บุคคลที่มีระดับระดับเชาวน์ปัญญาสูงที่สุดในโลก
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า 'ไอคิว' ที่เรามักจะหมายถึง
การวัดความฉลาดของคน ว่าแต่คำนี้มันหมายถึงอะไรกันแน่?
หรือใครกันที่มีระดับของไอคิวสูงที่สุดบนโลก ไปดูข้อมูลกันครับ
ระดับเชาวน์ปัญญา หรือ ไอคิว (IQ ย่อจาก Intelligence quotient)
หมายถึง ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ การเชื่อมโยง
ไอคิว เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก
โดยที่ IQ สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนได้
การวัดไอคิว เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1905 โดยนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส
ที่ต้องการแยกบุคคลปัญญาอ่อนออกจากคนปกติ เพื่อจะได้จัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม
โดยใช้การเปรียบเทียบระหว่างความสามารถที่ควรจะเป็นกับอายุสมอง แล้วคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์
ปัจจุบัน การวัดไอคิวมักใช้แบบทดสอบของเวสเลอร์ ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 1930
โดยอาศัยงานวิจัยของนักวิชาการและนักการทหาร เป็นกลุ่มข้อทดสอบทั้งหมด 11 กลุ่ม
เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ภาษาโต้ตอบ 6 กลุ่ม ไม่ต้องใช้ภาษาโต้ตอบ 5 กลุ่ม ดังนี้
- ข้อมูลทั่วไป เป็นคำถามเพื่อตรวจวัดความสนใจความรู้รอบตัว
- ความคิด ความเข้าใจ
- การคิดคำนวณ
- ความคิดที่เป็นนามธรรม โดยให้หาความเหมือน
- ความจำระยะสั้น โดยใช้การจำจากตัวเลข
- ภาษาในส่วนของการใช้คำ
- การต่อภาพในส่วนที่ขาดหายไป
- การจับคู่โครงสร้าง โดยดูจากรูปร่างหรือลวดลาย
- การเรียงลำดับภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ
- การต่อภาพเป็นรูป ด้วยการต่อจิ๊กซอว์
- การหาความสัมพันธ์ของตัวเลขและสัญลักษณ์
หนึ่งในมนุษย์ที่มีระดับ IQ สูงที่สุดในปัจจุบัน
(อาจเป็นไปได้ว่าจะมีคนที่มีระดับ IQ สูงกว่านี้ แต่ไม่เป็นที่รู้จก หรืออาจไม่ได้ถูกวัดค่าออกมาเป็นตัวเลข)
คือ 'คริสโตเฟอร์ ไมเคิล ฮิราตะ' (Christopher Michael Hirata)
เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 ปัจจุบันอายุ 40 ปี เป็นนักจักรวาลวิทยาและนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวอเมริกัน
ฮิราตะ ได้รับรางวัลเหรียญทองการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เมื่ออายุ 13 ปี
ได้รับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ที่คาลเทค ขณะอายุ 18 ปี และได้รับปริญญาเอกภายใต้การดูแลของ Uroš Seljak
ในปี 2548 จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ในขณะที่มีอายุ 22 ปี ฮิราตะมีระดับ IQ อยู่ที่ 225
ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปที่อยู่ในระดับ 100
ปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์ที่ OSU's Center for Cosmology and AstroParticle Physics (CCAPP)








