ผู้นำสร้างชาติ สร้างองค์กรได้อย่างไร…เรียนรู้จากรัฐบุรุษ “ลี กวน ยิว” แห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์
ได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อเดือนก่อนเกี่ยวกับ “ทุนสิงคโปร์ยกทัพใหญ่เข้าพม่า ดูลู่ทางปักธงธุรกิจ” เนื้อข่าวกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง แห่งสิงคโปร์นำคณะตัวแทนภาคเอกชนจาก 70 บริษัทในสิงคโปร์รวม 115 คน ไปเยือนพม่า โดยประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ของพม่าโปรยยาหอมว่าจะยึดแนวทางกับความสำเร็จของสิงคโปร์เป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ
อ่านข่าวนี้แล้วผมเกิดคำถามขึ้นในใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศสิงคโปร์ ประเทศเกิดใหม่ที่เป็นเกาะเล็กนิดเดียว ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดเลย แม้กระทั่งน้ำจืด และเพิ่งประกาศเอกราชเมื่อปี พ.ศ.2508 ซึ่งจะมีอายุครบ 50 ปี พร้อมๆ กับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ถึงได้สามารถสร้างบ้านแปงเมืองได้อย่างยิ่งใหญ่ มีศักยภาพแข่งขันกับอารยะประเทศในโลกตะวันตกได้อย่างทัดเทียม แถมยังสามารถเก็บเกี่ยวโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้
สิงคโปร์สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์โดยใช้เวลาไม่ถึง 50 ปี จากประเทศที่ต้องแยกตัวจากมาเลเซียทั้งน้ำตา ไปสู่ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับสองของโลก มีที่มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน
ประการแรก คือ “มีผู้นำที่แข็งแกร่ง (Leadership)” คุณูปการที่สิงคโปร์เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดมาได้อย่างในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ “ลี กวน ยิว” นายกรัฐมนตรีคนแรกที่มีทั้งวิสัยทัศน์ มีความสามารถ และความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการบริหารประเทศ
ลี กวน ยิว เห็นความสำคัญของการสร้างภาวะผู้นำ (Leadership) ให้เกิดขึ้นในทุกระดับในสิงคโปร์ เห็นได้จากที่เขาให้สัมภาษณ์กับทางโทรทัศน์ว่า “เขาเชื่อในเรื่องนำคนดีมาดำรงตำแหน่ง ถึงแม้ระบบจะไม่ดี หรือห่วยสุดๆ” เพราะคนดีเมื่อมาดำรงอยู่สามารถสร้างระบบที่ดีได้ แต่ถ้าระบบที่ดีแต่เอาคนไม่ดีมาดำรงตำแหน่ง ระบบก็จะพังและพินาศไป โดยสิ่งแรกที่ลีกวนยูทำคือการปรับทัศนคติใหม่ให้กับคนในชาติ เขาปลูกฝังความคิดและความเชื่อให้กับประชาชนของเขาเพื่อให้ชาวสิงคโปร์เชื่อในเรื่องที่เขาจะนำประเทศสิงคโปร์ก้าวไปสู่ประเทศที่เจริญและศิวิไลซ์
ประการที่สอง คือ “การลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เพราะสิงคโปร์รู้ดีว่าตนเองไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ จึงลงทุนพัฒนาคนอย่างจริงจัง เพราะเป็นเพียงทรัพยากรเดียวที่ตนเองมี เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันให้เกิดขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลลงทุนจ้างผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ชั้นนำจากทั่วโลกมาสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างเต็มที่ โดยหวังว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถไปทำงานได้ทั่วโลก
กลายเป็นว่านโยบายดังกล่าวมีประสิทธิผลมาก เพราะในอดีตชาวสิงคโปร์ต้องทำงานเป็นเพียง “ลูกจ้าง” ให้กับบรรษัทข้ามชาติตะวันตก แต่กลับกันในปัจจุบันที่บรรษัทขนาดใหญ่ของสิงคโปร์สามารถว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานตามความต้องการของ “นายจ้าง” ชาวสิงคโปร์ได้ โดยสถาบันระหว่างประเทศต่างพากันจัดอันดับให้ “กำลังคน” ของสิงคโปร์ มีผลิตภาพ (Productivity) เทียบเท่ากับคนในสหรัฐและประเทศพัฒนาอื่นๆ และมีบางสำนักยกย่องให้เป็นกลุ่มคนที่ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วยซ้ำ
ประการที่สาม “การพัฒนาประเทศอย่างมียุทธศาสตร์” สิงคโปร์เริ่มพัฒนาประเทศด้วยการตั้งเป้าหมายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) เช่นเดียวกับ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ โดยดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export-oriented Industrialization) ก่อนประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หลังจากนั้นสิงคโปร์ได้ปรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการลงทุน (Investment-d
riven Economy) ซึ่งอาศัยนโยบายหลักในการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ทักษะแรงงานมีฝีมือ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน ไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) โดยให้ความสำคัญกับระบบการสร้างนวัตกรรมที่จูงใจ นโยบายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ การทุ่มเทงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งในระดับภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคธุรกิจ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาควิชาการในการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ การสร้างผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมกันกับการยกระดับความรู้ความเข้าใจผู้บริโภคให้เห็นความสำคัญของคุณภาพของสินค้ามากกว่าคำนึงด้านราคาเพียงอย่างเดียว
การพัฒนาประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ยังรวมถึงการพัฒนาให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางด้านการค้าที่สำคัญ โดยสิงคโปร์มองว่าการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจไม่ได้มาจากการเป็นศูนย์กลางทางกายภาพ (Physical Hub) เท่านั้น แต่จะต้องเป็นศูนย์กลางทางการค้า (Virtual Hub) ที่มีศักยภาพในการควบคุมทางการค้าได้อีกด้วย ทำให้ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์กลางสู่เอเชีย - แปซิฟิก ศูนย์กลางการค้า/บริการของภูมิภาค ศูนย์กลางการเดินเรือพาณิชย์ ศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค ศูนย์กลางการบินพาณิชย์ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชีวภาพของโลก ศูนย์กลางการกระจายสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ปัจจุบันสิงคโปร์ได้ประกาศนโยบายยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ “การเป็นประเทศศูนย์กลางของเอเชียที่เป็นผู้นำในระดับโลก (A leading global city in the heart of Asia)”
เขียนมาถึงตอนนี้ผมอยากให้ประเทศไทยถอดบทเรียนจากการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ แล้วประกาศเป็นวาระแห่งชาติดังๆ ไปเลย ว่าเราจะเอาสิงคโปร์เป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศเหมือนกับพม่า!!!??? อย่าตกใจนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องจริง


















