ตีแผ่ด้านมืด..วงการ K-POP
ปัจจุบันนี้ ..ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสความนิยมใน K-POP ได้โด่งดังไปในระดับโลกแล้ว แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า เบื้องหน้าที่เราเห็นภาพลักษณ์อันสวยหรู ชีวิตที่หรูหรา ตามมาด้วยชื่อเสียงเงินทองนั้น จนเด็กๆ หลายคนต่างใฝ่ฝันที่จะก้าวเข้าไปยืนในจุด ๆ นั้น แต่เบื้องหลังแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเราคิดกันสักเท่าไหร่เลย
ในบทความนี้ จะมาตีแผ่ด้านมืดของวงการ K-POP กันว่ามันมีอะไรกันบ้าง ?? จะได้ช่วยเตือนสติเด็กไทยหลาย ๆ คน ที่ยังอยากจะเข้าสู่วงการ K-POP ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับอะไรกันบ้าง !!
"สัญญาทาส" นักร้อง และนักแสดงในเกาหลีใต้จำนวนมากก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน มีบางคนเท่านั้นที่ตัดสินใจเรียกร้องขอความยุติธรรม ขณะที่ส่วนใหญ่ยอมรับสภาพ ไม่อาจจะดิ้นรนขัดขืนอะไรได้ เพราะยังต้องพึ่งพาในเรื่องต่างๆ จากต้นสังกัด ที่สามารถบีบบังคับไม่ว่าจะเรื่องอะไรกับศิลปินได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องส่วนแบ่งรายได้ หรือระยะเวลาที่ทำสัญญาอันยาวนาน ซึ่งไม่ค่อยให้อิสระกับไอดอลสักเท่าไหร่ และยิ่งเป็นไอดอลชาวต่างชาติด้วยแล้ว ก็จะยิ่งถูกเอารัดเอาเปรียบมากกว่าไอดอลเกาหลีเสียอีก
"บังคับค้าประเวณี" ซีอีโอของต้นสังกัดแห่งหนึ่งได้ถูกจับกุมตัว หลังจากทำตัวเป็นนายหน้าค้าเด็กฝึกหัดหญิงในต้นสังกัด เขาถูกตัดสินจำคุก 20 เดือน และปรับ 21 ล้านวอน (ประมาณ 540,000 บาท) และเขาได้เป็นนายหน้าส่งเด็กฝึกหัดหญิง 4 คนให้แก่นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ที่ลอสแอนเจลิส และยังถูกกล่าวหาอีกว่ายังเป็นตัวกลางจัดหาหญิงสาวคนอื่น ๆ เพื่อการค้าประเวณีอีกด้วย
"ข่มขืนกระทำชำเรา และพรากผู้เยาว์" ชีอีโอของบริษัทแห่งหนึ่งได้ทำผิดกฎหมายคุ้มครองการกระทำรุนแรงทางเพศในเด็ก และผู้เยาว์, ล่วงละเมิดทางเพศ, กักขังหน่วงเหนี่ยว และทำร้ายร่างกาย ชายคนดังกล่าวนั้น ได้ทำการข่มขืนเด็กฝึกหัดอายุ 17 ปี และ19 ปี ในหอพักที่บริษัทจัดให้ หลังจากนั้นเขาได้ยึดโทรศัพท์ของเด็กฝึกหัดอีก 3 ค่น และกักขังพวกเธอไว้ในหอพัก เขาตีพวกเธอที่ศีรษะ และยังขู่อีกว่าพ่อแม่ของพวกเธอจะต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมาก ถ้าหากพวกเธอคิดจะหนีออกจากบริษัท เรื่องนี้ทำให้พวกเธอไม่กล้าที่จะแจ้งความเอาผิดพวกเขา
"การควบคุมน้ำหนักของไอดอล" เด็กฝึกหัดหลายคนได้ออกมาพูดถึง เรื่องการควบคุมน้ำหนักที่เข้มงวดหลายต่อหลายครั้ง แชยอน (Chaeyeon) ได้เคยเปิดเผยว่า เธอเช็คสัดส่วนของตัวเองทุก ๆ วัน โดยการใช้สายวัดวัดรอบต้นขาของตัวเอง ทางบริษัทจะมีเกณฑ์กำหนดค่าน้ำหนักอยู่ และหากเธอน้ำหนักมากกว่านั้นก็จะถูกลงโทษ แชยอนบอกว่าถ้าบริษัทขอให้เธอลดน้ำหนัก เธอก็ต้องทำ ส่วนโมโมะ (Momo) แห่งวง TWICE ได้เล่าให้ฟังว่า เคยลดน้ำหนัก 7 กิโลกรัมภายใน 1 อาทิตย์ ซึ่งทางบริษัทบอกว่าเธอต้องลดน้ำหนัก ไม่อย่างนั้นก็ขึ้นแสดงบนเวทีไม่ได้ โมโมะได้บอกว่าตลอดสัปดาห์นั้นเธอไม่กินอย่างอื่นเลย นอกจากน้ำแข็ง และไปออกกำลังกาย เธอยังบอกอีกว่าตัวเองบ้วนน้ำลายบ่อยมาก เพราะเชื่อว่าจะทำให้น้ำหนักลด โมโมะบอกว่าตอนนั้นเวลานอนหลับ เธอกลัวว่าจะไม่สามารถตื่นขึ้นมาได้อีกในตอนเช้า ยิ่งคิดยิ่งอยากจะร้องไห้
นอกจากเกิร์ลกรุ๊ปแล้ว บอยแบนด์ก็ต้องลดน้ำหนักเช่นกัน ซิ่วหมิน (Xiumin) วง EXO เป็นอีกคนที่ผ่านช่วงระยะเวลายากลำบากของการลดน้ำหนักมาในช่วงที่เขากำลังเดบิวต์ เขาบอกว่าตอนโปรโมทเพลง "Growl" เขากินอาหารทุก 2 วัน และดื่มเฉพาะกาแฟ ตอนนั้นเขามีน้ำหนักแค่ 53 กิโลกรัมเท่านั้น
