โพสต์สลิปโอนเงินได้ไหม? พร้อมวิธีป้องกันมิจฉาชีพในโลกออนไลน์
ตอนนี้การซื้อขายสินค้าไม่ว่าจะข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า หรือของอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่นิยมขายทางออนไลน์ ร้านค้าส่วนมากมักเปิดเพจบน Facebook บางครั้งก็ต้องมีการโพสต์สลิปโอนเงินเพื่อยืนยันการโอน แต่ด้วยกฎการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้มงวดมากขึ้น และนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องทำให้รัดกุม ทำให้ข้อมูลบางอย่างอาจจะผิดกฎของ Facebook
พ่อค้าแม่ค้าหลายรายที่เพจปลิว หรืออยู่ดี ๆ ก็โดนปิดเพจ ซึ่งส่วนมากมักเกิดจากความไม่รู้ว่าโพสต์อะไรได้หรือไม่ได้ มาดูกันว่าจริง ๆ แล้ว โพสต์สลิปโอนเงินได้ไหม? Facebook ห้ามโพสสลิปจริงหรือ ! แล้วอะไรบ้างที่ห้ามโพสต์หน้าเพจ รับรองว่าขายของสะดวก ไม่โดนปิดเพจอย่างแน่นอน
จริงหรือไม่ ! Facebook ห้ามโพสต์สลิป
หลาย ๆ คนคงจะเห็นผ่านตาจากการแชร์ตามแหล่งโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ว่า Facebook มีการเพิ่มกฎระเบียบในการโพสต์ข้อมูล เพื่อที่จะรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน และป้องกันความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานจะโดนโจรกรรมข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอัตรายจากการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ให้สังคมในนั้นมีความปลอดภัย จึงมีการออกกฎระเบียบใหม่ ๆ ที่ดูเหมือนจะเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เข้ามาอยู่เสมอ รวมไปถึงมีข่าวออกมาเตือนว่า Facebook ห้ามโพสต์สลิป
ข้อมูลที่ห้ามโพสต์ใน Facebook (เสี่ยงโดนแบน)
นอกจาก Facebook ห้ามโพสต์สลิปแล้ว ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่สามารถโพสต์ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นบัญชีส่วนตัวหรือเพจร้านค้า หากเข้าข่ายผิดกฎ ก็มีสิทธิโดนปิดเพจ หรือโดนแบนไม่ให้ใช้แพลตฟอร์มไปเลย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าอาจจะต้องระวังเป็นพิเศษในเรื่องการโพสต์ ที่บางครั้งอาจจะมีรูปภาพที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าปรากฎอยู่ ไปดูกันเลยว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่ห้ามโพสต์
1. ข้อมูลระบุตัวตน
ข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนของตัวเองหรือผู้อื่นได้ โดยสามารถระบุได้ผ่านชื่อ และหมายเลขที่ออกโดยทางการ เช่น
- หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขหนังสือเดินทาง
- ข้อมูลทะเบียนพลเมือง เช่น เอกสารการสมรส ใบสูจิบัตร ใบมรณะบัตร เอกสารเปลี่ยนชื่อ ยกเว้นบัตรประตัวนักเรียน นักศึกษา สามารถเปิดเผยได้
- เอกสารสถานะการพำนักและการเดินทาง เช่น วีซ่า ใบอนุญาติทำงาน
- ใบขับขี่หรือป้ายทะเบียน ยกเว้นการแชร์เพื่อตามหาเจ้าของ
- ข้อมูลระบุตัวตนทางดิจิทัล เช่น รหัส PIN รหัสผ่านโซเชียลมีเดีย
2. ข้อมูลติดต่อส่วนบุคคล
สำหรับข้อมูลติดต่อส่วนบุคคลจะรวมทั้งแต่หมายเลขโทรศัพท์มือถือ อีเมลส่วนบุคคล โดยส่วนนี้จะมีข้อยกเว้นเมื่อเป็นการแชร์ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล หรือเจ้าของข้อมูลมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
ข้อยกเว้น
- แชร์เพื่อสนับสนุนโครงการการกุศล
- การตามหาผู้คน สัตว์ หรือวัตถุที่สูญหาย
- การติดต่อธุรกิจหรือผู้ให้บริการ
3. ข้อมูลทางการเงิน
รายการที่แสดงข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หมายเลขบัญชีธนาคาร รหัส PIN สลิปโอนเงิน รวมไปถึงข้อมูลที่ปรากฎในบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตทั้งหมด
4. รายละเอียดอยู่อาศัย
พ่อค้าแม่ค้าต้องระวังข้อนี้ให้ดี ! เพราะหากมีการโพสต์ที่อยู่ลูกค้า หรือรูปภาพพัสดุที่ถ่ายติดที่อยู่ในการจัดส่ง จะถือว่าผิดกฎของ Facebook โดยทันที ยิ่งไปกว่านั้น เลขพัสดุ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่สามารถนำไปค้นหารายละเอียดที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นร้านค้าจึงควรปิดเลขพัสดุก่อนนำไปโพสต์ลงโซเชียล
5. ข้อมูลทางการแพทย์
เอกสารทางการแพทย์ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในการโพสต์ ทั้งเอกสารทางด้านจิตวิทยา โรคทางพันธุกรรม หรือเอกสารที่ออกโดยเวชระเบียนโรงพยาบาล
6. ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลที่ถูกแฮ็ก
แน่นอนว่าหากไปแฮ็กข้อมูลคนอื่นแล้วนำมาเปิดเผย ไม่เพียงแต่ถือว่าผิดกฎการใช้งาน Facebook เท่านั้น แต่ยังอาจเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย ยกเว้นแต่ว่าเป็นการรายงานข่าว โดยตัดเพียงเนื้อหาสาระสำคัญ ก็สามารถที่จะแชร์ได้
สลิปโอนเงินจำเป็นต้องปิดชื่อผู้โอนหรือไม่ ?
