เทคนิคการเขียนและแต่งนิยายเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ บทที่ 3 ตอนเริ่มและตอนจบนิยาย
มาถึงบทที่ 3 กันแล้วกับเทคนิคเบื้องต้นสำหรับนักเขียนนิยานมือใหม่ ซึ่งพอมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงจะสงสัยว่าไอ้หมอนี่มันเป็นใครทำไมทำมาเป็นสอนคนอื่น ก็ต้องบอกตรงนี้เลยว่าผู้เขียนไม่ได้คิดสอนใคร แต่แค่อยากเอาสิ่งที่ตัวเองมีและรู้ถ่ายทอดให้คนอื่นก็เท่านั้น โดยตัวผู้เขียนมีอาชีพเป็นคนเขียนบทความข่าวเกมการ์ตูนเป็นอาชีพหลัก มีนิยายเรื่อง ย้งยี้สาวน้อยยอดนักสืบ ที่ออกมา 3 เล่มวางจำหน่ายอยู่ตอนนี้ (ใครสนใจไปสั่งซื้อกันได้แอบขายของนิดนึง) และเมื่อปีที่แล้วผู้เขียนรับงานเขียนเรื่องผีส่งช่องยูทปช่องหนึ่ง ใน 1 อาทิตย์ผู้เขียนต้องเขียนเรื่องผีส่งช่อง 3 ครั้ง โดยใน 1 ชุดที่ส่งต้องมีเรื่องผี 4 เรื่อง ผู้เขียนทำงานนี้มาปีเศษคุณคิดว่าผู้เขียนแต่งเรื่องผีไปแล้วกี่เรื่อง นี่ยังไม่นับเรื่องสั้นที่เคยลงที่นี่อีก (ไปย้อนอ่านได้) นี่น่าจะพอให้คุณมั่นใจว่าผู้เขียนไม่ใช่มือใหม่ที่เริ่มหัดเขียนนิยายแน่นอน และเมื่อรู้กันแล้วก็มาต่อตอนที่ 3 กัน โดยคราวนี้จะเป็นการพูดถึงเริ่มเรื่องและจบเรื่องกัน
โดยสิ่งที่จะพูดถึงครั้งนี้มันก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่นักเขียนทุกคนคงจะรู้อยู่แล้วว่านิยาย 1 เรื่องต้องมีตอนต้นและตอนจบ แต่เชื่อไหมว่าร้อยทั้งร้อยไม่ได้คิดตอนจบตอนเริ่มเขียนนิยาย เพราะหลายคนมักจะคิดถึงแค่ไอเดียที่ตัวเองคิดออก พอคิดว่ามันเจ๋งดีเนื้อเรื่องน่าสนใจจากนั้นก็เริ่มลงมือเขียน และก็เขียนไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเนื้อเรื่องตันไปต่อไม่ถูกหรือไม่รู้จะไปจบตรงไหน สุดท้ายก็เทเนื้อเรื่องทิ้งกลางทาง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักเขียนหลายคนเป็น ดังนั้นสิ่งที่คุณควรทำคือคิดตอนจบเอาไว้ตั้งตอนที่เริ่มเขียน หรือถ้าคิดภาพไม่ออกก็คิดถึงนิยายฮีโรเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าพระเอกมีพลังอย่างไร ได้พลังมาตอนไหนและมีชีวิตสุดแสนน่าสนใจแบบใดมีตัวร้ายน่ากลัวขนาดไหน จากนั้นก็คิดไปถึงตอนจบเลยว่าตัวร้ายจะแพ้พระเอกอย่างไรตอนไหนและแบบใด นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอก
และทำไมผู้เขียนถึงได้บอกให้ทำอย่างนั้นรู้ไหม นั่นก็เพราะการทำแบบนี้เราจะสามารถควบคุมเนื้อหาเรื่องราว ไปจนถึงกำหนดจำนวนหน้าจำนวนตอนได้ยังไงละ หรือยกตัวอย่างนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่างคนเขียน Dragon Ball ที่เขาเป็นพวกไม่คิดถึงตอนจบ คือแต่งไปเรื่อยๆ จบตัวร้ายนี้มัตัวร้ายใหม่มา พอคิดมุกไม่ออกก็จัดศึกชิงจ้าวยุทธไม่ก็การประลอง พอพระเอกสู้ไม่ได้ก็รวมร่างไม่ก็มีพลังใหม่ ที่ดูก็รู้เลยว่าเขาไม่ได้คิดตอนจบในตอนเริ่มเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ต่างกับคนเขียน Attack on Titan กับ One Piece ที่ดูก็รู้เลยว่าอาจารย์ผู้เขียนคิดถึงตอนจบเอาไว้ก่อนเขียนเสียอีก ซึ่งถ้าคุณจะถามว่ารู้ได้ยังไง ก็ดูที่เรื่องราวเนื้อหาในการ์ตูนสองเรื่องนี้ดูที่ไหลลื่นไปเรื่อยๆ 1 2 3 4 แบบนี้จนจบไม่มีติดขัด โดยอาจารย์ทั้งสองคนจะคิดตอนจบเอาไว้ ส่วนเนื้อหาระหว่างทางก็ค่อยไปคิดทีหลังว่าจะมีตัวละครไหนอย่างไร แต่โครงเรื่องหลักจนจบแกคิดเอาไว้หมดแล้ว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คุณควรทำ
