รู้หรือไม่"วันเข้าพรรษาของไทย"
มาหาความรู้กันครับ
วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาเป็นระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝนเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยพระสงฆ์ต้องไม่เดินทางไปค้างแรมในสถานที่อื่น เว้นแต่มีเหตุจำเป็น และต้องเดินทางกลับมาภายใน 7 วัน
ประวัติวันเข้าพรรษา
มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตช่วงต้นพุทธกาล ขณะที่ยังไม่มีการกำหนดให้พระสงฆ์ต้องจำพรรษา พระภิกษุกลุ่มหนึ่งและบริวารจำนวนมาก ได้เที่ยวจาริกเพื่อสั่งสอนพระธรรมและแสวงบุญไปในที่ต่าง ๆ ทำให้เหยียบย่ำข้าวกล้า และพืชผลที่ชาวบ้านปลูกไว้ ส่งผลเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ชาวบ้านต่างพากันตำหนิที่พระภิกษุในศาสนาพุทธนั้นไม่หยุดเดินทางในฤดูฝน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดหรือสถานที่จำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝน
สำหรับในประเทศไทยนั้น ประเพณีเกี่ยวกับวันเข้าพรรษามีปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากวันเข้าพรรษาถือเป็นวันสำคัญทางศาสนา รัฐบาลจึงกำหนดให้วันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดราชการ
ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์
ในช่วงเข้าพรรษา พระภิกษุต้องหยุดการเดินทางเพื่อจำพรรษาที่วัดหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง และไม่ค้างแรมที่อื่น เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ซึ่งพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ค้างแรมที่อื่นได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ถือว่าอาบัติหรือล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ เรียกว่า สัตตาหกรณียะ (แปลตามตัวได้ว่ากิจที่ควรทำใน 7 วัน) ซึ่งถือเป็นเหตุพิเศษหรือข้อยกเว้น 4 ประการ ได้แก่
การดูแลผู้ป่วยที่เป็นบิดา มารดา หรือเพื่อนสหธรรมิกทั้ง 5 (ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร และสามเณรี)
พยายามยับยั้งไม่ให้สหธรรมิกที่อยากสึกนั้นทำการสึก
ทำธุระหรือปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่น หาอุปกรณ์มาซ่อมวัด วิหาร หรือกุฏิที่ชำรุด
ร่วมงานบำเพ็ญบุญที่มีผู้มานิมนต์ให้ไปทำบุญค้างคืน