กลไกแอนติคิเธียรา Antikythera Mechanism
ในปี 1900 นักดำน้ำหาฟองน้ำได้ค้นพบ กลไกแอนติไคเธอรา ในซากเรืออับปาง เผยให้เห็นคอมพิวเตอร์อะนาล็อกอายุ 2,000 ปี ที่สามารถทำนายเหตุการณ์ท้องฟ้า และเวลาโอลิมปิกได้ ความลับของมันคงอยู่
กลไกแอนติคิเธียรา (Antikythera Mechanism) คืออุปกรณ์ช่วยคำนวณทางดาราศาสตร์ กลไกนี้สามารถบอกปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในหลายแขนง เช่น เพื่อติดตามการโคจรของดวงจันทร์ ช่วยในการคำนวณการเกิดสุริยคราส และจันทรคราส รวมทั้งใช้ติดตามการโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ เช่น ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ นอกจากนี้ ชาวกรีกยังใช้กลไกแอนติคิเธียราในการคำนวณเพื่อทำนายสุริยุปราคาได้ล่วงหน้านานหลายทศวรรษ ยังใช้เป็นปฏิทินบอกวันเวลา เพื่อให้ชาวกรีกสามารถทราบเวลาที่จะใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งการเพาะปลูก และการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง หรือแม้แต่การคำนวณหารอบเวลาในการแข่งขันกีฬา เพื่อหาวันเวลาอันเป็นวาระที่เหมาะสมในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณ
ความน่าทึ่งของกลไกนี้ก็คือ พบว่า กลไกนี้น่าจะมีอายุราว ๆ 2,200 ปี ในยุคสมัยกรีซโบราณ (Ancient Greece) และด้วยความที่กลไกแต่ละชิ้นประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่มีความละเอียด ซับซ้อน และล้ำหน้า สิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันก็คือ ชาวกรีกสร้างสิ่งนี้มาเพื่ออะไรกันแน่ รวมทั้งคำถามที่ว่า พวกเขาใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรม หรือแม้แต่ในด้านวัสดุศาสตร์ในระดับสูง เพื่อประดิษฐ์และผลิตชิ้นส่วนภายในกลไก ที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนโลหะที่ละเอียดอ่อน ตั้งแต่เข็ม หน้าปัด เรื่อยจนไปถึงฟันเฟืองขนาดต่าง ๆ ที่ดูล้ำยุคเกินกว่าภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในเวลานั้นจะผลิตออกมาได้อย่างไร ยังไม่รวมคำถามที่ว่า กลไกนี้ใช้หลักการใดอ้างอิงวิธีการและผลการคำนวณ
ทำให้กลไกนี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในวัตถุโบราณที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘Out of Place Artifacts’ (OOParts) หรือวัตถุสิ่งประดิษฐ์จากยุคโบราณที่ดูล้ำหน้าผิดจากยุคสมัย ไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ หรือภูมิปัญญาของคนยุคนั้น ๆ ตามข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ เพราะทั้งช่วงเวลาก่อนหน้า และหลังจากที่กลไกนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้น ก็แทบไม่มีการค้นพบสิ่งประดิษฐ์ใด ๆ ที่คล้ายคลึงและใกล้เคียงกับกลไกนี้เลย กว่าที่ชาวยุโรปจะสามารถประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาจักรกล (Mechanical Clock) หรือนาฬิกาไขลานขึ้นมาได้ ก็ต้องรอเวลานานจนเข้าศตวรรษที่ 13 หรืออีกราว ๆ 1,000 ปีหลังจากนั้น
กลไกแอนติคิเธียรา ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1901 หรือเมื่อ 122 ปีที่แล้ว โดย เอเลียส สตาดิอาติส (Elias Stadiatis) นักประดาน้ำค้นหาฟองน้ำทะเลชาวกรีก ได้ค้นพบซากเรือสินค้าของชาวกรีกโบราณที่อับปาง จมอยู่ใต้มหาสมุทรที่ความลึก 45 เมตร (148 ฟุต) นอกชายฝั่งพอยต์กลีฟาเดีย (Point Glyphadia) ใกล้พื้นที่เกาะแอนติคิเธียรา (Antikythera Island) ที่ตั้งอยู่กลางทะเลอีเจียน (Aegean) อันเป็นที่มาของชื่อกลไก ในซากเรือลำนี้ยังมีวัตถุโบราณ รวมทั้งสินค้ามากมายอยู่ภายใน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผา รูปปั้นทองสัมฤทธิ์และหินอ่อน เครื่องแก้ว เครื่องประดับ เหรียญ ฯลฯ แต่สิ่งที่ค้นพบและสร้างความฉงนให้กับนักสำรวจก็คือ มีการพบเครื่องมือบางอย่างที่บรรจุอยู่ในกล่องไม้ กว้าง 34 ซม. ยาว 18 ซม. สูง 9 ซม. ภายในมีชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่นโครงสร้างที่มีอักษรจารึก มีกลไกคล้ายด้ามสำหรับใช้มือจับหมุนด้านข้าง ทั้งหมดทำขึ้นจากสัมฤทธิ์ (โลหะผสมทองแดง) ทั้งด้านหน้าและหลังของกลไกมีหน้าปัดและเข็มชี้สำหรับอ่านผลลัพธ์ หน้าตาคล้ายหน้าปัดนาฬิกา 3 เรือนที่อยู่ในกล่องเดียวกัน โดยที่ชิ้นส่วนของตัวกล่องและแป้นหมุน มีอักษรจารึกไว้ประมาณ 2,000 ตัวอักษร
นอกจากนี้ ก็ยังประกอบไปด้วยฟันเฟืองขนาดต่าง ๆ ราว 30 ชิ้น โดยฟันเฟืองบางชิ้นถูกค้นพบภายหลัง เนื่องจากบางชิ้นส่วนเกิดการผุกร่อนและเข้าไปติดกับเศษหิน ฟันเฟืองชิ้นที่ใหญ่ที่สุดของกลไกนี้ที่มีการค้นพบ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เซนติเมตร และมีฟันเฟืองจำนวน 223 ซี่ รวมชิ้นส่วนทั้งหมดที่ค้นพบรวม 82 ชิ้นส่วน ซึ่งถือว่าเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของกลไกทั้งหมด เพราะเชิ้นส่วนที่เหลือของกลไกราว ๆ 2 ใน 3 ได้สูญหายไปหมดแล้ว ชิ้นส่วนกลไกทั้งหมดที่ถูกค้นพบ ด้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
Cr. : สุชยา เกษจำรัส
ทันโลก
สุชยา เกษจำรัส
ทันโลก