How to เพ็ตช็อป สำหรับคนรักสุนัข
กระทู้นี้เหมาะมากสำหรับคนที่รักสัตว์จนคิดอยากจะเปิดร้าน pet shop เพราะเรากำลังจะแนะนำ ถึงวิธีการเริ่มต้นทำธุรกิจด้านนี้กัน เหมือนนางเอกเรื่องนี้ที่รักสุนัขจนอยากเปิดร้านขายของสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเอง (น่ารักมากๆ) เราคิดว่าข้อมูลที่ดยหามาให้น่าจะต้องเป็นข้อมูลแบบนี้แน่ๆ
EP.2 http://www.youtube.com/watch?v=-b5CqnkdUsY
การขออนุญาต ของบางอย่างในร้าน pet shop ต้องขออนุญาตก่อนขาย เช่น การสะสมอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายต้องขออนุญาตกับกรมปศุสัตว์ หรือปศุสัตว์จังหวัด อาหารสำหรับสุนัขและแมวต้องมีทะเบียน แต่อาหารสำหรับนก หนู ปลาสวยงาม สัตว์เลื้อยคลาน ฯลฯ ยังไม่มีการบังคับเรื่องทะเบียน อุปกรณ์ส่วนใหญ่ เช่น กรง ตู้ปลา ปลอกคอ เสื้อผ้า ที่นอน ไม่ต้องขออนุญาตขาย ส่วนวัสดุสิ้นเปลืองบางอย่างต้องมีใบอนุญาต เช่น แชมพู ถ้าเป็นแชมพูธรรมดาไม่มีส่วนผสมที่ควบคุม ก็ขายได้โดยเสรี แต่ถ้าเป็นแชมพูที่ใช้ขจัดเห็บหมัดที่ต้องมีเลขทะเบียน อย. (คณะกรรมการอาหารและยา) อาจต้องมีใบอนุญาตให้มีและขายได้ จึงควรศึกษาให้ดีก่อน แต่ที่แน่นอนคือ ยารักษาโรคสำหรับสัตว์ต้องมีทะเบียนและต้องมีใบอนุญาตให้ขายด้วย
ควรมีที่ปรึกษาด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านการธนาคาร ด้านบัญชี และนักวิชาการด้านสัตว์เลี้ยงด้วย นอกจากนั้นควรอ่านหนังสือ เข้าฝึกอบรม ดูงานร้าน pet shopให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนเปิดร้านเลือกสถานที่ที่เหมาะสม
ทำเลต้องเหมาะสมจะค้าขาย อาจใช้ที่บ้านตนเองก็ได้ ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ต้องเสียค่าเช่า ไม่ต้องเสียค่าเซ้ง ถ้าอยู่ในทำเลที่ดีมีคนผ่านไปมามากก็สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าอยู่ในซอยลึกๆ ก็คงขายได้แต่คนแถวนั้นเอง
ตึกแถวทั่วไปในย่านการค้าใช้ทำเป็นร้าน pet shop ได้ เพราะมักติดถนนใหญ่ ซึ่งถ้าตกแต่งดี มีที่จอดรถพอเหมาะและมีชุมชนใหญ่อยู่ใกล้เคียงก็ใช้ได้ แต่ถ้าอิงอยู่กับกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น มีร้านค้าแบบเดียวกันในย่านนั้น 5-10 ร้าน ก็จะช่วยส่งเสริมกันเป็นแหล่งของ pet shop เช่น ที่ตลาดจตุจักร เป็นต้น หรืออาจอยู่ใกล้คลินิก โรงพยาบาล ตลาดขายสัตว์เลี้ยง เช่น ตลาดนัดปลาสวยงาม ก็จะช่วยส่งเสริมกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าแถวนั้นมีร้าน pet shop เพียงแห่งเดียวแล้วชุมชนก็ไม่ใหญ่นัก ถนนนั้นก็ไม่ใช่เส้นทางผ่านไปสู่ชุมชนอื่นที่มีขนาดใหญ่ ทำเลอย่างนี้ก็ไม่เหมาะจะเปิดร้าน 2 ร้านแข่งขันกันเอง
