หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

มหานักบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัย

โพสท์โดย เจ้านางละอองคำ
 
 
 
 
เจ้านางห่างหายไปนาน เนื่องจากติดงานเจ้าค่ะไม่ได้มาเล่นนานเลย
 
วันนี้โอกาสงามยามดี เลยเอาความรู้มาแบ่งปันเจ้าค่ะ
 
ให้ได้รำลึกถึงคุณงามความดีของครูบาเจ้า
 
สาธุเจ้าค่ะ
 
 
 
 
 
 
หากยาวไปต้องขออภัยเจ้าค่ะ เจ้านางพยายามย่อให้ได้แต่ใจความสำคัญ...
ยังไงก็ขอให้คนไทยอ่านหนังสือเยอะๆ นะเจ้าค่ะ
จะเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจก็ได้เจ้าค่ะ   แค่เข้ามาดูก็ขอบคุณจ๊าดนักเจ้า...
 
 
 
 
 
 
 

ประวัติ

ครูบาศรีวิชัย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของประเทศไทย (ล้านนา) ว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ตุ๊เจ้าสิลิ

 

ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ เฟือน หรืออินท์เฟือน บ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่หมู่บ้านชื่อ "บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของนายควาย นางอุสา

 

ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยหรือนายอินท์เฟือนยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมาก มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัตติยะ เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ 18 ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ อารามแห่งนี้โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์

3 ปีต่อมา (พ.ศ. 2442) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า 21 ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย

เมื่ออุปสมบทแล้ว สิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก 1 พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือ

 

นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิกและผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

 

 

คำสอนที่สำคัญ

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ

 

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ในล้านนา

ในช่วงนั้น เชียงใหม่ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงศูนย์กลางของมณฑลพายัพ ถึงแม้ทางส่วนกลางจะพยายามรวมทุกแว่นแคว้นเข้าเป็นไทยเดียวกัน แต่ล้านนายังคงเอกลักษณ์ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ไว้อย่างเหนียวแน่น ต่างจากภาคอื่น ๆ ที่ถูกกลืนเข้าอยู่ภายใต้นโยบายการปกครองของส่วนกลาง ส่วนกลาง (สยาม) พยายามจะลดบทบาทของล้านนาลงในทุกวิถีทาง เช่น ทางด้านการปกครอง ก็ส่งข้าหลวงจากส่วนกลางมาประจำมณฑลพายัพ ส่วนทางด้านศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร

แต่ในขณะนั้นรูปแบบการปกครองสงฆ์ในล้านนาได้มีรูปแบบเฉพาะของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับอาจารย์ นอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้น ยังเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขืน นิกายยอง อีกด้วย เป็นต้น

 

 

ทำดีไม่ได้ดี

แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้น เกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ (ถูกจับกุม) ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา

 

การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2446) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ นี้  ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนา องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงทีละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณี ความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น

การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้นเกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วงเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ 30 ปีและแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน

 

จะเห็นได้ว่า การที่ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุมเนื่องจากความกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง ตลอดจนไม่สนใจพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ อาจเนื่องด้วยครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรม มากกว่าที่จะสนใจในระเบียบแบบแผนใหม่ อีกทั้งท่านยังยึดมั่นกับจารีตแบบแผนแบบดั้งเดิม โดยปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ที่อาจารย์พระอุปัชฌาย์สั่งสอนมา ความสัมพันธ์แบบหัวหมวดวัด ได้สร้างความผูกพันระหว่างพระในชุมชนด้วยกันที่ให้ความเชื่อถือในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนหยัดที่จะสืบสานจารีตแห่งความเป็นล้านนา

 

หัวข้อนี้เจ้านางจะอธิบายให้เจ้าค่ะ.. คือ ครูบาศรีวิชัยท่านได้บวชและเรียนกับพระอาจารย์ที่เป็นสายล้านนา   ท่านจึงไม่ยึดถือกฎเกณฑ์ของคณะสงฆ์ส่วนกลาง   ท่านรับลูกศิษย์และบวชให้บรรดาลูกศิษย์โดยไม่ได้รับความเห็นชอบของเจ้าคณะ เลยถูกมองว่าเป็นพระเถื่อน   จนทำให้ท่านถูกจับกุมถึง 3 ครั้ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นยึดถือหลักปฏิบัติจากจารีตดั้งเดิมของล้านนา ท่านจึงไม่ยอมรับกฎเกณฑ์กติกาที่ตั้งโดยคณะสงฆ์สยาม

 

 

บูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานแผ่นดินล้านนา

ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านเดินทางไปหนแห่งใดก็มีศรัทธาสาธุชนเคารพศรัทธา จากที่ได้ธุดงธ์ไปทั่วแผ่นดินล้านนาได้พบเห็นโบราณสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแผ่นดินล้านนาเก่าแก่ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จึงได้ร่วมกับศรัทธาสาธุชนบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวัดวาอารามโบราณสถานทั่วแผ่นดินล้านนาไม่อาจจะนับได้

หลังจากกลับจากกรุงเทพฯ แล้วไปบูรณะพระเจดีย์ พระธาตุดอยเกิ้ง อำเภอฮอด (พ.ศ. 2464) สร้างวิหารวัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2465)บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงรายบูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ (พ.ศ. 2466) วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2467) สร้างธาตุและบันไดนาค วัดบ้านปางพระธาตุเกตุสร้อยแก่งน้ำปิง (พ.ศ. 2468) รวบรวมพระไตรปิฏกฉบับอักษรล้านนาจำนวน 5,408 ผูก (พ.ศ. 2469-2471) บูรณะวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2474) และผลงานชิ้นอมตะคือ การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ศรัทธาสานุชนมาร่วมกันสร้างถนนวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ตามสัจจะวาจา (พ.ศ. 2478) สร้างวิหารวัดบ้านปาง (พ.ศ. 2478 เสร็จปี พ.ศ. 2482) วัดจามเทวี (พ.ศ. 2479) สุดท้าย คือ สะพานศรีวิชัย เชื่อมระหว่างลำพูน (ริมปิง) - เชียงใหม่(พ.ศ. 2481) ที่มาสร้างเสร็จภายหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ (รวมวัดต่างๆที่ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยไปบูรณะปฏิสังขรณ์รวม 108 วัด)ต่อมามีผู้เรียกท่านว่า พระศรีวิชัย ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า ครูบาศรีวิชัยบ้าง ครูบาวัดบ้านปางบ้าง ครูบาศีลธรรมบ้างซึ่งเป็นนามที่ชาวบ้านตั้งให้ ด้วยความนับถือ

 

ผลงานที่เด่นมากของครูบาศรีวิชัยก็คือ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้รับคำเรียกร้องจากศรัทธาประชาชน ให้ช่วยดำริและจัดการเรื่องนี้ จึงเริ่มลงมือสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ เชิงดอยสุเทพด้านห้วยแก้ว โดยมี พลตรี เจ้าแก้วเนาวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ขุดจอบเป็นปฐมฤกษ์ การสร้างถนนสายนี้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนช่วยทำงานประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ถ้าคิดมูลค่าแรงงานเป็นเงินก็คงมากมายมหาศาลทีเดียว การสร้างทางสายนี้ใช้เวลา 5 เดือน กับ 22 วัน จึงแล้วเสร็จ และเปิดให้รถขึ้นลงได้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478

 

      

 

 

การจับกุมในช่วงที่สาม พ.ศ. 2478-2479

เกิดขึ้นในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ ขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่า มีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม 10 แขวง 50 วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ลุกลามไปทั่วทุกหัวเมือง รวมวัดต่าง ๆ ที่แยกตัวออกไปถึง 90 วัด พระสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ ก็เริ่มที่จะเคลื่อนไหวที่จะขอแยกตัว ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกส่งตัวไปยังกรุงเทพฯ เพื่อระงับเหตุที่จะบานปลาย ขณะเดียวกันนั้น กลุ่มพระสงฆ์วัดที่ขอแยกตัว ถูกสั่งให้มอบตัวและพระที่ถูกบวชโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยก็โดยคำสั่งให้สึก เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสในหมู่หัวเมืองที่รักและเคารพในตัวท่าน ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงถูกโยงเข้าไปสู่ปัญหาการเมืองในขณะนั้นไปด้วย

 

ในขณะนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้แปรสภาพจากปัญหาเล็ก ๆ ระหว่างสงฆ์ล้านนารูปหนึ่งกับคณะสงฆ์ในส่วนกลาง มาเป็นปัญหาระหว่างชาวล้านนากับอำนาจจากส่วนกลาง

 

จากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังคงปฏิบัติตามจารีตของล้านนาโดยไม่โอนอ่อนผ่อนตามนโยบายของส่วนกลาง เป็นเหมือนการปลุกจิตสำนึกของชาวล้านนา สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าท่านจะยอมรับระเบียบธรรมเนียมสงฆ์ของส่วนกลางในตอนท้ายที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าจิตวิญญาณของล้านนานั้นได้ถูกทำลายไปด้วย กลับทว่าจิตวิญญาณของล้านนาได้แสดงให้เห็นปรากฏชัดต่อชาวล้านนาและคนทั่วไป จากที่มีอยู่แล้วยิ่งชัดเจนเพิ่มมากขึ้น จากความขัดแย้งของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย กับรัฐ ในขณะนั้นการตั้งอยู่บนพื้นฐานความพยายามที่จะสลายจิตวิญญาณล้านนา เพื่อที่จะรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่นเป็นเอกภาพกับส่วนกลาง เพื่อที่จะต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม แต่ในปัจจุบัน รัฐให้การสนับสนุนทุกวิถีทางที่จะปลุกกระแสความเป็นล้านนา เพื่อใช้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับครั้งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยปลุกกระแสการสืบสานจิตวิญญาณล้านนา ไม่อาจนำมาเทียบได้เลย

 

 

สิ้นแห่งตนบุญล้านนา

เมื่อครูบาเจ้าโดนขับออกจากเมืองเชียงใหม่ ครูบาเจ้าได้ปวารณาตนว่าจะไม่กลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก เว้นแต่แม่น้ำปิงจะไหลย้อนกลับ ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2481 ที่วัดบ้างปาง ขณะมี อายุได้ 59 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางนั้นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี จนถึงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาถวายพระเพลิงศพเป็นจำนวนมาก

 
 
 
 
 

"ตราบใดสายน้ำปิงไม่ไหลคืน จะไม่เหยียบแผ่นดินเชียงใหม่ตราบนั้น"...

นี่เป็นคำวาจาสิทธิ์ที่"ครูบาศรีวิชัย"ได้กล่าวไว้กับหลวงศรีประกาศ หลังจากที่ท่านพ้นข้อกล่าวที่ถูกทางคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่กล่าวร้าย นับว่าเป็นวาจาสิทธิ์ที่ออกมาจากปากนักบุญแห่งล้านนาไทย ก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะกลับสู่เมืองลำพูนจนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่าน...

กาลต่อมา เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของครูบาศรีวิชัย ผู้ช่วยพัฒนาศาสนสถานที่ชำรุดทรุดโทรม กลับคืนสู่อดีตที่เจริญรุ่งเรือง บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ พระสงฆ์ พ่อค้า ข้าราชการและประชาชน จึงมีการลงประชามติจัดสร้าง “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย”...ขึ้น

 

 

อนุสาวรีย์นี้สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ หล่อเท่าองค์จริงในท่ายืน จัดสร้างและออกแบบโดยช่างของกรมศิลปากร...การสร้างดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อย แต่คณะกรรมการไม่สามารถนำเอาขึ้นไปประดิษฐานที่เชียงใหม่ได้ เล่ากันว่าเมื่อจะเอาขึ้นไปคราวใด มักจะเกิดอุปสรรคและปัญหาเสมอ...

จนเวลาได้ล่วงเลยไปนานหลายปี “หลวงศรีประกาศ” ทนรอต่อไปไม่ไหว จึงได้นำเอาดอกไม้ไปบูชา นัยว่าเพื่อเป็นการบอกกล่าวอัญเชิญ และตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า...  

แม้จะมีเหตุขัดข้องอย่างไร ก็จะต้องจัดการเอาขึ้นไปให้ได้...”  

ซึ่งก่อนจะนำขึ้นไปหลวงศรีประกาศ ได้โทรเลขสั่งชาวเชียงใหม่เตรียมขบวนแห่มารอรับที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เมื่อได้เวลาจึงอัญเชิญรูปหล่อครูบาศรีวิชัยขึ้นรถด่วนเชียงใหม่ บรรดาคณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนและเจ้านายฝ่ายเหนือได้ร่วมกันจัดขบวนแห่มารอรับอย่างคับคั่งและทำการเฉลิมฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่...

 

และในวันที่รูปหล่อครูบาศรีวิชัยถูกอัญเชิญถึงจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง... “ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ประชาชนซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแม่น้ำแม่ปิงต้องจดจำได้อย่างไม่มีวันลืมเลือน”....คือ....

กระแสน้ำปิงได้ไหลบ่า หวนย้อนกลับคืนขึ้นเหนือ กระแสน้ำได้นองท่วมท้นจนเต็มเขื่อนภูมิพล ท่วมถึงเขตอำเภอฮอด.....” 

    

 

สัจจวาจาของ “ครูบาศรีวิชัย” ที่ได้กล่าวไว้...   "แม้แต่ธรรมชาติก็ยังไม่สามารถขัดขวางได้..."

