านเอชไอวี/เอดส์ ของไทยเราก็ฟรี
ดังนั้น ศูนย์ “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์”จึงเป็นบริการให้คำปรึกษากับประชาชนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ รวมถึงบุคลากรที่ให้คำปรึกษาก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพในด้านความรู้ ความเข้าใจ ให้บริการด้วยความเป็นมิตรและรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้วยความสะดวกรวดเร็วและสบายใจ
อ้างอิงข้อมูล http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/30331