ประวัติ ดร.นพ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คนใหม่
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 29 ก.ค. 2563
มีมติเห็นชอบให้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คนใหม่ ตามที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรักษาการรัฐมนตรว่าการกระทรวงการคลังเสนอชื่อและผลการสรรหาผู้ว่า ธปท.ของคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานได้รายงานผลการพิจารณามาให้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว
โดยนายเศรษฐพุฒิจะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.แทนนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันที่หมดวาระในวันที่ 30 ก.ย.2564
สำหรับประวัติของนายเศรษฐพุฒิเศรษฐพุฒิดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชุดปัจจุบัน
คนที่รู้จัก ดร.เศรษฐพุฒิ หรือ “ดร.นก” บอกว่าเขาเป็นคนชอบตัดสินในนาทีสุดท้ายจนกว่าจะมั่นใจเสมอ
ดร.นกเป็นคนสนุกสนาน เป็นนักคิด นักทำ นักวางกลยุทธ์ ที่มองเห็นปัญหาโครงสร้างของประเทศ
ประวัติ ดร.เศรษฐพุฒิ จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกียรตินิยมอันดับสูงสุดจาก Swarthmore College ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา
ช่วงปี 2529-2531 เข้าทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี 2535 ก็ย้ายไปเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก (World Bank)
ปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มย้ำกุ้ง รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศหมดเกลี้ยง เพราะถูกนำไปใช้ในการปกป้องค่าเงินบาท มีการสั่งปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง ภาคธุรกิจเอกชนเกือบครึ่งค่อนประเทศ มีหนี้เสียมากมาย ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ จึงเดินทางไปเจรจา ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนมีการจัดทำหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) หรือ LOI ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 IMF อนุมัติวงเงินกู้ให้ไทย 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกำหนดเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบเข้มงวด ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มีคนตกงานจำนวนมาก
9 พฤศจิกายน 2540 รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ประกาศลาออก นายชวน หลีกภัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เป็นสมัยที่ 2 มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายธารินทร์ระดมเทคโนแครต นักเรียนทุนรัฐบาล ตั้งขึ้นเป็นทีมงานที่ปรึกษารัฐมนตรี เช่น นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัด 3 กระทรวง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ, นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สศค., นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนักวิชาการคลัง 9 กรมบัญชีกลาง และนายอิสสราพันธุ์ เพ็ชรรัตน์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีฯ ดูแลงานทางด้านการเมืองในขณะนั้น และยังมีนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ติดตามในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ
แต่ยังขาดมือประสานงานกับองค์กรการเงินระหว่างประเทศ นายธารินทร์จึงมอบหมายให้นายศุภชัย พิศิษฐวานิช ปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น ไปทาบทาม ดร.วิรไท สันติประภพ ซึ่งทำงานอยู่ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และ ดร.เศรษฐพุฒิทำงานอยู่ที่เวิลด์แบงก์ กรุงนิวยอร์ก มา 9 ปี กลับมารับใช้ชาติ ในตำแหน่งผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) เมื่อปี 2541 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษานายธารินทร์ เพื่อเตรียมตัวไปเจรจากับ IMF ขอปรับเป้าหมายการดำเนินนโยบายการคลัง จากเกินดุล 1% ของ GDP มาเป็นขาดดุล 1.6% ของ GDP และเพิ่มเป็น 2.4 % ของ GDP ในเวลาต่อมา เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งยังมีส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญๆ อีกหลายมาตรการ เช่น การกู้เงินจากธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย มาใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loans – SAL), การกู้เงินรัฐบาลญี่ปุ่นมาใช้ในโครงการมิยาซาวา, โครงการ 14 สิงหาคม 2541 เพิ่มทุนให้สถาบันการเงิน จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เข้ามาแก้ปัญหาหนี้เสีย
ปัจจุบันทีมงาน “ธารินทร์” ในห้วงการแก้วิกฤติต้มยำกุ้งขณะนั้น บัดนี้ต่างอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญๆ ของประเทศ
หลังจากยุบสภาเมื่อปี 2544 ดร.เศรษฐพุฒิก็กลับไปเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกอีกครั้ง จากนั้นทำงานที่บริษัท McKinsey & Co ในนิวยอร์ก เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาช่วงปี 2548-2550 กลับประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สายงานวิจัยและสารสนเทศ
ต่อมาได้ออกมาอยู่ในภาคธุรกิจ โดยร่วมงานกับบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ปี 2550-2551 และยังเป็นอนุกรรมการจัดการลงทุน (investment committee) ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ในปี 2551 ช่วงที่โลกกำลังประสบปัญหาวิกฤติการเงิน ได้โยกไปทำหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด แต่ทำหน้าที่นี้ได้ราว 1 ปีก็ได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารไทยพาณิชย์ให้ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ chief economist ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB Center for Economic and Business Intelligence) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น กล่าวว่า การมีผู้เชี่ยวชาญคุณภาพชั้นนำมาร่วมงานกับธนาคาร ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ SCB Center for Economic and Business Intelligence จะยังประโยชน์ในเรื่องข้อมูลเศรษฐกิจและข้อมูลธุรกิจเพื่อใช้ในการตัดสินใจในการดำเนินงานให้กับธนาคาร บริษัทในกลุ่มฯ และลูกค้าของธนาคาร ซึ่งงานดังกล่าว ดร.เศรษฐพุฒิเป็นผู้มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากได้สั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อผนวกกับความเชี่ยวชาญและการยอมรับในฐานะนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทยแล้ว จะทำให้ข้อมูลงานวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ดร.เศรษฐพุฒิร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์จนถึงมกราคม 2554 จึงได้ออกมาก่อตั้งบริษัท ดิ แอดไวเซอร์ จำกัด และรับหน้าที่กรรมการผู้จัดการ นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิยังรับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ซึ่งมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจหลายเรื่อง
ดร.เศรษฐพุฒิได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารทหารไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ให้เป็นกรรมการธนาคารประธานกรรมการสรรหากำหนดค่าตอบแทนและบรรษัทภิบาล รวมทั้งเป็นกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธปท. ดร.เศรษฐพุฒินั่งเป็นกรรมการ เช่น คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรรมการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และกรรมการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังมีมติเห็นชอบให้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ และนับเป็นผู้ว่าฯ ธปท. คนที่ 21 ว่า เซ็นแต่งตั้งแล้ว ตามที่ได้มีการสรรหาผู้ว่าฯ ธปท. ของคณะกรรมการสรรหา และเสนอชื่อขึ้นมา โดยคัดสรรจากคุณวุฒิ คุณสมบัติ การแสดงทัศนคติ วิสัยทัศน์ ซึ่งมีคะแนนมาอันดับ 1 ไม่ใช่ตนเองเป็นผู้กำหนด
“เป็นคนรุ่นใหม่ มีหน้าใหม่ๆ มาช่วยงานบ้าง ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ไม่กล้ากันหมด ต้องให้กำลังใจ สนับสนุนกันต่อไป มีการประเมินของหน่วยงานอยู่แล้ว ผมก็จะไม่ไปก้าวล่วง อำนาจใครๆ ก็ว่ามา”
อนึ่ง การเปิดรับสมัครผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ มีผู้สมัครทั้งสิ้น 6 คน ประกอบด้วย คนใน ธปท. 2 คน คือ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และบุคคลภายนอก 4 คน ได้แก่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ อดีตคณะกรรมการ กนง., ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร อดีตกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา เจเอฟ จำกัด หรือ “เอเจเอฟ” และนางสาวต้องใจ ธนะชานันท์ อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการลงทุน เอเจเอฟ โดยนายสุชาติและนางสาวต้องใจไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา

