ถึงแม้จะไม่สามารถโพสต์สลิปโอนเงินลงหน้าเพจ Facebook ได้แล้ว แต่บางครั้งเมื่อจำเป็นจะต้องส่งหลักฐานการโอนเงินไปให้ผู้รับเงิน หรือแนบหลักฐานเป็นไฟล์ภาพบนเว็บไซต์อื่น ๆ จึงเกิดคำถามว่าโอนเงิน ปิดชื่อผู้โอนหรือไม่ ?
ในความเป็นจริงแล้ว อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องปิดชื่อผู้โอน เพราะผู้รับเงินก็ต้องการที่จะตรวจสอบข้อมูลว่าเราเป็นผู้โอนหรือไม่ แต่เรื่องที่ควรจะต้องระวังเป็นพิเศษคือ ไม่ควรส่งเลขบัญชีธนาคารให้กับคนแปลกหน้า หรือโพสต์ในที่สาธารณะ เพราะในปัจจุบัน มิจฉาชีพมีวิธีการมากมายที่คอยแฮ็กบัญชี การเปิดเผยเลขบัญชีธนาคารอาจนำไปสู่การปลอมแปลงตัวบุคคลแล้วไปทำธุกรรมการเงินให้เกิดความเสียหายแก่เราได้
5 วิธีป้องกันพร้อมรับมือมิจฉาชีพในโลกออนไลน์
1. ไม่หลงเชื่อข้อความเชิญชวน
เมื่อเจอคำเชิญชวนหรือคำโปรยโฆษณาต่าง ๆ แล้วให้กดลิงก์เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ให้ระวังทันทีว่าจะเป็นลิงก์ปลอม ลิงก์ใด ๆ ก็แล้วแต่ควรมาจากเว็บไซต์ทางการ และเว็บไซต์ควรขึ้นต้นด้วย https:// พร้อมสัญลักษณ์กุญแจทางด้านหน้า
2. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลลงพื้นที่สาธารณะ
ไม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัว หรือกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในลิงก์หรือแพลตฟอร์มที่เราไม่รู้ที่มาที่ไป ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่มิจฉาชีพนิยมในการหลอกแฮ็กข้อมูล
3. สมัครบริการแจ้งเตือนเงินเข้า-ออก
เงินจะเข้าจะออกก็ต้องรู้ทันที ผ่านบริการจ้งเตือนจากทางธนาคาร หากพบว่ามีเงินถอนออกโดยที่เราไม่ได้เป็นผู้กระทำธุรกรรมนั้น ๆ ต้องรีบอายัดบัตรหรือบัญชีนั้นทันที
4. จำกัดวงเงินการถอนเงินในแต่ละวัน
ยิ่งเงินในบัญชีเยอะยิ่งมีหวั่น ! หากถูกมิฉาชีพถอนเงินแบบไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นอยากแนะนำให้ทุกคนตั้งค่าเพื่อจำกัดวงเงินในการถอนออก ว่าวันนึงสามารถถอนได้กี่บาท โดยอาจจะคำนวณจากรายจ่ายต่อวัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยไม่ให้เงินถูกถอนไปเสียหมด
5. ตั้งค่าความปลอดภัยในบัญชีออนไลน์
บัญชีออนไลน์ ทั้งอีเมล บัญชีโซเชียลมีเดีย หรือบัญชีบนแอปชอปปิ้งออน์ไลน์ล้วนมีความเสี่ยงในการที่คนอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เช่นการไปล็อกอินในคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น คอมพิวเตอร์สาธารณะ ควรจะมีการตั้งค่ารหัสผ่านสองชั้น หรือตั้งค่าให้มีการยืนยันตัวตนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในบัญชีให้มากขึ้น