รุกฆาตจัดหนัก Samsung Galaxy S III ของดีสมราคาคุยรึเปล่า?
ปัจจุบัน กระแสความดังของ Samsung Galaxy S III ก็เริ่มทวีคูณเข้ามาเรื่อยๆแม้กระทั่งเครื่องเองยังไม่ขายก็ตามเพราะว่าเป็นอุปกรณ์ Android หรือ Smartphone ที่สามารถดึงดูดผู้คนให้สนใจได้มากที่สุดตัวหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันว่าในปีนี้เองทาง Samsung ได้กลับไปทำการบ้านที่จำเป็นต้องส่งหลายๆอย่างให้เรียบร้อย ไม่ได้เน้นสิ่งที่ตัวเองเคยชูมาก่อนอย่างเรื่องของ Spec แต่ไปเน้นที่ด้านการใช้งานแทน แต่ว่า Samsung Galaxy S III นั้นก็ไม่ได้จะด้อยกว่าใครในเรื่องของ Spec เลยแม้แต่น้อย กลับดูดีกว่าเจ้าอื่นด้วยซ้ำถึงแม้ปากจะบอกว่าขอเน้นการใช้งานมากขึ้นแต่ Spec เองก็ไม่ได้ทิ้ง เรียกว่าจัดเต็มเหมือน Galaxy S II เลยละ!
ดังนั้นเรื่องการใช้งานทั่วๆไปก็คงต้องไปตามอ่านรีวิวกันแต่ตอนนี้ผมจะขอแกะเรื่อง Spec ของ Galaxy S III ล้วนๆ ตั้งแต่การออกแบบยันเรื่องของ CPU กันเลยว่าของที่เป็นกระแสอยู่ในตอนนี้อย่าง Galaxy S III นั้นจัด Spec มาแบบนี้สุดท้ายลองมาเทียบกับชาวบ้านเค้าดูแล้วรู้สึกได้ไปถึงอะไรและมันดีอย่างไรไม่ดีอย่างไรตามอ่านกันเลยครับ
เรื่องแรกที่อยากพูดถึงเลยคือเรื่องของการออกแบบ ต้องบอกว่า Samsung Galaxy S III นั้นทำให้หลายคนใจสลายไปเหมือนกันตอนที่เห็นกันในภาพ Press Shot ครั้งแรกที่เปิดตัว เพราะว่าการออกแบบเครื่องเปลี่ยนสไตล์ออกไปและกลายเป็นว่าเครื่องมองแล้วดูราคาถูกลง หน้าตาดูเหมือนพลาสติกมาก ทำให้เหล่าสาวกเซ็งไปไม่น้อยและคู่แข่งเองก็จ้องจะยิงตรงจุดนี้ แต่สุดท้ายผมว่าทุกอย่างที่ว่ามามันผิดทั้งหมดครับ หลายคนคิดไปแล้วว่า Samsung ไม่ได้ใส่ใจการออกแบบแล้วเหรอ ? คำตอบคือไม่ใช่เลยแถมเป็นจุดที่พวกเค้าเน้นมากมายเลยทีเดียว
การออกแบบเครื่อง Galaxy S III สื่อถึงสโลแกนที่ว่า “ออกแบบมาเพื่อมวลมนุษยชาติ” เท่ากับว่าทาง Samsung ศึกษามาแล้วว่าการออกแบบมาแบบนี้จะทำให้มนุษย์พอใจกันมากที่สุด ก็เลยออกมาเป็นหน้าตาโค้งๆแบบนี้ ทาง Samsung ถึงขั้นออกมาบอกเลยว่าเครื่องนั้นขอเน้นทางด้านการออกแบบเป็นหลักมากกว่าด้านวิศวกรรม ดังนั้นจะเห็นว่าทุกอย่างบนเครื่องไม่ใช่สีเหลี่ยมทื่อๆอีกต่อไป จะมีส่วนโค้งเว้าให้เห็น แบบที่มันเป็นอยู่ การออกแบบเครื่องให้โค้งยังมีส่วนดีคงที่มันจะรับมือมนุษย์ด้วยนั่นเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เพราะว่าหลายๆคนอาจจะต้องการดีไซน์แบบ Galaxy S II แล้วขยายส่วนอันนี้คงต้องแล้วแต่รสนิยม แต่ถ้าว่ากันในเรื่องการใช้งานแล้วการทำเครื่องโค้งดีกว่าบวกกับ Galaxy S III มีหน้าจอขนาดใหญ่ทำให้พอทำเหลี่ยมไปจะทำให้กดหน้าจอได้ไม่ถนัดเท่าแบบโค้ง
