วิธีจ่ายภาษีให้น้อยลงด้วย SSF
SSF คืออะไรกันน่ะ ???
SSF หรือชื่อเต็ม Super Savings Fund เรียกว่า กองทุนรวมเพื่อการออม ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมาทดแทน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF)
กองทุน SSF มีนโยบายที่จะลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หุ้น กองทุนดัชนี อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ ทองคำ เป็นต้น
เหมาะกับกลุ่มที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำไปลดหย่อนภาษี
เงื่อนไขการลงทุนใน SSF มีอะไรบ้าง
1. เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
เช่น ถ้าเรามีเงินได้ต้องเสียภาษีทั้งหมด 1,000,000 บาท เราจะสามารถซื้อ SSF ได้เต็มสิทธิเพียง 200,000 บาทเท่านั้น เพราะถ้าซื้อ 30% คิดเป็น 300,000 บาท ซึ่งเกินสิทธิและจะผิดเงื่อนไข
2. ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อ โดยใช้เข้าก่อนออกก่อน (First in, First out : FIFO) โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องออกตอนอายุเท่าไหร่ สามารถขายออกได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข เช่น ซื้อตอนวันที่ 30 มิย. 2566 จะขายออกได้ตั้งแต่วันที่ 1 กค. 2576 เป็นต้นไป
3. เงินลงทุนขั้นต่ำตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ซึ่งบางที่ก็มีขั้นต่ำ 500 หรือ 1,000 บาทก็มี ลองสอบถามหรืออ่านข้อมูลการลงทุนนั้นๆดูน่ะ
4. ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี
5. การ สับเปลี่ยน ไปถือ SSF กองอื่นนั้นสามารถทำได้ แล้วแต่ผู้ลงทุนเลย เพราะ SSF ถือระยะยาวและแนวโน้มของตลาดในแต่ล่ะอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงเวลาก็ต่างกัน
ผิดเงื่อนไขการลงทุน SSF ต้องทำอย่างไร ?
1. การซื้อเราไปซื้อ SSF เกินสิทธิ ที่กำหนดถือว่าผิดเงื่อนไข ซึ่งจะมีผลตอนขายคืน เพราะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืน SSF เฉพาะส่วนที่เกินสิทธิไปรวมเป็นเงินได้ 40(8) เพื่อเสียภาษี
- ถ้าเราเพิ่งซื้อ SSF เป็นครั้งแรกและยังไม่ได้นำไปลดหย่อนภาษี ขอแนะนำให้ ขายคืน เฉพาะส่วนที่เกินสิทธิภายในปีเดียวกัน และนำกำไรที่ได้จากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ในปีที่ขายเพื่อเสียภาษี
- แต่ถ้าเราเคยซื้อ SSF และนำไปลดหย่อนภาษีในปีก่อนมาแล้ว แนะนำให้ ถือ ส่วนที่เกินสิทธิไว้ขายทีเดียวตอนครบกำหนด และค่อยนำกำไรที่ได้จากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ในปีที่ขายเพื่อเสียภาษี เพราะการขาย SSF ใช้หลักเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) ถ้าขายทันทีจะกลายเป็นขายก่อนครบกำหนด ถือว่าผิดเงื่อนไข
2. การที่เราขายคืน SSF ก่อนครบกำหนด 10 ปี
- ถ้าเราซื้อ SSF ครั้งแรกและยังไม่ได้นำไปลดหย่อนภาษี ให้นำกำไรที่ได้จากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ในปีที่ขายเพื่อเสียภาษี
- แต่ถ้าเราเคยซื้อ SSF และนำไปลดหย่อนภาษีในปีก่อนมาแล้ว เราต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับลดหย่อนไป และยังต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน ของจำนวนเงินภาษีที่ได้รับลดหย่อนนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ของปีที่ได้รับลดหย่อนภาษีจนถึงเดือนที่ยื่นคืนภาษีให้แก่กรมสรรพากร และการนำกำไรที่ได้จากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ในปีที่ขายเพื่อเสียภาษี
กองทุน SSF มีทั้งกองที่ จ่ายปันผล และ ไม่จ่ายปันผล
- กองทุน SSF ที่จ่ายปันผล เหมาะสำหรับผู้ที่มีฐานภาษีน้อยกว่า 10% เพราะสามารถนำไปขอยื่น และมีโอกาสได้คืนภาษี
- สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีมากกว่า 10% แนะนำว่าให้เลือกกองทุน SSF ที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพราะกองทุนที่ไม่มีปันผลก็จะนำเงินก้อนนั้นกลับเข้ามารวมในกองทุนแล้วนำไปลงทุนต่อ
คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน