หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

บทความทางวิชาการ ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ เรื่อง ภาวะผู้นำขององค์ทะไลลามะเพื่อสันติภาพสากล

โพสท์โดย Sirawat Kro0404

ภาวะผู้นำขององค์ทะไลลามะเพื่อสันติภาพสากล

Leadership of His Holiness the Dalai Lama for World Peace

                                                                                     นายศิรวัฒน์ ครองบุญ[1] Sirawat Krongbun

 บทคัดย่อ

องค์ทะไลลามะทรงเป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นิยมแนวทางสันติวิธี และเสรีภาพ ทรงเป็นเสียงประกาศพระพุทธศาสนา ได้รับการโหวตให้เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุด ด้านความเป็นผู้นำ และการสร้างความเป็นเปลี่ยนแปลงต่อประชาคมโลกท่ามกลางกระแสร้อนระอุ ของสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของจีน ที่มุ่งยึดครองทิเบต และการเบียดเบียนระหว่างชนชาติตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา พระองค์ทรงยึดมั่นในวิถีทางแห่งสันติและเมตตา ทรงเป็นผู้นำที่โดดเด่นด้านสิทธิมนุษยชนด้านสันติภาพ ด้านอนุรักษ์วัฒนธรรม และที่สำคัญพระองค์ทรงเป็นผู้นำที่ไม่เคยสิ้นหวัง ทรงเสด็จไปที่องค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องเสรีภาพ การอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม ให้กับทิเบต ในรูปแบบเขตปกครองตนเองทิเบต มิใช่เรียกร้องการแยกประเทศ มีการปกครองแบบประชาธิปไตย และมีคณะรัฐมนตรีที่ทำงานบริหารเขตปกครองตนเอง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ยินดีมอบอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศ และการตัดสินใจส่วนกลางอื่นๆ ให้กับรัฐบาลจีน โดยถือว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน หนทางที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพได้นั้น ต้องรู้สาเหตุของความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง การนิยมความรุนแรง หรือทัศนคติที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ที่สำคัญคือ การพูดคุยเจรจาและการเคารพซึ่งกันและกัน ของสังคมโลก โดยที่ศาสนาทุกศาสนาที่มีแนวคิดเรื่องความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดสันติภาพสากลขึ้นในโลกได้อย่างแท้จริง

คำสำคัญ : ภาวะผู้นำ, องค์ทะไลลามะ, สันติภาพสากล  

 

Abstract

His Holiness the Dalai Lama is the great man, who supports freedom and peaceful way. He is considered as a Buddhist’s surrogate mouthpiece. He was voted to be one of the most influential people in the world in leadership and motivation global community to change the world about war atmosphere of genocide of Tibet, which has been threatened and attempted to hold by the Republic of China for decades. He believes in merciful and peaceful way. He is the outstanding leader in human rights, world peace, and cultural conservation. He has never been despair. He has gone to the United Nations to request for freedom and conservation of Tibetan way of life and culture as Autonomous Region, which is democratic form of government with the Council of Ministers to administrate Tibetan Autonomous Region in social, economics and culture, however, Tibet is willing to give authority of determination of foreign policy and other empowerment to the Government of China by considering Tibet as a part of the Republic of China, not isolated country. To be on the way leading to world peace is to know the cause of conflicts: politics, violence and self-centered attitude. The best way leading to world peace is to communicate and respect each other among global community. Each religion, which teaching is about sympathy and empathy for mankind, should push forward world peace to truly happen.

Keywords: Leadership, His Holiness the Dalai Lama, World Peace

 บทนำ

ชาวทิเบตมีทัศนคติว่า จีนทำลายล้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาของตน เมื่อจีนเข้ายึดครองทิเบต ได้ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวของทิเบตอย่างเป็นระบบ โดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ทำลายศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัตถุทางศาสนา ผู้นำท้องถิ่นต่างๆ ตลอดจนลามะต่างถูกจำคุก ทรมาน และฆ่าฟัน วัดวาอารามของชาวพุทธมากกว่า 6,000 แห่งถูกทำลาย สัญลักษณ์หรือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หากไม่ถูกทำลายก็ถูกขายทอดตลาด สิ่งนี้ได้ทำลายความรู้สึกของชาวทิเบตที่มีชีวิตผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก สิ่งที่ชาวทิเบตหวาดกลัวที่สุดคือ การไหลบ่าของพลเมืองจีนเข้ามาในทิเบต ประชาชนทิเบตปัจจุบันเริ่มเอาอย่างประชาชนจีน ทำให้อารยธรรมทิเบตโบราณถูกครอบงำ ซึ่งผลจากการโยกย้ายประชากรโดยทั่วไปแล้วสามารถเรียกได้ว่า ชาวทิเบตสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง รวมทั้งวงจรสังคม ผลกระทบที่รุนแรงที่สุด คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวทิเบต ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างของประชาชนและวัฒนธรรมขึ้น นอกจากนี้ นโยบายของจีนที่อนุญาตให้มีบุตรเพียงคนเดียว ทำให้ผู้หญิงทิเบตหลายพันคนถูกบังคับให้ทำแท้งและทำหมัน ซึ่งขัดกับความเชื่อทางศาสนา และยังสร้างความไม่สมดุลของประชากรระหว่างจีนกับทิเบตอีกด้วย

ชาวทิเบตรู้สึกว่า จีนมาตักตวงผลประโยชน์ ทุ่มงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล การที่รัฐบาลจีนพัฒนาทิเบตเพียงเพื่อรองรับปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรของจีน โดยสนับสนุนให้คนอพยพเข้าไปสู่เขตพัฒนาใหม่ การลงทุนสร้างทางรถไฟสายใหม่ “ชิงไห่-ทิเบต” ก็เพื่อสร้างโอกาสในการกระจายคนเข้าไปอยู่อาศัย ใช้สอยทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การที่ชาวฮั่นที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในทิเบต ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมทิเบตแทบจะเลือนหายไปหมด อีกประเด็นหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ ชาวทิเบตไม่รู้หนังสือเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขาเสียเปรียบชาวฮั่นที่อพยพเข้ามาทำมาหากินในทิเบต และกอบโกยผลประโยชน์ทุกๆ อย่าง จากการค้า การท่องเที่ยว รัฐบาลจีนสนใจแต่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวจีน โดยไม่ใส่ใจโครงการพัฒนาทางด้านสังคมอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวทิเบตเลย

ไม่ว่าสาเหตุของความขัดแย้งแท้จริงจะเป็นอย่างไร ประเด็นของทิเบตก็เป็นที่สนใจต่อสาธารณชนมากมาย ทุกวันนี้มีกลุ่มผู้สนับสนุนทิเบตประมาณ 300 กลุ่มในกว่า 30 ประเทศ มีกลุ่มพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนทิเบตมากกว่า 12 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1985 ประเด็นของชาวทิเบต ได้ถูกหยิบยกโดยกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN) ในการประชุมต่างๆ ที่ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี

                จีนใช้ยุทธวิธีที่จะเอาชนะเหนือทิเบตล้ำลึกยิ่งขึ้นมีการสร้างมาตรการจูงใจ เพื่อให้ชาวจีนจำนวนมากหลั่งไหลสู่ดินแดนอันทุรกันดารในทิเบต ตัวอย่างเช่น ในมณฑลโกโกนอร์ตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต อันเป็นมาตุภูมิขององค์ทะไลลามะ มีคนจีนประมาณ 3.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนชาวทิเบต 500,000 คน องค์ทะไลลามะ ทรงเสนอแผนการแปรทิเบต ให้เป็นดินแดนแห่งสันติ เคารพสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและเสรีภาพ ตามแนวทางของประชาธิปไตยสำหรับชาวทิเบต ยุตินโยบายขยายประชากรจีน เข้ามาในทิเบต พิทักษ์ปกป้อง และพื้นคืนสิ่งแวดล้อมของทิเบต และให้มีการเจรจาในทางสัมพันธไมตรีอย่างจริงใจ พระองค์ไม่เพียงทรงสอนให้ผู้คนตระหนักถึงแก่นแท้ ของความเป็นมนุษย์ ในการรักและเมตตากรุณาต่อผู้อื่น หากยังทรงดำรงตนเป็นแบบอย่างอันประเสริฐให้แก่ผู้คน แนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่พระองค์ทรงมอบไว้ให้ ไม่เพียงจะนำสันติสุขมาสู่ใจของผู้นำไปประพฤติปฏิบัติ หากเมื่อเราต่างเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน โลกของเราค่อนข้างมีความสับสนวุ่นวาย ทั้งจากผู้ก่อการร้าย การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน องค์ทะไลลามะแม้ทรงลี้ภัยที่อินเดีย แต่พระองค์ก็ทรงเสนอและรณรงค์ให้ทิเบตเป็นเขตสันติภาพ ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ตามแนวเทือกเขาหิมาลัยได้ดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสันติสุข

องค์ทะไลลามะ ทรงใช้ทั้งพระวจนะและการกระทำ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า หลักจริยธรรม และศีลธรรมขั้นสูงมักจะถูกบดบังครอบงำด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงทางการเมือง เครื่องมือของวัฒนธรรมทางการเมืองได้ทำลายอุดมการณ์ และความคิดที่มุ่งหมาย เพื่อประโยชน์โสตถิผลของมนุษย์ พระองค์ทรงตั้งคำถามกับข้อสมมติฐานที่ว่า ศาสนาและจริยธรรม ไม่มีตำแหน่งแห่งหนให้อยู่ในพื้นที่ของการเมือง และผู้ที่ถือบวชในศาสนา ควรจะแยกตัวไปเป็นฤาษีชีไพร จริยธรรมนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อนักการเมือง เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรมในศาสนา คุณสมบัติของมนุษย์ อาทิ การมีศีลธรรม    มีเมตตากรุณา รู้จักรับผิดชอบชั่วดี และมีปัญญา เหล่านี้เป็นพื้นฐานของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ ยุทธศาสตร์ภาวะผู้นำในโลกของการเปลี่ยนแปลงขององค์ทะไลลามะนั้น พระองค์ทรงแสดงให้ชาวโลกเห็นกลยุทธ์ภาวะผู้นำในการบริหารในด้านต่างๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ อิสรภาพให้กับชาวทิเบต และเป็นแบบอย่างให้กับชาวโลกทั้งมวล

เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงเป็นผู้นำในดวงใจของชาวทิเบต และของโลก และหลักแนวคิดคำสอนของท่านได้รับการตอบรับจากนานาอารยประเทศ ในด้านความรู้ มหาวิทยาลัยและสถาบัน ในประเทศตะวันตก เป็นจำนวนมาก ได้ทูลถวายรางวัลสันติภาพ และ ถวายปริญญาบัตรแด่พระองค์ ในเรื่องรางวัลระดับโลก คณะกรรมการรางวัลโนเบล ประเทศนอรเวย์ ได้มอบ "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ" แด่พระองค์ ใน ปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ด้วยเหตุผลว่า "คณะกรรมการ ต้องการเน้นความเป็นจริงที่องค์ทะไลลามะ ได้พยายามต่อสู้ อย่างต่อเนื่อง และอย่างสันติ เพื่อปลดปล่อยทิเบต ทรงเสนอหนทางแก้ไขปัญหา  โดยเน้น เรื่องความอดทน และการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อคุ้มครองมรดกทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประชาชนทิเบต"

 ความศรัทธาของชาวทิเบตต่อองค์ทะไลลามะ

ตามประวัติศาสตร์ของทิเบต เชื่อว่า องค์ทะไลลามะ เป็นอวตารในร่างมนุษย์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์      พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ผู้ทรงถือดอกบัวขาว[2] และเมื่อองค์ทะไลลามะองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ไป จะกลับชาติมาประสูติใหม่เป็นองค์ทะไลลามะองค์ต่อไป โดยเรทิงรินโปเช ซึ่งเป็นพระสงฆ์ระดับรองลงมา จะเป็นผู้ใช้นิมิตสรรหาเด็กคนที่เชื่อว่า          เป็นทะไลลามะกลับชาติมาเกิด ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด และการเข้าทรงของชาวทิเบตนั้น เป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในสายเลือด การกลับชาติมาเกิด ชาวทิเบต เรียกว่า “ตุลกู” หมายถึง ผู้ที่เลือกที่จะกลับมาเกิดใหม่ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของตนต่อไป หรือเลือกที่จะมาเกิดเพื่อโปรดสัตว์ เพื่อช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ชาวทิเบตนั้น มีความผูกพันกับองค์ทะไลลามะอย่าง จับจิตจับใจ และไม่อาจพรรณนาได้ ชาวทิเบตถือว่า องค์ทะไลลามะ ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติทิเบตทั้งมวล นั่นคือความงามของประเทศ ความบริสุทธิ์ของแม่น้ำและทะเลสาบ ความสุกสกาวของท้องฟ้า ความหนักแน่นของขุนเขา และความเข้มแข็งของประชากรชาวทิเบต[3]

ในปี พ.ศ.2493 ขณะพระชนมายุสิบหกพรรษา และทรงยังมีภารกิจในการศึกษาหลักธรรมอย่างเคร่งครัดอีกกว่าเก้าปี องค์ทะไลลามะจำต้องเสด็จขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองอย่างเต็มตัว เมื่อจีนรุกรานทิเบต เดือนมีนาคม พ.ศ.2502 ขณะที่ประชาชนชาวทิเบตลุกฮือขึ้นทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านการยึดครองของกองทัพจีน องค์ทะไลลามะได้เสด็จลี้ภัย และนับเนื่องแต่นั้น พระองค์ก็ทรงประทับอยู่ที่เมืองธรรมศาลา[4] เมืองในแถบภูดอยเล็กๆ เชิงเทือกเขาหิมาลัยในเขตประเทศอินเดีย อันเป็นที่ตั้งของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต[5] ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการ Central Tibetan Administration of H.H. the Dalai Lama หรือเรียกย่อๆ ว่า CTA (Central Tibetan Administration) แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกกันว่า Tibetan Government-in-Exile ตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[6]

องค์ทะไลลามะ คือ ตำแหน่งสูงสุดในประเทศทิเบต ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นผู้นำทางการเมือง การปกครอง ทรงมีตำหนักโปตาลา และตำหนักนอร์บูลิงกา เป็นที่ประทับและเป็นสถานที่สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรี ชาวทิเบตเปลี่ยนจากเผ่าพันธุ์ที่ดุดันและชอบรบพุ่ง มาเป็นชาวพุทธ ผู้อารีย์และรักสงบ จนกระทั่งถูกประเทศจีนบุกเข้ายึดครอง องค์    ทะไลลามะต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดีย

พระพุทธศาสนาในทิเบต มี 4 นิกาย

พระทิเบตจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนา ทั้งจากจีนและอินเดีย มีการแปลคัมภีร์เป็นภาษาทิเบตเป็นจำนวนมาก ทำให้คำสอนของพระพุทธศาสนาแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 เรื่อยมา พระพุทธศาสนาใน ทิเบตมีความเจริญและแตกเป็นนิกายต่าง ๆ 4 นิกาย[7] คือ

  1. นิกายญิงมาปะ (Rnin-ma-pa ) ให้กำเนิดโดยท่านคุรุปัทมะสัมภวะ ภิกษุชาวแค็ซเมียร์ กษัตริย์ตริซอง เด็ทเซ็น ได้อาราธนาไปวางรากฐานพระพุทธศาสนาในทิเบต ระหว่างพุทธศักราช (1308-1363) ท่านได้ตั้งคณะสงฆ์ชาวทิเบตขึ้น มีการแปลพุทธธรรม และบทบัญญัติต่างๆ เป็นภาษาทิเบต เมื่อท่านมรณภาพแล้วได้มีคณาจารย์สืบต่อกันเรื่อยมา เป็นพุทธศาสนาแบบตันตระ (Tantra) สวมหมวกแดง เครื่องแต่งกายสีแดง
  2. นิกายการยุดปะ ((Bka-rgyud-pa) ก่อตั้งโดยท่านนาโรปะ (Naropa พ.ศ.1555-1642) ภิกษุชาวอินเดีย นิกายนี้นิยมสีขาว ในการประกอบพิธี บางครั้งพระจะห่มผ้าสีขาว กำแพงวัด วิหารล้วนนิยม สีขาว จึงมักนิยมเรียกนิกายนี้ว่า นิกายขาว (White Sect) พระในนิกายนี้ที่โด่งดังมากที่สุดรูปหนึ่งคือท่านมิราเลปะ (Milarepa) ผู้ประพันธ์ A Hundred Thousand Songs)
  3. นิกายศักเกียะ[8] (Sakya) ก่อตั้งโดยท่านอติษะ (Atisa พ.ศ.1536-1593) ชาวอินเดีย นิกายนี้มีความเชื่อว่าสัจธรรมของพระโพธิสัตว์ สามารถจะบรรลุได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาตามลำดับขั้น ต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด และหมั่นศึกษาพุทธธรรมอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังเน้นที่การประสานงานระหว่างอาจารย์ลูกศิษย์ สัจธรรมจนกลายเป็นหนึ่งเดียว
  4. เกลุกปะ (Dge-lugs-pa) ก่อตั้งโดยท่านซองขะปะ (Tson kha-pa พ.ศ.1890-1962) ภิกษุชาวทิเบต ซึ่งปฏิรูปมาจากคำสอนของท่านอติษะ แห่งนิกายศากยะ เมื่อเริ่มก่อตั้งเรียกว่า คาแดมปะ (Kha-dam-pa) ซึ่งเน้นหนักที่มายาศาสตร์ โดยเน้นที่ความเป็นเลิศทางศีลธรรมและสติปัญญา พระในนิกายนี้นิยมเรียกว่า พระหมวกเหลือง

ปัจจุบันทิเบต มีทะไลลามะองค์ที่ 14 มีพระนามว่า จัมเฟล ลอบซัง เยเซ เท็นซิน กยัตโส (ชื่อเดิมคือ ลาโม ทอนดุป) ลูกชายชาวนาแห่งหมู่บ้านตักเซอร์ แคว้นอัมโด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชายแดนระหว่างทิเบตกับจีน ทิเบตมีนายกรัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง คือ ลามะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และนายกรัฐมนตรีฆราวาสเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนทะไลลามะ เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ที่ตัวเองต้องลี้ภัยในทางการเมือง มีรัฐบาลที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศของตน แต่ที่ทำการรัฐบาลตั้งอยู่ในเมืองธรรมศาลาหรือ ธรัมศาลา (Dharamsala ) ประเทศอินเดีย ในปี 2532 พระองค์ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ[9] มีเพียงประเทศ

เดียวในโลกที่ประมุขของประเทศเป็นพระสงฆ์ คือ ทะไลลามะแห่งทิเบต

องค์ทะไลลามะ ยังคงเดินทางพบปะผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้จะมีนัยแอบแฝงทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่มีผลตามมา คือ ชาวโลกได้รู้จักพระพุทธศาสนามากขึ้น และมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายท่านหันมานับถือพระพุทธศาสนาตันตรยานแบบทิเบต ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีงานใหญ่เฉลิมฉลองในกลุ่มชาวทิเบตที่เมืองธรรมศาลาประเทศอินเดีย ในช่วงเวลานั้น จะมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากทุกมุมโลกเดินทางมาร่วมงาน

องค์ทะไลลามะ ได้ทรงประกาศในกระแสพระราชดำรัสถึงประชากรทั้งมวลว่า “จำเดิมแต่เราเป็นประมุขทั้งในศาสนา และอาณาจักร เราไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเวลาสำหรับสนุก เราคิดถึงงานของชาติ และพระศาสนา ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้แต่ละคนดีขึ้นอย่างมากที่สุด เราต้องคิดถึงความเป็นอยู่ของกสิกร จะแก้ไขทุกข์พวกนั้นได้อย่างไร จะเบิกทางได้อย่างไร ให้แก่ความยุติธรรม ความทำงานโดยรวดเร็ว และการกระทำอันปราศจากฉันทาคติ”[10]

 เขตการปกครองตนเองทิเบตตั้งอยู่บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็น “หลังคาโลก” โดยมีความสูงของพื้นที่โดยเฉลี่ย 4,572 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1,200,000 ตร.กม. ทิเบตแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 จังหวัด โดยมีเมืองลาซ่าเป็นเมืองหลวง และเขตจังหวัดอื่นๆ อีกได้แก่ น่าชูตี้ชู (Nagchu Prefecture) ชางตูตี้ชู (Chamdo Prefecture) หลินจือตี้ชู (Nyingtri Prefecture) ชานหนานตี้ชู (Shannan Prefecture) ลื่อคาเสอตี้ชู (Shigatse Prefecture) อาหลี่ตี้ชู (Ngari Prefecture) ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองทิเบต มีประชากรมากกว่าสามพันล้านคน

