สุริยุปราคาบางส่วน 15 มกราคม 2553
สุริยุปราคา 15 มกราคม 2553
รูปที่ 1 : ภาพสุริยุปราคาวงแหวน (ภาพซ้าย) ภาพสุริยุปราคาบางส่วน (ภาพขวา)
สุริยุปราคาวงแหวนครั้งนี้ มีเส้นทางของแนวคราสวงแหวนกว้างกว่า 300 กิโลเมตร และเป็นระยะทางยาวกว่า 12,900 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางของแนวคราสใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 45 นาที โดยแนวคราสดังกล่าวพาดผ่านผิวโลกคิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 0.87 ของพื้นผิวโลกทั้งหมด บางส่วนของแนวคราสวงแหวนได้เริ่มต้นที่ทวีปแอฟริกา ผ่านประเทศชาด ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเทศสาธรณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา เคนยาและโซมาเลีย แล้วออกจากทวีปแอฟริกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย และที่ตำแหน่งละติจูด 1 องศา 37 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 69 องศา 17 ลิปดาตะวันออก ในมหาสมุทรอินเดียจะเป็นตำแหน่งที่เกิดสุริยุปราคานานที่สุด คือ 11 นาที 8 วินาที หลังจากนั้นจะผ่านเข้าสู่ทวีปเอเชีย ผ่านบังกลาเทศ อินเดีย พม่าและเข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนสามารถมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน เช่น ยุโรปตะวันออก ทวีปแอฟริกา เอเชียและประเทศอินโดนิเซีย
รูปที่ 2 แสดงแนวคราสวงแหวนพาดผ่านทวีปเอเชีย 15 มกราคม 2553
(ที่มา : http://sunearth.gsfc.nasa.gov/eclipse.html)
การเกิดสุริยุปราคาครั้งนี้ เป็นผลมาจากที่โลกเข้ามาอยู่ในตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (perihelion) ในวันที่ 3 มกราคม ทำให้มองเห็นขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์ใหญ่มากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันดวงจันทร์ก็เคลื่อนไปอยู่ที่ตำแหน่งห่างจากโลกมากที่สุด (apogee) ในวันที่ 17 มกราคม ทำให้มองเห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์เล็กกว่าปกติ แล้วเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลกมาอยู่แนวเดียวกันในวันที่ 15 มกราคม 2553 ดวงจันทร์จึงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์และบังดวงอาทิตย์ไม่มิดทั้งดวง แต่จะมองเห็นดวงอาทิตย์สว่างเป็นวงแหวนโดยมีดวงจันทร์มืดอยู่ตรงกลาง จากปัจจัยหลายอย่างที่กล่าวมามีผลต่อลักษณะและความยาวนานของคราสที่พาดผ่านผิวโลกทั้งสิ้น
รูปที่ 3 แผนภาพแสดงการเกิดสุริยุปราคาแบบต่างๆ
(ที่มา : http://en.wikipedia.org)
รูปที่ 4 แผนที่แสดงปริมาณเมฆเฉลี่ย (คิดเป็น %) ในวันที่ 15 มกราคม 2553
(ที่มา : http://xjubier.free.fr/en/site_pages/solar_eclipses)
สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน และสามารถเห็นได้ทุกภูมิภาค โดยแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน ที่กรุงเทพฯ นั้นดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 14.00 น. และสิ้นสุดเหตุการณ์ในเวลา 16.58 น. ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้จะเกิดนานที่สุดในภาคเหนือ คือ ประมาณ 3 ชั่วโมง 6 นาทีที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 77 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์
ตารางแสดงเวลาที่เกิดสุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย
15 มกราคม 2553
รูปที่ 5 แผนที่แสดงการเกิดสุริยุปราคาในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย วันที่ 15 มกราคม 2553
การชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