การที่กระแสน้ำปิงได้ไหลย้อนกลับขึ้นไปนั้น เนื่องจากทางการสั่งปิดเขื่อนเพื่อใช้งานเป็นครั้งแรก ในการกักเก็บน้ำสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าและเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรได้มีไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง.. 

”คำพูดของท่านครูบาศรีวิชัยที่ท่านได้เอ่ยไว้กับหลวงศรีประกาศ...เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และแม้กระทั่งท่านใกล้จะมรณภาพที่ก็ยืนหยัดในวาจาสิทธิ์ของท่าน...ที่เป็นปริศนาซึ่งไม่มีผู้ใดจะคาดคิด….” 

จะว่าเป็นเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่จะคิดกันไป....แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่คนทั่วไปกล่าวกันว่าอัศจรรย์ยิ่งนัก....

เขื่อนภูมิพลเปิดใช้ น้ำปิงไหลคืนขึ้นเหนือ.. สมดั่งคำวาจาสิทธิ์ของครูบาศรีวิชัยและท่านครูบาฯก็ได้ขึ้นมาที่เชียงใหม่จริง ๆ…” 

 
 
 
 
 

อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ…”

อธิบายความตามข้างบนว่า...”พระมหาเถระรูปนี้..” ซึ่งพุทธศาสนิกชนพากันเรียกขานว่า “พระมหาเถระศรีวิชัย” ผู้มีศีลอันอุดม ผู้อันเหล่านรชนและเทวดาพากันบูชา ท่านเป็นผู้สมควรแก่เครื่องสักการะบูชาอันมีปัจจัยสี่เป็นต้น ขอให้ลาภเป็นอันมากจงเกิดมีแก่ข้าพเจ้า... 

ข้าพเจ้าขออภิวาทซึ่งพระเถระเจ้ารูปนั้นตลอดเวลา ขอกราบไหว้ด้วยเศียรเกล้า ขอกราบไหว้ด้วยอาการทั้งปวง ขอให้สำเร็จประโยชน์ ขอให้สำเร็จประโยชน์ ขอให้สำเร็จประโยชน์ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาฯ… 

 

 
 
 
สุดท้ายนี้ขอให้ลูกหลานชาวล้านนาระลึกไว้เสมอว่า แม้เรามิใช่ชาวสยาม
 
แต่ปัจจุบันเราอยู่รวมกันใต้พระบรมโพธิสมภาร ภายใต้ชื่อประเทศใหม่ที่ขานเรียกว่า "ไทย"
 
รวมกับภาคอื่นๆ ชาติพันธุ์อื่นๆ.. ดังนั้นขอให้เราจงรักและสามัคคี อย่าให้ใครมาแยกแผ่นดินใหม่นี้
 
ประวัติศาสตร์เก่ามีไว้เตือนความจำ และย้ำว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ไม่ควรลืมเลือน
 
 
 
 
 
 
ที่มา : วิกิพีเดีย (ไทย)

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
152 VOTES (4/5 จาก 38 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
รวมภาพความฮา แบบสร้างสรรค์ ของคนเขมร กับ นักท่องเที่ยวกับรูปปั้นม้าน้ำอันโด่งดังในโลกโซเชียลตอนนี้iPhone รุ่นประหยัดมาแล้ว!เมื่อเจ้าหญิงน้อยไอดอลของชาวเขมร บินมาดูคอนเสิร์ตที่กรุงเทพ! แบบนี้มันข้ามหน้าชาวเขมรไปไหมน้อ?😃เลขปฏิทินจีน2พ.ค.67พ่อของ "น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์" เสียชีวิตแล้วอันตราย! อย่าใช้ "พัดลมคล้องคอ"..เพราะอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งได้สร้างรายได้ Passive Income มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็ทำได้ชาวลาวไม่ทน! หลังหนุ่มจีนโพสทิ้งเงินกีบลงในถังขยะ ทำคนลาวถึงกับไม่พอใจ?รวมเด็ดเลขปฏิทินงวด2พ.ค.67
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
FB เตรียมเพิ่มโหมดใหม่ ให้ข้อความใน IB หายไปได้ตามเวลาที่ตั้งไว้รวมภาพความฮา แบบสร้างสรรค์ ของคนเขมร กับ นักท่องเที่ยวกับรูปปั้นม้าน้ำอันโด่งดังในโลกโซเชียลตอนนี้แอบรักในรอยใจอันตราย! อย่าใช้ "พัดลมคล้องคอ"..เพราะอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งได้กู้ภัยเมืองเลย งดจับสุนัข-แมว
ตั้งกระทู้ใหม่