 2.ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในทิเบต[11]

ทิเบตเคยเป็นรัฐอิสระ แต่ถูกจีนใช้กำลังยึดครองเมื่อปี 2502 โดยอ้างว่า เพื่อต้องการปลดปล่อยและพัฒนาประเทศทิเบต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนได้พยายามที่จะลบชาวทิเบตและวัฒนธรรมทิเบตให้หายไปจากแผนที่โลก การสืบสวนของคณะกรรมการนักกฎหมายนานาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2503 พบว่า จีนได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทิเบตประมาณ 1.2 ล้านคน      วัดวาอารามและสถาบันการศึกษากว่า 6,000 แห่ง ถูกทำลาย ชาวทิเบตถูกลิดรอนสิทธิ์ในการแสดงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพูด การแสดงความคิดเห็น การเคลื่อนไหว และการนับถือศาสนาของตน สตรีทิเบตถูกบังคับให้ทำแท้งและทำหมัน เยาวชนทิเบตถูกกีดกันด้านการศึกษา การจับกุม การปราบปราม การลงโทษ และการคุมขังได้ถูกกระทำตามอำเภอใจตลอดระยะเวลา 45 ปี อนึ่ง ชาวจีนประมาณ 7.5 ล้านคน ได้อพยพเข้าไปอยู่ที่ทิเบต ทำให้ชาวทิเบตประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ต้องกลายเป็นคนกลุ่มน้อย

หลังจากราชวงศ์ชิงได้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.2187 (ค.ศ.1644) ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการปกครองควบคุมทิเบตอย่างใกล้ชิด ทำให้อำนาจการบริหารปกครองของรัฐบาลกลาง เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบยิ่งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2270   (ค.ศ.1727) ราชวงค์ชิง ได้ส่งเสนาบดีไปประจำทิเบต เพื่อเป็นตัวแทนของส่วนกลาง กำกับดูแลกิจกรรมบริหารส่วนท้องถิ่นของทิเบต

ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ราชอาณาจักรทิเบตประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน แต่จีนยังมีอิทธิพลต่อการเมืองภายในทิเบต และยังมีอำนาจปกครองทิเบตในคามและอัมโด จนถึง พ.ศ.2501 จีนบุกเข้าทิเบตและก่อตั้งเขตปกครองพิเศษขึ้น

การรุกรานของจีน มีเหตุผลสามประการที่ก่อให้จีนอยากได้ทิเบต

  1. ทิเบตมีดินแดนที่กว้างขวางแต่มีประชากรเพียง 3-8 ล้าน จีนมีพลเมืองถึง 1.357 ล้าน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเทศจีนมักประสบทุพภิกขภัย ซึ่งต่างจากทิเบต จึงอยากได้ทิเบตเข้าไว้ในการปกครอง
  2. ประเทศจีนมีทรัพยากรมาก ยังไม่ได้นำเอามาใช้ เพราะไม่เคยคิดว่าร่ำรวยกันในทางโลก จีนอ้างว่า พัฒนาให้ทิเบตได้มาก แต่ข้อเท็จจริง การพัฒนานั้นมิใช่เพื่อชาวทิเบต หากแต่เพื่อชาวจีน
  3. ประเทศจีนประสงค์จะปกครองทั่วทวีปเอเชีย โดยเฉพาะทิเบต เพราะทิเบตมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาก ภูเขาสูงๆ เหมาะสำหรับฐานทัพจรวดสมัยใหม่ อันจะส่งโจมตีอินเดีย ปากีสถาน พม่าและประเทศอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ แล้วจีนก็จะได้ยึดครองประเทศนั้น

เมื่อประเทศจีนแผ่ขยายอำนาจ องค์ทะไลลามะ ตรัสย้ำว่า ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ด้วยความหวังอย่างเดียว คือขอทำการต่างๆ เพื่อเตือนโลกให้สหประชาชาติ บอกให้โลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในทิเบต และอะไรกำลังเกิดขึ้นอยู่ที่นั่น นอกจากนี้ ข้าพเจ้า ก็ได้แต่เอาใจใส่ต่อชาวทิเบตที่ลี้ภัยมากับข้าพเจ้า และวางแผนเพื่ออนาคต ผู้ลี้ภัยทั้งหลายนี้แตกกระส่านซ่านเซ็นไปตามที่ต่างๆ ในอินเดีย ภูฐาน สิขิม และเนปาล ชนชั้นนำในอินเดีย ได้ตั้งกรรมการกลางขึ้น ช่วยผู้ลี้ภัยชาวทิเบต และองค์การอื่นๆ ในประเทศต่างๆ ก็ส่งเงิน อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนยารักษาโรคมาช่วยรัฐบาล อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็ส่งของมาช่วยการศึกษา รัฐบาลเวียดนามก็ได้ให้ข้าว จึงกล่าวได้ว่า องค์ทะไลลามะ ได้รับการยอมรับอย่างมากในสายตาผู้นำโลก

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับทิเบตไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในวันสองวัน หากเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนามนับศตวรรษ ทิเบต เปรียบเสมือน “ขุมสมบัติแห่งทิศประจิม” (ในภาษาจีน ผืนแผ่นดินทิเบต ถูกเรียกว่า “ซีจั๊ง” หมายถึง ขุมสมบัติแห่งทิศประจิม) ด้วยสถานะดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางความมั่นคงของจีน เป็นรัฐกันชนแบ่งประเทศจีนกับประเทศอินเดีย เป็นเส้นทางการค้าสายประวัติศาสตร์ในอดีต (เส้นทางสายไหมหรือ SilkRoad) และปัจจุบันที่จะเป็นประตูทางการค้าเชื่อมระหว่างสองมหาอำนาจใหม่อย่างจีนและอินเดีย

ห้าสิบปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของจีน วิถีชีวิต สภาพบ้านเมือง และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในทิเบตถูกทำลายลงไปมาก สิ่งที่องค์ทะไลลามะเป็นห่วงและต้องการมากยิ่งกว่าการได้ประเทศคืน คือการได้ปกป้องทิเบตจากการถูกคุกคามทำลายธรรมชาติ และลิดรอนสิทธิ ในการมีชีวิตและความเชื่อแบบทิเบต แม้ว่า สิทธิในการเรียกร้องอิสรภาพ เป็นประเทศอิสระนั้น  เป็นของชาวทิเบตและองค์ดาไลลามะอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมองจากมุมมอง หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใด แต่องค์ทะไลลามะและชาวทิเบตส่วนใหญ่ ก็เลือกที่จะรักษาสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนยิ่งกว่าการมีประเทศเป็นของตนเอง รูปแบบเขตปกครองตนเองที่องค์ทะไลลามะเรียกร้องนั้น คือการที่จีนอนุญาตให้ทิเบตมีรูปแบบการดำรงชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ทุนนิยมเสรีจากรัฐบาลจีน ทิเบตต้องการเป็นเขตปลอดทหารและอาวุธ รวมถึงการทดลองนิวเคลียร์

สิ่งที่ทิเบตต้องการจะทำและทำได้จริงๆ คือ การเรียกร้องความเห็นใจจากโลกและจีน ให้มาดูแลเอาใจใส่แก้ปัญหาทิเบตอย่างจริงๆ จังๆ ให้โอกาสทิเบตได้ปกครองตนเองอย่างแท้จริง ให้มีโอกาสใช้ชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างสงบสุข และทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในประเทศทั้งสองนั่นเอง

 3.แผนสันติภาพ 5 ประการ

ตลอดระยะเวลาที่องค์ทะไลลามะต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพนั้น พระองค์ไม่เคยคำนึงถึงตัวเอง แต่ทรงคำนึงถึงสิทธิความเป็นอยู่ และอิสรภาพของประชาชนชายหญิง 6 ล้านคน สิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ คือ ความสามารถในการสร้างสรรค์ ในการนี้ประชาชนต้องเป็นอิสระ ในฐานะที่เป็นผู้อพยพมานานถึง 31 ปี ท้ายที่สุด ประชาชนชาวทิเบตต้องได้รับอิสรภาพ สอดคล้องกับแผนสันติภาพ 5 ประการ[12] ซึ่งองค์ทะไลลามะได้กล่าวสุนทรพจน์ ที่แคปปิตอลฮิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ใจความว่า

  1. ให้มีการยกระดับให้ทิเบตเป็นเขตสันติภาพ
  2. ยกเลิกนโยบายการขนย้ายประชากรจีนเข้าสู่ทิเบต อันเป็นการข่มขู่ความอยู่รอดของชาวทิเบตในฐานะชนชาติ
  3. ให้เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอิสรภาพในประชาธิปไตยของชาวทิเบต
  4. ฟื้นฟูและป้องกันสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของทิเบต ยกเลิกการที่จีนใช้ทิเบตเป็นที่ทิ้งกากนิวเคลียร์
  5. เริ่มเจรจาอย่างจริงจังถึงฐานะ ในอนาคตในทิเบต และความสัมพันธ์ระหว่างทิเบตและชาวจีน

                   พระพุทธศาสนาแบบทิเบต (Tibetan Buddhism) คือ พุทธศาสนาแบบหนึ่งซึ่งถือปฏิบัติในทิเบต และปัจจุบันได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ ดินแดนทิเบตในอดีตมีความรุ่งเรืองมาก พุทธศาสนาแบบทิเบต มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ เป็นการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนานิกายมหายาน ทั้งจากอินเดียและจีน ได้รับอิทธิพลจากพุทธศานานิกายตันตระของอินเดีย จนเกิดเป็นนิกายวัชรยานขึ้น ประชาชนใฝ่ธรรมะ เมื่อมีงานบุญ ประชาชนจะเดินทางไปแสวงบุญ แม้จะไกลสักเพียงใด ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นอยู่มากมาย แต่เมื่อตกอยู่ในการปกครองของจีน วัดนับพันแห่งทั่วนครลาซา เหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแห่งในปัจจุบัน จนแทบไม่เหลือความเจริญรุ่งเรืองในอดีต อนึ่ง ชื่อสถานที่หลายแห่งตามแนวเทือกเขาหิมาลัย จึงเป็นภาษาทิเบต เช่น เมืองลาดัก (Laddkh) เมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling)[13] เป็นต้น

