พลิกตำนาน “ลอบสังหาร” ผู้นำไทย
ลอบสังหารจอมพล ป. 3 ครั้งซ้อน กำเนิดฉายา “จอมพลกระดูกเหล็ก”
ครั้งที่ 1 วันที่ 23 ก.พ. 2477 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกฯและ รมว.กระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ขณะเป็นประธานมอบรางวัลชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลระหว่างเหล่าทัพต่างๆ ที่ท้องสนามหลวง ได้ถูกคนร้ายบุกประชิดตัวใช้ปืนพกสั้นชนิด รีวอลเว่อร์ 9 ม.ม. ยิงในระยะเผาขน แต่เคราะห์ดีได้รับเจ็บเล็กน้อย ส่วนคนร้ายถูกจับได้และซัดทอดถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ว่าจ้างให้มาสังหาร
การรอดตายมาได้ในครั้งนั้น ทำให้จอมพล ป. ได้รับฉายา “จอมพลกระดูกเหล็ก” !
ครั้งที่ 2 วันที่ 9 พ.ย.2481จอมพลกระดูกเหล็กคนเดิมถูกคนรับใช้ในบ้านใช้อาวุธปืนพกยิง ขณะแต่งเครื่องแบบอยู่ในบ้านเพื่อเตรียมจะออกไปทำงานแต่กระสุนพลาด ขณะที่คนร้ายไม่ยอมซัดทอดว่าใครเป็นผู้จ้างวาน
ครั้งที่ 3 วันที่ 9 ธ.ค.2581 จอมพล ป. ถูกแม่ครัวในบ้านลอบใส่ยาพิษในอาหารกลางวันที่นั่งรับประทานอาหารร่วมกับพลพรรค แต่เมื่อรู้ตัวว่าถูกยาพิษ ได้รีบไปล้างท้องที่โรงพยาบาลทหารบกได้ทัน ส่วนคนร้ายนั้นไม่ซัดทอดผู้จ้างวาน
ลอบสังหาร "อุตลุต" พล.อ.เปรม-พล.อ.อาทิตย์
ในปี 2525 เกิดเหตุการณ์ลอบสังหาร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ.ในขณะนั้น หลายต่อหลายครั้ง
มีการกล่าวหาว่า ผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารทั้งหมดคือ "กลุ่มยังเติร์ก" หรือ นายทหาร จปร.7 ภายใต้การนำของ พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี (ยศในขณะนั้น) เนื่องด้วยกลุ่มยังเติร์กมักวนเวียนอยู่กับความพยายามในการทำรัฐประหารระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2524 แต่ล้มเหลวจนต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ
ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 6-7 มี.ค.2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ในงานยกช่อฟ้าวัดจิระ อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่ไม่สำเร็จ
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-25 มี.ค.2525 ลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ขณะเดินทางไปเยี่ยมท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก ซึ่งป่วยและรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แต่ล้มเหลวอีกครั้ง
ครั้งที่ 3 วันที่ 5 พ.ค.2525 มีรถบรรทุกระเบิดจอดที่หน้าโรงเรียนพณิชยการสันติราษฎร์ในเส้นทางที่ พล.อ.อาทิตย์เดินทางผ่านไปทำงาน เพื่อลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ โดยใช้คลื่นวิทยุบังคับจุดระเบิด แต่รถได้เกิดระเบิดขึ้นก่อนที่ พล.อ.อาทิตย์จะผ่านไป
ครั้งที่ 4 วันที่ 3 มิ.ย.2525 ลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ขณะไปทอดกฐินที่วัดแก้วนิมิตร อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่ไม่สำเร็จ
ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค.2525 ลอบสังหาร พล.อ.เปรม ขณะเดินทางไปเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่กระสุนจรวด 66 เอ็ม 72 พลาดเป้าหมายไปเพียงเล็กน้อย
ครั้งที่ 6 วันที่ 17 ต.ค.2525 ลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ขณะเดินทางไปทอดกฐินที่วัดหน้าพระเมรุ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ไม่สำเร็จ
ครั้งที่ 7 วันที่ 20 ต.ค.2525 ลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ พล.อ.เปรม ในพิธีปิดการแข่งขันฟุตบอลควีนสคัพ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ กทม.
