พลังงานนิวเคลียร์ : พระเอกหรือตัวร้ายกันแน่??
ณ วินาทีนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “พลังงานนิวเคลียร์” อีกต่อไปแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมามีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่ในมุมมองของคนหลายๆ คนพลังงานนิวเคลียร์ก็เปรียบเสมือนพลังงานทำลายที่สุดแสนจะมหาโหด นึกถึงภาพระเบิดลูกใหญ่ในสงครามโลกหรือ ภาพของประเทศญี่ปุ่นกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดหลายแห่ง สร้างความเสียหายซะเกินเยียวยา เรียกว่าเป็นฝันร้ายของชาวญี่ปุ่นไปอีกนาน
ทั้งหมดคือภาพตัวแทนของพลังงานนิวเคลียร์ที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ดูๆ แล้วก็จะมีแต่มุมร้ายๆ ให้จดจำ แล้วน้อง ๆ เคยสงสัยมั้ยว่าถ้ามันเลวร้ายขนาดนี้ทำไมถึงยังนำมาใช้อยู่อีก ซึ่งถ้า หากเราลองศึกษาดูจริงๆ ก็จะพบว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย แต่กลับเป็นพลังงานที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน น้ำที่เราดื่มก็เป็นนิวเคลียร์มีรังสี ห้องที่เราอยู่ก็มีรังสีเช่นกัน และที่สำคัญพลังงานนิวเคลียร์มันไม่ได้มีแต่โทษหรอกค่ะ ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ยังมีอีกมาก หลายๆ ประเทศจึงสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นแผนนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดังนั้นวันนี้พี่มิ้นท์เลยนำเรื่องราวเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์มาให้น้องๆ ได้รู้จักในมุมอื่นๆ ที่อาจไม่เคยรู้กันค่ะ
พลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ โดยจะถูกปล่อยออกมาในลักษณะของพลังงานจลน์ของอนุภาคต่างๆ เช่น อนุภาคอัลฟา อนุภาคเบตา นิวตรอน รังสีแกมม่า หรือรังสีเอ็กซ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ผลตามมาเป็นพลังงานรูปแบบอื่นอีกด้วย เช่น พลังงานแสง พลังงานความร้อน พลังงานของคลื่นแม่เหล็กและไฟฟ้า เป็นต้น รูปแบบของพลังงานนิวเคลยร์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ
1.พลังงานนิวเคลียร์ที่ปลดปล่อยออกมาในลักษณะเฉียบพลัน เป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ควบคุมไม่ได้ พลังงานของปฏิกิริยาจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นเหตุให้ระเบิด สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้หลักการนี้ ได้แก่ ระเบิดปรมาณูหรือระเบิดไฮโดรเจนและหัวรบนิวเคลียร์
2.พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งควบคุมได้ สิ่ง ประดิษฐ์ที่ทำงานโดยหลักการของปฏิกิริยาฟิชชั่นห่วงโซ่ของเชื้อเพลิง นิวเคลียร์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และน้องๆ ก็อาจจะรู้จักกันเป็นอย่างดี ก็คือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู แต่บางคนอาจจะเรียกว่า เตาปฏิกรณ์ นั่นเอง
3.พลังงานนิวเคลียร์จากสารกัมมันตรังสี คือ สารที่มีองค์ประกอบส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นไอโซโทปที่มีโครงสร้างปรมาณูไม่คง ตัว และจะสลายโดยการปล่อยพลังงานส่วนเกินออกมาในรูปของรังสีอัลฟา รังสีเบตา รังสีแกมมาหรือรังสีเอ็กซ์รูปใดรูปหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งรูปพร้อมๆ กัน
เมื่อรู้จักแล้วว่าพลังงานนิวเคลียร์คืออะไร ทีนี้เราลองมามองพลังงานนิวเคลียร์ในอีกด้านนึง คือ พูดถึงประโยชน์ของมันบ้างดีกว่า เพราะจริงๆ แล้วพลังงานนิวเคลียร์นำมาใช้ในทางสันติได้ตั้งมากมาย เรียกได้ว่าสามารถสร้างประโยชน์ได้สุดๆ เลยล่ะ
1.กิจการอุตสาหกรรม มีการใช้ “เทคนิคเชิงนิวเคลียร์” อย่างแพร่หลาย เช่น
- ควบคุมการไหลผ่านของส่วนผสมในการผลิตปูนซีเมนต์
- ควบคุมขบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์เครื่องแก้วให้มีความหนาสม่ำเสมอ
