เหตุการณ์คลั่งดอกทิวลิป
พูดถึงดอกทิวลิป เชื่อกันว่า หลายคนคงรู้จักดอกไม้ชนิดนี้ค่อนข้างดี ในฐานะดอกไม้อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเนเธอแลนด์ แต่ในสมัยก่อน เคยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดอกทิวลิปเป็นมากกว่าสัญลักษณ์ แต่มันยังเป็นทุกอย่างของชาวเนเธอแลนด์ในสมัยนั้นและยังเป็นต้นเหตุแห่งการเกิดฟองสบู่ครั้งสำคัญอีกด้วย
(การเติบโตของทิวลิป)
เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1636 บรรดาชาวเนเธอแลนด์หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ชาวดัตช์ต่างพากันใจจดใจจ่ออยู่กับดอกทิวลิป หรือ พูดให้ถูกคือ ราคาของมัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวชาวดัตช์ต่างพากันติดตามราคาดอกทิวลิปพอ ๆ กับที่นักลงทุนในยุคนี้นั่งเฝ้าราคาหุ้นเลยก็ว่าได้ เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ในประเทศเนเธอแลนด์ได้เกิดมีความต้องการดอกทิวลิปมากยิ่งกว่าปริมาณที่มีอยู่หลายเท่า
ขณะนั้น เนเธอแลนด์เพิ่งจะผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำมาไม่นาน ชาวดัตช์จำนวนมากมีเงินเหลือเฟือและพวกเขามองหาสินค้าที่เหมาะจะนำมาใช้เก็งกำไร ซึ่งสินค้าที่ถูกเลือกก็คือ ดอกทิวลิป เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้คนต่างพากันเกิดความคลั่งไคล้ดอกไม้ชนิดนี้มาก มีการให้ราคาดอกทิวลิปที่มีสีสันแปลก ๆ ในราคาที่สูงลิ่ว จนทำให้เกิดการซื้อขายดอกทิวลิปเพื่อเก็งกำไรกันอย่างแพร่หลาย ผู้คนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งช่างฝีมือ พ่อค้า นักกฏหมาย แม้กระทั่งนักบวชต่างหันมาเป็นพ่อค้ารายวันเพื่อทำกำไรจากทิวลิป
(การเก็งกำไรทิวลิป)
ทั้งนี้ ดอกทิวลิปที่เป็นที่ต้องการในยุคนั้น จะมีราคาสูงถึง 3,000 กิลเดอร์ซึ่งเงินจำนวนนี้มากพอที่จะซื้อของต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ได้ทั้งหมด ได้แก่ หมู 8 ตัว, วัว 4 ตัว, แกะ 12 ตัว, ข้าวสาลี 24 ตัน, ข้าวไรย์ 48 ตัน, ไวน์ (ขนาดความจุ 340ลิตร) 2 ถัง, เรือ 1 ลำ, เบียร์ 4 ถัง, เนย 2 ตัน, เนยแข็ง 500 กิโลกรัม, ถ้วยเงิน 1 ใบ และ เตียง 1 หลัง ขณะที่หากเป็นดอกทิวลิปชนิดที่หายากที่สุดแล้ว อาจมีค่าเทียบเท่ากับเงินมากกว่าหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐในปัจจุบันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ภาวะคลั่งดอกทิวลิปได้จางหายไปอย่างรวดเร็ว โดยใน เดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1637 ตลาดดอกทิวลิปก็ล้มครืน เนื่องจากกระแสความต้องการที่เริ่มตกลง ส่งผลให้ราคาดอกทิวลิปพากันดิ่งร่วงลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียงร้อยละหนึ่งของราคาเดิมหรือน้อยกว่านั้น ทำเอาบรรดาพ่อค้าจำนวนมากหมดตัวไปตาม ๆ กันและเหตุการณ์คลั่งดอกทิวลิปก็ได้จบลงพร้อม ๆ กับความฝันของนักลงทุนทั้งหลาย