นี่แค่รูปทรงเครื่องก็ร่ายยาวซะ! ยังไม่จบ ด้านหลังเองดูเหมือนพลาสติกมากเมื่อมองในระยะไกล ซึ่งมันจริงมากเพราะเวลามองคนทั่วๆไปจะคิดว่าวัสดุเป็นพลาสติกธรรมดา แต่ที่จริงแล้วมันเป็นโพลีคาร์บอเนตที่เคลือบด้วยสาร Hyper glaze ทั้งทนและกันรอยขีดข่วน โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก Silicon Oxide จุดนี้ทำให้เหนือกว่าคู่แข่งแต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ภายนอกดูตกลงไปพอสมควรเพราะมันเหมือนพลาสติกซะเหลือเกิน แต่ถ้ามองในแง่การใช้งานวัสดุโดยรวมดีกว่าของคู่แข่งเสียอีก
สำหรับ Hyper glaze และ Silicon Oxide นั้นถือเป็นสารเคลือบผิวที่ต้องบอกว่าทำให้เครื่องมีมันเงาและทำให้ผิวเรียบลื่นนั่นเอง แต่ก็อย่างที่ว่าครับของดีแต่หน้าตาไม่หล่อก็เลยถูกมองว่าเป็นข้อด้อย แต่ถ้าได้จับจริงแล้วคงต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อืมดูดีกว่าที่คิดแฮะ” ประมาณนั้น
ด้านรอบเครื่องเองขอบนั้นดูเหมือนจะเป็นพลาสติกจับแล้วก็ดูเหมือนเป็นพลาสติก เคาะแล้วก็ดูเหมือนพลาสติก แต่ที่จริงแล้วมันเป็นโลหะที่ได้รับการเคลือบสารมาแล้วทำให้มันดูเงามัน กลืนไปกับตัวเครื่องเลยและเป็นรอยยากกว่าโลหะที่ไม่ได้เคลือบ แล้วทั้งหมดที่ว่ามานี้จะเห็นว่า Samsung ใส่ใจเรื่องตัวเครื่องไม่ใช่น้อย
ไม่ใช่แค่ด้านนอกเท่านั้นที่ทาง Samsung ใส่ใจเพราะว่าภายในอย่าง TouchWiz UX ก็ใส่ใจไม่น้อยเหมือนกันเพราะว่าทุกอย่างดูเรียบง่ายขึ้นแต่แฝงไปด้วยเรื่องราวต่างๆ เช่น เสียงบนหน้า Lockscreen ที่เป็นหยดน้ำ ทาง Samsung ก็คัดมาแล้วว่ามันต้องเป็นเสียงของน้ำส้มคั้น 100% ที่หยดเท่านั้น ถึงจะเพราะสุดและก็จับมันมาอยู่บนนี้ซะเลย โดยทั้งหมดคัดเลือกจาก 200 กว่าเสียงด้วยกันกว่าจะได้มา เห็นไหมครับแค่เสียงก็ขนาดนี้แล้วอันอื่นจะขนาดไหน
TouchWiz UX เองมันไม่ใช่ของเล่นหนักอีกต่อไปเพราะว่าทาง Samsung ปรับมาให้ดู Soft ใช้งานง่ายและ Make Sense ตามนิ้วขึ้นเยอะ ตัดความเยอะแยะออกไปแทนที่ดูความเร็วในการตอบสนอง ส่งผลให้ใช้งานได้เร็ว เรียบร้อยและไม่น่าหงุดหงิด ส่วนอาการหงุดหงิดบน Android หลายๆรุ่นอย่างการกดปุ่ม Back ไม่ไปแทบจะหายไปหมดบน Galaxy S III อาการหน่วงเกิดขึ้นน้อยมากเหลือเกินเรียกว่าแทบจะไม่มีแล้ว ที่เป็นแบบนี้มี 2 ปัจจัยอาจจะเรื่องหน่วยประมวลผลด้วยอีกอย่างนึงคือเรื่องของการปรับแต่งที่ทำออกมาได้ดีนั่นเอง
ว้า… เพิ่งจะผ่านเรื่องแรกไปเองยาวเหลือหลาย เข้าเรื่องที่ 2 คือเรื่องของหน้าจอของเครื่องนั่นเอง เรื่องนี้แลดูเป็นข้อครหามากที่สุดบนเครื่อง แต่ถ้าเราไม่มามองเรื่องของ Spec แต่มองหน้าจอมันจริงๆจะพบว่าข้อครหาที่เค้าว่ากันนั้นแทบจะไม่น่ากังวลเลยเพราะว่าหน้าจอไม่ได้หยาบเลยแถม Super AMOLED ช่วยให้สีสดมากและต้องยอมรับว่าหน้าจอดูใสกว่าตัว Galaxy S II พอสมควร ด้วยหน้าจอขนาด 4.8 นิ้วความละเอียด 1280×720 พิกเซล
อย่างที่บอกไปว่าหน้าจอมันมีข้อครหา ซึ่งข้อครหาที่ว่าก็คือการจัดเรียง Subpixels นั่นเองโดยการจัดเรียงของ Samsung Galaxy S III นั้นยังคงเป็นแบบ PenTile ทำให้ถูกนำไปเปรียบกับ HTC One X ที่การเรียงเป็นแบบ RGB ซึ่งต้องบอกว่าทั้ง 2 อย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเรียงแบบ PenTile จะเห็นได้ว่าการใส่แม่สีมาไม่เท่ากัน สีน้ำเงินมากสุดทำให้เวลามองหน้าจอโทนสีจะออกเป็นสีฟ้านั่นเอง ส่วน RGB เองสีทุกสีจะแสดงผลออกมาสวยกว่าเพราะสีทุกสีแสดงผลเท่ากันทำให้การแสดงผลดูสมจริงกว่าด้วยนั่นเอง แต่ PenTile เองก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเพราะว่าข้อดีของมันคืออายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าของ RGB แต่เรื่องนี้เองเป็นข้อมูลจากทาง Samsung ที่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าทำไมถึงอายุยาวนานกว่า ?
Updated 1:
ตามความเห็นด้านล่างมีการบอกว่า PenTile ใช้งานได้ยาวนานกว่าถ้าเป็น AMOLED ด้วยกันครับ
ดังนั้นถ้าไปมองหน้าจอของ HTC One X ที่เป็น Super LCD 2 เรียง Subpixels แบบ RGB แล้วกลับมามองหน้าจอของ Samsung Galaxy S III แล้วจะพบว่าความแตกต่างน้อยมากถ้าไม่มองแบบว่าเพิ่งลูกตาไปใกล้ๆจอก็มองแทบไม่ออกเลย แถมใครชอบสีที่สดใสกว่า Galaxy S III ก็มีดีกว่าในเรื่องนั้น ส่วนเรื่องสมจริงคงต้องยกให้ HTC One X ละครับ
เรื่องที่ 3 ขอเข้าเรื่อง Geek Geek นิดๆ คือเรื่องของหน่วยประมวลผล แต่ไม่ขอลงลึกมากจนเกินไปให้คนอ่านพอเข้าใจได้ เอาละขอบอกให้ทราบกันก่อนว่า Samsung Galaxy S III นั้นมาพร้อมกับ ชิปเซต Exynos 4412 มี CPU เป็น quad-Core 1.4 GHz ส่วน GPU คือ Mali-400 ตัวเก่านั่นเองแต่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเล็กน้อย