ความหมายที่แท้จริงของสันติภาพ

การธำรงรักษาสันติภาพในตัวเราไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากเท่าใด ท่าทีทางจิตใจของตนต่างหาก คือปัจจัยที่สำคัญที่สุด ถ้ามันบิดเบี้ยวไป ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกอย่างความโกรธ ความยึดติด หรือความอิจฉาริษยา แม้จักอยู่ในสถานการณ์แสนเบาสบาย ก็ไม่อาจนำสันติสุขไปสู่ผู้ใดได้เลย กลับกัน หากทัศนคติของตน สงบนุ่มนวลเป็นส่วนใหญ่           แม้สถานการณ์จักเลวร้ายปานใด ก็อาจสั่นสะเทือนสันติภาพในเรือนใจได้ เพียงน้อยนิดเดียว เนื่องด้วยต้นธารพื้นฐานของสันติภาพและความสุข คือทัศนคติภายในใจของตนเองต่างหาก ฉะนั้น จึงคุ้มค่ามหาศาลที่จักโน้มนำแนวทางในการจำเริญจิตใจให้เป็นไปในทางบวกอยู่เสมอ

                จีนพยายามกล่าวโทษดาไลลามะ ว่าเป็นผู้ปลุกระดมให้เกิดการเผาตัวตาย เพื่อพยายามแยกทิเบต ดินแดนหลังคาโลกแถบภูเขาหิมาลัย ออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ดาไลลามะปฏิเสธมาโดยตลอด และเพิ่งจะแสดงความเห็นล่าสุดต่อที่ประชุม สุดยอดของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโลกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เป็นสิ่งที่ยากเย็น แต่จุดยืนของเราจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และยืนยันการใช้แนวทางสายกลาง เพื่อแสวงหาความเปลี่ยนแปลงจากจีน ยังคงได้รับการสนับสนุนจากชาวทิเบตถึง 90 เปอร์เซ็นต์

                ดาไลลามะ ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในอินเดีย ยอมรับว่า การเจรจาอย่างมีความหมายกับรัฐบาลจีน จะนำไปสู่การสถาปนาการปกครองตนเองอย่างมีความหมายต่อชาวทิเบต ขณะที่การเผาตัวตายของชาวทิเบตยังคงดำเนินต่อไป จีนได้พยายามบังคับใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เพื่อควบคุมทิเบต มาตั้งแต่ปี 2551 หลังเกิดจลาจลนองเลือดต่อต้านชาวจีนในกรุงลาซาของทิเบต และขยายไปยังภูมิภาคใกล้เคียงที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่ ชาวทิเบตไม่พอใจที่ถูกกดขี่ทางศาสนาและถูกทำลายวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากการหลั่งไหลเข้าไปของชาวจีนฮั่น แต่จีนปฏิเสธและระบุว่า ได้ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวทิเบต ด้วยการลงทุนด้านสาธารณูปโภค โรงเรียน บ้านเรือนและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

                เรื่องราวของผู้นำทางด้านจิตวิญญาณแห่งพุทธศาสนาของทิเบตรายนี้ เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดมาแล้วถึง 2 ครั้ง พระองค์ยังเขียนหนังสือมาแล้วถึง 40 เล่ม การเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วทุกมุมโลกของพระองค์ ต้องแลกมาด้วยการลี้ภัย หลบหนีออกจากทิเบต ผ่านทางเทือกเขาหิมาลัย เพื่อให้หลุดพ้นจากเงื้อมมือของรัฐบาลจีน ที่เข้ามาปกครองทิเบต ช่วงปี 2512 ก่อนจะเข้าพำนักที่เมืองธรัมศาลาในอินเดีย สถานที่ที่พระองค์ได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นมา และรณรงค์เพื่อปลดปล่อยทิเบตให้เป็นอิสระ

หลังการลี้ภัยมายังอินเดีย องค์ทะไลลามะได้เคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพให้กับทิเบต อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศใดให้การรับรองเอกราชของทิเบต หรือกล่าวประณามว่า จีนละเมิดอธิปไตยทิเบต ข้อเรียกร้องที่นานาประเทศกล่าวประฌามจีนก็เป็นเพียงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ด้วยผลประโยชน์มหาศาล ต่อการเข้าไปลงทุนในตลาดที่มีกำลังบริโภคถึง 1,300 ล้านชีวิต ดังนั้นหลังทศวรรษ 1970 ที่สหรัฐอเมริกาหันมาจับมือกับแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับยุติการสนับสนุนขบวนการต่อสู้  เพื่อเอกราชทิเบต การเคลื่อนไหวของชาวทิเบต จึงเน้นที่การเคลื่อนไหวอย่างสันติ เพื่อรักษาวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของตน[14] อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเอกราชก็ยังฝังรากอยู่ในสำนึกของพวกเขา แต่หากใช้มุมมองด้านกฎหมาย ระหว่างประเทศเข้ามาพิจารณา ข้อถกเถียงของรัฐบาลจีนย่อมมีน้ำหนักกว่าทิเบต เนื่องจากจีนไม่เคยยอมรับว่าทิเบตเป็นประเทศเอกราช และพยายามฟื้นฟูอำนาจเหนือดินแดนมาตลอดและก็ทำได้จริง นอกจากนี้ประชาคมระหว่างประเทศ ก็มิได้รับรองฐานะรัฐเอกราชของทิเบต

ปัจจุบัน องค์ทะไลลามะ ได้เลิกล้มความต้องการดั้งเดิมที่จะให้ทิเบตเป็นเอกราชไปแล้ว พระองค์เพียงต้องการแค่สิทธิในการปกครองตนเอง สำหรับประชาชนของพระองค์ โดยมีพระองค์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และไม่มีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองแต่อย่างใด ซึ่งรัฐบาลจีนให้สิทธิ์ว่า ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองต้องเป็นคนชนชาติท้องถิ่น ดูเผินๆ เหมือนทิเบตจะได้รับอิสระพอสมควร ทว่าบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก มักเป็นคนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลือกแล้วว่าคุยกันได้ นอกจากนี้ อำนาจที่แท้จริงยังตกอยู่กับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเอง ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นชาวจีนฮั่น และเป็นคนที่ส่วนกลางส่งมา

การรุกคืบของทุนที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตดั้งเดิมก่อให้ความตึงเครียด ที่รอวันปะทุ ความตึงเครียดระหว่างจีน-ทิเบตถูก สั่งสมมาเรื่อยๆ กระทั่งรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต เริ่มให้บริการในปี 2006 ชาวจีนฮั่นก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทิเบตมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวทิเบต ซึ่งเป็นชนท้องถิ่น ที่รู้สึกว่าวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนกำลังถูกคุกคาม วัดวาอารามทิเบตได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างสวยงาม ทว่าความสวยงามดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวเสพเท่านั้นเอง     สุดท้ายความพยายามในการกลืนกลายชนชาติทิเบต ด้วยการสนับสนุนให้ชาวจีนฮั่นเข้าไปตั้งรกราก รวมทั้งกระบวนการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนวัฒนธรรมทิเบตให้เหลือสถานะเป็นเพียงวัตถุที่เสพได้ จึงออกผลเป็นข่าวการปะทะระหว่างชาวจีนฮั่นกับชาวทิเบตที่ปรากฏอยู่เนืองๆ

    4. หลักแนวความคิดขององค์ทะไลลามะ

องค์ทะไลลามะ กล่าวว่า “ไม่จำเป็นต้องมีวัด หรือหลักปรัชญาอันลึกซึ้งใดๆ ข้าพเจ้าใช้สมองและหัวใจต่างอาราม และเมตตา คือหลักปรัชญาของข้าพเจ้า” และตรัสเสมอว่า “ข้าพเจ้าเป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดา ไม่มีอะไรมากกว่านี้และน้อย  กว่านี้”[15] ทรงปฏิบัติตนในฐานะสงฆ์ โดยเคยตรัสเล่าว่า “อาตมาก็เหมือนพระทุกรูป คืออยู่กับความจนไม่มีสมบัติส่วนตัว          ในห้องนอนมีแต่เตียง เวลาลุกขึ้น สิ่งแรกที่ได้เห็นคือพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าจากพระพุทธรูป เวลาตื่นขึ้นมานั้นหนาวเย็นนัก จึงต้องออกกำลังกาย และรีบอาบน้ำแต่งตัวอย่างรวดเร็ว อาตมานุ่งจีวรสีแดงเข้มเช่นนี้ ดุจพระองค์อื่นๆ ผ้าหยาบๆ มีปะชุน หากเป็นผ้าผืนเดียวก็จะเอาไปขาย หรือแลกเปลี่ยนกับอะไรได้ การนุ่งห่มผ้าอย่างนี้เอาไปขายไม่ได้ เป็นการยืนหยัดปรัชญาของเรา ที่สอนให้ไม่ติดยึดในสิ่งของต่างๆ ทางโลก”

มนุษย์เรานี้ ยอมสูญเสียสุขภาพเพื่อทำให้ได้เงินมา แล้วต้องยอมสูญเสียเงินตรา เพื่อฟื้นฟูรักษาสุขภาพ แล้วก็เฝ้าเป็นกังวลกับอนาคต จนไม่มีความรื่นรมย์กับปัจจุบัน ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ เขาไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอยู่กับอนาคต เขาดำเนินชีวิตเสมือนหนึ่งว่าเขาจะไม่มีวันตาย และแล้วเขาก็ตายอย่างไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง

มหาสมุทรแห่งปัญญา[16]

ในภาษามองโกล คำว่า “ทะไล” แปลว่า มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ส่วนในภาษาทิเบต “ลามะ” หมายถึง ผู้มีความรู้  ทะไลลามะ จึงมีความหมายถึง มหาสมุทรแห่งปัญญา ชาวทิเบตเรียกพระองค์ว่า "เกิยลวา รินโปเช" "คุนดุน" หรือ"เยเช นอรบ"

