Smart City เมืองอัจฉริยะ เสริมคุณภาพชีวิตในโลกอนาคต
ในขณะที่ทั้งโลกกำลังตื่นตัวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ ในทางกลับกัน ก็มีแนวคิด ที่ต้องการผสานเทคโนโลยีที่ได้ ไปประยุกต์ให้เกิดผลลัพธ์กับประชากร จนไปถึงโครงสร้างของตัวเมือง เพื่อส่งเสริมธุรกิจ, สิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์ของความทันสมัย ปลอดภัย น่าอยู่กว่าเมืองแห่งไหน
Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ จึงเป็นคำนิยามที่ให้กับแนวทางการบริหารจัดการเมืองให้มีความทันสมัย ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย โดยบทความนี้ จะเจาะลึกถึง Smart City ว่ามีความต้องการด้านใด Smart City มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถรับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
Smart City คือ
Smart City คือการพัฒนาเมืองทุกด้าน ด้วยการอ้างอิงจากภาพรวม ผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่ช่วยบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งการจัดการทรัพยากร การโทรคมนาคม การขนส่ง จนไปถึงโครงสร้างที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความทันสมัย เพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
ซึ่ง Smart City ถูกเรียกในภาษาไทยว่า เมืองอัจฉริยะ ที่ภาพรวมของเมืองใหญ่ ๆ ในประเทศต่าง ๆ จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหาไม่เหมือนกันในเบื้องต้น แต่บั้นปลายของการพัฒนาเมืองจนนำไปสู่ความเป็น Smart City จะเป็นไปในทางเดียวกัน โดยเมืองส่วนใหญ่ จะเริ่มต้นจากปัญหาก่อน ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาที่แตกต่างจากประเทศอื่นเหมือนกัน
ประโยชน์ของ Smart City
เมืองที่มีการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ Smart City จะมีองค์ประกอบหลัก ๆ คือเทคโนโลยีและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เข้ามาเสริมเมืองให้มีความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร หรือส่งผ่านข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปรับรูปแบบเมืองให้เป็นระเบียบ ซึ่งประโยชน์ของ Smart City คือการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ตั้งแต่ชุมชนภายในเมืองที่ให้ทุกคนได้เข้าถึงสภาพแวดล้อมที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงเครือข่ายทางคุณภาพชีวิต เน้นนำนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมแนวคิดนโยบาย ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่เชื่อมบุคคลเข้ากับอุปกรณ์หรือทรัพยากร ให้ผู้คนสะดวกใช้งานมากขึ้น และสำคัญที่สุดคือการปรับสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองสีเขียว น่าอยู่
Smart City มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
เราได้ทำการอธิบาย Smart City ไปเบื้องต้นแล้ว ซึ่งการพัฒนาเมืองให้ก้าวกระโดด จะมีข้อดีและข้อเสียอยู่แน่นอน ดังนั้นการมาถึงของ Smart City การรู้จักข้อดีข้อเสียเหล่านี้ จะช่วยเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการปรับตัวเมื่อ Smart City มาถึงได้
ข้อดีของ Smart City
- มอบความสะดวกสบายแก่ประชากร ทั้งการติดต่อสื่อสาร และเข้าถึงปัจจัยที่เท่าเทียมทุกพื้นที่
- เพิ่มประสิทธิภาพในการโทรคมนาคม
- ส่งเสริมการทำงานธุรกิจในเมืองใหญ่ให้คล่องตัว
- ลดภาระทางทรัพยากรทางบุคคล เน้นนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมมากขึ้น
- ทำให้เมืองมีความทันสมัย ให้ภาพลักษณ์ที่ดี
- ส่งเสริมการท่องเที่ยว และรองรับจำนวนประชากรในเมืองใหญ่ที่มีมากขึ้น
ข้อเสียของ Smart City
- ต้องการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่แข็งแรง หากเครือข่ายล่มจะส่งผลกับทั้งเมือง
- มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้น
- ลดบุคลากรทางแรงงานลง อาจส่งผลดีและเสียได้ในเวลาเดียวกัน
- การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีรวดเร็วจนประชากรอาจรับมือไม่ทัน
เทคโนโลยีเสาหลักสำหรับ Smart City
เราได้ทราบถึง Smart City ข้อดี ข้อเสียกันไปแล้ว ต่อมาเราจะต้องทำความรู้จักเทคโนโลยีที่เป็นองค์ประกอบหลักของการจะเป็น Smart City ซึ่งประกอบไปด้วย 3 หลักดังนี้
1. Smart Building (อาคารอัจฉริยะ)
อาคารอัจฉริยะ คือระบบที่ครอบคลุมความสะดวกสบายในที่ทำงานและการพักอาศัย ด้วยการติดตั้งระบบความปลอดภัย รวมไปถึงระบบอัจริยะ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ผู้คนสามารถใช้เครือข่ายได้อย่างทั่วถึงตั้งแต่ชั้นแรกจนไปถึงชั้นบนสุด พร้อมมุ่งเน้นการทำงานที่เป็นระบบภายในที่คล่องตัวกว่าที่เคย ตอบสนองธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น รวมไปถึงการอยู่อาศัยภายในที่ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
2. Smart ICT (ระบบไอซีทีอัจฉริยะ)
เป็นอีกปัจจัยของการเป็น Smart City คือการรวบรวมข้อมูลมากมายมหาศาลผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ เพื่อที่จะหาแนวโน้มและพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นไปได้อย่างถูกต้องที่สุด เน้นการใช้ระบบเพื่อบริหารและตอบสนองความต้องการให้คุ้มค่าและเต็มประสิทธิภาพ
3. Smart Grid (โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ)