ว่ากันด้วยชิพเซตคู่แข่งอย่าง Nvidia Tegra 3 ที่มีอยู่บน HTC One X และ LG Optimus 4X HD อันนี้ก็เป็น CPU แบบ quad-Core เหมือนกันแต่ Clocked ที่ 1.5 GHz พร้อมกับ GPU อย่าง Kal-EI GeForce แต่ทั้งหมดนี้ก็ใช่ว่าจะดีกว่า Exynos 4412 เอางี้ถ้าลองมาเทียบกันแบบว่า 3 เรื่องคือเรื่องของ CPU, GPU และการจัดการพลังงาน คงบอกอะไรหลายๆอย่างได้
ความเร็ว CPU
Nvidia Tegra 3 รันที่ Clocked 1.5 GHz และมี L2 cache 1MB สำหรับ SoC ก็คือ ARM Cortex A9 quad-Core นั่นเอง เป็นสถาปัตยกรรมที่เล็กกว่า 40nm อีกด้วย ซึ่งถ้าเทียบตาม Benchmark จากโปรแกรม quadrant Benchmark แล้วคะแนนอยู่ที่ราวๆ 4420 คะแนน ก็ถือว่าแรงอยู่ไม่เบา แต่ข้อเสียของตัวชิพเซตตัวนี้คือมันไม่ได้รองรับ Memory dual-channel และอีกอย่างคือมันมี GPU เป็นตัว Kal-EI GeForce ที่ยังไม่ถือว่าดีเท่าไรนัก
ส่วน Samsung Exynos 4412 นั้นมี SoC เป็น ARM Cortex A9 quad-Core เหมือนกันแต่มี Clocked ที่ 1.4 GHz โดยใช้สถาปัตยกรรมการผลิตที่ต่ำกว่า 32nm ถือเป็นข้อได้เปรียบมากกว่า Tegra 3 มากอยู่ เพราะจะสามารถลดพวกการใช้พลังงานลงไปได้ด้วย นอกจากนี้ทาง Samsung เองยังได้ออกมาบอกว่าตัวชิปนั้นทำด้วยวัสดุชั้นดีอย่าง high-k materials and metal gates (HKMG) ถือว่าเป็นของดีมากเพราะว่าทาง Samsung ได้ออกมาบอกว่ามันทำให้กินพลังงานน้อยกว่า poly-Si/SiON ที่ใช้ๆกันอยู่ทั่วไปบนสถาปัตยกรรม 45nm ดังนั้นภาพรวมแล้ว Exynos 4412 นั้นมีข้อได้เปรียบมากกว่า Tegra 3 อยู่พอสมควรในเรื่องสถาปัตยกรรมและความแรง
หน่วยประมวลผลกราฟฟิค GPU
Nvidia Tegra 3 มาพร้อมกับ GPU Kal-EI GeForce ที่มีค่า GFLOPS ที่ 7.2 ที่ Clocked 300 MHz ส่วน Samsung Exynos 4412 ใช้ GPU Mali-400 ที่ให้ค่า GFLOPS ที่ 14.4 โดยมี Clocked ที่ 400MHz (ปกติ 300MHz) ดังนั้นสรุปได้ว่า Mali-400 แบบปรับแต่งแล้วชนะขาดลอยอยู่เหมือนกัน
การจัดการพลังงาน
Nvidia Tegra 3 ที่จริงแล้วมาพร้อมกับ 4cores แต่ว่ามี Plus 1 คือ core ที่ 5 เป็น core ประหยัดพลังงานนั่นเองและมันจะทำงานเมื่อเครื่องใช้งานทั่วๆไปไม่ได้ใช้งานหนัก ทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่า เพราะว่าถ้าไปรัน 4cores นั่นจะเปลืองพลังงานมาก ส่วน Samsung Exynos 4412 เองไม่มี Core ที่ 5 แต่ว่าก็อย่างว่ามีสถาปัตยกรรมที่เล็กกว่าบวกกับมีการจัดการโดเมนพลังงานหลายชั้น, dynamic voltage และการจัดกับคลื่นความถี่ ซึ่งทั้งหมดเรียกง่ายๆว่าเป็น body-biasing และมีระบบควบคุมอุณหภูมิในตัว แต่ถ้าให้เทียบเรื่องประหยัดพลังงานแล้ว Tegra 3 ถ้าใช้งานธรรมดาๆดูแล้วน่าจะได้เปรียบมากกว่า
