ตำนานเจ้าแม่สุชาดา จังหวัดลำปาง
ตำนานพื้นบ้านเล่าต่อกันมาเมืองลำปางต้องคำสาปจากนางสุชาดา ความเจริญที่มีมากลายเป็นเมืองเงียบร้างราวกับเวลาหยุดเดิน ทว่าคำสาปทำให้ลำปางแตกต่าง ความเงียบ ความเก่ากลายเป็นความงาม กลับกลายเป็นว่าเมืองที่ไม่หมุนตามเวลาคือเมืองต้องห้ามที่น่าไป
ตำนานเจ้าแม่สุชาดา
พุทธศักราชล่วงไป 1,000 ปี ณ เมืองกุกกุฏนคร สาวกศิษย์ตถาคตเจ้าได้จุติมายังโลกมนุษย์ บรรพชาเป็นพระภิกษุ ปฏิบัติศาศนกิจจนได้เป็นพระมหาเถระ และเทพธิดาองค์หนึ่งก็ได้จุติมาเกิดเป็นหญิงนามว่า "สุชาดา" เป็นผู้มีศีลจาคะและศรัทธาในบวรพุทธศาสนา นางมีอาชีพทำสวนดอกไม้ ปลูกพืชผัก ทำไร่ฟักแฟง แตงโม (หมากเต้า)
ที่สวนแห่งนี้ต่อมาคือวัดสุชาดา สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แม่เฒ่าโดยให้ชื่อว่า "วัดสุชาดา"ปัจจุบันได้รวมกับ
วัดพระแก้วดอนเต้า และได้ชื่อใหม่ว่า "วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม"
นางสุชาดามีสิตปสาทะศรัทธา ปรารถนาจะสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นที่ไหว้สาเจริญพุทธานุสติ มหาเถระเจ้าก็เพียรเสาะแสวงหาช่างที่ชำนาญการแกะสลักไม้จันทน์ให้เป็นพระพุทธรูปแต่ก็ไม่พานพบ อยู่มาวันหนึ่งบังเกิดสุภนิมิตมหัศจรรย์ปรากฎพญานาคผู้รักษาแม่น้ำวังกนที ได้นำแก้วบัวระกตมาแต่เมืองนาคแล้วเนรมิตบรรจุไว้ในหมากเต้าในสวนของนางสุชาดา เมื่อนางไปพบหมากเต้าที่มีวรรณะอันงดงามนั้นจึงปรารถนาจะนำเอาไปถวายแด่มหาเถระเจ้า
เมื่อมหาเถระเจ้าพินิจพิเคราะห์หมากเต้าอันงามยิ่งนั้น ก็ประจักษ์ว่าเป็นแก้วบัวระกตทั้งลูก จึงปรึกษากับนางสุชาดาว่าเราจะเอาแก้วบัวระกตลูกนี้แกะสลักให้เป็นพระพุทธรูปให้จงได้ แล้วท่านก็เพียรพยายามและสลักเองแต่ก็ไม่สำเร็จดังตั้งใจ ร้อนถึงท้าวสหัสนัยน์ต้องเสด็จลงมาจากแดนสวรรค์ จำแลงกายเป็นชายชรา เข้าไปอาสามหาเถระแกะสลักพระพุทธรูปถวาย แล้วก็เนรมิตแก้วบัวระกตนั้นเป็นพระพุทธรูปอันงดงาม จากนั้นก็หายตัวไปในทันที
เรื่องราวของพระเจ้าแก้วบัวระกตเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ประชาชนต่างหลั่งไหลมาชื่นชนสักการะ มีการจัดงานฉลองสมโภชน์ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ฐานะที่ตั้งวัดดอนเต้าก็ได้ชื่อว่า "วัดพระแก้วดอนเต้า" แต่นั้นมา
"นัตถิโลเก อนินทิโต" คนที่ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก
ในโลกสงสารนี้คนชั่วก็มี คนดีก็มาก มีคนที่เห็นเขาได้ดีกว่าตนก็ทนไม่ได้ ความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำ หลายคนตั้งข้อกล่าวหาว่าร้ายนางสุชาดากับมหาเถระว่ากระทำมิจฉาจารด้วยกัน
เรื่องเล่าลือนี้ล่วงรู้ถึงท้าวพญาเจ้าเมืองกุกกุฏะนครด้วยโมหคติหุนหันพลันแล่นไม่พิจารณาความให้แน่ชัด ทรงออกคำสั่งให้จับตัวนางสุชาดาไปประหารที่ริมฝั่งวังกนทีทันที
ขณะที่ถูกนำตัวออกไปทางประตู นางสุชาดาได้เหลียวหน้ากลับมากระทำการนบน้อมนมัสการพระมหาเจดีย์ธาตุ พระแก้วบัวระกตเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต (ณ ที่แห่งนี้พุทธศาสนิกชนได้สร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า "วัดนางเหลียว" เพื่ออุทิศกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่นางสุชาดา)
เพชฌฆาตได้นำนางข้ามแม่น้ำมายังอีกฟาก (บริเวณที่นำนางข้ามมานั้นเรียกกันในเวลาต่อมาว่า "ท่านางลอย") และเข้าสู่พื้นที่ประหารปรากฎชื่อหมู่บ้านนี้ในเวลาต่อมาว่า "บ้านวังย่าเฒ่า" อันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เจ้าแม่สุชาดา ในปัจจุบันนี้
ณ หลักประหารนางได้ตั้งสัตยาธิษฐาน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่านางมิได้กระทำผิดมิจฉาจารแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อถูกประหารขออย่าให้เลือดของนางไหลโลมลงดิน และนางปรารถนาให้ผู้คิดดีคิดชอบมิได้คิดร้ายต่อนางจงมีแต่ความสุขความเจริญทุกประการ ต่อไปในภายภาคหน้าขอให้คนทั้งหลายระลึกถึงนางและมาร่วม สละสลุงทำบุญอุทิศให้นาง จงพบแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ตลอดไป
นางถูกตัดศีรษะเลือดพวยพุ่งขึ้นท้องฟ้า ประชาชนทั้งหลายเห็นนิมิตอันแปลกมหัศจรรย์จึงไปทูลให้เจ้าเมืองทรงทราบ
พญาเจ้าเมืองได้ยินข่าวแล้วก็บังเกิดธรรมสังเวชเป็นอันมากถึงกับอกแตกตายในบัดเดียวนั้น
ฝ่ายพระมหาเถระเกรงภัยมาถึงตัวจึงได้นำเอาพระแก้วบัวระกตหนีไปยังวัดลัมภะกัปปะ(วัดพระธาตุลำปางหลวง) พระแก้วบัวระกตจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จังหวัดลำปาง สืบมาจนถึงทุกวันนี้
และในบริเวณศาลเจ้าแม่สุชาดา ยังมีองค์รูปเหมือนหลวงพ่อเกษม เขมโก อริยะสงฆ์เจ้า ของจังหวัดลำปาง ที่ชาวลำปาง และประชาชนทั่วสารทิศ ให้ความเสื่อมใสศรัทธาตั้งประดิษฐาน เพื่อให้ประชาชนสักการะขอพร ด้วย
#สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนรุ่นใหม่ต้องมา
อ้างอิงจาก: มูลนิธิเจ้าแม่สุชาดา(วังย่าเฒ่า) หลวงพ่อเกษม เขมโกอุปถัมภ์