คนโง่..คนฉลาด..คนเจ้าปัญญา แตกต่างกัน??
ธรรมะสอนใจ ว่าด้วยคนโง่ คนฉลาด และคนเจ้าปัญญา (๓)
- ว่าด้วยการอยู่กับความทุกข์
คนโง่ มัวอดทนกับทุกข์ เมื่อทุกข์ใจก็ไม่กล้าตัดสินใจ จากสิ่งที่ทำให้ทุกข์ จึงต้องทนเจ็บใจตลอดไป สะบักสะบอม
คนฉลาด มักหนีทุกข์ เมื่อทุกข์ใจก็กล้าตัดใจจากสิ่งที่ทำให้ทุกข์ จึงโล่งใจไปเรื่อยๆ ตราบที่ตัดได้และ ต้องเปลี่ยนแปลงร่ำไป
คนเจ้าปัญญา ทำลายเงื่อนไขของทุกข์ ทำใจให้ไม่เจ็บในทุกข์ จึงไม่ต้องตัดต่อใจอีกต่อไป ใจจึงเป็น ปกติเย็นอยู่ อยู่กับทุกข์ได้โดยไม่ทุกข์
- ว่าด้วยความยิ่งใหญ่
คนโง่ เห็นว่าตนยิ่งใหญ่ จึงจมอยู่ในตัวตนอันกระจ้อยร่อย ท่ามกลางเอกภพอันไร้ขอบเขต
คนฉลาด เห็นว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่ หวาดกลัว และ เทิดทูนธรรมชาติ ส่วนใดที่ตนเข้าไม่ถึงจึงโยนไว้ในอุ้งหัตถ์ของภูติผีและพระเจ้า
คนเจ้าปัญญา เห็นว่าความบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ เพราะทั้งตน ธรรมชาติ และวิญญาณทั้งหลาย ล้วนมีเป้าหมายสูงสุดที่ความบริสุทธิ์
- ว่าด้วยปฎิสัมพันธ์
คนโง่ ชอบเอาเปรียบคนอื่น จึงได้ประโยชน์ตนสั้ ๆ แต่เสียคนรัก และความศรัทธา
คนฉลาด ชอบยอมเสียเปรียบคนอื่น จึงได้คนรักและความศรัทธา แต่ขมขื่นในใจตน
คนเจ้าปัญญา ชอบบริหารประโยชน์สุขทุกฝ่าย จึงเป็นสุขใจ ได้คนรัก ความศรัทธา และสถาปนาระบบ ประโยชน์อันยั่งยืน
- ว่าด้วยความผิด
คนโง่ เห็นแต่ความชั่วร้ายของคนอื่น และโยนความผิดให้ผู้อื่นอยู่เรื่อย เป็นการทำมิตรให้กลายเป็นศัตรู ชีวิตจึงอยู่ในท่ามกลางอันตราย
คนฉลาด เห็นแม้ความชั่วร้ายในตนเอง จึงกล้ายอมรับความจริง และแก้ไขตัวทำให้ตนดีขึ้น ทำให้แม้ ศัตรูก็ยอมรับได้มากขึ้น ชีวิตจึงเจริญและผาสุกโดยลำดับ
คนเจ้าปัญญา เห็นความชั่วร้ายสากล จึงเข้าใจ ทุกคนในทุกสถานการณ์ เห็นสัดส่วนการบริหารคนที่ เหมาะสม โดยไม่ทำร้ายคน แต่จะทำลายความชั่วสากลให้สิ้นไป จึงสนุกสนานในการบริหารเรื่อยไป
- ว่าด้วยการปกครอง
คนโง่ คิดปกครองคนอื่น ขณะที่ตนก็คือคนๆหนึ่ง จึงไม่อาจปกครองใครได้แท้จริง การทรยศจึงเกิดขึ้นเนืองๆ
คนฉลาด คิดประสานกิเลสและคุณธรรมของคน จึงลงตัวตราบที่กิเลสไม่กำเริบและคุณธรรมไม่เสื่อม เมื่อกิเลสกำเริบหรือคุณธรรมเสื่อมก็แตกร้าวเนือง ๆ
คนเจ้าปัญญา คิดยกระดับปัญญาและความบริสุทธิ์ของคน เมื่อปัญญามากและความบริสุทธิ์ถึงที่สุด ทุกคน จะจัดตนเข้าฐานะหน้าที่อันเหมาะสมเอง จึงไม่ต้องพยายามปกครองกันอีก
- ว่าด้วยการบริหารสถานการณ์
คนโง่ ชอบเข้าสู่สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เป็น ความเสี่ยงอย่างยิ่งของชีวิต ความสำเร็จจึงแขวนอยู่บนความประมาท
คนฉลาด ชอบเข้าสู่เฉพาะสถานการณ์ที่ควบคุมได้ จึงมีสถานการณ์เพียงน้อยนิดที่เหมาะสม ชีวิตมีความ เสี่ยงต่ำ แต่สำเร็จเพียงเล็กน้อย