สุดท้ายขอสรุปว่า Samsung Exynos 4412 ยังเฉือน Tegra 3 ไปอยู่ครับ ซึ่งทั้งหมดนี้พวก Benchmark ที่ทดสอบกันมาก็น่าจะบอกอยู่แล้ว
เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องความร้อนของเครื่องอันนี้ต้องบอกว่าเป็นผลพวงต่อจากเรื่องของชิปเซตนั่นเอง อย่างที่บอกไปว่าตัวชิปเซตของ Samsung Exynos 4412 นั้นมีเรื่องการจัดการอุณหภูมิของหน่วยประมวลผลทำให้การใช้งานโดยรวมแล้วเครื่องไม่ร้อนมาก ใช้นานๆยังแค่อุ่น ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง HTC One X ที่ใช้เป็นชิปเซต Nvidia Tegra 3 แล้วนั้นต้องบอกว่าคนละเรื่องเลยเพราะ HTC One X นั้นร้อนมาก ยิ่งใช้นานๆตรงส่วนกล้องหลังด้านบนของเครื่องนี่จะร้อนมากๆ น่าจะราวๆ 37-39 องศาได้ ส่วน Samsung Galaxy S III นั้นอุ่นๆน่าจะไม่เกิน 35 องศาครับ
เรื่องที่ 5 เป็นเรื่องของกล้องที่ต้องบอกว่าสมัยนี้คนซื้อมือถือปัจจัยหลักในการเลือกซื้อเลยก็คือเรื่องของกล้อง สำหรับ Samsung Galaxy S III เองเปิดตัวออกมาหลายๆคนผิดหวังเพราะว่าเครื่องไม่ได้อัพเกรดเรื่องกล้อง ยังคงเป็นความละเอียด 8 ล้านพิกเซลเหมือนเดิม แต่ถ้ามองแค่ตัวเลขคงไม่ได้เพราะว่าตัวกล้องของเครื่องมีการเพิ่ม Sensor BIS เข้ามาด้วยทำให้การถ่ายในที่มืดแสงน้อยได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมี Zero Shutter lag ไม่ต่างจาก HTC One X ถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่องเหมือนกัน โดยโหมดการถ่ายภาพของ Galaxy S III นั้นต้องบอกว่ามีการแบ่งหมวดชัดเจนจะถ่ายภาพเดี่ยวหรือถ่ายแบบ Burst shot (ถ่ายต่อเนื่อง) ที่จริงก็มีโหมดอื่นๆเช่น พวก HDR, Smile shot, Beauty อะไรแบบนี้ เป็นต้น ส่วนเรื่องของฟังก์ชันเองไม่ได้แพ้ไปจาก Galaxy S II และมีการเพิ่มส่วนที่ขาดหายเข้ามาให้ลงตัวขึ้น โหมดการ Focus เองเป็นแบบ Auto สามารถเลือก Tap ได้เองและดูฉลาดขึ้นแต่ถ้าให้เทียบยังคงสู้ค่าย Apple อย่าง iPhone 4S ไม่ได้ครับ
กล้องของ Samsung Galaxy S III อย่างที่บอกไปคือมีส่วนของ Burst Shot แต่ต้องเลือกโหมดในการถ่ายเสียก่อน โดยที่เด็ดกว่าชาวบ้านก็คือว่ามันสามารถเลือก Best Shot เองได้แบบอัตโนมัติ โดยคำนึงถึง 4 อย่างคือ 1.การสั่นของภาพ (ถ้าสั่นก็ไม่เอา) 2. การขยิบตา (ถ้าขยิบตามันก็ไม่เอา) 3. รอยยิ้ม 4. แสงของภาพ เรียกว่าฉลาดมากๆ โดยถ้าเลือกเข้าโหมดเลือก Best shot อัตโนมัตินี้จะสามารถถ่ายต่อเนื่องได้แค่ 8 shot ต่อเนื่อง ถ้าไม่เข้าโหมดนี้จะถ่ายได้ถึง 20 shot ถึงแม้จะน้อยกว่า HTC One X แต่ก็ใช้งานได้ค่อนข้างครบแล้ว ถ้าใครอยากรัวไม่หยุดก็คงต้องเลือก One X ครับ
- เปรียบเทียบกล้องระหว่าง Samsung Galaxy S III และ HTC One X จาก GSMARENA สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
เรื่องที่ 6 เป็นเรื่องของเสียงเพลงอันนี้ผมอาจจะไม่ค่อยสันทัดในด้านนี้เท่าไรแต่ก็พอไหวอยู่บ้าง โดยบน Samsung Galaxy S III นั้นใช้ตัวชิปเสียง Wolfson Micro WM1811 โดยมีความดังสูงสุดที่ 100dB พร้อมระบบ ReTune DSP, digital Interface 3 เท่า DAC stereo 1ตัว และ Speaker 2 ตัว 2 วัตต์ สูงอยู่เอาการ เหมือนกับบน Galaxy S และ Nexus S ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานทั่วๆไป นอกจากนี้ยังมีพวก SoundAlive ที่สามารถเลือกปรับโทนเสียงได้เอง หรือจะกำหนดเองก็ได้นะครับ เรียกว่าเรื่องเสียงก็ไม่ได้โดดเด่นแต่ก็มีมาตรฐาน
เรื่องที่ 7 เป็นเรื่องของแบตเตอรี่สำหรับ Smartphone ถ้าแบตเตอรี่เกินตัวเลข 2,000 mAh นี่ก็ถือว่ามากแล้วบน Galaxy S III ให้มา 2,100 mAh ถือว่าใหญ่เกินคาดเหมือนกัน แต่ก็แน่นอนก็ต้องมารองรับหน่วยประมวลผลถึง 4 หัว quad-core ทำให้เวลาใช้งานจริงแล้วพบว่ามาตรฐานก็กลับกลายเป็นทั่วๆไปคือใช้งานได้ราวๆ 14-15 ชม. ถ้าหนักๆหน่อยก็ราวๆ 12 ชม. ถือว่าทำได้ไม่เลวแต่ก็ไม่ได้ดีมากตามที่หลายๆคนหวังไว้
เรื่องที่ 8 เข้าสู่เรื่องของ Benchmark อันนี้อาจจะต้องไปโยงถึงเรื่องของหน่วยประมวลผลต่างๆ ซึ่งตอนนี้เองถ้าให้เทียบกับคู่แข่งก็ต้องบอกว่ามีคะแนนสูงกว่าพอสมควร ตามกราฟด้านล่างครับ
เรื่องที่ 9 เป็นเรื่องของการใช้เสียงสั่งงานหลายๆคนอาจจะรู้จัก S Voice กันแล้ว โดยมันคือการสั่งงานเครื่องด้วยเสียง โดยที่สามารถสั่งให้มันปลุก สั่งให้มันเปิดกล้องหรือเปิดอะไรต่างๆนาๆก็ได้ แต่ว่าที่เด็ดดว่านั้นคือการสั่งงานด้วยเสียงแบบอื่นๆเช่น การสั่งถ่ายภาพด้วยเสียง โดยการพูดว่า “Shoot” หรือ “Smile” หรือ “Cheese” ก็ได้ ทั้งนี้บน Galaxy S III เองก็สามารถสั่งงานด้วยเสียงโดยใช้เสียงเราเองก็ได้ทำให้ใช้ภาษาไทยในการสั่งการได้ด้วย
เรื่องที่ 10 เป็นเรื่องของการส่งไฟล์ต้องบอกว่า Galaxy S III ถือเป็นอีก 1 นวัตกรรมที่สร้างการส่งไฟล์อีกมิติหนึ่งเลยเพราะว่าการมี S Beam เข้ามาทำให้การส่งไฟล์ผ่านเครื่องไปยังเครื่องอื่นๆง่ายขึ้นและแน่นอนในอนาคต โดย S Beam จะใช้เทคโนโลยี NFC ในการเชื่อมต่อระหว่างเครื่อง (ซึ่งตอนนี้ก็แน่ละมีไม่กี่เครื่องที่มี) และทำการส่งด้วย Wi-Fi Direct อีกทีทำให้มีความเร็วถึง 300 Mbps เรียกว่าเร็วมากเลยทีเดียวเกือบเท่า USB 2.0 ทำให้สามารถส่งภาพ, เพลง, วีดีโอ ได้อย่างง่ายดายมากเลยทีเดียว
ปล. การใช้งานอาจจะใช้ได้กับไม่กี่เครื่องในตอนนี้ คือ Galaxy S III กับ Galaxy S III ด้วยกัน ส่วนถ้าเป็น Galaxy Nexus ก็ทำได้แต่สามารถส่งได้แค่ของเล็กเช่น รายชื่อ, ลิ้งค์เว็บไซต์ เป็นต้น
เรื่องที่ 11 เรื่องสุดท้ายว่าจะไม่ไปแตะแล้วเชียวเพราะเป็นเรื่องการใช้งานมากกว่าก็คือเรื่องของ Feature ต่างๆที่ดูน่าตื่นเต้น อย่าง Smart Stay ที่จะคอยช่วยให้เราไม่ต้องคอยแตะหน้าจอเวลาอ่านอะไรอยู่บนหน้า โดยที่มันจะไม่ดับเองมีประโยชน์มากในการอ่าน E-Book หรือเล่นอินเตอร์เน็ต เป็นต้น โดยมันจะใช้งานโดยการใช้กล้องหน้าจับสายตาของเรานั่นเองทำให้ใช้งานได้อย่างราบรื่น ต่อมาคือ Smart Alert ที่จะเป็นระบบเตือนเราตอนที่เราเร่งรีบหรือไม่รู้ตัวโดยการสั่นเมื่อเราหยิบเครื่องครั้งแรกหลังจากที่วางนิ่งๆไว้เฉยๆมันจะสั่งเองถ้ามีการโทรเข้ามาของคนอื่นและเราไม่ได้รับหรือมี SMS เข้ามาแล้วเราไม่ได้อ่าน นอกจากนี้ยังมีพวก Social tag ที่จดจำใบหน้าจากรูปภาพเพื่อส่งภาพหาคนนั้นหรือติดต่อได้ทันทีผ่านรูปภาพ และ Double Screen ที่ทำให้เครื่องสามารถทั้งดูวีดีโอไปและเปิดโปรแกรมอะไรก็ได้ไปด้วยอีก 1 อย่าง ทำให้ใช้งานได้ 2 อย่างในเวลาเดียว
สรุปได้ว่าตอนนี้เองถ้าให้พูดถึง Android ตัวท็อปต้องบอกว่า Samsung Galaxy S III กำลังจะมาเป็นทางเลือกที่หลายๆคนตามหา ถ้าให้เทียบกับคู่แข่งในตลาดตอนนี้ต้องบอกว่ามี HTC One X รายเดียวแถมราคาเท่ากันด้วยที่ 21,900 บาท เป็นราคาที่จะว่าแพงไหมก็แพงแต่สำหรับบางคนอาจจะมองว่ามันสมเหตุสมผลกับตัวท็อปของปีนี้
แต่ว่าจะเลือกตัวไหนทุกอย่างก็ต้องแล้วแต่รสนิยมในการใช้หลายๆอย่าง Samsung Galaxy S III อาจจะดูดีกว่าแต่ว่าถ้ามองตัวเครื่องโดยรวมหลายๆคนอาจจะชอบ HTC One X มากกว่าก็ได้ เรียกว่าทั้ง 2 รุ่นสูสีกัน ถึงแม้ว่า Galaxy S III จะดูมีภาษีกว่าในหลายๆด้าน สุดท้ายก็ขอแนะนำครับว่าให้ลองไปจับเล่นๆมันซัก 5 นาทีแล้วค่อยมานั่งตัดสินใจกันอีกทีครับ
“มือถือที่ดีที่สุดสำหรับคนอื่นอาจจะไม่ใช่ที่ดีที่สุดของเราก็ได้” ฝากไว้แค่นี้ครับ ^ ^
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Engadget, GSMARENA, ePrice ,mobile-review.และข้อมูลบางส่วนจากทาง grandmax
For more informaion mxphone.com
หลับให้สบายนะเพื่อน Tom Bridegroom