📚 เกร็ดความรู้คู่แรงงาน ตอน"นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหลังเลิกจ้างภายในกี่วัน?"
⚖️ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยประกอบกิจการร้านอาหาร จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 แต่ร้านจะเปิดดำเนินการวันที่ 21 มกราคม 2549 โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะนำสิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำปี วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์มาใช้หยุดในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุง หากโจทก์ใช้วันหยุดเกินสิทธิ จำเลยขอสงวนสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างในวันหยุด แต่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความคำว่า “ ค่าจ้าง” หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งวันหยุดตามบันทึกข้อตกลงล้วนเป็นวันหยุดที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างแม้ลูกจ้างมิได้ทำงานทั้งสิ้น นอกจากนี้การมอบหมายงานหรือการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเป็นสิทธิของนายจ้าง การที่นายจ้างไม่อาจมอบหมายงานหรือสั่งงานให้ลูกจ้างทำ ทั้งที่ลูกจ้างมีความพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ตกลงจ้างกัน นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีงานให้ลูกจ้างทำจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์หยุดงานในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุงอันเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทำ มิใช่โจทก์ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธินำค่าจ้างที่จ่ายให้แก่โจทก์ในช่วงวันหยุดดังกล่าวมาหักกับค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับหลังจากร้านเปิดดำเนินการแล้ว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 70 วรรคสอง กำหนดว่าในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างภายใน 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 มีนาคม 2549 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างภายในวันที่ 21 มีนาคม 2549 จำเลยไม่จ่ายภายในเวลาดังกล่าวจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป
⚖️ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15403/2558












