ขอม ใช่เขมรหรือไม่ ทำไมคนถึงเถียงกัน?
ในช่วงที่เกิดกรณีพิพาทเรื่อง “มวยไทย” กับ “กุนขแมร์”
ผมเห็นว่ามีประเด็นหนึ่งที่มีหลายท่านมาแสดงความเห็นว่าขอมไม่ใช่เขมร และแท้จริงแล้วขอมมีอารยธรรมสูงกว่า ซึ่งประเด็นนี้ก็เคยเป็นที่ถกเถียงของนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยอยู่เหมือนกัน ในที่นี้จะเสนอสองฝ่ายได้แก่:
1) ฝ่ายที่บอกว่าขอมมีความทับซ้อนกับเขมรอย่างใดอย่างหนึ่ง และ
2) ฝ่ายที่บอกว่าขอมไม่ใช่เขมร และบางทียังสรุปว่าขอมเป็นไทยไปเสียอีก
...แล้วปัจจุบันเรื่องนี้มีคำตอบแล้วหรือยังนะ?
บทความนี้จะขอพาทุกท่านมาสรุปข้อถกเถียงนี้ และพาทุกท่านมาหาคำตอบตามที่นักวิชาการต่างๆ เสนอไว้กันครับ
((( ฝ่ายที่บอกว่าขอมมีความทับซ้อนกับเขมร )))
นักวิชาการฝ่ายที่บอกว่าขอมคือเขมร ระบุว่า คำว่า “ขอม” เป็นคำไทยและลาว ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ขะแมร์” (Khmer ก็คือ เขมร นั่นเอง) โดยเป็นคำที่คนไทยและลาวในอดีตเรียกผู้คนไปจนถึงวัฒนธรรมที่มาจากดินแดนกัมพูชาปัจจุบัน โดย “ขอม” เป็นคำใช้เรียกวัฒนธรรม ไม่ใช่ “เชื้อชาติ”
เท่าที่ปรากฏพบว่าคำว่าชาวกัมพูชาแต่โบราณเรียกตนเองว่าเขฺมร (มาจากคำว่า เกฺมร, kmer อีกทีหนึ่ง) ซึ่งหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดพบในศิลาจารึกอายุตั้งแต่ราวพุทธศัตวรรษที่ 12 แต่ไม่มีหลักฐานว่าเรียกตัวเองว่าขอมเลย
คนไท (คนที่พูดตระกูลภาษาไต-ไท) ตอนบน คือตั้งแต่สุโขทัยขึ้นไปทางเหนือ เรียกกลุ่มคนที่อยู่ทางใต้ของตน ซึ่งก็คือแถบภาคกลางของไทยปัจจุบันว่า “ขอม” การเรียกนี้แม้มิได้แบ่งเชื้อชาติ แต่มักหมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมแถบละโว้ (ลพบุรี)
และต่อมาในสมัยอยุธยามีการใช้คำว่าขอม และเขมรสลับๆ กันเรียกคนในกัมพูชา
นักวิชาการหลายท่านมีความเห็นอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ศ. ยอร์ช เซเดส์, อ. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ. ประเสริฐ ณ นคร, อ. สุจิตต์ วงษ์เทศ, และ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น
((( ฝ่ายที่บอกว่าขอมไม่ใช่เขมรและคือไทย )))
นักวิชาการฝ่ายที่บอกว่าขอมไม่ใช่เขมร มักจะขีดเส้นแบ่งว่าอาณาจักรอยุธยาซึ่งนับเป็นอาณาจักรโบราณของคนไทยนั้น ได้รับเอาวัฒนธรรมมาจากพวก “ขอม” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสูง และเป็นคนละพวกกับ “เขมร” ที่มีวัฒนธรรมคล้ายกัน แต่ไม่เจริญเท่า และพวกเขมรนี้จะกลายมาเป็นคนกัมพูชาในปัจจุบัน
เชื่อว่าการบอกว่าขอมไม่ใช่เขมรเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์ไทยฉบับชาตินิยม ที่ไม่ต้องการบอกว่าครั้งหนึ่งชาวเขมร (ซึ่งปัจจุบันไม่เจริญเท่าไทย) นั้น ครั้งหนึ่งเคยมีอารยธรรมอันยิ่งใหญ่
มีคำบรรยายประมาณว่าการสร้างนครวัดนั้นสืบทอดเทคโนโลยีมาจากพิมาย, หรือคำว่าสยามนั้นอาจเพี้ยนมาจากคำว่าขอม (มันเป็นแบบนี้นะครับ สยาม สยม อาหม ขะหม ขะหอม ขอม), หรืออาณาจักร “ขอม” ที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่น่าจะสูญหายไปเสียเฉยๆ อาจเป็นเพียงการ “เปลี่ยนชื่อ” อาณาจักรอยุธยาเป็นผู้สืบทอดโดยตรงของอาณาจักรขอม “ขอม” จึงเป็นบรรพบุรุษส่วนหนึ่งของชาวไทย …ขณะที่ชาวเขมรปัจจุบันนั้นน่าจะเป็นอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งที่แตกออกมาจากพวกจาม มีลักษณะผิวคล้ำ ผมหยิก จมูกรั้น ไม่เหมือนคนพวกอื่นๆ ในสุพรรณภูมิตอนกลาง
นักวิชาการฝ่ายหลังโจมตีนักวิชาการฝ่ายแรกว่า “เดินตามก้นฝรั่ง” เพราะยึดถือตามนักวิชาการฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมและเป็นผู้รุกราน ดังที่ทวิช จิตสมบูรณ์เคยเขียนว่า “นิสัยเด่นของคนไทยและนักประวัติศาสตร์ไทยเรานั้นคือ อชาตินิยม กล่าวคือ ถ้ามีอะไรที่เราเหมือนต่างชาติ เป็นต้องสรุปว่าลอกมาจากต่างชาติเสมอ”