17 คำสอนขององค์ทะไลลามะสำหรับมนุษย์ทำงาน

การรักษาจิตใจให้ผ่องใสไว้ได้ มีหลักการ ดังนี้

  1. คิดไว้เสมอว่า ‘หวังในความสำเร็จมาก ก็เสี่ยงที่จะสูญเสียมาก’
  2. ยามใดที่แพ้ ให้นำสิ่งที่แพ้มาเป็นบทเรียน
  3. กฎ 3 อาร์น่าคิด Respect for self คือ เคารพตัวเอง, Respect for others เคารพผู้อื่น และ Responsibility คือ รับผิดชอบในทุกๆ การกระทำของตน
  4. บางครั้งการที่มาเอาตัวไปข้องเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองอยากได้ใคร่มีมากเกินไปก็อาจทำให้คุณได้ในสิ่งนั้นอย่างไม่น่าเชื่อ
  5. เรียนรู้กฎให้ละเอียดถ่องแท้ เผื่อว่าคุณอาจหาทางแหกกฎได้อย่างถูกวิธี
  6. อย่าให้ความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ มาทำลายมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่
  7. เมื่อใดที่รู้สึกว่าทำผิด ให้รีบแก้ไขให้ถูกต้อง
  8. ใช้เวลาอยู่กับตัวเองในทุกๆ วัน
  9. อ้าแขนให้กว้างเพื่อรับสิ่งท้าทายในชีวิต และเมื่อใดที่มีสิ่งล้ำค่าเข้ามา ก็อย่าปล่อยมันไป
  10. จงจำไว้ว่าบางครั้ง ความเงียบก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับบางเรื่อง
  11. ใช้ชีวิตให้ดีอย่างคนมีเกียรติ เพราะเมื่อตอนเราแก่ตัวลง จะได้มองย้อนกลับไปในอดีตอย่างมีความสุข
  12. บรรยากาศในบ้านแสนสุขเป็นพื้นฐานที่ดีของการดำรงชีวิต
  13. เมื่อไม่เห็นด้วยกับคนที่เราแคร์ในบางเรื่อง ให้ทะเลาะกันได้เฉพาะในปัญหาปัจจุบัน อย่าขุดคุ้ยเรื่องอดีต
  14. มีความรู้อะไรก็ให้รู้จักแบ่งปัน เพราะความรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย (ตัวตายแต่ชื่อยัง ถ้าสร้างชื่อเสียงในทางที่ดี)
  15. รู้จักรัก และเคารพโลก
  16. ในแต่ละปี ให้เดินทางไปในที่ที่คุณยังไม่เคยไปมาก่อน
  17. ประเมินความสำเร็จในสิ่งที่คุณไม่เคยทำสำเร็จ เพื่อจะได้มุ่งมั่นทำมันให้สำเร็จ

 

            ธรรมชาติแห่งพุทธะ

อานิสงส์ของเหตุการณ์ยึดครองทิเบต ด้วยกำลังทหารจีนในปี ค.ศ.1950 หาใช่เพียงการที่โลกได้รับรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของรัฐบาลจีนไม่ แต่ที่สำคัญ คือ โลกได้มีโอกาสรับรู้ถึงทัศนะใหม่ เกี่ยวกับความอ่อนโยนของมนุษย์ โดยมีองค์ทะไลลามะเป็นผู้ประกาศข่าวดีนั้น ตรงข้ามกับความคิดในโลกตะวันตกว่า พฤติกรรมของมนุษย์มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน อันสะท้อนว่ามนุษย์ล้วนทำทุกสิ่งเพื่อตัวเอง ความเข้าใจที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเห็นแก่ตัว ก้าวร้าว โหดร้าย และไม่เป็นมิตร ได้ครอบงำวัฒนธรรมตะวันตกมาหลายศตวรรษ

โลกตะวันออกมองธรรมชาติภายในของมนุษย์ ในมุมที่ต่างกันออกไป องค์ทะไลลามะทรงประกาศยืนยันว่า ตามจริงแล้ว หนึ่งในความเชื่อพื้นฐาน ของท่านมีอยู่ว่า ไม่เพียงแต่เราจะครอบครองศักยภาพ ที่จะแสดงความกรุณามาแต่กำเนิดเท่านั้น แต่ท่านเชื่อว่า ธรรมชาติพื้นฐาน หรือธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ คือความอ่อนโยน ความเชื่อดังกล่าว ขององค์ทะไลลามะมีที่มาจากคัมภีร์ฝ่ายมหายานชื่อ "ธรรมชาติแห่งพุทธะ" ซึ่งกล่าวถึงภาวะจิตที่อยู่ลึก ๆ ซับซ้อน ละเอียดอ่อน มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน และไม่อาจมัวหมองไป เพราะอารมณ์ และความคิดในแง่ลบได้ คัมภีร์ดังกล่าวได้ย้ำว่า "ธรรมชาติของมนุษย์คือความอ่อนโยน หาใช่ความก้าวร้าวไม่" นอกจากนี้ยังมีคำสั่งสอนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอีกข้อหนึ่งว่า "สรรพสัตว์ล้วนมีความเป็นพุทธะ" เพียงแต่เราสามารถขจัดปัดเป่าเมฆหมอกแห่งอวิชชาที่อยู่รอบตัวเราออกไปได้ เราก็จะพบความเป็น "พุทธะ" อย่างง่ายดาย  นั่นคือการ "ตื่น" อย่างแท้จริง การตื่นชนิดนี้ หาใช่การตื่นนอนไม่ องค์ทะไลลามะเคยกล่าวไว้ว่า "ตื่นคือหลับ และหลับคือตื่น"

องค์ดาไลลามะมองธรรมชาติ หรือ พฤติกรรมของมนุษย์ ในแง่ดีเสมอ ท่านไม่ได้ตีความความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกผ่านทางการให้นมว่า จะก่อให้เกิดปมออดิปุส หรืออะไรทำนองนั้น ท่านกล่าวว่า สิ่งแรกที่เราทำหลังจากลืมตาดูโลก คือการได้ดูดนมแม่ นั่นคือการแสดงออกถึงความรักและความเมตตา ในด้านของแม่ การกระทำดังกล่าว คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากความรักและเมตตา เพราะร่างกายของมารดา จะไม่สามารถผลิตน้ำนมได้ อนึ่ง หากเปรียบเทียบกับโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ องค์ทะไลลามะยังมองในแง่ดีอีกว่า โครงสร้างของร่างกายมนุษย์ จะเหมาะเจาะและไปได้ดีกับความรู้สึกรัก และกรุณามากกว่า เราจะพบว่า “ภาวะจิตที่สงบ และเปี่ยมเมตตา ส่งผลดีต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุข ของเราได้มากแค่ไหน ในทางกลับกัน ความรู้สึกอึดอัด ขัดเคือง ความกลัว ความหงุดหงิดรำคาญ กลับสามารถทำลายสุขภาพของเราได้ไม่ยาก" ด้วยเหตุนั้น องค์ทะไลลามะจึงกล้าประกาศยืนยันว่า ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์คือความอ่อนโยน และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ย่อมเป็นการดีกว่ามิใช่หรือ ที่เราจะดำเนินชีวิตอย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติของเรา บนพื้นฐานของความอ่อนโยน

องค์ทะไลลามะมิได้ปฏิเสธความก้าวร้าวในตัวมนุษย์ แต่ท่านเชื่อหนักแน่นว่า ธรรมชาติของความกรุณา และความอ่อนโยน คือ ลักษณะเด่น (dominance) ในตัวมนุษย์ ขณะที่ความโกรธ และความรุนแรง ซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้นั้นเป็นเพียงลักษณะด้อย (recessive) ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อเรารู้สึก ขุ่นข้องหมองใจ จากการไม่ได้รับความรัก ความเมตตา จากคนอื่นต่างหาก "มันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติพื้นฐาน หรือฝังลึกอยู่ในธาตุแท้ของเรา" ที่มาของความก้าวร้าว ยังเกิดจากตัวแปรที่จิตสำนึกเราสร้างขึ้นอีกมากมาย เช่น ความนึกคิดที่ไม่เหมาะ ไม่ควร (มิจฉาทิฏฐิ) การใช้ความฉลาดหลักแหลมไปในทางที่ผิด และความฟุ้งซ่าน เป็นต้น เพราะฉะนั้น วิถีทางของการฝึกตนให้เจริญสติ หรือดำรงสติตลอดเวลา จึงเป็นทางออกที่พุทธศาสนิกชนไม่ควรละเลย ดังสุภาษิตว่า "ใกล้เกลือกินด่าง" เพราะนี่คือ เครื่องมือวิเศษ ที่สามารถทำให้เราสุขสงบ และสามารถค้นพบความเป็นพุทธะในตนเองได้

องค์ทะไลลามะ กล่าวย้ำว่า "ไม่ว่าเราจะประสบความโหดร้าย หรือผ่านสิ่งเลวร้ายมามากมายแค่ไหน ฉันเชื่อว่า คำตอบสุดท้ายสำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการขัดแย้งภายใน หรือภายนอกก็อยู่ที่การกลับไปหาธรรมชาติพื้นฐานดั้งเดิมของมนุษย์ ซึ่งก็คือความอ่อนโยน และความกรุณา"

องค์ทะไลลามะที่ 14 กับสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2497 องค์ทะไลลามะเสด็จกรุงปักกิ่ง ทรงหารือปัญหาทิเบตกับผู้นำจีน นับตั้งแต่ เหมา เจ๋อ ตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน จูเต้อ รองประธานพรรค โจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรี และหลิว เฉา ชี ประธานาธิบดี ในเวลาต่อมาของจีน จีนได้เสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการเตรียมการ เพื่อการปกครองตนเองของทิเบต” โดยมีกรรมการ 51 คน เป็นผู้แทนจีน 5 คน นอกนั้นเป็นชาวทิเบตทั้งหมด มีองค์ทะไลลามะทรงเป็นประธาน ปันเชนลามะกับผู้แทนจีนคนหนึ่งเป็นรองประธาน มีหน้าที่เตรียมการให้ทิเบต เป็นเขตปกครองตนเอง นอกจากนี้ทะไลลามะทรงได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมประชุมรัฐสภาของจีนด้วย และในระหว่างที่ประทับอยู่ที่กรุงปักกิ่ง พระองค์ทรงได้พบกับ เนห์รู นายกรัฐมนตรี ของอินเดียเป็นครั้งแรก

มหาราชกุมารแห่งแคว้นสิขิม ได้เสด็จกรุงลาซา เพื่อทูลเชิญทะไลลามะให้เสด็จอินเดีย เพื่อร่วมฉลองงานครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2499 รัฐบาลอินเดีย ได้ส่งโทรเลขถึงรัฐบาลจีน ทูลเชิญทะไลลามะและปันเชนลามะ ให้ไปร่วมงานฉลอง ในฐานะแขกของรัฐบาลอินเดีย เมื่อองค์ทะไลลามะเสด็จถึงกรุงเดลลี ทรงได้พบปะกับบรรดาผู้นำอินเดีย อันมี ดร.ราเชนทร ประสาท ประธานาธิบดี ดร.ราธากฤษณัน รองประธานาธิบดี และเนห์รู นายกรัฐมนตรี ทรงหารือปัญหาทิเบตกับนายกรัฐมนตรีอินเดียอย่างจริงจัง และได้เชิญนายกรัฐมนตรีอินเดีย ไปเยือนกรุงลาซาในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลจีนไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้ได้ในทิเบต

วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2502 องค์ทะไลลามะทรงตัดสินพระทัย เสด็จลี้ภัยไปยังอินเดีย แม้หนทางจะยากลำบาก และทุรกันดาร ภายหลังได้เกิดจลาจลอย่างขนานใหญ่ขึ้นในกรุงลาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสถานที่ต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก องค์ทะไลลามะทรงประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นที่ป้อมลุนด์เสด์ซอง ตำบลโซดานูบ ชายแดนทิเบต ก่อนที่จะเสด็จลี้พระองค์เข้าไปในประเทศอินเดีย

ปี พ.ศ. 2502 องค์ทะไลลามะ ทรงประกาศอย่างเป็นทางการบอกเลิกสัญญา 17[17] ข้อที่ทำไว้กับจีน ในปีเดียวกันสมาชิกสหประชาชาติ 2 ประเทศ คือ ไอร์แลนด์ และมลายู ได้ยื่นข้อร้องทุกข์ของทิเบตต่อสหประชาชาติ มีการหารือกันถึงเรื่องนี้ ในคณะกรรมการบริหารของสมัชชาใหญ่ ในสมัยประชุมที่ 14 ในปี พ.ศ. 2502 และมีมติสนับสนุนข้อเรียกร้องของทิเบต ต่อมาประเทศไทย และมลายูเป็นผู้นำเสนอญัตตินี้อีกในปีถัดมา แต่เกิดเหตุการณ์ในแอฟริกาที่สำคัญกว่า สมัชชาใหญ่จึงเลื่อนวาระการอภิปรายเรื่องทิเบตออกไป จนสิ้นสุดสมัยการประชุม ในปี พ.ศ. 2502 นั้นเอง องค์ทะไลลามะทรงได้รับรางวัลแมกไซไซในสาขาผู้นำชุมชน

ทะไลลามะองค์ปัจจุบันเคยเสด็จประเทศไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2510 ทรงได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย และทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติและอบอุ่นยิ่ง นอกจากจะได้ทรงเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกของไทยแล้ว ยังได้เสด็จเยือนพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต นับตั้งแต่สมเด็จพระญาณสังวร ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ครั้งที่สองพระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. 2515

ภายหลังจากที่ทิเบตได้เป็นเอกราชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 ถึง พ.ศ. 2493 เป็นเวลา 38 ปี ในที่สุดทิเบต ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน อีกวาระหนึ่ง และปัญหาทิเบตก็เข้าสู่สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การเสด็จลี้ภัยการเมือง ของทะไลลามะ และชาวทิเบต เป็นจำนวนมากไปอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายทิเบต เป็นที่รู้จักของชาวโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซนในโลกตะวันตก อาจเป็นไปได้ที่ว่าต่อไปในอนาคตชุมชนทิเบตทางตอนเหนือของอินเดีย จะมีส่วนฟื้นฟูพุทธศาสนาให้กลับคืนมาสู่ภาคเหนือของอินเดีย ดินแดนที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ่อเกิดของพุทธศาสนา

องค์ทะไลลามะ รับอาจเป็นผู้นำทิเบตองค์สุดท้าย

องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดองค์ที่ 14 ของทิเบต พระชนม์ 80 พรรษา เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2532 ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “นิวส์ไนท์” ของบรรษัทกระจายเสียง และแพร่ภาพอังกฤษ (บีบีซี) เผยแพร่เมื่อ 16 ธ.ค. ว่า พระองค์อาจไม่มีผู้สืบทอดตำแหน่ง จะมีองค์ดาไลลามะต่อจากพระองค์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนชาวทิเบต และสภาวะแวดล้อม หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ สถาบันดาไลลามะ ที่คนตั้งขึ้นต้องสิ้นสุดลงสักวันหนึ่ง ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าดาไลลามะองค์ต่อไปจะโง่เง่า สร้างความเสื่อมเสียให้ตนเอง ซึ่งนั่นคงน่าเศร้ายิ่งนัก ดังนั้น จะดีกว่ามากถ้าประเพณีที่มีมาหลายร้อยปีนี้ จะสิ้นสุดลงในช่วงเวลาของดาไลลามะ ที่ได้รับความนิยมศรัทธาสูง

องค์ทะไลลามะ ตรัสด้วยว่า ประชาคมโลกมี “ความรับผิดชอบด้านศีลธรรม” ที่จะผลักดันประชาธิปไตยกระแสหลัก นิติรัฐ เสรีภาพสื่อ หรือข้อมูลข่าวสารในจีน แต่พระองค์เข้าใจชาติตะวันตก ที่ขาดแคลนเงินเช่นอังกฤษ ที่พยายามคบค้ากับชาติที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่างจีน ซึ่งเป็นนโยบายที่ “คำนึงถึงความเป็นจริง” เพราะเหตุผลทางการเงิน อังกฤษจึงอ่อนท่าทีให้จีน กรณีที่กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย นำโดยนักศึกษาชุมนุมประท้วงในฮ่องกง แต่ประชาคมโลกต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อให้จีนมีประชาธิปไตย ขณะที่จีนก็ต้องการเข้าร่วมเศรษฐกิจกระแสหลักของโลกอย่างมาก

องค์ทะไลลามะ พระประมุขของชาวทิเบตได้มีพระดำรัสว่า “วัฒนธรรมทิเบตเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ มีอายุมาช้านาน ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่ง ถ้าวัฒนธรรมทิเบตต้องสูญหายไปจากโลก”[18] (Tibetan culture, I believe, is one of the ancient world cultures. So, it is worth-while to preserve it. If this culture disappears from this earth, it would be a pity.)

องค์ทะไลลามะ หนีไปลี้ภัยในเมืองธรรมศาลาในอินเดีย ในปี 2502 หลังจีนส่งทหารกวาดล้างผู้ลุกฮือประท้วงในทิเบต จีนชี้ว่า พระองค์เป็นนักแบ่งแยกดินแดน แม้ปัจจุบันพระองค์ยึด “ทางสายกลาง” โดยขอเพียงสิทธิปกครองตนเองให้ทิเบต ไม่ใช่แยกเอกราช ในปี 2554 พระองค์ส่งมอบตำแหน่งผู้นำทิเบตให้นายล็อบซัง ซันเกย์ ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต รัฐบาลพลัดถิ่นมีกระทรวงต่างๆ ทั้งหมด 7 กระทรวง (คำว่า “กระทรวง” รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นใช้คำว่า department)[19] คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงความมั่นคง กระทรวงข้อมูลข่าวสารและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม แต่จีนย้ำว่าจะเลือกองค์ทะไลลามะ องค์ต่อไปเอง จีนยังปฏิเสธ  “ปันเชน ลามะ” ผู้นำอันดับ 2 ของทิเบตที่องค์ทะไลลามะ เป็นผู้เลือกในปี 2538 และจีนได้เลือกปันเชน ลามะ อีกองค์ ซึ่งชะตากรรมของปันเชน ลามะ องค์แรกยังเป็นปริศนา

ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ส่อเค้าจะได้รับผลกระทบจากกรณี ประธานาธิบดีบารัก โอบามา พบหารืออย่างไม่เป็นทางการ กับองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ที่ทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อ 21 ก.พ.57 แม้ว่า ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน จีนออกแถลงการณ์เตือนว่า การพบปะดังกล่าว จะถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง เพราะองค์ทะไลลามะ เป็นผู้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในทิเบตของจีน และการพบปะถ้ามีขึ้นจะส่งผลเสียอย่างมากต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ทั้งนี้ การพบปะระหว่างประธานาธิบดีโอบามาและดาไลลามะในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 โดยมีแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการพูดคุยระบุว่า สหรัฐฯ สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางศาสนา อนุรักษ์นาฏศิลป์ทิเบต[20] ภาษา และวัฒนธรรมของทิเบต แต่ยืนยันไม่สนับสนุนให้ทิเบตแยกตัวเป็นเอกราช

 5.กระบวนทัศน์ทฤษฎีทางภาวะผู้นำ

                ทฤษฎีภาวะผู้นำ คือ สมมติฐานที่ได้รับการตรวจสอบ และทดลองมาแล้วหลายครั้ง จนสามารถอธิบายข้อเท็จจริง คาดคะเน พยากรณ์และควบคุม กระบวนทัศน์กรอบภาวะผู้นำ (Leadership Paradigm) เป็นกรอบความคิดที่แสดงให้เห็นวิธีคิด การรับรู้ การศึกษา การวิเคราะห์ การวิจัย และความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะผู้นำ มี 4 ทฤษฎี ดังต่อไปนี้

5.1 ทฤษฎีคุณลักษณะของผู้นำ[21] (Trait theory)

ความสำคัญของทฤษฎีคุณลักษณะของผู้นำ ขององค์ทะไลลามะ เรียกได้ว่า เป็นตำแหน่งสูงสุดในประเทศทิเบต      ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณ และเป็นผู้นำทางการเมือง การปกครอง ทรงมีตำหนักโปตาลา และตำหนักนอร์บูลิงกาเป็นที่ประทับ และเป็นสถานที่สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้นำ ในด้านบุคลิกภาพ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา ขององค์ทะไลลามะนั้น สอดคล้องกับคุณลักษณะสำคัญของคนเป็นผู้นำโดยทั่วไป ซึ่งมีอยู่ 6 ประการ ได้แก่

  1. ความมีพลังและความทะเยอทะยาน (Energy and ambition)
  2. ความปรารถนาที่จะนำผู้อื่น (The desire to lead)
  3. ความซื่อสัตย์มีจริยธรรมยึดมั่นหลักการ (Honesty and integrity)
  4. ความเชื่อมั่นตนเอง (Self-confidence)
  5. ความเฉลียวฉลาด (Intelligence)
  6. ความรอบรู้ในงาน (Job-relevant knowledge)

