เมื่อ 50 ปีก่อน หิมะเคยตกที่เมืองไทย
ภาพดอยช้าง ที่จังหวัดเชียงรายที่มีหิมะตกทำให้ไร่ชาได้รับความเสียหาย
" หิมะตกที่เชียงราย " นี่เปนภาพถ่ายในฤดูหนาวที่จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ วันนั้นเปนวันที่ ๗ มกราคม เวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ หลังจากฝนตก สักน้อยลูกเห็บขนาดเล็ก และเกล็ดน้ำแข็งบาง ๆ สีขาว ๆ คล้ายปุยหิมะก็ตกลงมาอย่างมากมาย ขาวโพรนไปทั่ว แผ่นดิน (ภาพบน) ถ่ายในวันรุ่งขึ้นหลังหิมะตก ๑๔ ชม. ที่เห็นเปนพื้นขาวคือ หิมะ (ภาพล่าง) อีก ๓๘ ช.ม. ต่อมา จึงค่อยละลายหมดไป....
เรื่องนี้มากระจ่างเมื่อวันนั้นดูทีวีช่องหนึ่ง พิธีกร คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ สัมภาษณ์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ถึงสาเหตุของเรื่องนี้ว่า ทำไมโลกร้อนแต่อากาศบ้านเราหนาวขึ้น
ดร.อาจอง แจงด้วยหลักวิทยาศาสตร์ว่า สภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส แต่ที่บริเวณขั้วโลกเหนือ-ใต้นั้น อุณหภูมิร้อนขึ้นมากถึง 5-6 องซาเซลเซียส นั่นเลยทำให้โลกต้องพยายามรักษาค่าเฉลี่ยไว้ จึงชดเชยด้วยการลดอุณหภูมิแถบเส้นศูนย์สูตรลง(คล้ายๆโลกปรับตัว : อันนี้ความเห็นผม) เราจึงหนาวขึ้นกว่าปกติ
คุณจอมขวัญถามอีกว่า แล้วเมืองไทยจะมีโอกาสเกิดหิมะตกในต้นปีนี้หรือเปล่า
ดร.อาจอง ตอบว่า แนวโน้มเมืองไทยเกิดหิมะตกมีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะทางภาคเหนือบนที่สูง พร้อมๆกับถือโอกาสแก้ข่าวว่า แต่เป็นในโอกาสอันใกล้นี้ ไม่ใช่หมายถึงในต้นเดือน ม.ค. 51(อย่างที่สื่อนำเสนอไป)
ฟังๆแล้ว หลายคนอาจคิดว่าคงดีที่เมืองไทยมีหิมะตก เพราะจะได้ขึ้นเหนือ ขึ้นดอย ไปเที่ยวดูหิมะ และคงเข้าทางททท. ที่ฉวยจังหวะโปรโมตการท่องเที่ยวแบบได้เปล่า(แต่ของบ)ตามที่ตัวเองถนัด
ขณะที่ใครบางคนมองข้ามช็อตคิดไปไกลปนตลกร้ายว่า ถ้าเมืองไทยมีหิมะตก นั่นก็ถึงเวลาที่เราจะพัฒนาก้าวไกลเป็นมหาอำนาจของโลกเสียที เพราะประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง อเมริกา อังกฤษ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น มีหิมะตกทั้งนั้น
เรียกว่าเป็นทัศนะเบาๆประโลมโลก แต่ในความเป็นจริงนั้นผมเชื่อว่าใครหลายคนรู้ดีว่า ไม่ว่าในอนาคตอันใกล้เมืองไทยจะมีหิมะตกหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแม่คะนิ้งที่ตกลงมามากมาย แต่สิ่งที่น่าตระหนกก็คือ วันนี้ของโลกเรากำลังกับสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดวิกฤติทางธรรมชาติมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย,อุณหภูมิโลกสูงขึ้น, หน้าร้อน-ร้อนจัด, หน้าหนาว-หนาวจัด, หน้าฝน-ฝนตกหนักมีพายุรุนแรง, ระดับคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกสูงขึ้น, ไฟป่าเกิดง่าย, ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น, ชายฝั่งถูกกัดเซาะ, ฤดูกาลไม่คงที่-เปลี่ยนแปลง,นกอพยพย้ายถิ่น,ดอกไม้ออกดอกเร็วขึ้น ฯลฯ