คัมภีร์มรณะ ใบเบิกทางสู่สรวงสวรรค์ ของชาวอียิปต์โบราณ
ส่วนหนึ่งของคัมภีร์มรณะ แสดงรายชื่อเทพต่างๆที่ปรากฏในห้องพิพากษาวิญญาณของเทพโอซิริส
สวัสดีครับเพื่อนๆ หลายบทความที่ผ่านมา เรามักจะได้คุยกันในคอมเม้นท์หลากหลายเรื่องราว แต่เรื่องที่ดุเหมือนหลายคนชอบที่จะอ่านมักจะเป็นเรื่องราวความลึกลับ มนต์เสน่ห์แห่งไอยคุปต์ลุ่มแน่น้ำไนส์ เมื่อไหร่ที่มีบทความเกี่ยวกับเรื่องอิยิปต์โบาราณ มักจะมีผู้ที่สนใจและผู้รู้ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน วันนี้ผมได้นำเศษเสี้ยวของเรื่องราวอารยธรรมอียิปต์โบราณมาให้อ่านกัน ก็เหมือนเช่นเคยครับ ใครที่มีความรู้ด้านนี้ก็เข้ามาคุยกันนะครับ หรือหากบทความนี้ต่างจากที่เพื่อนได้เคยอ่านก็แนะนำกันได้
สวรรค์เป็นสถานที่ซึ่งผู้คนกล่าวกันว่าเป็นวิมานที่มีแต่ความสุข เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ต้องทำคุณงามความดีเพราะเชื่อว่าเมื่อล่วงลับไปแล้วจะได้มีความสุขบนสวรรค์ ชาวอียิปต์ก็เช่นเดียวกันที่ต่างปรารถนาจะมีความสุขหลังความตาย ทำให้มีการทำคัมภีร์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่ดินแดนสวรรค์ซึ่งเรียกกันว่า "คัมภีร์มรณะ (Book of the Dead)" โดยชื่อดั้งเดิมนั้นเป็นอักษรฮีโรกลีฟิคที่แปลตามอักขระว่า Spell of Coming (Going) Forth By Day
ม้วนกระดาษปาปิรุสที่ทำเป็นคัมภีร์มรณะนั้น เขียนขึ้นโดยพระหรือนักบวช ภายในคัมภีร์ประกอบด้วยพิธีกรรม คาถาอาคม บทสวดที่ป้องกันไม่ให้วิญญาณเสื่อมสลาย มนตราที่ปลดปล่อยวิญญาณจากการถูกกักขังในยมโลก บรรยายการตัดสินความดีชั่วที่หอพิพากษาของเทพโอซิริส และคำสอน โดยแบ่งเป็นบทต่างๆ และมีตัวเลขกำกับไว้ทุกบท ประมาณกันว่ามีเกือบสองร้อยบท แต่เท่าที่มีหลักฐานกลับพบว่า ยังไม่เคยพบคัมภีร์มรณะม้วนใดที่มีครบทุกบท มีผู้รู้บางท่านระบุว่าคัมภีร์มรณะวิวัฒนาการมาจากข้อความที่จารึกตามพีระมิดและโลงศพ (Pyramid Texts , Coffin Texts) ของอียิปต์ยุคโบราณและยุคกลาง
ส่วนหนึ่งของคัมภีร์มรณะ แสดงรายชื่อเทพต่างๆที่ปรากฏในห้องพิพากษาวิญญาณของเทพโอซิริส
คัมภีร์มรณะมักจะวางไว้ตรงฐานของโลงศพ หรือระหว่างขาของมัมมี่ เมื่อวิญญาณของผู้ตายออกจากร่างแล้ว เทพอนูบิส (ผู้มีร่างเป็นคน ศรีษะเป็นสุนัข) จะเป็นผู้ดูแลรักษาศพ และเทพไอซิส (บางตำราบอกว่าเทพอนูบิส) จะพาวิญญาณร่องเรือข้ามแม่น้ำไปสู่แดนมรณะ เพื่อตัดสินว่าใครจะได้ไปสวรรค์ ที่หอพิพากษาซึ่งมีเทพโอซิริสเป็นผู้ตัดสิน