การมองดูดวงอาทิตย์โดยตรงด้วยตาเปล่าหรือมองผ่าน viewfinder ของกล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล หรือกล้องดูดาว ต่างทำให้ตาบอดได้ทั้งสิ้น แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวบางๆของดวงอาทิตย์หรือปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ (Baily’s beads) ในช่วงที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงก็ตาม โดยร้อยละ 1 ของผิวดวงอาทิตย์ก็ยังมีความสว่างถึง 1 หมื่นท่าของความสว่างของดวงจันทร์วันเพ็ญ ดังนั้น การสังเกตการณ์สุริยุปราคาเป็นสิ่งที่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะแสงจากดวงอาทิตย์ที่จ้าเกินไป อาจทำลายระบบการมองเห็นของเราจนกระทั่งตาบอดได้ เราจะสามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าได้เฉพาะขณะที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงแล้วเท่านั้น ส่วนในช่วงระหว่างที่กำลังจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง หรือสุริยุปราคาแบบวงแหวน หรือสุริยุปราคาบางส่วน เราจะต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยในการสังเกตดวงอาทิตย์ อุปกรณ์เหล่านี้อาจเป็นอุปกรณ์ที่เราทำได้เองอย่างง่ายๆ ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้สังเกตโดยอ้อมและโดยตรง อุปกรณ์ที่ใช้สังเกตโดยอ้อม เช่น การสังเกตสุริยุปราคาผ่านกล้องรูเข็มหรือการฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ลงบนฉากรับภาพ
รูปที่ 6 แสดงการฉายภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์
(ที่มา : http://sunstopper.wordpress.com)
การใช้กล้องรูเข็ม (pinhole projection method) เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ผ่านกล้องรูเข็ม จะเกิดภาพของดวงอาทิตย์ลักษณะหัวกลับอยู่ข้างหลังกล้องรูเข็ม ถ้านำกระดาษแข็งสีขาวมาเป็นฉากรับภาพ เราจะมองเห็นภาพของดวงอาทิตย์ไปปรากฏบนฉาก ถ้าฉากรับภาพอยู่ใกล้รูเข็ม จะได้ภาพขนาดเล็กสว่างมากและมีขอบภาพคมชัด แต่ถ้าฉากรับภาพอยู่ไกลออกไปจากรูเข็ม จะเห็นภาพดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ขึ้น แต่ขอบภาพจะมัวและภาพสว่างน้อยลง ข้อควรระวัง คือ ห้ามมองดูดวงอาทิตย์ผ่านรูเข็มโดยตรง แต่ให้มองภาพของดวงอาทิตย์จากฉากรับภาพเท่านั้น นอกจากนี้ หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ๆและมีใบ ช่องว่างระหว่างใบไม้จะทำหน้าที่เหมือนรูเข็ม เมื่อแสงดวงอาทิตย์ส่องผ่านช่องระหว่างใบไม้แล้วไปตกบนพื้นหรือผนัง ก็จะปรากฏภาพดวงอาทิตย์เว้าแหว่งบนพื้นหรือผนังด้วย
รูปที่ 7 แสดงการฉายภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องรูเข็ม
(ที่มา : http://www.flickr.com)
รูปที่ 8 แสดงการฉายภาพดวงอาทิตย์ผ่านช่องว่างระหว่างใบไม้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกล้องรูเข็มในธรรมชาติ
(ที่มา : สุริยุปราคาบางส่วน 22 กรกฎาคม 2552 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี)
ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้สังเกตการณ์โดยตรงจะต้องสร้างหรือใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น แผ่นซีดี ดีวีดี กระจกหรือแก้วรมควันสม่ำเสมอจนเป็นสีดำสนิท ฟิล์มกรองแสงรถยนต์ที่ซ้อนกันหลายๆชั้นจนมืดสนิท หรือฟิล์มถ่ายรูปที่เสียแล้วและมืดสนิทนำมาซ้อนกันหลายชั้น หรืออุปกรณ์มาตรฐานที่มีจำหน่าย เช่น แผ่นกรองแสงอาทิตย์แบบต่างๆ โดยแผ่นกรองแสงแต่ละประเภทจะให้ภาพของดวงอาทิตย์ที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์แบบใด ก็พึงระลึกไว้เสมอว่า การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และห้ามดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าเป็นอันขาด
รูปที่ 9 แสดงการใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์สุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
เรียบเรียงโดย : ทวิจรัส สาโรชสกุลชัย
สำนักบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1. http://eclipse.gsfc.nasa.gov/SEmono/ASE2010/ASE2010.html
2. http://www.mreclipse.com/Totality/TotalityCh11.html
3. http://xjubier.free.fr/en/site_pages/eclipses.html
4. http://eclipse.gsfc.nasa.gov/eclipse.html
5. http://en.wikipedia.org
ที่มาจาก http://www.narit.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=494