เบี้ยหอย....ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแรกๆของโลก
หอยเบี้ยถูกใช้เป็นเครื่องประดับและเป็นสิ่งของเพื่อแลกเปลี่ยนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสาตร์ ได้มีการขุดค้นพบตามหลุมศพต่างๆ หอยถูกตีค่าในความหมายของเครื่องประดับที่มีค่า วัสดุอันทรงพลัง มีคุณค่า ต่อมานำมาใช้แลกเปลี่ยนเพื่อซื้อสิ่งของระหว่างกัน
วัฒนธรรมการใช้หอยแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินพบได้ใน จีน อินเดีย ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง ซึ่งก็อยู่ในเส้นทางการค้าขายทางเรือนั่นเอง โดยประเทศที่ทำการส่งออกหอยเบี้ยคือ หมู่เกาะมัลดิลฟ์ ซึ่งพ่อค้าชาวอาหรับได้ทำการซื้อขายหอยเบี้ย นานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ตามด้วยพ่อค้าชาวยุโรป ซึ่งมีหลักฐานการค้าทาสของฝรั่งเศสกับอังกฤษ มีการซื้อขายทาสกับหอยเบี้ย
ในคริสศตวรรษที่ 17 มีเรือพ่อค้าไปติดต่อซื้อหอยเบี้ยที่หมู่เกาะมัลดิลฟ์ถึง 30-40 ลำต่อเดือน และนำหอยเบี้ยไปขายทำกำไรบนแผ่นดินใหญ่ อีกทอดหนึ่ง หากปีไหนได้หอยเบี้ยมาก อัตราการแลกเงินกับหอยเบี้ยก็มีจำนวนมาก เข้าหลักการของอุปสงค์และอุปทาน
หลักฐานการใช้เบี้ยในดินแดนไทย มีมานานมากและขุดค้นพบในแหล่งโบราณสถานได้เสมอๆ
สมัยสุโชทัยมีหลักฐานการใช้หอยเบี้ย คือ
จารึกสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ระบุว่า พระองค์ทรงผนวชที่วัดป่ามะม่วง “…คิดพระราชทานทรัพย์ คือ ทอง(หมื่นหนึ่ง) เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ย 10 ล้าน หมาก 2 ล้าน จีวร 400 เมตร หมอนนั่ง หมอนนอน เสื่อ... เท่านั้น และเครื่องกระยาทานทั้งหลาย ยังมีอเนกประการซึ่งคณามิได้...”
สมัยสุโขทัยมีอัตราแลกเปลี่ยน 800 เบี้ยต่อเฟื้อง (6,400 เบี้ยต่อบาท)
สมัยกรุงศรีอยุธยา
“โยสเซาเต็น” พ่อค้าชาวฮอลันดาในสมัยของพระเจ้าทรงธรรม และพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งได้เข้ามาตั้งห้างร้านค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงเบี้ยว่า “เงินตราที่ใช้ในการค้าขายในกรุงศรีอยุธยานั้นทำด้วยเงินแท้ มีรูปช้างกลมและเครื่องหมายของพระเจ้าแผ่นดินประทับ มีอยู่ 3 ชนิด คือ เงินบาท เงินสลึง และเงินเฟื้อง คือ 4 สลึง เท่ากับ 8 เฟื้อง หรือ 1 บาท แต่เพื่อสะดวกในการชำระเงินสำหรับราษฎรสามัญทั่วๆไป ยังมีเงินตราอีกชนิดหนึ่งคือ เบี้ย ซึ่งเป็นหอยทะเลที่มาจากมะนิลา หรือเกาะบอร์เนียว เบี้ยดังกล่าวจำนวน 800 หรือ 900 เบี้ย มีราคาเท่ากับ 1 เฟื้อง และกล่าวว่าพกเบี้ยไปจ่ายตลาดเพียง 5 เบี้ย 10 เบี้ย หรืออย่างมาก 20 เบี้ยก็เพียงพอแล้ว”
ประมาณช่วงปลายอยุธยา สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เบี้ยหอยขาดแคลนมาก จึงนิยมใช้ ประกับดินเผาที่ทำจากดินเป็นรูปต่างๆ เช่น ดอกบัว, กระต่าย, ไก่ เป็นต้น ใช้แทนเบี้ยหอยในชั่ว ระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากชำรุดง่าย จึงใช้เป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น
สมัยกรุงธนบุรี อยู่ในภาวะสงคราม อัตราแลกเปลี่ยน 200 เบี้ยต่อเฟื้อง (1,600 เบี้ยต่อบาท) ในขณะที่สภาพสังคมการใช้เบี้ยในวันๆหนึ่งเพียง 3-4 เบี้ยก็พอซื้อของกินได้ ชี้ให้เห็นว่าเบี้ยมีมูลค่าสูงขึ้น
สมัยรัชกาลที่ 1 มีพระบรมราชโองการกำหนดโทษผู้ที่ขายเบี้ยมากกว่า 400 เบี้ยต่อเฟื้อง
สมัยรัชกาลที่ 3 มีการค้าขายมากมาย พ่อค้านำหอยเข้ามามาก เศรษฐกิจดี ทำให้เกิดภาวะเบี้ยเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน 1,300 เบี้ยต่อเฟื้อง (10,400 เบี้ยต่อบาท) รัชกาลนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำตัญคือ มีพระราชดำริที่จะยกเลิกการใช้หอยเบี้ย โดยดำริเห็นว่า หอยเป็นสัตว์ เป็นการทารุน เป็นบาป จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) หาทางแก้ไข และทรงเห็นว่า เมืองสิงคโปร์ ใช้เบี้ยโลหะ จึงพระราชทานให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ปรึกษามิสเตอร์หันแตร ที่บ้านกุฎีจีน สั่งทำแบบเหรียญโลหะแทนเบี้ย จากประเทศวิลาศ(อังกฤษ) คือเหรียญดอกบัว และเหรียญรูปช้าง สั่งทำแบบละ 500 เหรียญ แต่ไม่ทรงโปรดเนื่องด้วยเป็นยี่ห้อกรมท่า (เหรียญดอกบัว) และเหมือนลังกา (เหรียญช้าง) ไม่สื่อถึงประเทศ จึงมีพระราชดำริอีกครั้งให้ทำเหรียญรูปปราสาท สั่งไปยังเจ้าวิลาศ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน
สมัยรัชกาลที่ 4 ระบุว่า “..กินอาหารมื้อหนึ่งใช้เบี้ยถึง 100 เบี้ย ก็ไม่เต็มอิ่ม...”
จนเมื่อการทำสนธิสัญญาการค้ากับต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีอัตราการใช้เงินอย่างมาก เงินพดด้วงไม่พอใช้และยังมีปลอมอีกมาก ประกอบกับได้รับบรรณาการเครื่องจักรผลิตเหรียญมาแล้วจากอังกฤษ จึงมีการผลิตเหรียญดีบุกและทองแดงแทนเบี้ยหอย ทำให้ระบบการใช้หอยเบี้ยยกเลิกไปในที่สุด อีกทั้งภาวะสินค้าเริ่มมีมูลค่าสูงขึ้นในตัว เงินระบบย่อยก็หมดความหมายลง