ยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวของฝรั่งเศส
มักซีมีเลียน โรเบสปิแยร์
หลังการปฎิวัติฝรั่งเศสจบลง ประเทศฝรั่งเศสถูกควบคุมภายใต้อำนาจของ คณะกรรมการรักษาความปลอดภัยแห่งประชาชนและเริ่มต้นเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความน่าสะพรึงกลัวของการปฎิวัติ
มักซีมีเลียน โรเบสปิแยร์ (Maximilien François Marie Isidore de Robespierre) สมาชิกผู้ทรงอำนาจของคณะกรรมการ ได้กล่าวไว้ว่า “รัฐบาลในยุคปฎิวัติต้องมีทั้งคุณธรรมและความน่าสะพรึงกลัวควบคู่กัน ด้วยว่าความน่าสะพรึงกลัวที่ปราศจากคุณธรรมอาจเป็นหนทางสู่ความพินาศได้ฉันใด คุณธรรมที่ไร้ความน่าสะพรึงกลัวก็ไร้ประสิทธิภาพฉันนั้น”
ยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวนี้ เป็นช่วงเวลาที่การปฎิวัติดำเนินไปอย่างดุเดือดที่สุด คือนับจากวันที่ 5 กันยายน ปี ค.ศ.1793 อันเป็นวันจัดตั้งคณะกรรมการ ไปจนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1794 ซึ่งเป็นวันที่ โรเบสปิแยร์ ถูกจับกุม โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการประหารผู้ต้องสงสัยว่าเป็น ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติไปหลายพันคน
คณะกรรมดังกล่าว ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับกองทหารต่างชาติที่มารุกรานฝรั่งเศส โดยมีโรเบสปิแยร์ เป็นผู้นำ เขาเป็นนักกฏหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของ ชอง ชาก รุสโซ นักคิดผู้มีชื่อเสียง คณะกรรมการนี้ดำเนินการต่างๆเช่นการ จัดตั้งกองทหาร ประกาศมาตรการเศรษฐกิจและปฏิรูปศาสนาเพื่อลดอิทธิพลของคริสตจักรคาทอลิกในสังคม ทั้งยังไล่ล่าและสังหารผู้คนในปารีสและเขตชนบท ซึ่งผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่จะเป็นเหล่าขุนนางและปัญญาชน
ในเดือนมิถุนายน ปี 1794 คณะกรรมการได้ออกประกาศว่า คำพิพากษาจะมีอยู่สองประการ คือ ตัดสินให้พ้นผิด หรือ ไม่ก็ประหารชีวิตเท่านั้น กระแสต่อต้านมาตรการเหล่านี้ เริ่มรุนแรงและขยายตัว จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม ศัตรูของโรเบสปิแยร์ ก็นำกำลังเข้าจับกุมเขาและพรรคพวก ครั้นพอถึงเช้าวันรุ่งขึ้น เขาก็ถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาได้ส่งคนมากมายมาสังเวยคมมีดของมันแล้ว และนั่นคือการปิดฉากยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวลง