วันวิบัติ...เวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ [World Trade Center]
ขณะที่ข่าวภาค่ำทางสถานีโทรทัศน์ในคืนวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2001 ที่ผมรับชมอยู่กำลังจะจบ ผู้ประกาศได้ประกาศข่าวด่วนที่เพิ่งได้รับรายงานเข้ามา เนื้อข่าวกล่าวว่า มีเครื่องบินชนตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ แล้วก็ตัดภาพที่รับจากสถานีโทรทัศน์ CNN ให้ดู
ภาพที่เห็นเป็นไฟกำลังไหม้ตึก ควันสีเทาขาวม้วนตัวตีขึ้นสู่เบื้องบน ในไม่ช้าก็มีเครื่องบินอีกลำหนึ่งบินเข้ามาจากด้านขวา แล้วหักเลี้ยวซ้ายพุ่งเข้าสู่อาคารแฝดที่ตระหง่านอยู่ข้างกัน ชั่วอึดใจถัดมา ก็มีการระเบิดของตึกดังกล่าว
หลังจากการชนครั้งที่ 2 ไม่ถึงชั่วโมง ตึก 2 ก็ถล่มยุบลง ส่วนตึก 1 ที่ถูกชนก่อน ยืนหยัดอยู่ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษจึงถล่มตามลงมา
การก่อวินาศกรรมตึกแฝดเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ที่มหานครนิวยอร์กได้เกิดขึ้นแล้ว พร้อมกับคำถามมากมาย โดยเฉพาะกับข้อสงสัยที่ว่า ตึกอันสูงสง่าเช่นนี้ ถึงกาลอวสานได้อย่างไร!
วินาศกรรมในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้น ณ ตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์แต่เพียงแห่งเดียว อาคารทรง 5 เหลี่ยมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ตั้งชื่อตามรูปร่างอาคารว่าเพนตากอนก็โดนกับเขาด้วย นั่นคือมีเครื่องบินถึง 3 ลำซึ่งผู้ก่อการในครั้งนี้ได้เข้ายึดครองเพื่อบังคับให้พุ่งเข้าชนอาคารสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินอีกหนึ่งลำที่ถูกจี้ด้วยเหมือนกันแต่ไม่สามารถชนตึกได้ ทั้งนี้คาดว่าการขัดขืนจากลูกเรือและผู้โดยสารทำให้เครื่องบินลำดังกล่าวตกลงในเขตชนบทที่ซอมเมอร์เซ็ต
เครื่องบินที่ถูกจี้ทั้ง 4 ลำเป็นเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง โดยเป็นรุ่น 767-200ER จำนวน 2 ลำ(จากสายการบิน อเมริกัน แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 11 และจากสายการบิน ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 175) อีก 2 ลำเป็นโบอิ้ง 757-200(จากสายการบิน อเมริกัน แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 77 และจากสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 93) ทั้ง 4 ลำเป็นเที่ยวบินที่บินข้ามจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก ดังนั้นจึงบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงไปเต็มที่ และปริมาณน้ำมันมหาศาลที่อยู่บนเครื่องบินนี่เองที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของการพังทลายของตึกแฝดคู่นั้น
สำหรับลำดับเหตุการณ์ตามเวลาประเทศไทยในวันหายนะนั้นพอจะสรุปได้ดังนี้
[Boeing 767]
[Boeing 757-200]
วันที่ 11 กันยายน 2001
19:45 น. เครื่องบินโดยสารของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 11 จากบอสตันเข้าชนตึกเหนือ(ตึก 1 เป็นตึกที่มีเสาอากาศเห็นได้ชัด)ของตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ แล้วฉีกตัวตึกเป็นช่องพร้อมทั้งเกิดไฟไหม้
20:03 น. เครื่องบินโดยสารของสายการบิน ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 175 จากบอสตันเช่นกัน พุ่งเข้าชนตึกใต้(ตึก 2)ของตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ และระเบิดรุนแรง
20:43 น. เครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ 77 ของสายการบิน อเมริกัน แอร์ไลน์ ชนอาคารเพนตากอน เกิดควันไฟพวยพุ่ง มีการอพยพคนในทันที
20:45 น. มีการอพยพคนที่ทำเนียบขาว
21:05 น. ตึกใต้ของเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ถล่มยุบลง ท้องถนนปกคลุมด้วยกลุ่มควัน
21:10 น. บางส่วนของอาคารเพนตากอนถล่ม ขณะเดียวกันก็มีรายงานการตกของเครื่องบินโดยสารของ ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 93 ที่เขตชนบทของซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพิตส์เบิร์ก
21:13 น. อาคารที่ทำการของสหประชาชาติเริ่มขนย้ายผู้คน โดยเป็นคนของสำนักงานใหญ่จำนวน 4,700 คน และจากยูนิเซฟกับฝ่ายอื่นของสหประชาชาติอีก 7,000 คน
21:28 น. ตึก เหนือของเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ถล่มยุบตัวลงคล้ายกับถูกตอกด้วยเสาเข็มจากด้านบน เกิดฝุ่นอันหนาทึบ และเศษหักพังกระจายไปทั่ว
21:45 น. อาคารที่ทำการของรัฐทุกตึกในวอชิงตันอพยพคนหมด
21:48 น. ตำรวจยืนยันมีเครื่องบินตกที่ซอมเมอร์เซ็ต
21:53 น. ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งขั้นต้นของนิวยอร์ก
22:18 น. สายการบิน อเมริกัน แอร์ไลน์ รายงานเรื่องเครื่องบินที่ถูกจี้ โดยเที่ยวบินที่ 11 เป็นเครื่องโบอิ้ง 767-200ER มีลูกเรือ 11 คน และผู้โดยสาร 81 คน ซึ่งกำลังเดินทางไปยังลอส แองเจลิส ส่วนเที่ยวบินที่ 77 เป็นเครื่อง 757-200 กำลังเดินทางไปลอส แองเจลิส โดยมีผู้โดยสาร 58 คน ลูกเรือ 6 คน เครื่อง 767-200ER เป็นลำที่ชนตึกเหนือของเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ และเครื่อง 757-200 ชนเพนตากอน
22:26 น. ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ รายงานเรื่องเครื่องบินที่ถูกจี้ โดยเที่ยวบินที่ 93 ออกจากนิวอาร์ก รัฐเดลาแวร์ ไปยังซานฟรานซิสโก และตกที่เพนซิลวาเนีย
22:59 น. ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ รายงานเรื่องเครื่องบินเที่ยวบินที่ 175 ที่กำลังเดินทางไปลอส แองเจลิส มีผู้โดยสาร 56 คน ลูกเรือ 9 คน เป็นลำที่ชนตึกใต้ของเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์
23:04 น. สนามบินลอส แองเจลิส ซึ่งเป็นที่หมายของเครื่องบิน 3 ลำ อพยพคนหมด
23:15 น. สนามบินซานฟรานซิสโกซึ่งเป็นที่หมายของเครื่องบินเที่ยวบินที่ 93 อพยพคนหมด
วันที่ 12 กันยายน 2001
03:10 น. ตึก 7 ซึ่งมี 47 ชั้นของเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์เกิดไฟไหม้
04:20 น. ตึก 7 ของเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ซึ่งไม่มีคนอยู่แล้วถล่ม การถล่มเกิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากตึก 1 และ 2 (ซึ่งอยู่คนละฝั่งถนน)ถล่มมาก่อนหน้านี้ ตึกรอบๆ บริเวณก็มีไฟไหม้ด้วย
04:30 น. เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรายงานว่าเครื่องบินที่ตกในเพนซิลวาเนียอาจจะมีเป้าหมายในการชน แคมป์ เดวิด หรือ ทำเนียบขาว หรือ อาคารรัฐสภา อาคารใดอาคารหนึ่ง
06:45 น. ตำรวจนิวยอร์กรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่สูญหาย 78 นาย และเชื่อว่าพนักงานดับเพลิงประมาณ 200 นายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
08:22 น. ไฟไหม้ที่เพนตากอนยังควบคุมไม่ได้ แต่สามารถจำกัดเขตการลุกลามได้แล้ว
ในขณะที่เกิดเหตุหายนะอยู่นี้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้เดินทางจากฟลอริด้ากลับสู่วอชิงตัน และได้มีการออกแถลงการณ์ในเหตุการณ์ มีการขอให้ประชาชนร่วมกันสวดมนต์ให้กับผู้เคราะห์ร้าย รวมทั้งยังประกาศว่า ผู้ที่กระทำการครั้งนี้จะต้องชดใช้ในสิ่งที่ทำ
ต่อมามีรายงานว่าตึกอื่นๆ ในบริเวณนั้นก็ได้พังทลายลงทั้งหมด(เวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ประกอบด้วยตึก 7 หลัง) อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า ตึก 5 ยังคงตั้งอยู่แต่ก็เสียหายยับเยินเช่นกัน
สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บนั้นยังไม่ทราบแน่นอน แต่พบศพแล้วกว่า 200 ศพ และยังสูญหายอีกประมาณ 6,000 คน!
(ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2001)
อาคารเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ประกอบด้วยตึก 7 หลัง อาคารสำคัญก็คือตึกแฝดทั้งคู่นี้ สำหรับสถาปนิกผู้ออกแบบตึกก็คือ มิโนรุ ยามาซากิ ส่วนเจ้าของคือ การท่าเรือของนิวยอร์ก-นิวเจอร์ซีย์
เหตุผลในการสร้างเป็นตึก 110 ชั้นจำนวน 2 ตึก ก็เพราะว่า การสร้างตึกเดียวให้สูง 220 ชั้นนั้นไม่ค่อยจะปลอดภัย แต่ถ้าจะสร้างตึกหลายๆ ตึกโดยให้มีพื้นที่ใช้สอยตามต้องการก็จะทำให้พื้นที่ออกมาคล้ายหมู่บ้านมากเกินไป
สำหรับเทคโนโลยีในการก่อสร้างอาคารทั้งสองหลัง นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากในตอนนั้น และค่าใช้จ่ายก็จะสูงกว่าการสร้างในแบบอื่น แต่ผลที่ได้นั้นคุ้มค่าเพราะจะทำให้ตึกมีความแข็งแรงมาก และได้พื้นที่ในการใช้งานภายในตึกเต็มที่อีกด้วย
รูปแบบโครงสร้างของอาคารประกอบด้วย แกนหลักตรงกลาง, โครงสร้างเหล็กที่วางเป็นโครงอาคาร และพื้นเสริมเหล็กแบบประกอบสำเร็จในแต่ละชั้น โดยที่แกนหลักตรงกลางเป็นคอนกรีตที่มีแท่งเหล็กอยู่ภายใน แกนหลักนี้มีหน้าที่ในการแบกรับน้ำหนักของตัวอาคารทั้งหลังแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้รับแรงด้านข้าง
ส่วนพื้นคอนกรีตจะมีแท่งเหล็กฝังอยู่ภายในเป็นแบบโครงถัก(truss) แท่งเหล็กจะวางตัวในแนวราบวิ่งในทิศทางจากแกนหลักไปยังผนังตึก ทำหน้าที่พยุงพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 4 นิ้วนี้(พื้นเหล่านี้สร้างจากที่อื่น เช่น ซีแอตเทิล และลอส แองเจลีสแล้วนำเข้ามาประกอบเชื่อมติดกับแกนหลักและผนังตึก) ลักษณะโครงสร้างของพื้นนี้ทำหน้าที่รับน้ำหนักของพื้นและช่วยเสริมความแข็งแรงให้ตึก รวมทั้งช่วยรับแรงด้านข้างอย่างเช่นลมพายุที่มีความเร็วลมสูงถึง 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ผนังตึกเองนั้นก็ประกอบขึ้นจากแท่งเหล็กวิ่งในแนวดิ่ง แท่งเหล็กจะวางตัวห่างกันเป็นระยะประมาณ 1 เมตร รวมทั้งหมด 130 แท่งรอบตัวตึกและช่วยยึดพื้นให้อยู่ในที่
ลักษณะของตึกนั้น จินตนาการดูก็จะคล้ายกับโดนัท 110 ชิ้นมาวางซ้อนกัน รูตรงกลางก็เอาคอนกรีตเสียบเข้าไป เนื้อโดนัทก็คือพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ขอบนอกของโดนัทมีเหล็ก 130 แท่งเชื่อมกัน เพียงแต่เป็นโดนัทรูปสี่เหลี่ยมไม่ใช่วงกลมมีรู
ด้วยโครงสร้าง และรูปแบบวิธีการออกแบบอันเฉียบคมเช่นนี้ทำให้ตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ มีความแข็งแรงอย่างมาก อันที่จริงแข็งแรงพอที่จะรับการชนของเครื่องบิน 707 ได้ตามคุณสมบัติทางเทคนิคของแบบจริงๆ
เมื่อตึกแฝดคู่นี้โดนชนด้วยเครื่องบิน 767 เครื่องบินได้ทะลุพุ่งเข้าไปภายในตัวอาคาร เกิดเปลวไฟและพวยควันมหาศาล ถ้าเป็นตึกอื่นๆ ที่ออกแบบด้วยวิธีการอื่น เชื่อได้ว่า ตึกจะต้องพังถล่มล้มลงมาในทันทีที่เกิดการชน แต่ตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ทั้งสองหลังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ราว 1 ชั่วโมง(ตึก 2 ที่โดนชนก่อนใช้เวลา 56 นาทีจึงถล่ม ตึก 1 ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาทีจึงถล่ม) นี่เป็นข้อพิสูจน์อันสำคัญของความแข็งแรงของตึกคู่นี้ และความแข็งแกร่งนี้เองที่ทำให้คนที่อยู่ในตึกมีเวลาพอที่จะหนีออกมาได้จำนวนมาก
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอย่าง ยูจีน คอร์เลย์ (เขาเคยเป็นหัวหน้าทีมสอบสวนการวางระเบิดตึกที่โอกลาโฮมา และจะได้รับหน้าที่นี้อีกในคราวนี้)ที่เห็นภาพการชน ก็สรุปกับตัวเองได้ทันทีว่า ตึกต้องถล่มแน่นอนภายในไม่ถึง 2 ชั่วโมง เขาคิดว่า เราไม่สมควรส่งหน่วยกู้ภัย เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยก็ต้องรีบถอนกำลังออกมาภายใน 1 ชั่วโมง แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หน่วยกู้ภัยยังอยู่จนกระทั่งตึกยุบตัวลงมา
เพราะเหตุใดตึกทั้งคู่จึงยุบตัว?
เครื่องบินโบอิ้ง 767-200ER ทั้งสองลำนั้นมีขนาดปลายปีกจรดปลายปีกประมาณ 47.6 เมตร ยาว 48.5 เมตร จุผู้โดยสารมากที่สุด 255 คน น้ำหนักบรรทุกสูงสุดประมาณ 18,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่เติมน้ำมันเต็มถังถึง 90,000 ลิตร เครื่องบินแบบนี้ก็คือ "ระเบิดบินได้" อย่างแท้จริง เมื่อมันชนกับตึกด้วยความเร็วกว่า 570 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกายไฟทำให้น้ำมันลุกติดอย่างรุนแรง เกิดเป็นระเบิดไฟโหมอย่างบ้าคลั่ง ในที่สุดความร้อนได้พุ่งขึ้นสูงถึงอุณหภูมิ 800 oC
วัสดุทั้งหลายรวมทั้งเหล็กกล้าที่เป็นโครงอาคารจะสูญเสียคุณสมบัติในด้านความแข็งแรงไปอย่างมากเมื่อได้รับความร้อนสูงถึง 2 ใน 3 ของจุดหลอมเหลว(ในกรณีของเหล็กจะมีค่าประมาณ 1,500oC) แม้ว่าแท่งเหล็กจะฝังตัวอยู่ภายในคอนกรีต(ทั้งในพื้น และแกนหลักตรงกลาง)ก็ตาม ความร้อนก็สามารถทะลุเข้าไปถึงแท่งเหล็กได้ และเมื่อแท่งเหล็กสูญเสียความแข็งแรง แกนหลัก และพื้นจึงไม่อาจรับน้ำหนักอยู่ได้ นอกจากนั้น แท่งเหล็กที่รายล้อมอยู่บนผนังตึกก็เกิดการบิดงอ และเข้าใจว่าเกิดการถ่างออกด้านนอกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ พื้นคอนกรีตที่อาจจะหนักถึง 3,000 ตันก็ตกจากที่ของมันกระแทกลงไปยังพื้นชั้นล่าง
ถ้าเป็นสภาวะปกติ พื้นแต่ละชั้นสามารถรองรับน้ำหนักจากชั้นบนเพียงชั้นเดียวได้ 100,000 ตัน แต่ต้องเป็นการใส่น้ำหนักลงไปทีละน้อย ส่วนกรณีนี้ พื้นชั้นบนที่ตกลงมาได้ประพฤติตัวคล้ายเครื่องตอกเสาเข็มที่กระทุ้งลงบนพื้นชั้นล่างที่อ่อนแอจากความร้อนจนถล่มตามลงไป หลังจากนั้น พื้นแต่ละชั้นก็ดิ่งลงสู่เบื้องล่างไปเรื่อยๆ จนพังทั้งตึก
มีข้อสังเกตอยู่บ้างว่า ตึก 2 ที่พังก่อนนั้น(ตึกนี้ถูกชนระหว่างชั้น 82-93) มีลักษณะการพังแบบยุบตัวผสมกับการโค่นคล้ายกับเวลาเราโค่นต้นไม้ แต่ตึก 1 (ถูกชนระหว่างชั้น 95-103) กลับพังแบบยุบตัวอย่างเดียว เรื่องนี้ก็ยังไม่มีเหตุผลมาอธิบายได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงขณะนี้ด้วยก็คือ กลไกการพังทลายตามที่อธิบายมานี้ เป็นการคาดเดาจากภาพการพังของตึกตามหลักวิชาเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย ซึ่งข้อสรุปนั้นจะได้มาก็ด้วยการวิเคราะห์อย่างอุตสาหะ สุขุม ไม่ลำเอียง ในทุกแง่มุมรวมทั้งการวิเคราะห์โครงสร้างด้วย
และตราบใดที่การวิเคราะห์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้รับการมอบหมายยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น เราก็ยังคงไม่อาจมั่นใจได้ว่า กลไกการวิบัติของตึกแฝดนี้เป็นกลไกที่ถูกต้องจริง และประชาคมโลกที่เฝ้าหน้าจอทีวีดูวินาทีประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็จะยังคงมีคำถามค้างคาอยู่ในใจมากมาย
ทำไมสัญลักษณ์แห่งนิวยอร์กถึงต้องมีอันเป็นไป?
ก่อสร้าง 1966-1977(เวลารวมในการก่อสร้างครบ 7 ตึก)
ถูกทำลาย 11 กันยายน 2001
ผู้ออกแบบ มิโนรุ ยามาซากิ
ประเภท ตึกระฟ้า, อาคารพาณิชย์ (ตึกแฝด)
ระบบก่อสร้าง โครงเหล็กกล้า, กำแพงแบบม่านทำด้วยแก้ว, ไฮดรอลิค
สูง 110 ชั้น x 2, 408.6 เมตร และ 410.4 เมตร
พื้นที่ใช้สอย 1 ล้านตารางเมตร
ตึกในบริเวณ 7 ตึก ได้แก่ ตึกแฝด 110 ชั้น 2 หลัง, อาคารสำนักงาน 47 ชั้น 1 หลัง, อาคารสำนักงาน 9 ชั้น 2 หลัง, อาคารศุลกากร 8 ชั้น 1 หลัง และโรงแรมมาริออตต์ 22 ชั้น 1 โรงแรม ทั้งหมดเสียหาย ไม่อาจใช้ได้อีก
Gallery
พิกัดภูมิศาสตร์ใช้หาได้ใน Google แผนที่
[CNN
C-able N-ews N-etwork]
เอกสารอ้างอิง
BBC News : America Attacked (http://news.bbc.co.uk/hi/english/in_depth/americas/2001/america_attacked/)
Engineering News-Record (http://www.enr. com)
Great Buildings Online (http://www.great buildings.com)
Los Angeles Times (http://www.latimes.com)
Architecture Week (http://www.architecture week.com)
USA Today (http://www.usatoday.com)
CNN: America's New War (http://asia.cnn.com/SPECIALS/2001/trad.center/)
The Boeing Company (http://www.boeing. com)