ใน HDMI จะมีคุณสมบัติที่เรียกว่า CEC อยู่ มาทำความรู้จักกับมันกัน
HDMI CEC คืออะไร ? ทำอะไรได้บ้าง ? และวิธีเปิด-ปิด คุณสมบัตินี้
ภาพจาก : https://shopee.co.th/digitalplanetstore/16379544435
HDMI CEC คืออะไร ?
HDMI CEC เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ถูกใช้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดที่คุณมี ให้ทำงานร่วมกันได้โดยใช้แค่สาย HDMI มันเป็นคุณสมบัติเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ HDMI 1.0 และได้รับการอัปเดตเวอร์ชันใน HDMI 1.3 โดย HDMI CEC อนุญาตให้อุปกรณ์จำนวนมากสูงสุดถึง 15 เครื่อง สามารถสื่อสารหากัน และแบ่งปันการตั้งค่าร่วมกันได้ เพื่อให้การสร้างระบบเครื่องเสียงภายในบ้านแบบไร้รอยต่อ ทำได้อย่างง่ายดาย
ในบทความนี้ เราอยากจะมาอธิบายให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกับเทคโนโลยี HDMI CEC กันมากขึ้นกัน ...
เนื้อหาภายในบทความ
- HDMI CEC ทำอะไรได้บ้าง ?
(What does HDMI CEC do ?) - วิธีเปิด-ปิดคุณสมบัติ HDMI CEC
(How to enable or disable HDMI CEC feature ?)
HDMI CEC ทำอะไรได้บ้าง ? (What does HDMI CEC do ?)
HDMI CEC ย่อมาจากคำว่า "High-Definition Multimedia Interface Consumer Electronics Control" มันเป็นลูกเล่นที่มีอยู่ในระบบ HDMI มันเป็น โปรโตคอล (Protocol) ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ทั้งหมดที่ถูกเชื่อมต่อหากันด้วยสาย HDMI ได้ด้วยรีโมทคอนโทรล เพียงตัวเดียว ถึงแม้ว่ามันอาจจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่ยังคงต้องใช้รีโมทตัวเดิมในการสั่งงานอยู่ เพราะมันอาจต้องใช้ปุ่มที่โปรแกรมาอย่างเฉพาะทาง แต่คุณสมบัติพื้นฐานส่วนใหญ่ อย่างเช่น เลื่อนเพลงไปข้างหน้า/ถอยหลัง, เรียกเมนู, เปลี่ยนช่อง ฯลฯ จะสามารถสั่งการได้โดยใช้ รีโมท TV เพียงตัวเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถทำได้เพราะอาศัย HDMI CEC นั่นเอง
ลองนึกภาพตามว่า TV ของคุณมีเครื่องเล่น แผ่น Blu-rayและซาวด์บาร์ เชื่อมต่ออยู่ แทนที่คุณจะต้องมีรีโมทคอนโทรล 3 อัน คุณสามารถใช้รีโมท TV เพียงอันเดียวในการควบคุมเครื่องเล่น Blu-ray และซาวด์บาร์ได้เลย ซึ่งระบบ HDMI CEC จะรองรับการต่อพ่วงอุปกรณ์ได้มากถึง 15 เครื่องเลยทีเดียว
ภาพจาก : https://thehometheaterdiy.com/hdmi-cec/
โปรโตคอล HDMI CEC ยังมีคุณสมบัติที่สามารถตรวจจับการเชื่อมต่อสัญญาณได้อัตโนมัติ มันช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานได้เป็นอย่างมาก เช่น เมื่อคุณกด "ปุ่ม PlayStaion" ที่อยู่บนจอย DualSense ซึ่งมันจะเป็นการเปิดเครื่อง PlayStation 5 ให้เริ่มต้นทำงาน ทันทีที่เครื่องเริ่มทำงาน มันจะสั่งเปิดทีวีพร้อมกับสลับช่องสัญญาณไปยังพอร์ต HDMI ที่เชื่อมต่ออยู่อัตโนมัติ หรือถ้าเป็นระบบเสียง เมื่อคุณเปิดซาวด์บาร์ เสียงก็จะย้ายการเล่นจากลำโพงของ TV มาเล่านผ่านซาวด์บาร์ให้ได้ทันที
อีกหนึ่งคุณสมบัติที่น่าสนใจคือ "System Standby" โดยเมื่อคุณกด "ปุ่ม Power" เพื่อปิด TV ให้เข้าสู่โหมด Sleep มันจะเป็นการสั่งให้อุปกรณ์ทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับ TV อยู่เข้าสู่โหมด Sleep ไปด้วยในทันที ช่วยให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมาไล่ปิดอุปกรณ์ทีละเครื่องให้เสียเวลา
วิธีเปิด-ปิดคุณสมบัติ HDMI CEC (How to enable or disable HDMI CEC feature ?)