ห้างสรรพสินค้า เป็นทำเลที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะอยู่ในห้างหรืออยู่หน้าห้าง เพราะตัวห้างเองก็ดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการอยู่แล้ว เจ้าของสัตว์อาจมาซื้อของที่ห้างพร้อมนำสุนัขมาฝากอาบน้ำ ตัดขน ระหว่างที่ตนเองซื้อของอยู่ก็ได้ ซึ่งให้ความสะดวกดี แต่ค่าเช่าร้านในห้างก็แพงเอาการ แถมยังต้องถูกจัดไปอยู่ในจุดอับ เช่น ในลานจอดรถ เพราะห้างส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไป จึงต้องจัดร้านเหล่านี้มาดักอยู่ก่อนเข้าห้าง ทำให้โอกาสที่ลูกค้าจะพบเห็นร้านน้อยลงไปมาก ทำเลตึกแถวหน้าห้างจึงน่าสนใจกว่าเลือกลักษณะของธุรกิจ pet shop ที่จะทำ
ธุรกิจ pet shop หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมีหลายประเภท ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องการจัดการพอสมควร ผู้ประกอบการบางรายอาจเลือกทำบางประเภทหรือทุกประเภท เป็นแบบครบวงจรก็ได้ ซึ่งพอจะแบ่ง pet shop เป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. ขายอุปกรณ์ เช่น แชมพู ปลอกคอ สายจูง กรง ตู้ปลา ของเล่น หิน ทราย ต้นไม้ ฯลฯ ส่วนนี้เป็นส่วนที่มีกำไรมากที่สุดรองจากการตัดแต่งขน เนื่องจากบางส่วนเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าแฟชั่น ลูกค้าจะซื้อด้วยความพอใจและไม่ค่อยเกี่ยงเรื่องราคา แต่ก็มีร้าน pet shop มากมายต้องปิดกิจการลงไป เหตุเพราะมีสินค้ามากมายให้ผู้เลี้ยงเลือกซื้อ แต่ไม่รู้ว่าสินค้าชิ้นไหนที่สามารถขายได้จริง เมื่อสั่งซื้อสินค้ามาแล้วก็ต้องจ่ายค่าสินค้าตามกำหนด ไม่ว่าจะขายได้มากน้อยหรือขายไม่ได้เลยก็ตาม
2. ขายอาหารสัตว์ ทั้งอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารสด อาหารประจำหรืออาหารเสริม ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด เพราะสัตว์ต้องใช้ทุกวัน ซึ่งเจ้าของก็มักไม่มีเวลาในการจัดเตรียมอาหารหรือปรุงอาหารเอง จึงต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปอาหารสดจากร้านขายอาหารสัตว์ แต่การขายอาหารสัตว์ก็ไม่ได้มีกำไรมากมาย เนื่องจากมีผู้ประกอบการมากราย ทำให้เกิดการแข่งขันตัดราคากัน กำไรจากส่วนนี้จึงมีน้อย การขายอาหารสัตว์จึงต้องถือคติ “มาเร็วไปเร็ว” คือต้องพยายามหมุนเวียนสินค้าให้เร็วที่สุด อย่าให้ค้างนาน เพราะจะเป็นการจมทุน และอาหารก็มีการเสื่อมคุณภาพได้ อาหารที่ขายมีคุณภาพหลายระดับ ตั้งแต่อาหารธรรมดา (Regular Grade) อาหารคุณภาพดี (Good quality Grade)อาหารคุณภาพพิเศษ (Premium Grade)และอาหารคุณภาพพิเศษยิ่ง (Super premium Grade) ซึ่งผู้ขายต้องศึกษาและจัดวางกลุ่มลูกค้าให้เหมาะสม ลูกค้าที่เป็นผู้เลี้ยงทั่วไปก็มักใช้อาหารธรรมดา ถึง อาหารคุณภาพดี แต่ถ้าเป็นผู้เลี้ยงสัตว์พันธุ์แท้ที่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศมักใช้อาหารคุณภาพพิเศษ เช่นเดียวกับฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์ก็ใช้อาหารคุณภาพพิเศษ ส่วนอาหารคุณภาพพิเศษยิ่งนั้นมีผู้ใช้น้อยราย ส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงที่มีฐานะดี เลี้ยงอยู่ตามบ้านและต้องการส่งเข้าประกวดตามงานประกวดสัตว์เลี้ยงต่างๆ การบริหารสินค้าคงคลังจึงเป็นเรื่องสำคัญของการขายอาหารสัตว์ ในบางครั้งบริษัทผู้จำหน่ายอาหารอาจจัดรายการส่งเสริมการขาย เช่น ซื้อ 10 ถุงแถมให้อีก 3 ถุง หรือให้ส่วนลดพิเศษ เมื่อมีการสั่งซื้อในปริมาณมาก หากเราไม่สามารถสั่งสินค้าได้มากเท่าที่จะได้รับการส่งเสริมการขาย เนื่องจากยังมีสินค้าคงคลังอยู่มาก ก็จะเสียโอกาสที่จะได้ลดต้นทุนส่วนนั้นไป แต่ในทางกลับกัน ถ้าสั่งสินค้าเข้ามามากเกินกว่าจะขายได้จนสินค้าหมดอายุต้องทิ้งหรือขายไปในราคาถูก ก็กลายเป็นต้นทุนที่แฝงเข้ามาอีก ซึ่งอาจแพงกว่าซื้ออาหารในราคาปกติเสียอีก
3. ขายพันธุ์สัตว์ ทั้งแบบซื้อขาดและฝากขาย หรือรับสั่งจองโดยมีภาพและรายละเอียดพร้อม การขายพันธุ์สัตว์ซึ่งเป็นของมีชีวิตจะมีความยุ่งยากกว่าการขายอุปกรณ์และอาหาร เพราะสัตว์ต้องกินอาหารและขับถ่าย ต้องมีการออกกำลังกาย มีการเจ็บป่วยเสื่อมสลายหรือตายได้ ต้นทุนของสัตว์ก่อนขายจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าการขายสินค้าอื่น สินค้าอื่นอาจมีต้นทุนเพิ่มเป็นค่าดอกเบี้ยหรือค่าเสียโอกาส แต่สัตว์นั้นต้องจ่ายค่าอาหารทุกวัน ยิ่งขายช้ายิ่งต้องบวกราคาลงไปในต้นทุนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้สัตว์ยังต้องการพื้นที่อาศัย ยิ่งสัตว์ตัวใหญ่ยิ่งต้องให้พื้นที่มาก ดังที่เราอาจเห็นร้านขายสัตว์เลี้ยงในทำเลดีๆ มีสัตว์ขายแค่ไม่กี่ตัว ทั้งนี้เพราะเขาไม่มีที่เก็บนั่นเอง การตั้งราคาขายสัตว์จึงต้องตั้งราคาให้ครอบคลุมถึงต้นทุนเหล่านี้ด้วย แต่ถ้ากำหนดราคาขายสูงเกินไปจะขายยาก ดังนั้นจึงต้องหาวิธีบริหารต้นทุนให้ดี บางทีอาจใช้วิธีฝากขายโดยกำหนดแบ่งราคาขายกันเมื่อขายได้ เช่น 30 % หรือ 50 % แล้วแต่ความยากง่ายของการขาย แต่ถ้าขายไม่ได้อาจต้องขอเก็บค่าเลี้ยงดู เช่น 15 % ของราคาขาย หรือแล้วแต่สมควร แต่ไม่ควรขายราคาที่ต่ำจนเกินไป เพราะต้นทุนค่าอาหารและค่าเลี้ยงดูที่พอกพูนขึ้นทุกวันและยังต้องเสี่ยงจากการป่วยและตายด้วย นอกจากนี้ควรมีการรับประกัน คือ ภายในระยะเวลา 7 วัน หากสัตว์ป่วยแล้วตาย ทางร้านควรเปลี่ยนตัวใหม่หรือคืนเงินให้