- ใช้รังสีแกมมาเพื่อฆ่าเชื้อในเครื่องมือเวชภัณฑ์ เช่น กระบวนการฉีดยาสายน้ำเกลือ ถุงเลือด ถุงมือ
2.ด้านการแพทย์และอนามัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์ คือ การนำเอาสารรังสีหรือรังสีมาใช้ในการตรวจ การรักษา ซึ่งตัวอย่างการใช้สารรังสีหรือรังสีด้านการแพทย์ เช่น
- การรักษาโรคมะเร็งด้วย โคบอลต์ - 60
- แทลเลียม-201 ตรวจสภาพหัวใจเมื่อทำงานเต็มที่ ตรวจสภาพการไหลของโลหิตเลี้ยงหัวใจและตรวจสภาพกล้ามเนื้อในหัวใจ
- การรักษามะเร็งและเนื้องอกในส่วนลึกของร่างกายด้วยรังสีนิวตรอน
3.ด้านการเกษตร ชีววิทยาและอาหาร
- ใช้เทคนิคนิวเคลียร์วิเคราะห์ดิน เพื่อการจำแนกพื้นที่ปลูกให้ทราบว่า พื้นที่ที่ศึกษาเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชชนิดใด ควรเพิ่มปุ๋ยชนิดใดลงไป
- การถนอมเนื้อสัตว์ พืชผักและผลไม้ โดยการฉายรังสีเพื่อเก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ในการขนส่งทางไกลและการเก็บอาหารไว้บริโภคนอกฤดูกาล
- การเอาพลังงานปรมาณูมาใช้ฉายพันธุ์พืชเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
4.ด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานนิวเคลียร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 2 ด้าน คือ ด้านการรักษาและการพัฒนา เช่น
- ใช้รังสีแกมมาฆ่าเชื้อโรคในน้ำทิ้งจากชุมชนและจากโรงพยาบาลเพื่อป้องกันโรคระบาด
- ใช้รังสีอิเล็กตรอนกำจัดก๊าซอันตรายจากปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาถ่านหิน
- การวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม เช่น ที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงาน
5.ด้านการศึกษาและวิจัย การศึกษาวิจัยทั้งขั้นมูลฐานและขั้นประยุกต์เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และการให้ประโยชน์ เช่น
- วิศวกรรมนิวเคลียร์เกี่ยวกับการสร้างเครื่องฯ เดินเครื่องฯ และบำรุงรักษาระบบของเครื่องฯ
- ผลของรังสีที่มีต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต
จากที่ยกตัวอย่างไป เป็นเพียงเศษเสี้ยวของประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ เห็นมั้ยว่าจริงๆ แล้วพลังงานนิวเคลียร์ก็นับเป็นเทคโนโลยีทางพลังงานที่จะเป็นกลไกหนึ่งที่ ช่วยส่งเสริมและพัฒนาประเทศได้ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สำหรับพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ก็มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงก็คือ สำนักงานพลังปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.)ซึ่ง ก่อตั้งเมื่อ 25 เม.ย. 2504 และในปี 2505 นักวิทยาศาสตร์ไทยก็ประสบความสำเร็จในการเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู หรือ “เตาปฏิกรณ์ปรมาณู” เครื่องแรกของไทย ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคารปฏิกรณ์ปรมาณู สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
ถ้าหากน้องๆ ได้ติดตามข่าวสารบ้าง ก็จะเห็นว่าประเทศ ไทยได้มีการพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์เกี่ยวกับการก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงาน นิวเคลียร์อยู่บ่อยๆ แต่ส่วนมากก็จะมาในลักษณะเป็นข่าวต่อต้านซะมากกว่า ซึ่ง น้องๆ รู้มั้ยว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่ได้วางแผนและทำการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ซึ่งถ้านับจากปัจจุบันก็ผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว แต่เพราะความไม่รู้และความไม่เข้าใจของชาวบ้าน โครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคีลยร์นี้จึงยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ เริ่มสร้างซักที แต่อย่างว่าล่ะค่ะ ความไม่รู้ ย่อมเป็นสาเหตุของการต่อต้านนั่นเอง