โดยการนำหัวใจไปชั่งบนตาชั่งกับขนนกของเทพีมะอาท (Maat) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม ผู้ตายต้องประกาศคุณงามความดีที่ตนทำเอาไว้ และไม่ทำความชั่วตามที่มีการห้ามไว้ 42 ประการ เช่น ไม่เคยชักชวนให้ผู้อื่นเสียคน ไม่เคยใส่ร้ายป้ายสีใคร ไม่เคยกล่าวคำเท็จ ไม่เคยเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เคยฉ้อฉล ไม่เคยสั่งฆ่าผู้ใด ไม่เคยฆ่าใคร ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้า และไม่เคยทำในสิ่งที่พระองค์รังเกียจ เป็นต้น ผู้ตายจะต้องประกาศสิ่งเหล่านี้ต่อหน้าเทพโอซิริส (Osiris)
หากพูดความจริงหัวใจจะเบากว่าขนนกถือว่าเป็นคนดี จะส่งไปชำระร่างกายในทะเลสาบดอกบัว เตรียมตัวไปเกิดใหม่ มีชีวิตเป็นนิรันดร์บนสรวงสวรรค์
เทพีมาอัต,มะอาท(Maat)
แต่ถ้าสิ่งที่ผู้ตายพูดเป็นเท็จ หัวใจของผู้ตายจะหนักกว่าขนนกของเทพีมะอาท นั่นก็ถือว่าผู้ตายไม่ได้ผ่านการทดสอบ เทพอนูบิสจะโยนหัวใจให้กับอัมมุต (ผู้ที่มีศรีษะเป็นจรเข้ ลำตัวเป็นสิงโต) และฮิปโปกัดกินและมีเทพธอทเป็นผู้บันทึกผลการตัดสินดังกล่าว และผู้นั้นจะไม่ได้ไปในที่ๆ เป็นดินแดนของเทพเจ้ารา ดินแดนแห่งนั้นจะเป็นที่ๆ ผู้ตายจะไม่ได้รับแสงสว่างจากเทพเจ้าราเลย และยังเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความอดอยากหิวโหย
ทั้งนี้ มีแนวความคิดว่าหากมีคัมภีร์มรณะแล้วดวงวิญญาณผู้ตายจะได้รับการประกันว่าจะได้ไปสู่สวรรค์มีชีวิตเป็นนิรันดร์ เพราะมีการจารึกอักษรเอาไว้ตอบกับเทพเจ้าตอนซักฟอกวิญญาณที่หอพิพากษาแล้ว ทำให้มีการผลิตคัมภีร์มรณะเป็นอุตสาหกรรม สร้างรายได้ให้กับนักบวชที่หากินกับคนตายได้อย่างงดงาม
คุณภาพของคัมภีร์ก็จะขึ้นอยู่กับฐานะของลูกค้าที่สั่งทำ หากไม่ทำความดีโดยมีคัมภีร์ก็ไปสู่สวรรค์ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่บางคนบอกว่าศาสนาและหลักศีลธรรมของอียิปต์ได้เริ่มเสื่อมลง
ภาพส่วนหนึ่งของภัมภีร์มรณะ
จากเรื่องนี้หากคิดให้ดีผมถือว่าเป็นความชาญฉลาดของคุณสมัยโบราณที่จะสอนให้คนทำแต่ความดี และจงรักภักดีต่อองค์เทวกษัตริย์ เพราะในคำประกาศคุณงามความดี และข้อที่ไม่ปฏิบัติ 42 ข้อ นั้น หากคนในอดีตมีความเชื่อและศรัทธาอย่างที่สุด ก็มักจะทำแต่สิ่งที่ดีละการกระทำที่เป็นบาป เพื่อที่เมื่อตนเองตายจะได้ขึ้นสวรรค์ ไม่ลำบาก แต่ก็ยังมีความฉลาดในแง่ผลประโยชน์เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตกาลของนักบวช โดยหวังผลกำไรจากการขายคัมภีร์ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เรายังไม่ได้ทำความรู้จักเกี่ยวกับอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ความฝันของหลายคนกับคำตอบที่ยังเป็นปริศนาแห่งอณาจักรแห่งนี้ยังท้าทายนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดี รวมถึงพวกเราที่ต่างรอคอยด้วยความหวัง...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพประกอบ http://th.wikipedia.org, http://tuktahuhu.exteen.com, http://zensuz.exteen.com