คำบรรยายนี้ไม่ได้มีหลักฐานรองรับมาก แต่เวลาใช้ทะเลาะกับชาวเขมร เวลาแย่งว่าใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมแล้วจะทำให้ฝ่ายไทยรู้สึกดี
ตัวอย่างนักวิชาการในกลุ่มนี้ เช่น ทวิช จิตรสมบูรณ์ เป็นต้น
((( Verdict )))
หากเราย้อนดู Timeline ประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ จะพบว่ารากเหง้าของคนที่พัฒนามาเป็นชาวไทยประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมิได้มีรากเหง้าเดียว แต่ว่ามาจากร้อยพ่อพันแม่
กลุ่มวัฒนธรรมแถบละโว้ (ลพบุรี) ที่ถูกคนไทยทางเหนือเรียกว่า “ขอม” นั้น เป็นกลุ่มสำคัญที่ต่อมาจะพัฒนามาเป็นรัฐอยุธยา ซึ่งพัฒนาสืบเนื่องเป็นรัฐไทยในปัจจุบัน
อาณาจักรละโว้นี้อยู่ในเขตอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรมายาวนานและน่าจะใช้ภาษาตระกูลเขมรเป็นภาษาหลัก แต่ต่อมาได้มีการผสานรวมกับกลุ่มสุพรรณภูมิ และกลุ่มสุโขทัยซึ่งมีคนพูดภาษาตระกูลไทยมาก ทำให้ในที่สุดมีการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก (แม้ว่าวัฒนธรรมอยุธยาที่สืบมาจากละโว้นั้นยังคงสืบทอดต่อมาจากเขมรพระนครมากนั่นเอง)
ในยุคที่อยุธยารุ่งเรืองนั้นเป็นยุคที่เขมรพระนครเสื่อมอำนาจลง จนกลายเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาเสียเอง เป็นลักษณะของการย้ายศูนย์กลางความเจริญมาอยู่ที่อยุธยา
กระนั้นอยุธยาในตอนนั้นก็ยังไม่เท่ากับไทย เพราะในอดีตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีเส้นแบ่งแยกว่าใครอยู่ประเทศไหน หรือพูดภาษาไหน มีแต่ว่าใครสังกัดเจ้านาย หรืออยู่ในเขตอิทธิพลของผู้นำกลุ่มใดมากกว่า แนวคิดการแบ่งคนออกเป็น “ชาติ” ตามภาษานี้เป็นคอนเซปต์แบบตะวันตกที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 18-19 เข้าไปแล้ว
ภายใต้แนวคิดการแบ่งรัฐชาติตามภาษานี้ เราจึงกลายเป็น “ชาวไทย” ความคิด “ชาตินิยม” ในสมัยหลังก็ถูกสร้างขึ้นตามกรอบนี้หมด เช่นเดียวกับที่จอมพล ป. พยายามรวมรัฐไทยกับรัฐของชาวไทใหญ่ น่าสงสัยว่าถ้าในอดีตกษัตริย์อยุธยายังรักษาภาษาเขมรให้เป็นภาษาหลักของสังคมได้ จนบัดนี้เราจะเป็นคนชาติอะไร และประวัติศาสตร์จะถูกเขียนอย่างไร?
…ตามหลักฐานที่ยกมาข้างต้นคำว่า “ขอม” ในความหมายก่อนยุคอยุธยาอาจจะหมายถึงกลุ่มละโว้ที่เป็นต้นกำเนิดของอยุธยาเป็นหลักก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าชาวละโว้ไม่ได้พูดภาษาเขมร หรือมีวัฒนธรรมแบบเขมร (และตามที่เกริ่นว่าต่อมาชาวอยุธยายังรับคำว่าขอมมาจากกลุ่มไทยทางเหนือ และใช้คำว่าขอมและเขมรปนๆ กันในการเรียกกลุ่มเขมรในกัมพูชา)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สุดท้ายแล้วแนวคิดว่าขอมจะหมายถึงเขมรจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ชาวเขมรมาโจมตีไทยว่าลอกวัฒนธรรมมาจากตนเพราะอาณาจักรเขมรเจริญมาก่อน เป็นเรื่องจริงขึ้นมาเหมือนกัน
แท้จริงพวกเขาก็อาจเป็นเหยื่อของคอนเซปการแบ่งแยกชาติพันธุ์ตามภาษา (อันเป็นมรดกจากยุคอาณานิคม) จนทำให้ไม่สามารถทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบบูรณาการ …ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับที่ชาวไทยเผชิญ
เมื่อนักการเมืองยุคใหม่เอาวิชาประวัติศาสตร์มารับใช้การเมือง ผู้คนจึงถูกใส่ไฟให้เกลียดกัน ตามคอนเซปการแบ่งแยก “ความเป็นมาของประเทศ” ด้วยกลุ่มภาษาดังกล่าว
ความเกลียดชังและการทะเลาะนี้ไม่ได้เป็นผลดีกับใคร เพราะทำให้เกิดการกีดกันขัดแข้งขัดขากัน …แต่มันก็คงจะเกิดขึ้นต่อไปอีก เพราะแม้ว่าเราจะทราบว่าไม่ควรเกลียดกัน แต่เวลาเห็นอีกฝ่ายมาเคลมมั่วๆ เราก็รำคาญ อดไม่ได้ที่จะไปโต้เถียงด้วย
และเมื่อต้องทะเลาะกับโทรล เราก็มักจำต้องลดเลเวลตัวเองลงมาให้เท่ากับโทรล ไม่งั้นจะทะเลาะสู้มันไม่ได้
…นี่จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคของเรา…