องค์ทะไลลามะนั้น เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และผู้นำทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ในการเป็นผู้นำ ซึ่งท่านมีการดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องมีวัด หรือหลักปรัชญาอันลึกซึ้งใดๆ ใช้สมองและหัวใจต่างอาราม และเมตตา คือ หลักปรัชญาของท่าน หลักคำสอนที่เด่นๆ เกี่ยวกับมนุษย์ที่ทำงาน คือคิดไว้เสมอว่า หวังในความสำเร็จมาก ก็เสี่ยงที่จะสูญเสียมาก ยามใดที่แพ้ ให้นำสิ่งที่แพ้มาเป็นบทเรียน และให้ยึดกฎ 3 อาร์ น่าคิด ได้แก่ Respect for self คือ เคารพตัวเอง Respect for others เคารพผู้อื่น และ Responsibility คือ รับผิดชอบในทุกๆ การกระทำของตน เป็นต้น ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการขัดแย้งภายในหรือภายนอก ก็อยู่ที่การกลับไปหาธรรมชาติพื้นฐานดั้งเดิมของมนุษย์ ซึ่งก็คือความอ่อนโยน และความกรุณา ทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธะอยู่แล้ว

การศึกษาภาวะผู้นำโดยยึดด้านคุณลักษณะเป็นเกณฑ์นั้น พบว่า มีจุดอ่อนอยู่อย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

  1. 1. ยังไม่พบว่า มีคุณลักษณะใด มีความเป็นสากล ที่สอดคล้องกับการเป็นผู้นำได้ดี ในทุกสถานการณ์
  2. 2. คุณลักษณะของผู้นำ มักใช้ได้กับสถานการณ์ที่ขาดความชัดเจน (Weak situation) แต่ในสถานการณ์ที่มีความชัดเจน (Strong situation) เช่น เป็นองค์การแบบทางการที่มีโครงสร้าง กฎระเบียบชัดเจน มีปทัสถานทางพฤติกรรมที่ปฏิบัติแน่นอน ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณลักษณะของผู้นำมีความสำคัญลดลง
  3. 3. ยังขาดความชัดเจนในแง่ความเป็นเหตุและผลต่อกัน เช่นผู้นำมีความเชื่อมั่นตนเองมาก่อน หรือว่า เมื่อประสบความสำเร็จในงานแล้ว ส่งผลให้ผู้นำมีความมั่นใจตนเอง เป็นต้น
  4. 4. คุณลักษณะน่าจะเป็นเครื่องบ่งบอก ถึงความเป็นผู้นำได้มากกว่าที่จะใช้แยกคนเป็นผู้นำออกจากคนที่ไม่ใช่ผู้นำ

อย่างไรก็ตาม ในยุคศตวรรษที่ 21 เมื่อองค์การทั้งหลายต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีปัญหาที่ท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย บทบาทของผู้นำจึงทวีความซับซ้อน และเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้น ผู้นำในอนาคตไม่เพียงแต่มีคุณลักษณะที่กล่าวแล้ว แต่ต้องมีทักษะและสมรรถนะใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ความสามารถในการคิดเชิงซับซ้อน (Cognitive complexity) ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-learning) ความสามารถด้านพฤติกรรมที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น (Behavioral flexibility) ความไวต่อการรับรู้ทางวัฒนธรรม (Cultural sensitivity) ความสามารถวิเคราะห์กระบวนการ (Process analysis) และความสามารถในการประกอบอาชีพอิสระ (Entrepreneurial ability) เป็นต้น

5.2 ทฤษฎีพฤติกรรมความเป็นผู้นำ (Behavioral Theory Paradigm)

ทฤษฎีเชิงพฤติกรรมจะเกี่ยวพันกับวิถีทางที่บุคคลนำ และจะใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างไร พฤติกรรมเหล่านี้จะถูกเรียกว่า สไตล์ความเป็นผู้นำ สไตล์ความเป็นผู้นำ คือ แบบแผนของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำของผู้นำ แม้ความเป็นผู้นำทุกอย่างจะเกี่ยวกับการใช้อำนาจ เพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น ผู้นำอาจจะแตกต่างกันภายใน “สไตล์” ที่ใช้เพื่อที่จะให้เขาบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ปัจจัยสองอย่างที่ถูกเน้นภายในการศึกษาความเป็นนำเชิงพฤติกรรม คือ การมุ่งงาน เละการมุ่งคน การมุ่งงาน หมายถึง การแบ่งงานกันทำ การตัดสินใจ และการประเมินผลงาน การมุ่งคน หมายถึง พฤติกรรมของผู้นำที่มุ่งการเปิดรับและความเป็นมิตร และการให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบต มีพฤติกรรมความเป็นผู้นำภายใต้ศรัทธาของชาวทิเบตอย่างมั่นคง แม้จะพลัดประเทศมาแล้วกว่า 51 ปี แต่ชาวทิเบตที่ลี้ภัยในอินเดียก็ยังดำรงรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้ อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ตลอดระยะเวลาที่องค์ทะไลลามะต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพนั้น พระองค์ไม่เคยคำนึงถึงตัวเอง แต่ทรงคำนึงถึงสิทธิความเป็นอยู่ และอิสรภาพของประชาชน สิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ คือ ความสามารถในการสร้างสรรค์ในการนี้ ประชาชนต้องเป็นอิสระ จากพระดำรัสนี้ แสดงให้เห็นถึงพฤติธรรมผู้นำที่เด่นชัด ที่ยืนยันความความสัจจะความจริง ด้วยความยุติธรรม และความกล้าหาญ

                   ข้อสรุปที่สำคัญ ของทฤษฎีเชิงพฤติกรรม คือ สไตล์ความเป็นผู้นำ ยิ่งมุ่งคนสูงเท่าไหร่ จะทำให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชายิ่งพอใจขึ้นเท่านั้น ผู้นำที่มุ่งทั้งงานสูง และคนสูง จะทำให้ผลการดำเนินงาน ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาสูงที่สุด เหตุผลอย่างหนึ่ง ของการขาดความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ระหว่างสไตล์ความเป็นผู้นำ และผลการดำเนินงานของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา อาจจะเป็นไปได้ว่า ผู้นำไม่ได้ใช้สไตล์ความเป็นผู้นำแบเดียวอย่างสม่ำเสมอ หลักฐาน คือผู้นำอาจจะปรับสไตล์ความเป็นผู้นำ ตามความต้องการของสถานการณ์ที่ได้เผชิญอยู่ เหตุผลประการที่สอง คือการขาดผลลัพธ์ที่ลงความเห็นแน่นอนได้ว่า สไตล์ความเป็นผู้นำแบบไหนจะมีประสิทธิภาพ

              5.3 ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ (situational theories)

                   ทฤษฎีนี้พยายามอธิบายรูปแบบของผู้นำที่เหมาะสม บนพื้นฐานของผู้นำ ผู้ตาม และสถานการณ์ คุณลักษณะ หรือพฤติกรรม ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จของการเป็นผู้นำ ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสถานการณ์ ทฤษฎีนี้มุ่งเน้นความสำคัญของตัวแปรสถานการณ์ ซึ่งรวมถึงธรรมชาติ ของงานที่ปฏิบัติ สภาพแวดล้อมภายนอก และคุณลักษณะของผู้ตาม เป็นแนวคิดเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างแบบของผู้นำกับสถานการณ์ และสภาพแวดล้อม พบว่า แบบแผนเกิดจาก พฤติกรรมในภาวะหน้าที่กับพฤติกรรมด้านสัมพันธภาพ พฤติกรรมในภาวะหน้าที่ หมายถึง การที่ผู้นำเข้าไปจัดวางบทบาทของผู้คนและสมาชิกภายในกลุ่ม โดยอธิบายว่าแต่ละคนต้องทำอะไร เมื่อไร ที่ไหนและอะไรคือมาตรฐานของงาน ซึ่งอาจรวมไปถึงการกำหนดรูปแบบขององค์การและช่องทางในการสื่อสาร ส่วนพฤติกรรมด้านสัมพันธภาพ คือ การที่ผู้นำไปสร้างสัมพันธภาพกับพนักงานหรือสมาชิกของกลุ่ม ให้ความสนับสนุนแก่ผู้อื่น มีการสื่อสารช่วยเหลือการทำงานกลุ่ม และเชื่อว่าลักษณะ หรือบุคลิกภาพของผู้นำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของภาวะการเป็นผู้นำ มีแนวคิดคือ เมื่อผู้นำทำอะไรบางอย่าง ต้องคำนึงถึงความต้องการ 3 อย่างไปพร้อม ๆ กัน

                           5.2.1. ความต้องการของงาน คนมาทำงานร่วมกันก็เพราะงานนั้นยากเกินที่จะทำเพียงคนเดียวได้ ธรรมชาติของงานเป็นตัวกำหนดความต้องการต่าง ๆ และการตอบสนองจากผู้นำจากกลุ่มแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติ และความสามารถของกลุ่ม ดังนั้น ผู้นำจึงต้องตระหนักถึงธรรมชาติและความต้องการของกลุ่ม

                            5.2.2 ความต้องการของกลุ่มจะไม่ปรากฏออกมาเช่นความต้องการของงานกลุ่ม จะต้องการการส่งเสริมและการบำรุงรักษาระดับความสามัคคีของกลุ่ม นอกจากนี้ กลุ่มก็ยังต้องการสิ่งต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงานที่เหมาะสม

                            5.2.3. ความต้องการสุดท้าย คือ ความต้องการส่วนตัวของคนที่มาทำงานในกลุ่มนั้น ซึ่งอาจเป็นความต้องการทางด้านกลุ่มจิตใจ เช่น การยอมรับ สถานภาพคือความรู้สึกว่าได้สิ่งที่มีค่า ซึ่งแต่ละคนให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 3 ส่วน ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากภาวะผู้นำเป็นเรื่องเกี่ยวกับความพยายามของทีม และทีมที่ดีสุดคือทีมที่ประกอบด้วยผู้นำที่ปรากฏโดยธรรมชาติภายในองค์การ ผู้นำที่ดีควรกระตุ้นให้คนคิดถึงคุณค่าและความต้องการของงาน เพื่อให้จุดมุ่งหมายของส่วนรวมสอดคล้องเข้ากันกับค่านิยมของคนและของกลุ่มต่าง ๆ ในองค์การ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติการมีประสิทธิผลมากขึ้น

                องค์ทะไลลามะ มีความสัมพันธ์กับจีน-สหรัฐฯ เพื่อเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางศาสนา อนุรักษ์นาฏศิลป์ทิเบต ภาษา และวัฒนธรรมของทิเบต แต่ยืนยันไม่สนับสนุนให้ทิเบตแยกตัวเป็นเอกราช สถานการณ์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ผู้นำที่ชาญฉลาดจะต้องเติมจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง โดยการหาพันธมิตรทางการเมือง แม้ว่า จีนจะออกแถลงการณ์เตือนว่า การพบปะดังกล่าว จะถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง เพราะองค์ทะไลลามะ เป็นผู้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในทิเบต

            5.4 ทฤษฎีการบูรณาการ (Integrative Theory)

                ทฤษฎีการบูรณาการ เป็นทฤษฎีที่พยายามบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้ามาอย่างรอบด้าน แต่ไม่ใช่การนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มากองรวมกัน หรือทึกทักเหมารวมเอาไว้ด้วยกันอย่างไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ นักปรัชญาคนสำคัญที่สนใจพัฒนาทฤษฎีบูรณาการได้แก่ เคน วิลเบอร์, ออโรบินโด (Aurobindo) , จีน เกบเซอร์ (Jean Gebser) ดอน เบ็ค (Don Beck) และอีกหลายคน ที่ตอนนี้อยู่ที่สถาบันบูรณาการ (Integral Institute) ทฤษฎีนี้พยายามที่จะรวบรวม ผสานทฤษฎีคุณลักษณะ พฤติกรรม และสถานการณ์เข้าด้วยกัน เพี่ออธิบายความสำเร็จของการชักจูงระหว่างกันของผู้นำและผู้ตาม นักวิจัยพยายามอธิบายว่า ทำไมผู้ตามบางคนถึงเต็มใจทำงานหนักและอุทิศตนเพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่มและองค์การ หรือผู้นำที่มีประสิทธิภาพจูงใจพฤติกรรมของผู้ตามได้อย่างไร โดยอธิบายว่า พฤติกรรมที่เหมือนกันของผู้นำ อาจมีผลกระทบแตกต่างกันต่อผู้ตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์

                   ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการที่ผู้นำมีอิทธิพลต่อผู้ร่วมงานและผู้ตาม โดยเปลี่ยนแปลงความพยายามของผู้ร่วมงานและผู้ตามให้สูงขึ้นกว่าความพยายามที่คาดหวัง พัฒนาความสามารถของผู้ร่วมงาน และผู้ตามไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและศักยภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภารกิจและวิสัยทัศน์ของทีมและขององค์การ จูงใจให้ผู้ร่วมงานและผู้ตามมองให้ไกลเกินกว่าความสนใจของพวกเขาไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มองค์การหรือสังคม

 6. บทสรุป ภาวะผู้นำขององค์ทะไลลามะเพื่อสันติภาพสากล

องค์ทะไลลามะ ได้รับการขนานนามว่า มหาสมุทรแห่งปัญญา เป็นที่รู้จักกันในนามว่า เท็นซิน กยัตโส ผู้ทรงเป็นยอด ดวงมณีสารพัดนึก และองค์นิรมานกายของพระพุทธเจ้า ในภาคแห่งมหากรุณาธิคุณ หรือพระอวโลกิเตศวร ทรงเป็นรัฐบุรุษ    ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้แสวงหาเสรีภาพและสมานฉันท์โดยสันติวิธี ทรงเป็นพระประมุขทั้งฝ่ายศาสนจักร และอาณาจักร ท่ามกลางกระแสร้อนระอุ ของสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของจีนที่มุ่งยึดครองทิเบต และการเบียดเบียนระหว่างชนชาติตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่พระองค์ทรงสอนให้ยึดมั่นในวิถีทางแห่งสันติและเมตตา ทรงเปลี่ยนแปลงโลก ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่สันติสุขภายใน เป็นผู้นำที่โดดเด่นด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสันติภาพ ด้านอนุรักษ์วัฒนธรรม ทรงมีพระสถานะเป็นผู้ลี้ภัย พักพิงชั่วคราว ถือหนังสือเดินทางผู้ลี้ภัย ทั้งยังขึ้นอยู่กับความกรุณาของชาวต่างชาติ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ถวายแด่พระองค์เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1989 ได้กลายเป็นคำประกาศอย่างเป็นทางการ ในระดับถึงการบำเพ็ญเพียรทางจิตวิญญาณของพระองค์ กับทั้งเป้าประสงค์ของการปลดปล่อยให้พ้นจากการกดขี่ของจีน

องค์ทะไลลามะ ทรงก่อตั้งระบบการศึกษา ที่จะสั่งสอนอบรมเกี่ยวกับค่านิยมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของทิเบต โดยทรงใช้วิธีการสอนแบบสมัยใหม่ ทรงตระหนักถึงข้อเสีย และความไม่ยุติธรรมของระบบเก่า ทรงใส่พระทัยในชนชั้นล่างของสังคม โดยมีผังการกระจายอำนาจกับผู้ปกครองเดิม ดังพระดำรัสว่า

                “เรามีร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งวางอยู่บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

                การประพฤติปฏิบัติในทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะคณะสงฆ์นั้นเป็นระบอบ

                ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับร่าง ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า

                “ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย”

                ดังนั้น เรากำลังพยายามอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้เงื่อนไขภายนอกประเทศเช่นนี้

                ในอนาคตอย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวเสมอมาว่า ข้าพเจ้าถือว่า ตนเองเป็นปากเสียแห่งอิสรภาพ

                ของประชาชนชาวทิเบต เพื่อว่า...การตัดสินใจสุดท้าย จะเป็นของประชาชนผู้อยู่ในทิเบต”

                องค์ทะไลลามะ ทรงเป็นเพียงพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ธรรมดาๆ รูปหนึ่ง เป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่ง หรือว่า มนุษย์คนหนึ่งที่ยิ้มแย้ม ดังคำกล่าวที่ว่า

                สำหรับชาวจีน                        พระองค์ทรงเป็น                    นักแบ่งแยกดินแดน

                สำหรับนักการเมือง                พระองค์ทรงเป็น                    ประมุขของทิเบตทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร

                สำหรับผู้ศึกษาธรรมะ             พระองค์ทรงเป็น                    ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่

                สำหรับโลก                            พระองค์ทรงเป็น                    ผู้ได้รับรางวัลโนเบล

                องค์ทะไลลามะ ทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาทางธรรม เป็นตัวอย่างที่ยังมีลมหายใจของภิกษุผู้ประเสริฐสุดของพระพุทธศาสนา เป็นนักปฏิบัติที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ เป็นผู้สอนโพธิสัตวมรรค ทั้งทางด้านจริยธรรม ศาสนธรรม และปรัชญา ทรงใช้พระราชอำนาจแห่งองค์ประมุขนิกายตันตระได้อย่างมีพลังและน่าภาคภูมิใจ และทรงชี้ให้เห็นว่า จริยธรรมนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อนักการเมือง เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรมในศาสนา คุณสมบัติของมนุษย์ อาทิ การมีศีลธรรม มีเมตตากรุณา รู้จักรับผิดชอบชั่วดี และมีปัญญา เหล่านี้เป็นพื้นฐานของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่

                สันติภาพสากล คือ พื้นฐานของความก้าวหน้า ความสุข และความงอกงาม เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชีวิตเรา สันติภาพไม่ได้เป็นเพียงการปราศจากสงครามเท่านั้น หากแต่เป็นสถานะของจิตใจหรืออารมณ์แห่งความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น มีความรัก มีความรู้สึกว่าเป็นพี่น้องกัน เคารพและห่วงใยผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น ความโหดร้ายของสงครามซีเรีย สงครามชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา โซมาเลีย หรือแม้แต่การฆ่าล้างล้างเผ่าพันธุ์ของจีนที่มุ่งยึดครองทิเบต เป็นต้น

                องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้ผู้นำทางศาสนาร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ เนื่องใน "วันสันติภาพสากล" ณ กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี โดยทรงคาดหวังว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษแห่งความสงบสุข เนื่องจากตลอดศตวรรษที่ผ่านมานั้น เต็มไปด้วยสงครามและความไม่สงบมากมายทั่วทุกมุมโลก หนทางที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพในขั้นตอนแรกคือการค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุของความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง การนิยมความรุนแรง หรือทัศนคติที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลางก็ตาม ขั้นตอนที่สำคัญอีกอย่าง คือการพูดคุยเจรจาและการเคารพซึ่งกันและกันของสังคมโลก โดยองค์ดาไลลามะได้ทรงเรียกร้องให้ศาสนาทุกศาสนาที่มีแนวคิดเรื่องความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ร่วมกันผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงด้วย เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงเป็นผู้นำในดวงใจของชาวทิเบต และของโลก และหลักแนวคิดคำสอนของท่านได้รับการตอบรับจากนานาอารยประเทศ

 

เนื้อหาโดย: mcu0404 ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานวิชาการ
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Sirawat Kro0404's profile


โพสท์โดย: Sirawat Kro0404
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
5 VOTES (5/5 จาก 1 คน)
VOTED: Sirawat Kro0404
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ไม่รู้เเต่มั่น!! เมื่อมีคนเข้าใจผิดว่าป้ายตกเเต่งรถคำว่าเเท็กซี่ เป็นรถเเท็กซี่จริง ๆ เเล้วเอามาโพสต์เหน็บในกลุ่ม งานนี้โดยชาวเน็ตฟาดกลับจนจุกชาวบ้านหวั่นภัยธรรมชาติ หลังพบปลายาว 4.5 เมตรช็อก! อดีตทนายความชื่อดัง ตัดสินใจ อัตวินิบาตกรรม ใช้อาวุธปืนจบชีวิตตัวเองหลังเครียดหนักชายผู้ที่ถูกรางวัลสูงที่สุดในไทยชาวบ้านพบศพทารก ห้อยอยู่บนกิ้งไม้ข้างถนนแฟชั่นคนการเมืองในบางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 งานฉลองของชาวLGBTQIAN+วิวัฒนาการของปากกาลูกลื่น1 หยวนจีน (CNY) แลกเป็นสกุลเงินอื่นๆ ได้เท่าไหร่
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
วิวัฒนาการของปากกาลูกลื่นผู้นำฟิลิปปินส์ ออกโรงเตือนจีน "อย่าล้ำเส้น!!"Pride Month มากกว่าแค่สีรุ้ง มันคือการเฉลิมฉลองความเป็นตัวเอง!แฟชั่นคนการเมืองในบางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 งานฉลองของชาวLGBTQIAN+
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
วิวัฒนาการของปากกาลูกลื่น1 หยวนจีน (CNY) แลกเป็นสกุลเงินอื่นๆ ได้เท่าไหร่Pride Month มากกว่าแค่สีรุ้ง มันคือการเฉลิมฉลองความเป็นตัวเอง!รีวิวหนังสือ เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม
ตั้งกระทู้ใหม่