หรือถ้ายังไม่เห็นภาพก็ลองคิดถึงนิยายที่คุณคิดจะแต่งขึ้นมา 1 เรื่อง เอาเป็นเรื่องสายวายที่พระเอกย้ายบ้านมาอยู่กับนายเอกด้วยความบังเอิญเพราะต้องการแชร์ค่าห้อง (นี่คิดสดๆ เลยนะ) ตัวพระเอกเป็นคนเงียบๆ พูดน้อย แต่นายเอกเป็นคนพูดมากและตอนแรกทั้งคู่ไม่ถูกกัน จนวันหนึ่งทั้งคู่ต้องมาทำงานด้วยกันโดยพระเอกเป็นหมอชันสูตรที่ค้านเรื่องผีแต่นายเอกเป็นคนเห็นผี นั่นคือเรื่องราวช่วงต้นที่คิดออกมา ในช่วงกลางจะเป็นการตามจับคนร้ายฆาตกรต่อเนื่อง และในตอนท้ายคนที่ถูกจับไปก็คือน้องสาวของนายเอกและคนร้ายคืออาจารย์หมอที่สอนทั้งคู่ เพราะแกรู้เรื่องการทำลายศพเลยไม่หลักฐานให้ตามสืบ โดยอาจารย์หมอก็ถูกวิญญาณที่ฆ่ามาฆ่าแก นั่นคือตอนจบของเรื่อง นี่คือตัวอย่างการคิดตอนจบของเรื่องเตรียมไว้ พอเริ่มเขียนคราวนี้คุณจะสามารถเดินไปทางไหนก็ได้ จะปูให้ทั้งคู่ไปเจอคดีอื่นๆ เจอผีหลอกนั่นนี่ แล้วค่อยปูมาที่ฆาตกรโรคจิต ระหว่างที่เนื้อเรื่องฆาตกรโรคจิตมา คุณก็สามารถไปคดีอื่นระหว่าทางได้อีก เพราะคุณมีตอนจบเฉลยแล้วนี่ จะเลี้ยวไปออกทะเลขนาดไหนก็ได้ เพราะสุดท้ายมันก็ต้องจบที่คนร้ายคืออาจารย์หมอ คุณจะแต่งให้ทั้งคู่เริ่มมีใจให้กันระหว่างสืบคดี หรือเจอผีอื่นหลอกหรือแต่งเพิ่มส่วนไหนยังไงก็ได้ จะเขียนยาวขนาดไหนก็ได้ เพราะคุณมีตอนจบรออยู่ เห็นไหมว่าการคิดตอนจบไว้แล้วมันโอเคขนาดไหน
ในทางกลับกันคุณแต่งเรื่องไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีตัวร้ายหลักสืบเป็นคดีๆ ผีแต่ละตัวไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะไม่มีจุดพีคหรือปมให้คนติดตาม และยิ่งเป็นเรื่องยาวการดึงคนอ่านให้ตามเราจนจบนั่นคือประเด็นสำคัญ ซึ่งถ้าคุณมีปมใหญ่อย่างฆาตกรโรคจิตอยู่แล้ว คุณก็แค่ค่อยๆ ปล่อยเรื่องราวของฆาตกรออกมาทีละนิดเพื่อยั่วคนอ่าน จากนั้นก็ใส่คดีหรือเรื่องราวกุ๊กกิ๊กของพระเอกนายเอกลงไป คราวนี้คุณก็จะควบคุมเนื้อเรื่องภาพรวมของเรื่องได้ เพราะเมื่อหมดมุกจะเขียนแล้วก็เอาตัวร้ายออกมาและจบ หรือยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างโคนันที่มีชายชุดดำ เชื่อไหมว่าอาจารย์แกคิดตอนจบไว้แล้ว พอเป็นแบบนั้นแกเลยสามารถแต่งเรื่องไปได้เรื่อยๆ เผยข้อมูลชายชุดดำทีละนิดเพื่อยั่วคนอ่านให้สนใจ ซึ่งวิธีนี้ถ้าใช้ดีๆ จะสามารถเขียนได้ยาวๆ หลายสิบเล่มได้เลย และพอเราอยากจบก็แค่เอาตอนจบที่คิดไว้มาใช้ เพราะไม่ว่ามันจะออกทะเลขนาดไหนมันก็ต้องจบแบบนี้ตามที่เราคิด ดีกว่าจบแบบไม่รู้จะจบยังไง เลยกลายเป็ตอนจบที่คนอ่านด่าคุณคงไม่อยากเป็นแบบนั้นหรอกใช่ไหม
มาถึงตรงนี้หวังว่าบทที่ 3 นี้จะช่วยคุณได้บ้างไม่มากก็น้อย ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องอะไรก็รอติดตามอ่านต่อได้ เพราะคงจะเขียนจนกว่าจะคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรนั่นละ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า
แมวสีฟ้าจากอนาคต....





