Smart City จำเป็นต้องมีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่เน้นการควบคุมระบบทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณต่าง ๆ ระบบเซนเซอร์ รวมไปถึงระบบอัตโนมัติอื่น ๆ ในโครงข่ายไฟฟ้า ให้ผู้คนใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น พร้อมกับความรวดเร็วในการทำงาน และบริหารทรัพยากรได้ดียิ่งกว่าเดิม
ประเภท Smart City ทั้ง 7 ด้าน
เพื่อที่จะได้เข้าใจ เราได้ทำการเจาะลึกไปถึงประเภท Smart City 7 ด้าน ดังนี้
1. Smart Mobility (การสัญจรอัจฉริยะ)
บริหารจัดการระบบขนส่งอัจฉริยะบน Smart City ให้มีการสัญจรได้คล่องตัวมากขึ้น มีการนำเอาข้อมูลมาปรับแก้เส้นทางให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เน้นนำเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยในการจัดการเส้นทางที่หนาแน่น รวมไปถึงระบบกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร
2. Smart Governance (การปกครองอัจฉริยะ)
Smart City จะเจาะลึกไปถึงโครงสร้างของการปกครองจากภาครัฐ ให้เข้าถึงการทำงานระหว่างประชาชนให้มีความรวดเร็วในการทำงานมากขึ้น ปรับภาพลักษณ์ของการเป็นหน่วยงานล้าสมัยให้ล้ำสมัย เน้นนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาอย่างเต็มที่
3. Smart Economy (เศรษฐกิจอัจฉริยะ)
เพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมธุรกิจทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดดิจิทัลที่ต้องมีความรวดเร็ว สะดวกสบาย ทั้งช่องทางการจำหน่ายและการเลือกชำระเงิน ที่ต้องครอบคลุมและปลอดภัย รวมไปถึงการท่องเที่ยว
4. Smart People (พลเมืองอัจฉริยะ)
Smart City จะมีส่วนช่วยให้ประชากร สามารถเข้าถึงข้อมูลและการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ส่งเสริมแนวคิดและการสร้างสรรค์ นำไปสู่การเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อชุมชน
5. Smart Energy (พลังงานอัจฉริยะ)
ลดการใช้พลังงานที่ฟุ่มเฟือย บริหารพลังงานให้เป็นสัดส่วนได้ด้วยระบบ ที่ช่วยจัดการข้อมูลและพลังงานที่ชัดเจน ซึ่ง Smart City จะทำให้พลังงานที่ใช้จ่ายออกไปอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางพลังงาน
6. Smart Living (การดำรงชีวิตอัจฉริยะ)
มอบ Universal Design ให้ความสะดวกต่อการสัญจรของประชากร พร้อมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งอากาศและภัยคุกคาม เสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
7. Smart Environment (สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ)
ปัญหาของภูมิอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัจจัยอันควบคุมได้ยาก Smart City จะมีส่วนร่วมที่คอยจัดระบบให้สามารถควบคุมความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากที่สุด เช่นการเพิ่มทรัพยากรทางธรรมชาติ จัดการระบบประปา ตลอดจนระบบป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ตัวอย่าง Smart City
ตัวอย่าง Smart CIty มีอะไรบ้าง หากเราตั้งคำถามนี้ อาจจะต้องทำความเข้าใจมากขึ้น แต่หากเราได้เห็น Smart City ตัวอย่างที่มีอยู่จริง ก็จะสามารถทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดาย โดยเราได้อธิบายถึงแบบอย่างของเมืองที่มีความเป็น Smart City ดังนี้
Stockholm
Stockholm เป็นตัวอย่าง Smart City ที่เน้นความทันสมัยและสิ่งแวดล้อมที่ไปด้วยกันได้อย่างลงตัว ด้วยการการันตีว่า Stockholm เป็น Europe’s Green Capital of 2010 ซึ่งมุ่งเน้นนโยบายด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เพิ่มกระบวนการรีไซเคิลขยะ พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับตัวเมืองด้วยสวนสาธารณะกว่า 1000 แห่ง
Tokyo
ญี่ปุ่นคือดินแดนที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมอันทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าทันสมัย ที่มีการแข่งขันกันสูง ส่งผลให้เมืองหลวงโตเกียว มีความเป็น Smart City ที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้กับสิ่งก่อสร้าง จนไปถึงระบบจราจรที่เป็นระเบียบ แต่ยังมอบพื้นที่สีเขียวอย่าง Eco Village หมู่บ้านที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 พร้อมทั้งนโยบายเปลี่ยนเครื่องใช้ต่างๆให้มีความประหยัดพลังงานมากขึ้น
Seattle
เป็นอีกเมืองที่เป็นต้นแบบของ Smart City ที่มีการกระจาย Green Technology ให้เข้าถึงประชากร ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือภาคการศึกษา โดยมีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนในตัวอาคารแบบครบวงจร ทำให้เมืองประหยัดทรัพยากรได้ในหลาย ๆ ด้าน
สรุปเรื่อง Smart City
เห็นได้ชัดว่า Smart City นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อที่จะให้ระบบภายในและภายนอก เกิดการเปลี่ยนแปลงอันนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า และแน่นอนว่า หากเราต้องการเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลง การเริ่มจากตัวเองสำคัญที่สุด NT National Telecom เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม มุ่งเน้นในการพัฒนาระบบเครือข่ายให้กับองค์กรและธุรกิจ เพื่อให้ภาครัฐและเอกชน มีระบบและโครงสร้างอันนำไปสู่ Smart City ในอนาคต