คนเจ้าปัญญา บริหารความเสี่ยง ควบคุม ปรับ จุดหมุน กระจาย สลายทุกความเสี่ยง เมื่อเข้าสู่ สถานการณ์ใด ก็เหนี่ยงนำแล้วปล่อยวาง บริโภคคุณค่า แล้วคายกากภัยทิ้งจึงสำเร็จได้ง่ายแม้ในความยากอย่าง ยิ่ง
- ว่าด้วยความรักสัมพันธ์
คนโง่ ชอบขอความรักและความเห็นใจ แต่มักได้รับความสมเพชตอบแทนเป็นประจำ
คนฉลาด ชอบให้ความรักความเข้าใจ และมักได้รับความหวังพึ่งพิงตอบเนือง ๆ
คนเจ้าปัญญา ชอบให้ปัญญาที่จะให้ทุกคนรัก และเข้าใจตนเอง จึงได้รับความนับถือ และความมีบุญคุณตอบแทนเสมอ
- ว่าด้วยคนดีและคนชั่ว
คนโง่ เห็นคนดีว่าชั่ว เห็นคนชั่วว่าดี ชีวิตจึงประสบภัยใหญ่หลวง
คนฉลาด เห็นคนดีว่าดี เห็นคนชั่วว่าชั่ว ชีวิตจึงต้องระมัดระวัง หลบหลีกเลือกเฟ้นเป็นพัลวัน
คนเจ้าปัญญา เห็นคนดีว่าไม่ดีจริง เห็น คนชั่วว่าไม่ชั่วจริง จึงไม่ยกย่องผู้ใดและไม่เหยียบ ย่ำใคร แต่บริหารทุกคนไปสู่สภาวะที่ประเสริฐ กว่าที่เขาเป็นได้เสมอ
- ว่าด้วยความทุกข์และความสุข
คนโง่ เห็นทุกข์เป็นสุข จึงรักษาทุกข์ไว้ด้วยสำคัญว่าเป็นสุข หรือน่าจะนำสุขมาให้ ยิ่งรักษาก็ยิ่งทุกข์ จึงระทมร่ำไป
คนฉลาด เห็นทุกข์เป็นทุกข์ แล้วต่อสู้อยู่ในท่ามกลางความทุกข์ ยิ่งพยายามก็ยิ่งพบความไม่น่าพอใจจึงท้อแท้เรื่อยไป
คนเจ้าปัญญา เห็นทุกข์โดยความเป็นของไร้สาระ จึงโยนทิ้งไปเสีย จนเป็นอิสระ โปร่งเบาสบายยิ่งนัก
- ว่าด้วยการปรนเปรอ
คนโง่ เอาแต่ใจตนเอง จึงได้รับความ สะใจเป็นผล และความรังเกียจเป็นรางวัล
คนฉลาด เอาใจคนอื่น จึงได้รับ ความลำบากเป็นผล และความรักเป็นรางวัล
คนเจ้าปัญญา ไม่เอาทั้งสองอย่าง แต่เอา สัจจะที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง จึงได้รับคุณค่าเป็นผล และได้รับศรัทธาเป็นรางวัล
- ว่าด้วยความบ้า
คนโง่ เมาคำพูด จึงประคองสติไม่อยู่ พลั้งพูดพล่อยบ่อยๆ สร้างกรรมและศัตรูมากมาย
คนฉลาด บ้าความคิด เขม่าเต็มขมอง จึงเต็มไปด้วยจิตหลอน สร้างมายาหลอกตนและคนอื่นมากมาย
คนเจ้าปัญญา บ้าความสงบ จึงพบสติ เต็มตื่น รู้อยู่เป็นหลักให้ตนและคนอื่นได้
- ว่าด้วยการบริหารสิ่งเร้า
คนโง่ มักไหลตามสิ่งเร้าที่เข้ามายั่วเย้า จึงแปรปรวนไปไม่รู้จบ
คนฉลาด มักปฏิเสธสิ่งเร้าที่เข้ามายั่วเย้า จึงเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก แต่คับแคบอย่างยิ่ง
คนเจ้าปัญญา นิยมบริหารสิ่งเร้าที่เข้ามา ยั่วเย้า จึงสามารถกลั่นหาประโยชน์สูงสุดจากทุกสิ่งในทุกสถานการณ์
- ว่าด้วยความจริงจัง
คนโง่ เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิต เป็นเรื่องจริงจังจึงเครียดแทบบ้า
คนฉลาด เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิต เป็นเรื่องเล่นๆ จึงสนุกสนานไร้สาระ
คนเจ้าปัญญา เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตเป็นตัวเร่งวิวัฒนาการ จึงรุ่งเรืองรวดเร็ว
- ว่าด้วยการขจัดความชั่วร้าย
คนโง่ ยอมทำชั่วหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง จึงได้รับแต่โทษทุกข์ฑัณท์ ทับถมทวีคูณ
