"ไม้สีฟัน" การทำความสะอาดฟันของคนสมัยก่อน
"ไม้สีฟัน" การทำความสะอาดฟันของคนสมัยก่อน
ในอดีตนั้นไม่มีแปรงสีฟันอย่างที่เราใช้กันทุกวันนี้ เคยสงสัยมั้ยครับว่าคนไทยในอดีต ทำความสะอาดฟันกันอย่างไร
ในสมัยก่อนชาวสยามคงจะมีวิธีทำความสะอาดฟันของตนแตกต่างกันไป แต่ไม้สีฟันซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดฟันที่ คล้ายกับแปรงสีฟันนั้น ถูกใช้กันมาอย่างยาวนานแล้วโดยพระป่าสายกรรมฐาน
ไม้สีฟันหรือไม้เจียเป็นไม้ที่ทุบปลายแล้วใช้สีฟันแทนแปรงสีฟัน ทำจากไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นยา เช่น ไม้โกทา สมัด ดีคน ข่อย ฯลฯ ใช้สำหรับชำระฟัน ลิ้น ปาก ให้สะอาดปราศจากกลิ่นและเศษอาหาร รวมทั้งช่วยให้ฟันแข็งแรง ลิ้นรับรสได้ดี และขจัดเสมหะ
ไม้สีฟัน เป็นเครื่องแสดงถึงความเคารพบูชาของศิษย์ต่อครูอาจารย์ จึงต้องทำอย่างประณีต ซึ่งต้องอาศัยความพากเพียร ความอดทน และใช้เวลาพอสมควร ไม้สีฟันแต่ละอัน อาจสามารถบ่งบอกอุปนิสัยของผู้ทำได้ว่า ละเอียดหรือหยาบมากน้อยเพียงใด
วิธีทำโดยสังเขป
ตัดไม้เป็นท่อนขาว 4-8 นิ้ว ผึ่งแดดพอหมาด ๆ ถ้าแดดจัดผึ่ง 2-3 ชั่วโมง หากตากแดดแห้งเกินไปเมื่อทุบไม้จะแตก
การทุบใช้ไม้ใหญ่ ๆ ทุบที่ปลายให้แตกเป็นฝอยยาวสุดเล็บมือ ถ้าทุบช้า ๆ ไม้จะแตกเป็นฝอยและนุ่มละเอียดกว่าการทุบเร็ว ๆ
สางฝอยด้วยเข็มให้เรียบร้อย แล้วใช้มีดตอกเหลาด้ามให้เรียบสวย เอาฝอยที่เหลาออกจากด้ามมาขัดไม้สีฟันให้ขึ้นเงา นำไปตากแดดให้แห้งสนิทแล้วเก็บใส่ถุงป้องกันความชื้น (ปลายด้ามที่ทุบแตกเป็นฝอยใช้สำหรับถูฟันหรือเคี้ยว ปลายด้านที่เหลาให้แหลมใช้แคะเศษอาหารที่ติดตามไรฟัน ส่วนกลางของไม้ใช้สำหรับขูดลิ้น)
ไม้สีฟันอย่างภาพในภาพเป็นไม้สีฟันที่พระป่าสายกรรมฐานในอดีตใช้กันมาก ในปัจจุบันสำนักวัดป่าต่าง ๆ นิยมทำใช้กันอยู่ และยังใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาครูบาอาจารย์ ในวาระสำคัญ เช่น “การขอนิสัย” แต่พระป่าสายกรรมฐานบางที่ก็ไม่นิยมใช้กันแล้ว จะใช้แปรงสีฟันเหมือนกัน เพราะไม่มีผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้ไม้สีฟัน จึงเริ่มสูญหายไปเรื่อยๆ และใช้กันไม่เป็นแล้ว
cr:ชมรมประวัติศาสตร์สยาม