ครั้งที่ 8 วันที่ 31 ต.ค.2525 ลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ซึ่งจะเดินทางไปทอดกฐินที่วัดศรีสุทธาวาส อ.เมือง จ.เลย แต่ไม่สำเร็จ
คดีลอบสังหาร พล.อ.เปรมกับ พล.อ.อาทิตย์ ยังเข้าไปพัวพันกับการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ซึ่งนำโดยกลุ่มนายทหาร จปร.5 ที่อยู่คนละขั้วกับ “กลุ่มยังเติร์ก” ได้เผยแพร่ภาพคำสารภาพของ พ.อ.บุลศักดิ์ โพธิเจริญ ส.ส.สิงห์บุรี พรรคพลังธรรม หนึ่งในผู้ต้องหาร่วมกับ พล.ต.มนูญ ในคดีลอบสังหาร โดย พ.อ.บุลศักดิ์ยอมรับความผิดที่ก่อขึ้น
แต่หลังจากนั้น ในปี 2537 อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีลอบสังหาร ได้โต้ตอบว่า คำสารภาพของ พ.อ.บุลศักดิ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในช่วง รสช. เป็นการสร้างหลักฐานเท็จหลอกลวงประชาชน
ลอบสังหารทักษิณ
สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้นำไทยคนหนึ่งที่ตกเป็นกระแสข่าวการปองร้ายและลอบสังหารหลายครั้ง
โดยเหตุ “ลอบสังหาร 4 ครั้ง” ที่แฟนเพจอ้างชื่อโอ๊ค อ้างถึง มีดังนี้
ครั้งที่ 1วันที่ 3 มี.ค.2544 เกิดเหตุระเบิดเครื่องบินการบินไทย ยี่ห้อ โบอิ้ง 737-400 ทะเบียน HS-TDC กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่คณะของ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปบ้านเกิดที่ จ.เชียงใหม่ก่อนเวลาออกเดินทางเพียงเล็กน้อย ทำให้เครือบินถูกไฟไหม้เสียหายทั้งลำ มีผู้เสียชีวิต 1 รายหลังเหตุการณ์ใน พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า รายงานของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างชัดเจนว่า สาเหตุของเครื่องบินระเบิดน่าจะมาจากวัตถุระเบิดที่มีผู้นำมาติดไว้ที่ใต้ท้องเครื่องบิน บริเวณที่นั่งวีไอพี
"เป็นการปองร้าย ไม่ใช่การก่อการร้าย ไม่ทราบว่าปองร้ายใคร ส่วนคนที่ทำนั้นสิ้นคิด ไม่ต้องทำกับนายกรัฐมนตรี ทำกับใคร ประเทศชาติก็เสียหาย" พ.ต.ท.ทักษิณระบุ
ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้โดยมี พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้น เป็นหัวหน้า ท่ามกลางกระแสข่าวการก่อวินาศกรรม ของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติหรือขบวนการค้ายาเสพติด
จากนั้นในวันที่ 5 มี.ค.2544 คณะกรรมการชุด พล.ต.อ.สันต์ ฟันธงเป็นการ "วางระเบิด" แน่นอน คาดว่าเป็น "ซีโฟร์" เนื่องจากตรวจพบสารอาร์ดีเอ็กซ์ที่เป็นส่วนประกอบของซีโฟร์กระจายอยู่ พร้อมแจกแจงการจุดระเบิดว่าน่าจะเป็นการใช้นาฬิกาประกอบกันเป็นระเบิดแบบแสวงเครื่องในการจุดชนวนแต่ไม่พบซากอุปกรณ์ดังกล่าวในที่เกิดเหตุ
ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษากรณีเครื่องการบินไทยระเบิดควบคู่ไปด้วย โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.อ่างทอง ประธาน กมธ.แถลงเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2544 ว่า สาเหตุมีแนวโน้มว่าจะเป็นอุบัติเหตุ
ด้านผลสรุปการสอบสวนของ “คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(NTSB)" ซึ่งเป็นองค์กรการบินระดับโลก ระบุสาเหตุจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการเปิดแอร์ระหว่างเติมน้ำมัน สุดท้ายจึงมีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับ NTSB ว่า คาดว่าสาเหตุมาจากอุปกรณ์ทำความเย็นทำงานต่อเนื่องอย่างหนักได้ปล่อยความร้อนออกมา เป็นเหตุให้ถังเชื้อเพลิงที่อยู่เหนืออุปกรณ์ทำความเย็นเกิดระเบิด
เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบางฝ่ายมองว่าเป็นการสร้างข่าวเพื่อกลบกระแส “บกพร่องโดยสุจริต” ในคดี “ซุกหุ้น” ไว้กับคนรับใช้ คนสวน และคนขับรถในภาคแรก
ครั้งที่ 2 ในปี 2546 ช่วงสงครามล้างยาเสพติดมีการปล่อยข่าวว่า “กลุ่มว้าแดง” ได้ตั้งค่าหัวพ.ต.ท.ทักษิณไว้80 ล้านบาท เนื่องจากไม่พอใจนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่ทำให้สูญเสียผลกระโยชน์จำนวนมาก ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณต้องเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งเป็นรถตู้หุ้มเกราะและสั่งเพิ่มทีมรักษาความปลอดภัย เรียกได้ว่าเป็นกองทัพขนาดย่อมๆ โดยมีการเพิ่มรถคุ้มครองหลายคัน มีชุดล่าสังหาร อาวุธครบมือ
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ตกอยู่ในห้วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกฝ่ายค้านและสังคมตั้งข้อสังเกตการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนโดยเฉพาะชินคอร์ปซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว
ครั้งที่ 3 ฮือฮาที่สุด วันที่ 24 ส.ค.2549 จับกุม ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ ทหารสังกัด กอ.รมน. ขับรถเก๋งยี่ห้อแดวูภายในบรรทุกระเบิดไปจอดรออยู่บริเวณสี่แยกบางพลัด พบระเบิดทีเอ็นทีและซีโฟร์ผูกติดกันไว้ในกระโปรงท้าย รัศมีทำลายล้างไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ใกล้บ้านพักของในซอยจรัลสนิทวงศ์ 69 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นเส้นทางผ่านของขบวนรถนายกฯ แต่ทีม รปภ.ของ พ.ต.ท.ทักษิณตรวจพบเสียก่อน
มีการสรุปจากฝ่ายรัฐบาลว่า เป็นการมุ่งลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ โดยคนร้ายถูกดำเนินคดี ในความผิดร่วมกันเคลื่อนย้ายและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาพยายามฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ องค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพได้ยกฟ้อง
แต่เมื่อดูจากพยานหลักฐานและผลการสอบสวน เหตุการณ์ครั้งนั้นหลายฝ่ายจึงมองว่า เป็น “คาร์บ๊อง” มากกว่า “คาร์บอมบ์”
โดยวลี “คาร์บ๊อง” มาจากคำพูดของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ถูกคำสั่งปลดกลางอากาศพ้นตำแหน่ง รอง ผอ.รมน.ในขณะนั้นเพราะถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง
สำหรับสถานการณ์ในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” และถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาขับไล่ และตั้งข้อสังเกตุกรณีการขายหุ้นในเครือชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์
ครั้งที่ 4 ช่วงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ หลัง พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางกลับบ้านและกราบแผ่นดินเกิด ก่อนขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศเพื่อชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วไม่กลับมาอีก พลพรรคฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ล้วนให้ข่าวตรงกันว่ามีแผนประทุษร้ายจากบางฝ่าย โดยมีการอ้างถึง "สไนเปอร์" หรือพลแม่นปืน ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องเดินทางออกนอกประเทศ