คนฉลาด ย่อมทำดีแม้หลายอย่าง เพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง จึงได้รับความสุขสันต์ หลังเหน็ดเหนื่อยหนักหนา
คนเจ้าปัญญา ย่อมทำบริสุทธิ์เพื่อหลุดจากสารพันปัญหา จึงได้รับความเบิกบานนิรันดร์
- ว่าด้วยสำนึกในส่วนรวม
คนโง่ คิดแต่เรื่องส่วนตัว ทำอะไรก็เพื่อตนเอง แม้อาจทำให้คนอื่นเสียหาย จึงเป็นที่รังเกียจ สังคมไม่ต้องการ
คนฉลาด คิดแต่เรื่องส่วนรวม ทำอะไรก็ เพื่อส่วนรวม แม้อาจทำให้ตนเสียหาย สังคมต่างตองการแต่ตน ไม่อาจตั้งอยู่ได้
คนเจ้าปัญญา คิดแต่เรื่องคุณธรรม ทำอะไร ก็เพื่อประโยชน์สุขทุกฝ่ายในทุกกาลเวลา จึงเป็นที่ ต้องการของทุกฝ่าย ในขณะที่เขาอาจจะไม่ต้องการใครเลย
- ว่าด้วยความจริงจัง
คนโง่ ประเมินค่าคนจากปริญญา จึงรู้จักแค่ตรายี่ห้อปะติดชีวิต
คนฉลาด ประเมินค่าคนจากความสามารถ จึงรู้จักคุณภาพของชีวิต
คนเจ้าปัญญา ประเมินค่าของคนจากความ เอื้อประโยชน์ จึงรู้จักประโยชน์แท้แห่งชีวิตจริง
- ว่าด้วยค่าของคน
คนโง่ ประเมินค่าคนจากปริญญา จึงรู้จัก แค่ตรายี่ห้อปะติดชีวิต
คนฉลาด ประเมินค่าคนจากความสามารถ จึงรู้จักคุณภาพของชีวิต
คนเจ้าปัญญา ประเมินค่าของคนจากความ เอื้อประโยชน์ จึงรู้จักประโยชน์แท้แห่งชีวิตจริง
- ว่าด้วยการแสวงหา
คนโง่ งุ่มง่ามแสวงหาคุณค่าภายนอกตน ยิ่งพบมากก็ยิ่งเห็นว่าตนต้อยต่ำ จึงยอมตนเป็นทาส
คนฉลาด งุ่นง่านแสวงหาคุณค่าในตน ยิ่งพบมาก ก็ยิ่งเห็นว่าตนล้ำค่า จึงหลงตัวเอง
คนเจ้าปัญญา ย่อมแสวงหาคุณค่าสากล ยิ่งพบมากก็ยิ่งเห็นความธรรมดาในทุกสิ่งจึงมีเป็น และบริโภคทุกสิ่งเหมือนไม่มีไม่เป็น
- ว่าด้วยการบริหารศรัทธา
คนโง่ รู้อะไรก็เชื่อไว้ก่อนว่าจริงหรือไม่จริง จึงงมงามอย่างยิ่ง
คนฉลาด รู้อะไรก็ไม่เชื่อไว้ก่อนว่าจริง หรือไม่จริง แต่เอามาทดลอง จนเห็นชัด จึงเชื่อ จึงมีเหตุผลอย่างยิ่ง
คนเจ้าปัญญา รู้อะไรก็ไม่สนใจว่าจริง หรือไม่จริง สนใจเพียงว่ามีประโยชน์และมีโทษเพียงใด แล้วสกัดโทษทิ้ง บริโภคเฉพาะประโยชน์ จึงได้คุณค่าแห่งการรู้ในทุกสิ่ง
- ว่าด้วยระบบธรรม
คนโง่ ปรับธรรมะเข้าหาคน จึงได้คนจำนวนมากเดินตามธรรมะเทียม
คนฉลาด ปรับคนเข้าหาธรรมะ จึงได้คน จำนวนน้อยอยู่รักษาธรรมะแท้
คนเจ้าปัญญา ปรับธรรมะและคนเข้าหากัน ณ จุดแห่งประโยชน์สูงสุดที่เหมาะสมและเป็นไปได้ จึงได้คนจำนวนพอดีอยู่รักษาธรรมะที่ดีพอ
- ว่าด้วยความเป็นธรรม
คนโง่ ชอบเรียกหาความเป็นธรรม จนบ่อยครั้งใช้กระบวนการที่ไม่เป็นธรรมในการเรียกหา จึงพาให้ยิ่งห่างไกลความเป็นธรรม
คนฉลาด ชอบสร้างความเป็นธรรม ปั้นแล้ว ปั้นอีก ปั้นอย่างไรก็ไม่เป็นธรรมแท้ แม้พยายามถึงที่สุด เพราะความเป็นธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับปรารถนาของใคร จึงเป็นความหวังดีที่ล้มเหลวเสมอไป
คนเจ้าปัญญา ชอบประพฤติธรรมดำรงอยู่ และดำเนินไปโดยธรรม จึงได้สิทธิพิเศษโดยธรรม
แล้วคุณล่ะ อยากเป็นแบบไหน