"วงการที่บูชาความสมบูรณ์แบบ" นอกจากประเด็นเรื่องของการปฏิบัติต่อไอดอลอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว อุตสาหกรรมเคป็อปยังมีปัญหาในแง่ของการนำเสนอตัวศิลปิน เพราะใครก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าเป็นไอดอลแล้ว พวกเขาต้องมาพร้อมภาพลักษณ์อัน ‘สมบูรณ์แบบ’
คำว่าสมบูรณ์แบบในที่นี้ ได้รวมทั้งเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก และพฤติกรรมของศิลปิน เห็นได้จากการที่ค่ายเพลงมักขอ หรือส่งเสริมให้เด็กฝึกหัดทำศัลยกรรม เพื่อให้มีใบหน้าหล่อสวยตามค่านิยมของสังคม เนื่องจากในอุตสาหกรรมนี้ หน้าตามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพรสวรรค์ หรือบางทีอาจมากกว่าด้วยซ้ำไป
"การทำให้ผู้เยาว์เป็นวัตถุทางเพศ" อีกประเด็นที่ถูกถกเถียงกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ การผลิตศิลปินตั้งแต่อายุน้อยๆ รวมถึง ‘การทำให้ผู้เยาว์เหล่านี้กลายเป็นวัตถุทางเพศ’ บางวงได้รับความสำเร็จแบบชั่วข้ามคืนนั้น ก็มาพร้อมกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทันที เนื่องจากการแต่งตัวที่ล่อแหลม รวมถึงเนื้อเพลงที่สามารถตีความไปในทางเพศได้ ทำให้แฟนคลับหลายคนเริ่มกังวลว่า การแต่งตัวที่โชว์เรือนร่างมากเกินไป และเพลงที่มีความหมายสองแง่สองง่ามนั้น อาจไม่เหมาะสมกับวงไอดอลที่สมาชิกมีอายุเฉลี่ย 14 – 18 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นผู้เยาว์ เพราะเกาหลีใต้กำหนดให้ผู้บรรลุนิติภาวะต้องมีอายุ 19 ปีขึ้นไป
"วัฒนธรรมที่มุ่งเน้นวัตถุนิยม และการบริโภคสินค้ามากเกินจำเป็น" นอกจาก K-POP ที่อาจจะมีส่วนทำให้ผู้คนต่างยึดติดกับสิ่งของและรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว อุตสาหกรรมนี้ยังก่อให้เกิด ‘การบริโภคมากเกินความจำเป็นจากการที่ค่ายเพลงต่างๆ สร้างคัลเจอร์ทุนนิยม ที่ส่งเสริมให้บรรดาแฟนคลับต้องซื้อ ‘อัลบั้มแบบจับต้องได้’ เป็นจำนวนมาก จนก่อให้เกิดขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องใช้ระยะเวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลายอีกด้วย
"วงการที่สร้างสังคมแห่งการเกลียดชัง หรือ Cyberbullying" เราเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการบูลลี่ทั้งทางโลกความเป็นจริง และโลกออนไลน์เกี่ยวกับศิลปินเกาหลีอยู่เสมอ ในเรื่องรูปร่างของคนบางกลุ่ม สิ่งเหล่านี้เรารู้จักกันในชื่อของ “Cyberbullying” อยู่แล้ว แต่มีอีกคำหนึ่งที่หนักหนารุนแรงสาหัสกว่านั้น นั่นก็คือคำว่า “การทำให้กลายเป็นสิ่งของ” สิ่งนี้คือความย่ำแย่ทางจิตใจที่สุดเท่าที่มนุษย์คน ๆ หนึ่งจะต้องแบกรับไว้ เราเองก็มีจิตใจเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ถ้าถูกแปรสถานะเป็นวัตถุใครล่ะจะทนรับได้....
"พัวพันการซื้อขายยาเสพย์ติด" ก่อนหน้านี้ในปี 2017 ศิลปิน T.O.P แรปเปอร์ของวงบิ๊กแบง หนึ่งในกลุ่มศิลปินชื่อดังของค่าย YG ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 7 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี จากกรณีที่เขาเสพกัญชามากกว่า 1 ครั้ง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 'ซึงรี' หรือ 'อีซึงฮยอน' สมาชิกอีกคนหนึ่งของวงบิ๊กแบงก็ต้องแถลงการลาออกจากวง หลังถูกสอบสวนในคดีพัวพันการค้าประเวณี และผับที่ซึงรีมีชื่อเป็นผู้บริหารก็ถูกสั่งปิด เพื่อสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด ติดสินบน และค้าประเวณี