อย่างไรก็ตาม การจะใช้งาน HDMI CEC แม้ TV ส่วนใหญ่จะเปิดใช้งานเอาไว้แล้ว แต่บางครั้งผู้ใช้จะต้องตั้งค่าเพื่อเปิดใช้งานคุณสมบัติดังกล่าวก่อนด้วยตัวเองนะ ซึ่ง TV แต่ละค่ายก็อาจจะมีเมนูการตั้งค่าที่แตกต่างกัน
ภาพจาก : https://community.oneplus.com/thread/1111607
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ผลิต TV แต่ละรายแม้จะใช้เทคโนโลยี HDMI CEC เหมือนกัน แต่มักจะตั้งชื่อเฉพาะตัวขึ้นมา อย่างเช่น
- AOC : E-link
- Hitachi : HDMI-CEC
- Insignia : INlink
- LG : SimpLink or SIMPLINK
- Magnavox : Fun-Link
- Mitsubishi : NetCommand for HDMI, RealLink for HDMI
- Onkyo : RIHD
- Panasonic : HDAVI Control, EZ-Sync หรือ VIERA Link for CEC
- Philips : EasyLink, Fun-Link
- Pioneer : Kuro Link
- Roku TV : 1-Touch Play
- Runco International : RuncoLink
- Samsung : Anynet+
- Sharp : Aquos Link
- Sony : BRAVIA Link, Bravia Sync
- Toshiba : CE-Link หรือ Regza Link
- Vizio : CEC
- ฯลฯ
การเปิดใช้งาน HDMI CEC ของแต่ละยี่ห้อมักจะมีความแตกต่างกันบ้าง ตามแต่การออกแบบ ส่วนเชื่อมต่อผู้ใช้งาน (User Interface) แต่หลัก ๆ การก็จะคล้ายคลึงกัน อย่างเช่นSamsung ถ้าเป็นระบบปฏิบัติการ Tizen TV ก็จะไปตั้งค่าเปิดใช้งานที่ "Connection ➜ External Device Manager ➜ Anynet+" ในขณะที่ Sharp ก็จะตั้งค่าที่ "Preferences ➜ Inputs ➜ Consumer Electronic Control" เป็นต้น
ในตอนนี้เราก็รู้แล้วว่า HDMI CEC คืออะไร ? และจะเปิดใช้งานมันได้อย่างไร ? ส่วนจะใช้งานมันดีหรือไม่นั้น ? ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการใช้งานของแต่ละบุคคล แต่โดยส่วนตัวแล้ว เรามองว่ามันก็เป็นคุณสมบัติที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ถ้าไม่ชอบก็แค่ปิดคุณสมบัติการทำงานของมันทิ้งไปก็ได้ ไม่มีผลต่อการใช้งานในด้านอื่น ๆ แต่อย่างใด
อ้างอิงจาก: www.trustedreviews.com , www.nakamichi-usa.com , www.makeuseof.com , thehometheaterdiy.com , www.howtogeek.com