4. เสริมสวยตัดแต่งทรงขน (grooming) หรือ การอาบน้ำ ตัดแต่งทรงขนสุนัข เป็นงานที่เสริมความงามให้สัตว์เลี้ยงสำหรับเจ้าของที่รักความสวยงาม และให้ความสะอาดกับสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ สัตว์เลี้ยงที่นิยมมาเสริมสวยกันมากก็ได้แก่ สุนัข รองลงมาก็เป็น แมว หนู กระต่าย ตามลำดับ สุนัขที่เข้ามาเสริมสวยมากที่สุดคือ พูเดิ้ล รองลงมาเป็น ชิห์สุ ค็อกเกอร์ มอลทีส ยอร์คเชียร์ ปอมเมอร์เรเนียน และพันธุ์อื่นๆ การตัดแต่งขนให้สวยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ตัวสัตว์เองต้องให้ความร่วมมือ คือ ต้องนิ่งพอให้ตัดขนได้ ซึ่งช่างตัดขนต้องมีเทคนิคการจัดการ มิฉะนั้นอาจเกิดบาดแผลได้ อุปกรณ์การตัดต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพด้วยงานที่ได้จึงออกมาดี
ส่วนบริการเสริมสวยตัดแต่งทรงขนมีองค์ประกอบขั้นต่ำประกอบด้วยช่างตัดแต่งทรงขน 1 คน มีศักยภาพที่สามารถให้บริการได้ 7 ตัว ต่อ 1 วัน แต่จะรายได้เท่าไรขึ้นอยู่กับแต่ละทำเล แต่ละสถานที่ ในหนึ่งวันควรมีสุนัขเข้ามาให้บริการ 3-4 ตัว ค่าบริการตกตัวละประมาณ 250-300 บาท รายได้โดยเฉลี่ยเฉพาะบริการนี้จะได้วันละ 1,200 บาท จุดสำคัญ คือความเชี่ยวชาญและความเอาใจใส่ของช่าง ถ้าเจ้าของกิจการมีความรู้หรือผ่านงานด้านนี้มาบ้างก็จะช่วยจัดการตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.รับฝากสัตว์เลี้ยง เมื่อเจ้าของต้องไปไกลจากที่เลี้ยงสัตว์ โดยจะรับฝากไว้เลี้ยงดูและให้อาหาร ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องประกอบด้วยความพร้อมของสถานที่และการจัดการที่ดี ต้องมีสถานที่กว้างขวาง จัดแบ่งเป็นห้องให้เหมาะสม ปรับตามขนาดสัตว์ได้หลายขนาด สะอาดและน่าอยู่ เจ้าของจะได้สบายใจว่าพามาสบาย ไม่ใช่พามาทรมาน
6.รักษาสัตว์ป่วย ในลักษณะคลินิกหรือโรงพยาบาล ซึ่งต้องมีบุคลากรเป็นสัตวแพทย์เท่านั้นจึงสามารถดำเนินการได้ และต้องมีการขออนุญาตตั้งเป็นสถานพยาบาลสัตว์ด้วย ซึ่งร้าน pet shop ร้อยทั้งร้อยอยากทำธุรกิจส่วนนี้ เพราะจะทำให้ร้านของเขาครบวงจร 100 % และส่วนนี้เป็นส่วนที่ลงทุนแพงที่สุด โดยเฉพาะบุคลากรที่เป็นสัตวแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ แต่ถ้าเราไม่พร้อมที่จะจัดบริการส่วนนี้ได้ อาจทำความสัมพันธ์กับคลินิกที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อสามารถส่งลูกค้าไปใช้บริการซึ่งกันและกันได้
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ถูกใจกันนะครับ