ทำไมถึงเรียกเก้าอี้และมีที่มาอย่างไร
ภาพเก้าอี้ วาดโดย ฟินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์
เก้าอี้ เห็นหัวเรื่องแล้วเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนคงไม่อยากเปิดอ่าน แต่ผมเห็นว่าเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เพียงเก้าอี้นี้มันเชื่อมโยงอารยธรรมจากประวัติศาสตร์สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จึงเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์บ้าง อย่างน้อยก็ประดับความรู้ แต่หากนึกย้อนไปถึงอดีตเมื่อราวสองพันกว่าปีก่อน ชาวกรีกช่างมีความคิดสร้างสรรค์อะไรๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นพื้นฐานต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ยุคปัจจุบันมิใช่น้อย จึงเก็บมาฝากกัน
เก้าอี้ที่พบในประวัติศาสตร์เช่น เก้าอี้ของกรีก ที่คาดว่าน่าจะสร้างราว 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นเก้าอี้สี่ขาตัวตรงและมีพนักพิงตั้งตรง ถัดมาเป็นเก้าอี้ในประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907)
สมัยโบราณ ตามบ้านคนไทยมิได้มีเก้าอี้ใช้กัน เนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราคือการนั่งและนอนบนพื้น แม้แต่การรับประทานอาหาร ก็ตั้งสำรับกับข้าวนั่งล้อมวงกันบนพื้นบ้าน ดังนั้นเครื่องเรือนของคนไทยสมัยก่อนจึงมีเพียงเสื่อ พรม และหมอนอิง เป็นอาทิ คนไทยเราน่าจะได้รับเอาเครื่องเรือนชนิดนี้มาจากชาวจีน เพราะคำว่า “เก้าอี้” ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำในภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายถึง ม้านั่ง ส่วนสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า “เกาอี่” เกาแปลว่าสูง อี่แปลว่าที่นั่ง รวมความคือ ที่นั่งสูง จึงเป็นไปได้ว่าคำ “เก้าอี้” ที่ไทยใช้ น่าจะเป็นคำเพี้ยนเสียงมาจาก เกาอี่ ของสำเนียงจีนกลาง หรือทับศัพท์สำเนียงแต้จิ๋ว เก้าอี้ ก็ได้
เก้าอี้ ที่ใช้กันในระยะแรกเป็นเพียงม้านั่งธรรมดาอย่างที่ใช้กันตามร้านก๋วยเตี๋ยว ส่วนเก้าอี้ที่มีพนักพิงและที่เท้าแขนแพร่มาสู่ประเทศไทยในระยะหลัง (มีบันทึกว่าจีนรับเก้าอี้มีพนักพิงและที่เท้าแขนมาจากพวกแขกที่ติดต่อค้าขายด้วย) อย่างไรก็ตามคนไทยยังคงเรียกเครื่องเรือนทั้งสองลักษณะว่า “เก้าอี้” ตามคำในภาษาจีน
ลองมองสิ่งของรอบๆ ตัวเราหลายสิ่งหลายอย่างถ้าเราลองตั้งคำถามและสืบค้นดู ประวัติมันอาจจะมีมายาวนานหลายพันปีก็เป็นได้ แล้วพบกันใหม่ครับ....mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพประกอบ วิกิพีเดียไทย
ที่มา: 108 ซองคำถาม, th.widipedia.org