หลวงปู่ฝั้น
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
พระอาจารย์ผู้เปี่ยมล้นเมตตาธรรม
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นศิษย์พระกรรมฐาน ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นหนึ่งในกองทัพธรรม อันมีท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นหัวหน้าตามคำสั่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่ธรรมภาคปฏิบัติ หรือทางด้านวิปัสสนากัมมัฎฐาน โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นคือ สาระสำคัญเบื้องต้นที่ผู้เขียนมีความสนใจชาติตระกูล : พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันอาทิตย์ 20 สิงหาคม 2442 ณ บ้านม่วงไข่ ตําบลพรรณา อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านเป็นบุตรชายคนที่สองของจ้าวไชยกุมาร (เม้า) ซึ่งเป็นหลานของคุณพระเสนาณรงค์ (นวล) อดีตเจ้าเมืองพรรณานิคม ฝ่ายมารดาของท่านชื่อนุ้ย เป็นบุตรีของคุณหลวงประชานุรักษ์ จะเห็นว่าท่านพระอาจารย์จึงเป็นเชื้อสายขุนนางทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดา คงจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ท่านพระอาจารย์จึงเป็นผู้รักชาติบ้านเมืองและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มากเป็นพิเศษ
ตระกูลของพระอาจารย์ เป็นเชื้อสายขุนนางเก่าแก่ของหมู่ชน เรียกว่า “ภูไท” หรือ “ภูไทย” ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งแรกได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครจ้าวไชยกุมารบิดาของพระอาจารย์เป็นผู้ที่มีคนนับหน้าถือตามาก จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านม่วงไข่ ต่อมาบิดาของท่านได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใหม่ที่บ้าน
บะทอง ซึ่งห่างจากที่เก่าไม่มากนัก และก็ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านอีก ท่านได้ดำรงตำแหน่งอยู่จนสิ้นชีพ
ชีวิตในเพศฆราวาส : พระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้มีลักษณะดี มีความประพฤติเรียบร้อยและมีน้ำใจโอบอ้อมอารีมาตั้งแต่เด็ก ท่านเป็นนักเรียนเรียนดี ครั้นเรียนจบท่านคิดจะทำราชการจึงได้ติดตามพี่เขยไปยังจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพี่เขยของท่านรับราชการในตำแหน่งปลัดขวาที่อำเภอเมืองขอนแก่น ระหว่างที่อยู่ขอนแก่นนี้ พระอาจารย์ได้สังเกตเห็นทางการทำการปราบปรามโจรผู้ร้าย มีการฆ่าฟันกัน ได้เห็นการประหารชีวิตนักโทษ ได้เห็นเจ้าเมืองกลับกลายเป็นนักโทษ ครั้นพี่เขยย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเลย พระอาจารย์ก็ติดตามไปด้วย ก็ได้เห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนั้นอีก ท่านได้สติบังเกิดความเบื่อหน่ายในความยุ่งเหยิงวุ่นวายชีวิตในทางโลก ไม่แน่ไม่นอน จึงเลิกคิดที่จะทำงานรับราชการ ตัดสินใจบวชเพื่อสั่งสมบุญบารมีในทางพุทธศาสนาต่อไป












